“ขอโทษที...ผมเป็นตำรวจ”
ฉากบนดาดฟ้าตึก ระหว่าง “เหลียงเฉาเหว่ย” ในฐานะ “ตำรวจ” ปลอมเป็น “โจร” จ่อปืนใส่ “หลิวเต๋อหัว” มาเฟียในคราบตำรวจ ที่ขอโอกาส “กลับตัว” ยังคงตราตรึง คอหนังฮ่องกง หรือ ถ้าเป็นหนังฮอลลีวูด นำไปรีเมก ก็คือหนังเรื่อง The Departed ฉบับ “แมตต์ เดมอน” และ “ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ”
ย้อนกลับมาประเทศไทย ณ สยามประเทศ เวลานี้ กำลังมีปัญหาวุ่นๆ ในวงการสีกากี กับการสอบ “นายสิบ” ที่เริ่มจากพิรุธ จากการโกงสอบ โดยมีสาเหตุมาจาก “ข้อสอบรั่ว” และขบวนการที่ไม่ชอบมาพากล...
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อย่างใด เพราะเปิดสอบกันทีไร ก็มีปัญหาตามมา “แทบ” จะทุกครั้งไป
เพราะอะไร.... อาชีพ “ตำรวจ” ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ถูกก่นด่ามากที่สุดอาชีพหนึ่ง แต่กลับมีคนใฝ่ฝัน หรือ ถวิลหา อยากเข้ามาทำงานมากที่สุด อาชีพหนึ่งเช่นเดียวกัน
เพราะรายได้ดี...?
สวัสดิการดี...?
มีอำนาจ(กฎหมายและปืน)...?
...
แล้วด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ละครั้งก็มีคนแห่สอบเข้าเป็นแสนๆ คนทั้งที่รับในอัตราหลักพันคนเท่านั้น และครั้งล่าสุด ก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน
การโกงข้อสอบ เกิดขึ้นมานมนานแล้ว และใช้กลวิธีในการทุจริตการสอบแตกต่างกัน และวันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่าน ไปย้อนรอยกลเม็ดโกงสอบตำรวจ ตั้งแต่ยุคอนาล็อก ยัน Metaverse
ย้อนไปในปี 2523 มีการตรวจสอบพบทุจริตการสอบ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน โดยนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ปี 1 จำนวน 10 คน ได้จ้างวานคนอื่นมาเข้าสอบ ในวิชาวิทยาศาสตร์ และ ภาษาไทย
แต่...สุดท้ายก็ถูกจับได้ ถูกตั้งกรรมการสอบ และเสนอให้ไล่ออก
กลวิธีทุจริต : จ้างคนอื่นมาสอบแทน...
ถัดมาไม่นาน เกิดปัญหาระหว่างการสอบคัดเลือกนายดาบตำรวจและจ่าสิบตำรวจ เพื่อเลื่อนชั้นเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2529 ในเขต บช.ภ.4 สนามสอบ ภาค 9 ใน จ.ยะลา มีนายดาบและจ่าสิบตำรวจ เข้าสมัคร 2,800 คน
ปรากฏว่า เวลาตามกำหนดที่จะสอบ คือ 15.30 น. แต่พอมาถึงเวลา ประธานการสอบกลับไม่ให้เจ้าหน้าที่แจกข้อสอบ ทำให้ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่ไม่พอใจ
กระทั่ง 18.30 น. กลับพบว่ามีข้อสอบบางส่วน หลุดรั่วออกมา และมีการถ่ายสำเนามาแจกจ่ายดูกัน สุดท้ายมีการรวมตัวกันประท้วง โดยมีตัวแทนจากตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวโจมตีถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
ต่อมาเวลา 20.20 น. ผู้ดำเนินการสอบได้ประกาศให้ผู้เข้าห้องสอบได้ มีเพียง ผู้สมัครฝ่ายปราบปราม 44 คน เข้าห้องสอบ ซึ่งต่อมาผู้ประท้วงได้ยื่นข้อเรียกร้องให้การสอบนี้เป็นโมฆะ และเปิดโอกาสให้มีการสอบใหม่
ในขณะที่ผู้เข้าสอบบางส่วน บางห้องมีเพียง 4-5 คน และสอบโดยไม่มีกรรมการคุมสอบ ทั้งนี้ ผู้ประท้วงบางคน กล่าวโจมตีว่า คณะกรรมการคุมสอบบางคน “ทุจริต” ต่อหน้าที่ ส่งผลให้ข้อสอบรั่ว มีการ “โรเนียว” ข้อสอบ แจกก่อนสอบ ส่วนคณะกรรมการคุมสอบ ก็ยืนยันว่าไม่มีโกง แต่เกิดเหตุขึ้น เพราะมีการจัดสอบล่าช้าเท่านั้น..?
