การระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานมานาน กว่า 20 เดือน ทำให้หลายคนเสียชีวิต และอีกหลายคนตายทั้งเป็น เพราะตกงาน จนมีปัญหาในชีวิตอีกหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิต ทั้งภาวะความเครียด ซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ และภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
มีตัวเลขจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ที่จัดทำสรุปอยู่ในเอกสารรายงานภาวะสังคมประจำไตรมาส 2 / 2564 โดยรวบรวมข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 ถึงวันที่ 5 ส.ค.2564 พบว่าประชาชนในกลุ่มที่ตกงานมีผลกระทบด้านสุขภาพจิตสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในเดือน ก.ค. 2564 ซึ่งมีการระบาดของโควิดอย่างหนักต่อเนื่อง และมีการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง
แบบประเมินนี้มีกลุ่มต่างๆ ที่มาตอบ เช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มถูกกักตัวที่บ้าน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้ตกงาน รายได้น้อย หรือธุรกิจประสบปัญหา เกี่ยวกับอาการสุขภาพจิต 4 ห้วข้อ
ผลการประเมินพบว่า ค่าเฉลี่ยประชาชนทั่วประเทศทุกกลุ่มที่ตอบแบบประเมิน 102,425 คน มีความเครียดสูง 5.6% เสี่ยงซึมเศร้า 7.27% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 3.38% และภาวะหมดไฟ 3.2% ซึ่งทุกอาการสูงกว่าเดือน มิ.ย.เท่าตัว ส่วนภาวะหมดไฟสูงกว่าถึง 3 เท่า โดยกลุ่มที่ตกงานมีอาการเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น เช่น คนตกงานมีภาวะเครียดสูงถึง 20.79% เสี่ยงซึมเศร้า 25.32% และบางคนมีมากกว่า 1 อาการ
สุขภาพจิตของคนตกงานยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นในกลุ่มที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพราะตัวเลขสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเท่าตัว โดยผู้ตอบแบบประเมิน 6,485 คน มีความเครียดสูงถึง 50% หรือ 5 ใน 10 คนที่มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า 61.67% หรือประมาณ 6 ใน 10 คนที่เสี่ยงซึมเศร้า และกว่า 3 ใน 10 คน หรือ 37.67% เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ 25.17% หรือ 1 ใน 4 คน และมีอาการมากกว่า 1 อย่างถึง 69.50%
...
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้รายงานตัวเลขคนว่างงานล่าสุดว่ามีอยู่ 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้จบการศึกษาใหม่ 2.9 แสนคน และมีผู้ว่างงานมาแล้วนานกว่า 12 เดือน 1.47 แสนคน