จากคดี กราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ที่อดีตตำรวจใจทมิฬรายหนึ่ง ลงมือกับเด็กน้อย คุณครูที่กำลังตั้งครรภ์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 36 ศพ โดย ล่าสุด ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ เพื่อส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตไปสู่ทรวงสวรรค์แล้ว แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นก็ต้องมีการถอดบทเรียน และวางมาตรการแก้ปัญหาต่อไป

ประเด็นหนึ่งที่กลับมาพูดถึงอีกครั้ง ทั้งฝ่ายการเมือง อย่างอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” และ พรรคเพื่อไทย ที่พยายามโหนกระแส เรื่องการประกาศสงครามกับยาเสพติด และ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เริ่มมีการกวาดล้างตามมาอย่างหนัก และจับได้ที่ 12 ล้าน กับ 8 ล้านเม็ด ในเวลาห่างกันเพียงไม่กี่วัน

แบบนี้เรียกว่า จะจับจริงๆ ก็ทำได้หรือ... แล้วที่ผ่านมา ทำอะไรกัน? นี่คือคำถามจากประชาชน...

การจะเริ่มใช้นโยบาย ประกาศ “สงครามกับยาเสพติด” ก็คงต้องหันกลับไปดูก่อน ว่าช่วงที่เคยทำมาแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้อะไร เสียอะไร แล้วทำไมถึงต้องยุติไป

ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร

...

ย้อนรอย นโยบาย ประกาศสงครามกับยาเสพติด ยุค “ทักษิณ ชินวัตร”

จากรายงานผลการดำเนินการของ ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กระทรวงมหาดไทย (ศตส.มท.) สรุปผลดังนี้

นโยบายปราบยานรก ในยุค “ทักษิณ” ดีเดย์จริงๆ เริ่มต้นในวันที่ 1 ก.พ. 2546 และสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2546 เป็นเวลาเพียง 3 เดือน

ผลการดำเนินการ : จับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ 43,012 ราย จากจำนวน 46,522 ราย
วิสามัญฆาตกรรมคนร้าย : 37 ศพ
เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น หรือฆ่าตัดตอน จำนวน 1,612 ราย
เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด : 870 ราย ถูกดำเนินคดีและไล่ออก 736 ราย
จังหวัดที่ลดปัญหายาเสพติด 100 % : กำแพงเพชร ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน พิจิตร ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู
จังหวัดที่มีผลงานต่ำสุด : นครสวรรค์ 79.20% รองลงมา ลำปาง 80.69% สมุทรปราการ 80.81% สุพรรณบุรี 82.30% และปราจีนบุรี 83.14%

14 ม.ค.46 อดีตนายกฯ ทักษิณได้เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกล่าวตอนหนึ่งว่า จะไม่อดทนกับปัญหายาเสพติดอีกต่อไป เพราะถือว่าทำลายประเทศชาติมานาน จะไม่อดทนกับผู้ที่มองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องธรรมดา รัฐบาลมีนโยบายจะแก้ไข โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Area Approach (การกำหนดพื้นที่เป้าหมาย) เป็นหลัก “เมื่อยิงตายแล้ว ต้องยึดทรัพย์ด้วย” จะได้ไม่ทิ้งมรดกบาป การปราบยาเสพติดต้องเหี้ยมพอ เพราะคนค้ายาเสพติดเหี้ยมต่อลูกหลานเรา วันนี้เด็กไทยเสพยา 3 ล้านคน ติดงอมแงม 7 แสนคน ดังนั้นการที่ เราเหี้ยมต่อผู้ค้ายาเสพติดจึงเป็นสิ่งที่ควรทํา


ต่อมา เพียงวันเดียว ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คัดค้านนโยบายการปราบ ปรามยาเสพติดที่นายกรัฐมนตรีระบุให้ใช้วิธี “เหี้ยม” โดยเห็นว่า แนวคิดนี้อาจทำให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรมเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ ปัจจุบันก็มีมากอยู่แล้วรวมทั้งไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้

28 ม.ค.46 นายกรัฐมนตรี ได้ลงนาม คำสั่งที่ 30-31/2546 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวย การต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศตส.) เพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ

แค่เพียงวันเดียวในการใช้นโยบายปราบยาเสพติดอย่างรุนแรง โฆษกตำรวจได้แถลงว่า จับกุมผู้กระทำความผิดได้รวม 231 ราย ผู้ต้องหา 264 คน ถูกวิสามัญฆาตกรรม 4 คน ยึดของกลางยาบ้า 727,742เม็ด ในจำนวนนี้เป็นผู้ค้ารายใหญ่ 10 ราย

นายชวน หลีกภัย ผู้นําฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า นโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล จะทําให้เกิดการฆ่าคนได้โดยไม่จําเป็น เพราะคนที่กระทําผิดต้องดูลักษณะการกระทํา โดยใช้กฎหมาย มารองรับ โทษหนักของยาเสพติด คือการประหารชีวิต ซึ่งเป็นคําสั่งของศาล ไม่ใช่ตํารวจ และผู้ปฏิบัติต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ผู้ให้นโยบาย...

...

ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อย่าง นพ.ประดิษฐ์ ก็ออกมาเตือนอีกครั้งว่า การใช้วิธีวิสามัญฆาตกรรม อาจมีช่องโหว่ของอคติ ที่อาจยิงผิดตัว ยิงทิ้ง หรือการยัดเยียดความผิดให้ผู้อื่น ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วไม่ทํากัน

ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี
ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี

ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ จะเข้ามาตรวจสอบการปราบปรามยาเสพติดของไทย โดยเฉพาะกรณีการฆ่าตัดตอน ซึ่งนายกฯ ทักษิณ ก็ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า ไทยทําทุกอย่างถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย อย่าไปสนใจคนไม่กี่คนพูด ต้องมองทุกด้าน มองประเทศไทยให้มองในภาพรวมว่าตํารวจถูกฆ่าตายไปกี่คนแล้ว อย่าไปเห็นชีวิตตํารวจไม่มีค่า แต่ชีวิตคนค้ายามีค่า เรื่องของคนสุจริต ตํารวจก็ทําไม่ได้ ถ้าทําก็ติดคุกเอง ดังนั้นใจ เย็นๆ ไม่ต้องห่วงอย่าไปตกใจ อย่าไปดัดจริตมาก ทําตัวเป็นคนสากลมากเกินไปมันไม่ดี

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่จะเดินทางมา ได้ถูกระงับการเดินทาง โดยมีการแถลงข่าวว่า รัฐบาล ระงับการเงินทางเข้าประเทศไทยของนางฮีน่า เจรานี ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติ

...

ในเบื้องต้นคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกำลังประสานงานเพื่อยื่นหนังสือผ่าน ผู้แทนพิเศษของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และพำนักอยู่ใน ประเทศไทย เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติต่อไป นอกจากนี้ เตรียมที่จะเสนอรายงานต่อที่ประชุม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติในการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 17 มี.ค.-24 เม.ย. อีกด้วย

15 ก.พ. 46 ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในรายการ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน” ว่า หลังประกาศสงครามกับยาเสพติด ครบ 15 วัน ได้ผลดีมาก ยาเสพติดหายไปมาก ผู้ค้าก็ไม่กล้า ขาย ส่วนผู้ที่ร่ำรวยจากการค้ายาเสพติด แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐาน แต่จะตามไปยึดทรัพย์ให้หมด

ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติ ทำหนังสือ ไปยัง ก.มหาดไทย ว่า มาตรการปราบปรามยาเสพติดขั้นรุนแรง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูง โดยได้รับการร้องเรียนจากประชาชน 22 ราย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขอโอกาสให้กระทรวงมหาดไทยทํางานก่อน ถ้าไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ภายใน 3 เดือน จะพิจารณาตัวเอง

อย่างไรก็ตาม จากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศ รวมถึงสื่อไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ฆ่าตัดตอน” นายกฯ ทักษิณ ได้ตำหนิสื่ออย่างรุนแรง

“ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมืองให้มาก เป็นการเสนอโดยปิดบังความจริงครึ่งเดียวตลอด เป็นพวกฮาร์ฟทรูธ (half-truth) ซึ่งใช้ไม่ได้ บางทีเขียนข่าวเพื่อความสนุก เขียนด้านเดียว ทําให้คนที่ไม่รู้ ตื่นเต้นตกใจ วุ่นวายกันใหญ่ ประเทศของเรามีเอกราชอย่าเพิ่งไปมอบเอกราชให้ใคร นี่คือ เอกราชของไทย ถ้าประเทศไทยไม่สามารถรักษาตรงนี้ได้ ยาเสพติดจะระบาดทั่วโลก”

...

1 มีนาคม 2564 ในรายการ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน” นายกฯ ไทยในขณะนั้น ก็ยังคงยืนยันว่า จะใช้นโยบายที่แข็งกร้าวในการปราบยาเสพติดต่อไป

นพ.ประดิษฐ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ได้รับอนุญาตจาก นายเซอร์จิโอ เวียร่า เดอ เมลโล่ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าชี้แจงรายละเอียดเกี่ยว กับการปราบปรามยาเสพติดที่รัฐบาลไทยได้เริ่มดําเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ทั้งที่เกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าตัดตอน ซึ่งการชี้แจงดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

จากการหารือกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ให้คำตอบว่า จะแต่งตั้ง น.ส.อัสมา จาอังเกอร์ ผู้ที่มีความชำนาญกรณีสังหารหมู่จากการปราบยาเสพติด ที่ประเทศโคลอมเบีย และเวเนซุเอลา เข้ามายังประเทศไทยในกรณีพิเศษ

3 มีนาคม 2546 นายกฯ ทักษิณ ได้เอ่ย วลี ที่ยังเป็นโจษขานยังทุกวันนี้ โดยกล่าวว่า กรณีที่สหประชาชาตินําปัญหาการฆ่าตัดตอนของ ไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศโคลัมเบีย ว่า เราทําหน้าที่ของเรา “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อผม” อย่าสรุปว่าการฆ่าตัดตอน เป็นการฆ่า กันเอง เป็นเรื่องของแก๊ง แต่ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไปร่วมฆ่าตัดตอนด้วย

นโยบาย ทำสงครามกับยาเสพติด ยังดำเนินการต่อจนครบ 3 เดือน และ ในวันที่ 2 พ.ค. นายกฯ ทักษิณ ได้กล่าวสรุปรายละเอียดทั้งหมดผ่านรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า การฆ่าตัดตอนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่อง “อาชญากรรม” ความจริงต้องนำผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษ ถือเป็น “อาชญากรรม” ต่อมนุษยชาติ ส่วนกรณีที่ จะมีการประกาศสงครามกับยาเสพติด เชื่อว่าคงไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุค “ทักษิณ” บางคนมองว่าเป็นผลงานดีเยี่ยม ยาเสพติดหายไป ก็แน่นอนเพราะใช้ระบบ “ยิงทิ้ง” แต่คำถามคือ วิธีการดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นธรรมหรือเปล่า... 

“ความเป็นจริง เชื่อว่าน่าจะมีคนตาย จากตอนประกาศสงครามยาเสพติด มากกว่า 5,000 คน ไม่ใช่แค่ 2,800 กว่าศพ แต่รายงานจากกระทรวงมหาดไทย อาจจะดูน้อยกว่าความเป็นจริง”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุอีกว่า กรณีการฆ่าตัดตอนในอดีตนั้น มันก่อให้เกิดอาชญากรมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ใส่ชุดข้าราชการ การตายส่วนมากก็มาจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ บางคดีใส่ไอ้โม่ง บางคดีก็ไม่ใส่ ถึงคนร้ายจะเลวแค่ไหน คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะฆ่าเขา และที่น่าสมเพช คือ บางคนไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย ก็โดนไปด้วย สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือ ต้องปฏิรูปตำรวจ ประเทศไทยมีด่านมากที่สุดในโลก ยาเสพติดก็มากที่สุดด้วย กลายเป็นว่า ตำรวจผู้น้อยติดยาเสพติด ตำรวจผู้ใหญ่ติดส่วย สิ่งที่ต้องทำคือต้องปฏิรูปโครงสร้าง คนที่จะรักษากฎหมาย ดูแลบ้านเมืองให้สะอาด คำถามคือ ผู้รักษากฎหมาย สะอาดเพียงพอหรือยัง...?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