23 ปี หายนะโคบอลต์-60 สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทย มีผู้ได้รับผลกระทบพิการและเสียชีวิต ล่าสุดซีเซียม สารอันตรายหายจากโรงไฟฟ้า จ.ปราจีนบุรี สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่ หากย้อนเวลากลับไปถึงเหตุการณ์ร้ายในอดีต ทำให้เห็นถึงแนวทางป้องกัน หากมีการรั่วไหลของสารอันตรายได้ทันเวลา
ต้นปี 2543 ส่วนหัวของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ หรือ เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ไม่ได้ใช้แล้ว ถูกแยกชิ้นส่วน โดยถูกนำออกมาจากสถานที่เก็บ ไปเก็บไว้ในที่จอดรถร้างซอยอ่อนนุชตั้งแต่ปี 2542
คนเก็บของเก่าเมื่อเห็นชิ้นส่วนดังกล่าวจึงจัดการแยกชิ้นส่วนนำไปขายเป็นเศษโลหะ ทำให้รังสีแพร่กระจายออกมา ผู้ที่ถูกรังสีต่างมีอาการเจ็บป่วย เมื่อแพทย์ตรวจรักษา สงสัยว่าได้รับรังสีจากต้นกำเนิดอันตราย เมื่อตรวจสอบพบว่าผู้ป่วย 10 รายที่ได้รับปริมาณรังสีสูง ในจำนวนนี้มี 3 ราย ทำงานร้านรับซื้อของเก่า เสียชีวิตระยะเวลา 2 เดือนหลังจากนั้น
...
เมื่อข่าวแพร่สะพัด หน่วยงานสาธารณสุขได้ทำการตรวจหาสารปนเปื้อนในร่างกายประชาชนทั้งสิ้น 948 คน จากประชากร 1,882 คน
จนมีการตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบบริษัทผู้นำเข้าว่า มีการจัดเก็บสารอันตรายอย่างเหมาะสมเพียงใด เหตุการณ์ครั้งนั้นเมื่อเรื่องแดงขึ้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ 3 ท่าน ถึงการละเลยการปฏิบัติหน้าที่
ส่วน กลุ่มซาเล้ง ถูกแจ้งความจากบริษัทผู้นำเข้า ข้อหาลักทรัพย์ แต่ตำรวจสรุปสำนวน ไม่ส่งฟ้อง เพราะจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด ส่วนการจ่ายค่าชดเชยผู้เสียหาย บริษัทมีการแยกการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย คือ ประชาชนทั่วไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดและค่าเสียโอกาส ส่วนผู้เข้าไปขโมยทรัพย์สิน และผู้รับซื้อของโจร จะจ่ายเพียงค่ารักษาที่จำเป็น
ขณะนั้นมีความเห็นจากนักวิชาการว่า โคบอลต์-60 ระยะยาว ผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็ง ต้องใช้เวลาติดตามผู้ป่วยยาวนานถึง 20 ปี เพราะผู้ได้รับรังสีบางรายอาจไม่มีอาการปรากฏให้เห็น แต่แสดงผลออกมาในอนาคต แพทย์ควรมีการขึ้นทะเบียนชาวบ้านเพื่อติดตามผล
เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ป่วยจากรังสี 10 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนผู้ป่วยอื่นๆ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ขณะที่ผู้ป่วยหลายรายไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะดูแลไปอีกนานแค่ไหน หากในอนาคตมีผู้ป่วยแสดงอาการเพิ่มขึ้นใครจะรับผิดชอบ
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ผู้เจ็บป่วยทุกคนยังมีอาการเรื้อรัง และผลการตรวจยังพบโครโมโซมในร่างกายผิดปกติ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าเป็นมากกว่าความสูญเสีย เพราะมีหลายครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ และยังต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก เนื่องจากมีบางคนได้รับผลกระทบจากสารอันตราย และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายมาตลอด
...
การฟ้องร้องในคดีโคบอลต์-60 ล่วงเลยมาจนถึงปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับศาลปกครองกลาง พิพากษาตัดสินให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543
ส่วนในคดีศาลแพ่ง ถึงที่สุดเมื่อ 8 มิถุนายน ปี 2559 ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินให้ บริษัทผู้นำเข้าสารอันตรายดังกล่าวจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543
23 ปี หายนะโคบอลต์-60 ยังเป็นเหตุสะเทือนใจ ย้ำเตือนถึงภัยร้าย ขณะที่ล่าสุด การหายไปของ ซีเซียม แม้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ แต่การตามหาชิ้นส่วนทั้งหมดให้เจอ และควบคุมไม่ให้แพร่กระจาย ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ควรจะปกปิดข้อมูล เพราะประชาชนจะได้รู้ถึงแนวทางการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอย่างในอดีตอันเจ็บปวด.