ย้อนไป 30 ปีก่อน โศกนาฏกรรมโรงแรมรอยัลพลาซ่า ถล่มกลางเมืองโคราช มีผู้เสียชีวิต 137 ราย บาดเจ็บกว่า 300 ราย สร้างความเศร้าสลดให้กับผู้ที่ติดตามข่าว ในช่วงเวลานาทีชีวิต ทีมเจ้าหน้าที่และกู้ภัยใช้เวลายาวนานหลายวัน กว่าจะช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้หมด แต่มีอีกหลายคนที่โชคร้าย สิ้นลมใต้ซากปรักหักพังในโรงแรมหรู ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ ย้ำเตือนไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก
เวลา 10.10 น. วันที่ 13 ส.ค. 2536 เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่า อ.เมือง จ.นครราชสีมา เกิดถล่มลงมารวดเร็วในเวลาไม่ถึง 10 นาที ทั้งที่มีการจัดประชุมสัมมนาของราชการ กระทรวงศึกษาธิการ บริษัทเอกชน แขกที่เข้าพัก และพนักงานโรงแรม รวมทั้งหมด 379 ชีวิต

“โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม...” สิ้นเสียงรายงานเหตุการณ์น่าสะพรึง เมื่อทีมกู้ภัยชุดแรกถึงที่เกิดเหตุ ตึกสูงระฟ้าถล่มราบเป็นหน้ากลอง พอตรวจสอบผู้ที่อยู่ใต้ซากพบว่า เวลานั้น มีพนักงานของโรงแรม แขกที่พักอยู่ตามห้องต่างๆ
...
ต่อมาเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย และทุกภาคส่วนลงพื้นที่ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ขุดเจาะขนาดเล็ก เครื่องเจาะแรงอัดลม เครื่องตัดเหล็กไฟฟ้า ทำการขุดเจาะช่วยเหลือ

ช่วงเวลาชุลมุนพบหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่ง แพทย์ลงความเห็นจำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากท่อนแขนซ้าย ถูกของหนักทับอาการสาหัส การทำคลอดกลางเศษซากตึกถล่มเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทุกคนเฝ้าลุ้นและภาวนาให้แม่และเด็กรอดปลอดภัย แต่ไม่กี่อึดใจเสียงดีใจของทีมกู้ภัยดังขึ้น หลังเด็กชายลืมตาดูโลก โดยตั้งชื่อว่า ด.ช.ปาฏิหาริย์ แต่มีชีวิตได้เพียง 9 วัน ก็สิ้นลม
เหตุการณ์ครั้งนั้น หลวงพ่อคูณเดินทางมาที่ซากตึกถล่ม เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และอาสากู้ภัยที่เข้าช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในซากของโรงแรม และได้แจกพระเครื่อง พร้อมกับกล่าวว่า "พวกมึงเหนื่อยกัน กูให้ของดีให้พวกมึงไว้คุ้มครองตัวกันนะ"

แต่ก่อนที่หลวงพ่อคูณ เดินทางกลับ พล.ท.อานุภาพ ทรงสุนทร แม่ทัพภาคที่ 2 ขณะนั้นได้สอบถามหลวงพ่อคูณว่า “ไอ้ตึกที่มันตั้งโด่เด่ อยู่แท่งเดียวนี้มันจะล้มไหมครับ?”
“กูว่ามันไม่ล้มลงมาดอก” คำตอบของเทพเจ้าแห่งด่านขุนทด ทำเอาทุกคนใจชื้น

หลังจากนั้น นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมกล่าวกับสื่อมวลชนว่า “จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการละเลยเพิกเฉยในการดูแลการก่อสร้าง เชื่อว่ายังมีอาคารสภาพเช่นนี้อีกหลายแห่ง เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูม จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องของแบบแปลนการก่อสร้าง หรือมีการใช้อิทธิพลในท้องถิ่น โดยนายทุนใช้อิทธิพลกับข้าราชการ”
ท่ามกลางสถานการณ์การค้นหาผู้รอดชีวิต และร่างไร้วิญญาณใต้ซากปรักหักพัง ทีมสอบสวนพบสาเหตุการทรุดของโรงแรมมาจากฐานรากระหว่างรอยต่ออาคารเก่า กับส่วนใหม่ที่ต่อเติม ทำให้ทรุดตัวกะทันหัน จากการตรวจสอบพบน้ำใต้ดินที่ไหลสู่ฐานราก เจ้าของโรงแรมแก้ปัญหาโดยทำบ่อแล้วสูบน้ำใต้ดินออก ทำให้ฐานรากลดขีดสมรรถภาพในการรับน้ำหนัก เพราะน้ำที่ซึมถูกดูดออกไปเป็นดินด้วย โดยทำติดต่อกัน 2 ปี จึงทำให้เกิดโพรง เมื่อความหนาแน่นของดินใต้ฐานรากของแนวต่ออาคารเก่ากับใหม่ มีความหนาแน่นน้อย ฐานรากจึงรับน้ำหนักไม่ไหว
...

หลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ได้ตรวจพบหลักฐานการประชุมเมื่อปี 2530 ระบุว่าได้เกิดรอยร้าวตามฝาผนัง ซึ่งกรรมการบริหารทราบดี แต่ปกปิดและโบกปูนปิดไว้ กระทั่งปี 2534 ได้ต่อเติมห้องพักบนชั้น 5-6 เพื่อให้ทันกับการประชุมไลออนส์ ต่อมาก็มีรอยร้าวที่บันไดขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไข
ท้ายที่สุดแล้ว หลังการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง มีการสรุปว่า การถล่มของโรงแรมมาจากฐานเสาคอนกรีตเสริมเหล็กเดิม ไม่สามารถรองรับน้ำหนักการต่อเติมได้ เมื่อมีแรงกดดันมาก จึงทำให้อาคารถล่ม ถือว่าเป็นความประมาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มเติมโดยไม่ได้ดูแบบแปลนเดิม
แม้เหตุการณ์จะผ่านมา 30 ปี แต่โศกนาฏกรรมตึกถล่มโคราช ก็ยังคอยย้ำเตือน ไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ขึ้นอีก โดยเฉพาะการออกแบบก่อสร้าง และการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นต้นตอของเหตุสลดนี้.