“ผู้คนมีทางเลือกมากมายสำหรับวิธีที่พวกเขาต้องการใช้เวลา และ TikTok ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย” มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ส่งสัญญาณ “เตือน” ให้กับบรรดาพนักงานของ เมตา (Meta) ทุกคนในการประชุมครั้งล่าสุด ถึง “ภัยคุกคาม” ที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ครอบครองโลกใบนี้มาเนิ่นนาน มากขึ้นและมากขึ้นทุกขณะ

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)

เหตุใด TikTok จึงสร้างความวิตกให้กับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก :

...

ภัยคุกคาม :

"TikTok" คือ แอปพลิเคชัน ที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในปี 2021 โดยมียอดดาวน์โหลดมากถึง 656 ล้านครั้ง ซึ่งมากกว่ายอดดาวน์โหลดของ "อินสตาแกรม (Instagram)" ที่มียอดดาวน์โหลด 545 ล้านครั้ง ถึง 100 ล้านครั้ง ขณะเดียวกัน TikTok ยังเป็นแอปพลิเคชัน ที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดมาถึง 3 ปี ติดต่อกันเข้าให้แล้วอีกด้วย (ปี 2019 693 ล้านครั้ง, ปี 2020 850 ล้านครั้ง)

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2021 TikTok ยังทำสถิติยอดดาวน์โหลดรวม ทะลุ 3,000 ล้านครั้งได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็น แอปพลิเคชันแรก นอกเครือ Meta (Facebook, Messenger, Instagram และ WhatsApp) ที่สามารถทำได้อีกด้วย

การเติบโตแบบก้าวกระโดด :

กันยายนปี 2021 "ไบต์แดนซ์ (ByteDance)" บริษัทแม่ของ TikTok รายงานว่ามีผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users) ทะลุเกิน 1,000 ล้าน Users ได้สำเร็จ (ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 45% นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2020) ซึ่งนั่นเท่ากับว่า TikTok ใช้เวลาเพียง 4 ปีหลังการเปิดตัวเท่านั้นในภารกิจพิชิตยอด 1,000 ล้าน Users ในขณะที่ Facebook , YouTube ใช้เวลาถึง 8 ปี

ขณะเดียวกัน ตามรายงานดังกล่าวยังระบุว่า ทุกๆ 1 วินาทีจะมี New Users เข้าร่วม TikTok มากถึง 8 Users หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 650,000 New Users ต่อเดือน!

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จาก Data.ai ผู้ให้ข้อมูลด้านกลยุทธ์ดิจิทัล ยังได้ประเมินว่า จำนวนผู้ใช้งาน TikTok ในปีนี้ (2022) อาจพุ่งทะลุเกิน 1,500 ล้าน Users หลังสิ้นสุดสามเดือนแรกของปีนี้ TikTok มีจำนวนผู้ใช้งานเกิน 100 ล้าน Users ไปแล้ว

ยุคสมัย :

TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมจาก เจเนอเรชัน Z (อายุ 10-24 ปี) มากกว่า "เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม"

โดยจากรายงานของ Insider Intelligence พบว่า ตัวเลขการใช้งานโซเชียลมีเดียปี 2021 ของ เจเนอเรชัน Z ในสหรัฐฯ มีค่าเฉลี่ยการใช้งาน TikTok รายเดือนอยู่ที่ประมาณ 37.3 ล้านคน, Instagram อยู่ที่ 33.3 ล้านคน, Facebook อยู่ที่ 28.7 ล้านคน, และทวิตเตอร์ (Twitter) 15.8 ล้านคน

หากแต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือจากการวิเคราะห์ของ Insider Intelligence ยังพบอีกด้วยว่าหากแนวโน้มยังคงเป็นไปเช่นนี้ ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า (ปี 2025) TikTok จะมียอดผู้ใช้งานรายเดือนในสหรัฐฯ จาก เจเนอเรชัน Z แซงหน้า แอปพลิเคชันขวัญใจเจเนอเรชัน Y อย่าง Instagram อีกด้วย!

...

โดยจากการคาดการณ์ของ Insider Intelligence ในปี 2025 จำนวนผู้ใช้งานรายเดือน TikTok จะอยู่ที่ 48.8 ล้านคน, Instagram อยู่ที่ 48.3 ล้านคน, Facebook อยู่ที่ 40.7 ล้านคน และ Twitter 19.2 ล้านคน

*** หมายเหตุ ค่าเฉลี่ยกลุ่มอายุที่ใช้งาน TikTok สูงสุด คือ อายุ 20-29 ปี 35% รองลงมาคือ 10-19 ปี 28% ส่วน Instagram กลุ่มอายุ 25-34 ปี คือกลุ่มที่ใช้งานสูงสุด 33%, Facebook กลุ่มอายุ 25-34 ปี ใช้งานสูงสุด 31.6% และ Twitter กลุ่มอายุ 35-44 ปี ใช้งานสูงสุด 28.4% ***

...

