ไม่มีใครคาดคิดว่า “เรือหลวงสุโขทัย” ซึ่งถือเป็นเรือสำคัญที่กองทัพเรือ ใช้มายาวนานกว่า 35 ปี จะเกิดอับปาง โดยเหตุเริ่มต้น เวลา 17.16 น. เย็นวันที่ 18 ธ.ค. 65 หลังจากเกิดน้ำทะเลเข้าเรือจนทำให้เครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้าดับ กระทั่งระบบสื่อสารล่มในเวลาต่อมา และเวลา 23.46 น. เรือหลวงสุโขทัย ก็เกิดการล่มจมทะเล บริเวณแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเวลานี้ยังมีนายทหารเรือบางส่วน ยังคงลอยลำอยู่กลางทะเล และเร่งช่วยเหลือ
ในขณะที่ส่วนใหญ่ ได้รับการช่วยเหลือแล้ว มากกว่า 70 นาย และมีบางส่วน ตามรายงานระบุว่ากำลังติดตามค้นหา ซึ่งหวังว่าทุกคนจะถูกช่วยเหลืออย่างปลอดภัย...
จากเหตุการณ์ดังกล่าว มองย้อนไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ของทหารเรือ หากเรือประสบอุบัติเหตุในทะเล หรืออยู่ในภาวะสงคราม แล้วเรือหมดความสามารถในการรบ หรือเดินเรือแล้ว ก็มีอันจำเป็นต้อง “สละเรือ”
ในข้อบังคับ กระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติการของหน่วยเรือ (ฉบับ ปี พ.ศ. 2520) ระบุไว้ว่า “เรือหลวง” ที่กำหนดไว้ในอัตรากองทัพเรือ ในกรณีเรือหลวงในบังคับบัญชาประสบอันตรายร้ายแรง และผู้บังคับการรายงานขออนุญาตสละเรือใหญ่
...
ขั้นตอนคือ ต้องให้ผู้บังคับบัญชา รายงานด่วนให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และพยายามอย่าง “ถึงที่สุด” ที่จะช่วยให้เรือพ้นภัย หากเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ โดยลำพัง ก็ให้ขอความช่วยเหลือไปยังเรือในบริเวณใกล้เคียงทุกลำโดยใช้สัญญาณสากล
เมื่อเรือจะต้องอับปางลงด้วยประการใดๆ ก็ดี หรือเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือเรือให้พ้นจากการอับปางได้ ประกอบกับเห็นว่าสภาพเรือจะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ก็ให้ผู้บังคับหน่วยเรือสั่ง “สละเรือใหญ่” ได้
จากข้อมูล “ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ” ระบุถึง “การสละเรือใหญ่” ว่า เมื่อเรือประสบภัยพิบัติในทะเล และมีความจำเป็นต้องทิ้งเรือเพื่อเอาชีวิตรอด นิติธรรมของชาวเรือมีอยู่ว่า
“สตรีและเด็กจะต้องจัดให้ได้รับการสละเรือใหญ่ก่อนผู้อื่น ผู้บังคับการเรือ (นายเรือ) จะต้องไปจากเรือเป็นคนสุดท้าย”
สำหรับผู้บังคับการเรือ ถ้าไปจากเรือเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นโดยไม่พากเพียรสุดความสามารถ ในอันนี้ที่จะทำการแก้ไขเรือพ้นอันตรายหรือรู้อยู่ว่า ยังมีคนอยู่ในเรือ นอกจากเป็นการผิดนิติธรรมดังที่ยกมาแสดงแล้ว ในราชนาวีไทยยังถือว่า เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาทหารอีกด้วย
จากข้อมูลกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ “ประเพณี นิติธรรม และพิธีของทหารเรือ” ยังมีการระบุถึง “การถือลาง”
เมื่อชาวบูกินี หรือมากัซซาร์ (อินโดนีเซีย) อยู่ในทะเล และแล่นเรือผ่านที่ซึ่งเขาเชื่อว่ามีผีคอยหลอกหลอนอยู่ เขาจะสงบเงียบเท่าที่จะทำได้ ถ้าเขาจะพูด เขาจะใช้ชี้และบอกกิริยา แทนคำพูด เบื้องต้นว่า น้ำ ลม ไฟ การครัว การรับประทาน หม้อข้าวและอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นทั้งของชาวบูกินี และมากัซซาร์ และดังนั้น ผีที่คอยหลอกหลอนอยู่จึงไม่สามารถเข้าใจอากัปกิริยาสองอย่างนี้ได้
อากัปกิริยา หรือการแสดงท่าทาง เป็นการยืมคำธรรมดามาใช้แทนเท่านั้น เช่น
น้ำ ใช้ศัพท์แทนว่า “ฝน”
หม้อข้าว เรียกว่า “อ้ายดำ”
ข้าวสุก เรียกว่า “ผู้ที่ถูกกิน”
ปลา เรียกว่า “ใบไม้”
ไก่ เรียกว่า “ผู้ซึ่งอยู่ในเล้า”
ลิง เรียกว่า “ผู้ซึ่งอยู่บนต้นไม้”
ขณะที่ความเชื่อของชาวเรือใกล้หมู่เกาะชวา เขาจะไม่พูดว่า “อากาศดี” เพราะหากพูดเช่นนั้น ก็จะถูกพายุหอบเรือไปไกล ประสบภยันตราย
...
สำหรับความเชื่อของไทย เมื่อต้องการจะให้ลมพัดใช้การผิวปาก เกาะเสาใบเรือ หรือกอดเสา แต่...การผิวปากในเรือรบ ถือว่าเรือจะถูกพายุ หรือคลื่นลมจัด ถ้าลมแรงเกินไป หรือเป็นพายุ ให้เอามีดขัดโคนเสาใบ ยิ่งผู้ขัดมีดเป็นสตรีพรหมจารีด้วยยิ่งดี และเป็นความเชื่อตลอดถึงคนบนบกด้วย เมื่อเกิดพายุขึ้นเกรงจะได้รับภัย ให้ใช้มีดขัดล่อง
การออกเรือ มีคำกล่าวอยู่ว่า “วันศุกร์ขึ้นเขา วันเสาร์ลงทะเล” แปลว่า การออกเรือวันศุกร์ไม่ดี เรือจะประสบภยันตราย ออกเรือวันเสาร์จะโชคดี
แต่บางครั้งก็มีผู้ถือทั้งวันศุกร์และวันเสาร์ และวันที่ 13 ของเดือน และเมื่อออกเรือนั้น ถ้าถอนสมอไม่ขึ้นหรือโซ่สมอขาด ย่อมเป็นลาง การเดินทางจะไม่ราบรื่น
ในเวลากลางคืน หากได้ยินเสียงนกกะปูดร้อง แสดงว่าน้ำขึ้น วันใดมีนกนางนวลออกหากินในทะเล แปลว่า วันนั้นอากาศดี
ทหารเรือถือว่าท้องฟ้าแดงในเวลากลางคืน ทะเลจะเรียบ และถ้าท้องฟ้าแดงในเวลาเช้าอากาศจะร้าย ลมจะเปลี่ยนแปลง
นี่เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อ ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ใน “ประเพณี นิติธรรม และพิธีของทหารเรือ” โดยถูกจัดพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์ของเรือเอกหลวงสุวรรณศาสน์ศุภนิตย์ เมื่อปี 2505 ซึ่งความเชื่อถือเป็น วิจารณญาณแต่ละบุคคล
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...