สรุปกลวิธีทุจริต : ดึงเวลา โรเนียว แจกโพย แลกเงินแสน?
ในปีถัดมา พ.ศ.2530 ก็มีข่าวการทุจริต สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
...
1 เม.ย. 30 ที่วิทยาลัยครูพระนคร ถ.แจ้งวัฒนะ ตำรวจพบรถต้องสงสัย 2 คัน จอดอยู่ ริมรั้วด้านนอก และสงสัยว่า จะเป็นแก๊งทุจริตการสอบ ด้วยการส่งสัญญาณวิทยุ...
และก็เป็นจริงดังที่คาด เมื่อตำรวจตรวจพบ อุปกรณ์รับส่งวิทยุ 1 เครื่อง บูสเตอร์ 1 เครื่อง วิทยุบังคับรถแข่งฟูตาบาร์ 1 เครื่อง เสาอากาศ และอื่นๆ และมีรายชื่อนักเรียนอีก 11 คน
การโกงข้อสอบครั้งนี้ ดำเนินการโดยกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยชื่อดังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกคนใหญ่คนโต
วิธีการ จะให้คนในแก๊ง 2 คนเข้าห้องสอบ และนำเฉลยออกมา จากนั้น ส่งสัญญาณวิทยุออกมาด้วยการ “เคาะสัญญาณ” 1 ที เท่ากับ ก. 2 ที เท่ากับ ข. แต่...สิ่งที่ทำดันถูกตำรวจจับได้เสียก่อน จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวิทยุเถื่อน..
สรุปกลวิธีทุจริต : ส่งคนเข้าสอบ เคาะเฉลย ส่งสัญญาณ
ในปลายปี 2531 ก็มีปัญหาคล้ายกันเกิดขึ้น ในสนามสอบ โคราช โรงเรียนตำรวจภูธร 3 นครราชสีมา นักเรียนพลตำรวจ รุ่นที่ 41 โดยมีคนสมัคร 1.2 หมื่นคน แต่รับจริงเพียง 720 นาย
...
การสอบครั้งนี้ ก็มีผู้สมัครบางส่วนออกมาโวยว่ามี “ข้อสอบรั่ว” คนที่สอบได้ส่วนใหญ่เป็นลูกคนมีเงิน จ่ายหัวละ 3-4 หมื่น บางคนที่ได้ก็เป็น ลูกคนใหญ่คนโต..
ทั้งนี้ ผลการสอบปรากฏว่า มีคนสอบได้คะแนนเต็ม 120 คะแนน ถึง 100 คน จึงมีข่าวหนาหูว่า “ข้อสอบรั่ว”
สรุปกลวิธีทุจริต : ข้อสอบรั่ว?
ในปี 2555 เป็นอีก 1 ปีที่มีการตรวจสอบพบการ “โกงสอบ” เข้า “นายสิบตำรวจ” ซึ่งถือเป็นการสอบครั้งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมสอบ 278,063 คน โดยพบการทุจริต ใน 4 ภาค จำนวน 204 คน ได้แก่ บช.ภ.2 บช.ภ.3 บช.ภ.5 และ บช.ภ.6
จากการตรวจสอบพบว่า ขบวนการโกงข้อสอบครั้งนี้ เกี่ยวพันกับผู้นำท้องถิ่นแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และมีการแบ่งงานกันเป็นทีม 10 ทีม และมีการดูแล “ลูกค้า” สายละ 200-250 คน
การโกงที่พบ ก็มีหลายวิธี ทั้งการใช้เครื่องสั่น ลักษณะคล้าย “เพจเจอร์” บางคนถึงขั้นซุกเป้า ซ่อนดังไข่ในหิน กันเลย ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการของขบวนการโกง ในขณะที่บางคนใช้วิธี “ตีเนียน” ปลอมบัตรคนอื่นมาสอบก็มี
ทั้งนี้ ใน บช.ภ.2 ที่พบการซุกซ่อนเครื่องส่งสัญญาณบอกข้อสอบแบบสั่น ลักษณะคล้าย “เพจเจอร์” นั้น จับได้มากถึง 95 ราย และมีรายงานว่า แต่ละคนอาจต้องจ่ายหัวละ 3-5 แสนบาท... แค่ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ก็ปาเข้าไป 5 หมื่นแล้ว...
พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี รอง ผบช.ภ.2 ขณะนั้น กล่าวว่า “ต้องขอแสดงความเสียใจต่อทุกคนที่ถูกจับทุจริตข้อสอบด้วย จะให้เข้าสอบไม่ได้ เพราะเริ่มต้นจะเป็นตำรวจก็ทำการทุจริตแล้ว ฉะนั้น ก็อย่าเข้าเป็นตำรวจเลย...”
...
กลวิธีทุจริต : ซื้อ ส่งซิก สั่น ซ่อน?
ในปี 2559 ต่อเนื่องถึง 2560 มีการตรวจพบความไม่ชอบมาพากลของ “กระดาษคำตอบ” ในการสอบข้อเขียนสอบ “นายสิบตำรวจ” เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 59 ที่ 2 สนามสอบ โดยรับสมัคร 1,000 อัตรา และมีผู้สมัคร 13,285 คน
ผลการสอบสวน พบความไม่ชอบมาพากล มี “พฤติกรรมน่าสงสัยเกี่ยวข้องกับการทุจริต” 413 ราย
แบ่งเป็น “นักศึกษามือปืนรับจ้าง” (เข้าไปสอบแทน) จำนวน 34 คน จากคณะแพทย์ และ วิศวกรรมศาสตร์ คณะละ 10 คน ที่เหลือเป็นคณะอื่นๆ
ส่วนพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจะเป็น “ลอกข้อสอบ” อีก 80 คน (ที่เหลืออีกร้อยกว่าคน คือแบบว่า.... ลอกข้อสอบไม่ได้ตั้งใจ)
ทั้งนี้ ตำรวจได้สอบพยาน และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงไปกับเจ้าหน้าที่ กทม. รายหนึ่ง โดยแจ้งข้อหา “อั้งยี่” ซึ่งต่อมา มีการสรุปตัวเลขคนกระทำผิด แบ่งเป็น มือปืนสอบแทน 135 คน “ลอกข้อสอบ” อีก 223 คน รวมเป็น 358 คน ซึ่งต่อมามีการออกหมายจับ 2 ครั้ง ครั้งแรก 52 คน ครั้งที่สอง 32 คน รวม 84 คน
กลวิธีทุจริต : นักศึกษามือปืนรับจ้าง และ ลอกข้อสอบ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สำหรับ “ปัจจุบัน” คงจะได้เห็นจากข่าวกันบ้างแล้ว ว่าใช้กลเม็ดการโกงด้วยวิธีใด และเพราะอะไร โพยคำตอบ ถึงรั่วออกมา จะเป็นเพราะ คนที่เคยโกงเข้ามา หรือเปล่า อันนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่ขยายผลถึงขบวนการใหญ่
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านบทความที่น่าสนใจ