รายได้ :

แม้ว่าในปี 2021 TikTok จะยังสร้างรายได้ห่างไกลจากจุดที่เฟซบุ๊กทำได้ในปีที่ผ่านมา หากแต่ตัวเลข 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ เป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2020 ซึ่งทำได้ 2,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 142%! ขณะที่รายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (2022) อยู่ที่ 1,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Data.ai ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการใช้งานโซเชียลมีเดีย (รวมการดูรูปภาพและคลิปวิดีโอ) รายเดือนต่อคนในปี 2021 นั้น TikTok มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 19.6 ชั่วโมง ซึ่งกระโดดจาก 13.3 ชั่วโมงในปี 2020 ถึง 47.37%

ซึ่งตัวเลขค่าเฉลี่ย 19.6 ชั่วโมงต่อเดือนนี้ เป็นค่าเฉลี่ยที่เท่ากับ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งแทบหาการหมดเปลืองเวลาให้กับผู้ใช้งานได้ไม่แตกต่างจากปี 2020 เลยแม้แต่น้อย (19.5 ชั่วโมงต่อเดือน) ในขณะที่ อินสตาแกรม คู่แข่งสำคัญที่ เฟซบุ๊ก หวังนำมาใช้เพื่อสกัดกั้น TikTok นั้น อยู่ที่เพียง 11.2 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น ในขณะที่ปี 2020 อยู่ที่เพียง 10.3 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งการสูบเวลาผู้ใช้งานได้มากนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญยิ่ง สำหรับการเย้ายวนใจเพื่อเรียกค่าโฆษณานั่นเอง

*** หมายเหตุ ปี 2021 ตัวเลขรายได้ของ Facebook อยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Instagram 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Twitter 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ***

...

การปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือภัยคุกคาม :

เมื่อถูกรุกไล่อย่างหนักหน่วง “เฟซบุ๊ก” จึงจำเป็นต้องมีการ “ปรับเปลี่ยน” แม้ว่าการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ มันจะถูกค่อนขอดว่า “ไม่ต่างอะไรจากการ copy คู่แข่งคนสำคัญก็ตาม!”

ล่าสุด Facebook จัดการแยกฟีดการแสดงผลออกเป็น 2 แท็บ โดยแท็บแรกถูกเรียกว่า Home ซึ่งจะแสดงผลตามอัลกอริทึม โดยเน้นไปที่โพสต์ (โดยเฉพาะคลิปวิดีโอสั้น ผ่าน Reels ร่างโคลนของ TikTok) ที่มียอดไลค์และแชร์สูงๆ รวมถึงคอนเทนต์จากบรรดาครีเอเตอร์ที่ได้รับความนิยม ซึ่งผู้ใช้งานอาจไม่ได้ติดตาม

ส่วนแท็บที่สอง ถูกเรียกว่า Feeds ซึ่งจะเน้นไปที่ โพสต์ของเพื่อน เพจ และกรุ๊ปที่ผู้ใช้งานกำลังติดตาม ตามลำดับเวลาเป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม : 

กลยุทธ์ :

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า นอกจากจะทำให้ เฟซบุ๊ก ปรับตัวเองจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงและการช็อปปิ้งอย่างเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับ TikTok ได้แล้ว ยังสามารถลดแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องที่ให้มีใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมเฟซบุ๊ก จากปัญหาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และการปล่อยปละเรื่องการกลั่นกรองเนื้อหา จนส่งผลให้เกิด Fake News รวมถึงการปลุกระดมต่างๆ นานาได้อีกด้วย นั่นเป็นเพราะผู้ใช้งาน สามารถควบคุมฟีดในแบบที่ตัวเองต้องการเห็นได้นั่นเอง

ผลกระทบ :

การที่ฟีดหลัก ไม่ได้ถูกเรียกว่า ฟีดข่าว (News Feeds) อีกต่อไป ถูกนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งตีความว่า เฟซบุ๊ก อาจไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการลงทุนกับคอนเทนต์ด้านข่าวอีกต่อไปก็เป็นได้

โดยประเด็นนี้ถูกรองรับหลังมีกระแสข่าวหลุดรอดออกมาว่า แคมเบลล์ บราว์ (Campbell Brown) อดีตนักข่าวสาวชื่อดังที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายพันธมิตรด้านสื่อของ Meta บอกกล่าวกับพนักงานว่า บริษัทกำลังย้ายทรัพยากรออกจากการผลิตข่าว ซึ่งอาจรวมถึงแท็บ Facebook Bulletin ซึ่งเป็นรูปแบบการสมัครสมาชิกเพื่อรับบริการข้อมูลข่าวสารด้วย เพื่อหวังเปิดไปสู่การรองรับบรรดาครีเอเตอร์ให้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสข่าวหลุดออกมาอีกด้วยว่า Meta "ไม่มีแผน" ที่จะต่อสัญญากับบรรดาพันธมิตรด้านสื่อที่ทำงานร่วมกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่ารวมกว่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย โดยทรัพยากรที่ถูกโยกย้ายจากงานด้านข่าว จะถูกนำไปใช้สำหรับการลงทุนด้านฟีเจอร์เพลง และพอดแคสต์ ให้กับบรรดาครีเอเตอร์เป็นหลัก

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ "การปรับเปลี่ยน" เพื่อรับมือกับ "ภัยคุกคาม" ครั้งนี้ ของ Facebook จะมีความเซ็กซี่มากพอในการดึงดูดผู้ใช้งานโดยเฉพาะเหล่า เจเนอเรชัน Z ทั้งหลายให้ออกจากโลกของ TikTok ได้หรือไม่

และในทางกลับกัน บรรดาผู้ใช้งานเฟซบุ๊กส่วนใหญ่ซึ่งมอง TikTok ว่า เป็นเพียงแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงมากกว่าจะหาสาระ จะพึงพอใจกับ "การปรับเปลี่ยนให้เหมือนคู่แข่ง" ในครั้งนี้หรือไม่ นอกจากนี้ บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ จะมีการขยับตามผู้เล่นรายใหญ่ทั้ง 2 นี้หรือไม่ บางทีในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือนี้ อาจมี "คำตอบ" ที่น่าสนใจรออยู่ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :