สถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ภาครัฐมีความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติม ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมที่กู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ทำให้หนี้สาธารณะในปี 2564 กระโดดขึ้นมาใกล้เคียง 60% โดยคาดการณ์ว่าในเดือนก.ย. หนี้สาธารณะ จะขยับมาอยู่ที่ 58.96%

แม้ยังต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 60% แต่ยังมีเงินกู้ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้จ่ายเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด ในปี 2564 ไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท และอีก 3 แสนกว่าล้านบาทในปี 2565 จะทำให้หลุดกรอบที่ตั้งไว้ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้มีมติเห็นชอบขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% มาเป็น 70% ของจีดีพี เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง

ภายใต้เงื่อนไข ภายใน 10 ปี เพดานหนี้สาธารณะ จะต้องกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ของจีดีพี และมีการเสนอแผนเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็น 20% ของจีดีพี ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-5% โดยจะทำให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มีข้อจำกัดในการบริหารการเงินการคลัง และป้องกันการทำนโยบายประชานิยม แจกเงินเพื่อสร้างฐานเสียง

...

จากข้อมูลสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พบว่า ยอดหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 อยู่ที่ 8,909,063 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ คิดเป็น 55.59% ของจีดีพีที่ 16,027,047 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 7,836,723 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 781,052 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 284,141 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,146 ล้านบาท

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่ เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว โดย ณ เดือน ก.ค. 2564 สัดส่วนหนี้ในประเทศอยู่ที่ 98.2% ของหนี้สาธารณะรวม ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน จึงอาจมีผลกระทบไม่มากนัก

นอกจากนี้ โครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยราว 94% เป็นหนี้ระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยยังต่ำมาก จะช่วยเอื้อให้ต้นทุนของภาระหนี้ในกรอบเวลาระยะสั้นนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ และการบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาว จำเป็นต้องมีแผนการจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า ในขณะที่การใช้งบประมาณต้องก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยจุดสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดหารายได้เพิ่มเติมของภาครัฐ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีที่อาจจะต้องหาฐานภาษีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มรายได้จัดเก็บเพื่อให้เพียงพอต่อการลดขนาดการขาดดุลการคลัง.