ข่าวดีประเทศไทย เมื่อวัคซีนโควิดเข้ามาลอตแรก 317,000 โดส ทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา จะเริ่มฉีดกลุ่มเป้าหมาย 13 จังหวัดในเดือนมี.ค. และจะทยอยเข้ามาเพิ่มเติมอีก รวม 63 ล้านโดส ภายในปี 2564 ตามแผนของรัฐบาล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย และเพิ่มความเชื่อมั่นในการเดินหน้าของเศรษฐกิจ

  • วัคซีนซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส แบ่งเป็น 3 ระยะ ในการส่งมอบให้ไทย โดยระยะแรก 2 แสนโดส มาถึงไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนส่งมอบในระยะสอง จำนวน 8 แสนโดส ภายในเดือน มี.ค. และระยะสาม 1 ล้านโดส ภายในเดือน เม.ย.

  • วัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดส จะกระจายไปยัง 18 จังหวัด จำนวน 707,000 โดส แยกเป็นสมุทรสาคร 60,000 โดส, กทม. (ฝั่งตะวันตก) 150,000 โดส, ปทุมธานี 64,000 โดส, นนทบุรี 64,000 โดส, สมุทรปราการ 36,000 โดส, ตาก (อ.แม่สอด) 24,000 โดส, ชลบุรี 50,000 โดส, ภูเก็ต 16,000 โดส, สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) 16,000 โดส, เชียงใหม่ 32,000 โดส, กระบี่ 16,000 โดส, ระยอง 28,000 โดส, จันทบุรี 24,000 โดส, ตราด 24,000 โดส, นครปฐม 28,000 โดส, สมุทรสงคราม 20,000 โดส, ราชบุรี 25,000 โดส และเพชรบุรี 30,000 โดส โดยให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ รวม 217,000 โดส ประชาชน 490,000 โดส และสำรองไว้สำหรับควบคุมการระบาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 93,000 โดส

  • อีก 1 ล้านโดสของซิโนแวค กระจายไปยัง 18 จังหวัด จำนวน 888,000 โดส แยกเป็นสมุทรสาคร 100,000 โดส, กทม. (ฝั่งตะวันตก) 200,000 โดส, ปทุมธานี 60,000 โดส, นนทบุรี 60,000 โดส, สมุทรปราการ 60,000 โดส, ตาก (อ.แม่สอด) 48,000 โดส, ชลบุรี 48,000 โดส, ภูเก็ต 48,000 โดส, สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) 16,000 โดส, เชียงใหม่ 48,000 โดส, กระบี่ 16,000 โดส, ระยอง 32,000 โดส, จันทบุรี 24,000 โดส, ตราด 24,000 โดส, นครปฐม 32,000 โดส, สมุทรสงคราม 24,000 โดส, ราชบุรี 32,000 โดส และเพชรบุรี 16,000 โดส โดยให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ รวม 62,000 โดส ประชาชน 846,000 โดส และสำรองไว้สำหรับควบคุมการระบาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 112,000 โดส



  • วัคซีนแอสตราเซเนกา ลอตแรก 117,000 โดส ส่งมอบให้ไทยเนื่องจากความจำเป็นในการควบคุมโรคระบาด โดยอีก 61 ล้านโดส จะเข้าประเทศไทย 2 รอบ แบ่งเป็นรอบแรก จำนวน 26 ล้านโดส ส่งมอบ 3 ระยะ ภายในเดือนมิ.ย. จำนวน 6,000,000 โดส ภายในเดือน ก.ค. จำนวน 10,000,000 โดส และภายในเดือน ส.ค. จำนวน 10,000,000 โดส

  • วัคซีนแอสตราเซเนกา รอบสอง จำนวน 35 ล้านโดส แบ่งการส่งมอบ 4 ระยะ ภายในเดือน ก.ย. จำนวน 10,000,000 โดส ภายในเดือน ต.ค. จำนวน 10,000,000 โดส ภายในเดือน พ.ย. จำนวน 10,000,000 โดส และภายในเดือน ธ.ค. จำนวน 5,000,000 โดส

  • วัคซีน 2 ยี่ห้อต้องฉีด 2 โดส กรณีฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เว้นระยะการฉีดจากเข็มแรก ตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ สามารถฉีดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ หากเป็นของซิโนแวค เว้นระยะการฉีด 14-28 วัน โดยมีข้อจำกัดอายุของผู้ได้รับการฉีด ระหว่าง 18-59 ปี

...

“นพ.โสภณ เมฆธน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด ระบุวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส จะกระจายไป 18 จังหวัด ตามแผนของ ศบค. โดยการฉีดเข็มแรกอาจเป็นช่วง 28 ก.พ.-1 มี.ค. ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา 117,000 โดส จะเสริมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่สีแดงและสีส้ม 9 จังหวัด โดยจะฉีดให้ประชาชน 50,000 คน ซึ่งแต่ละคนต้องฉีด 2 เข็ม ตามเวลาที่ห่างกันในแต่ละเข็ม และใครจะได้รับวัคซีนยี่ห้อใดนั้น จะเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

“รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยของวัคซีน ยังไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเป็นวัคซีนชนิดใด ไม่ว่าประเภทเชื้อตาย หรือแบบใด ต้องดูจากการฉีดวัคซีนจริง รวมถึงการแพ้วัคซีนมากน้อยเพียงใด จึงอย่าคาดเดากันเอง และข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา มีสรรพคุณ 95 % เมื่อมีการฉีดไปแล้วหลายสิบล้านคน ซึ่งตัวเลขออกมาชัดเจนว่าของไฟเซอร์ มีโอกาสแพ้น้อย ประมาณ 11.1 คนต่อล้านคน ส่วนของโมเดอร์นา อยู่ที่ 4.5 หรือเกือบ 5 คนต่อล้านคน มีอัตราการแพ้น้อยมาก

ส่วนวัคซีนของแอสตราเซเนกา แม้มีสรรพคุณน้อยกว่าอยู่ที่ 60% แต่มีการนำไปฉีดในอังกฤษเป็นจำนวนมาก ซึ่งความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ปัญหาอยู่ที่วัคซีนซิโนแวค มีข้อมูลค่อนข้างน้อยในการศึกษาวิจัย จากการทดสอบเฟส 1 และเฟส 2 เท่านั้น แต่เฟส 3 ยังไม่ออกมา ยกเว้นออกมาทางสื่อเมื่อวันที่ 5 ก.พ. อ้างอิงเฉพาะบราซิลและตุรกี แต่ไม่มีข้อมูลทางวารสารทางการแพทย์ ทำให้เรื่องความปลอดภัยไม่ชัดเจน ซึ่งในทางการแพทย์ต้องค่อยๆ รอดู และต้องมีข้อมูลรายละเอียดของแต่ละวัคซีนอย่างครบถ้วน เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะฉีดหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้องภายหลังหากมีการแพ้วัคซีน.