จากปัญหาต้นทุนการผลิตปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม วัตถุดิบหลักในการทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 นี้ ผู้ผลิตรายใหญ่ จะมีการปรับขึ้นราคาขายส่งซองละ 25 สต. ส่งผลให้กำไรร้านค้าปลีกลดลงเหลือเพียงซองละ 75 สต.จากเดิมซองละ 1 บาท นั่นหมายความว่าราคาขายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อซอง ยังคง 6 บาทเช่นเดิม ไม่กระทบผู้บริโภคแต่อย่างใด หากผู้ผลิตจะปรับขึ้นราคา ต้องทำเรื่องมายังกรมการค้าภายใน เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ

อีกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นหนึ่งในสินค้าจำเป็น 18 รายการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ให้ขึ้นราคา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตรายใหญ่แบรนด์ยำยำ ไวไว และมาม่า ไม่ได้ปรับราคามานานนับสิบปี จากในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนเคยขายซองละ 2 บาท แพงกว่าราคาก๋วยเตี๋ยวขายชามละ 50 สต. ทำให้ช่วงนั้นมีร้านค้านำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใส่ซองพลาสติกขนาดเล็กมาแบ่งขายในราคา 25-50 สต. ถือเป็นของกินเล่นของเด็กสมัยนั้น

ก่อนทยอยปรับราคาจาก 3.50-4.50 บาท มาเป็น 5 บาท เนื่องจากน้ำมันและต้นทุนการผลิตแพงขึ้น และปัจจุบันราคาซองละ 6 บาท ถูกกว่าราคาก๋วยเตี๋ยว และอาหารตามสั่งทั่วๆ ไป กลายเป็นว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือเรียกว่าแบบดั้งเดิม เป็นขวัญใจผู้บริโภคยามทุกข์ยาก โดยเฉพาะช่วงใกล้สิ้นเดือน ไม่รวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายประเภท รสชาติหลากหลายระดับพรีเมียม ทั้งผลิตในประเทศและต่างประเทศ ราคาหลักสิบถึงหลักร้อยบาท มาเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น อาจไม่ใช่ภาพสะท้อนว่าเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

ตามที่บริษัทคันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาด ชี้ว่าดัชนียอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิง เพื่อสะท้อนภาวะเศรษฐกิจภาพรวมได้ว่าผู้บริโภคมีรายได้ลดลง หรือเศรษฐกิจฝืดเคือง จนยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตขึ้น ซึ่งความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ทั้งหมด

...

จากข้อมูลปี 2561 พบว่ายอดขายของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย เคยทรงตัว ก่อนโตขึ้นแบบก้าวกระโดดช่วงโควิดระบาดรอบแรกในปี 2563 เพราะการกักตุน ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงในเขตเมือง และการได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการของทางภาครัฐ ได้ส่งผลดีต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวม

ทำให้ปี 2563 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ 3 ราย แบรนด์มาม่า ไวไว และยำยำ ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบ 90% ของมูลค่าตลาดรวม แบ่งเป็นมาม่า 45% ไวไว 24% ยำยำ 22% และแบรนด์อื่น 9% ขณะที่ค่าเฉลี่ยการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยอยู่ประมาณ 53.2 ซองต่อคนต่อปี รวมทั้งสิ้น 3,700 ล้านซองต่อปี ติดอันดับ 5 ของโลก เพราะความไม่ยุ่งยากในขั้นตอนการกิน แค่ฉีกซองเทใส่น้ำเดือด หรือน้ำร้อน ตามด้วยเครื่องปรุงที่อยู่ในซอง รอประมาณ 3 นาที หรือมากกว่านั้น ก็อิ่มอร่อยสบายท้องแบบง่ายๆ จะใส่ผัก เนื้อสัตว์ เพิ่มคุณค่าทางอาหารก็ยิ่งดี.