“ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”
นี่คือกฎหมายอาญาที่ผ่านการแก้ไขเมื่อปี 2546 จากเดิม ที่เคยผู้ที่ต้องโทษประหารจะต้อง “ไปยิงเสียให้ตาย..”
หากใครได้ติดตามข่าว เกี่ยวกับ กรมราชทัณฑ์ ก็จะทราบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ “กรมคุก” ได้มอบตู้ ที่เก็บรักษา “ดาบและปืนโบราณ” ที่ใช้สำหรับ “ประหารชีวิต” ของ นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง เพชฌฆาตดาบคนสุดท้ายของประเทศไทย เพื่อเก็บรักษาไว้ใน พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์แห่งใหม่ จ.นนทบุรี
“ดาบ” เพชฌฆาตโบราณ เล่มดังกล่าว ผ่านการประหารชีวิต นักโทษมาแล้ว 53 ศพ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิต เป็นการใช้ปืน โดยปืนที่นำมาใช้คือ ปืนแบล็คมันด์ ผลิตในประเทศเยอรมนี และสเปน โดยมีผู้โดนโทษอาญาแผ่นดินไป 47 ศพ ซึ่งมีนายเหรียญ ทำหน้าที่ เพชฌฆาตอยู่สักระยะ ก่อนจะส่ง “หน้าที่” ต่อให้กับ จ่าสิบตำรวจทิพย์ มียศ
จากเรื่องราวดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อพูดคุยกับคนเก่าคนแก่คนหนึ่งที่เคยทำงานในกรมราชทัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวถึงโทษประหาร และอาวุธที่ใช้ปลิดชีพนักโทษตามอาญาแผ่นดิน ว่า จากสมัยโบราณวิธีการประหารชีวิตโดย “ดาบ” จะมี เพชฌฆาต ดาบอยู่ 2 ดาบ ก็คือ ดาบหนึ่ง และดาบสอง ส่วนดาบที่นำใช้ตั้งแต่สมัยโบราณก็หลายสิบเล่ม..
...
สำหรับเพชฌฆาต ที่ถือดาบหนึ่งและดาบสอง จะมีลักษณะดาบที่แตกต่างกัน เพราะรูปแบบการใช้งานแตกต่างกัน เพราะ ดาบหนึ่ง สันดาบแรกจะมีความสั้นกว่าดาบสอง เมื่อลงดาบแรกไปแล้ว ดาบสองจะต้องฟันซ้ำ ซึ่งในบางตำราก็มีการเอ่ยถึง “ดาบที่สาม” ด้วย แต่จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมในอดีตส่วนมากเราจะเห็น เพชฌฆาต แค่ 2 ดาบเท่านั้น
จากข้อมูลของ Ghost Wiki – ผีไทยพื้นบ้าน ได้ระบุว่า ลักษณะดาบเพชฌฆาตแยกเป็น ดาบหนึ่ง ดาบสอง
ดาบหนึ่ง จะมีความสั้นกว่าดาบสอง ใบดาบจะกว้างกว่าดาบสอง ทั้งด้ามดาบก็สั้นกว่า สันดาปจะหนาประมาณ 1 ซม. ส่วนด้ามดาบประกอบด้วยเหล็กรัด ใช้เชือกด้ายดิบถักหุ้มด้วยลวดลายรัดกุมเพื่อให้สาก ถนัดในการกระชับ ทั้งลงรักและยางไม้เพื่อรักษาด้วยให้คงทนต่อการใช้งาน สภาพดาบปลายจะหักลง แล้วงอนขึ้นคล้ายใบง้าวของจีนเพื่อให้เกิดน้ำหนักถ่วงทางโคนดาบให้ได้ดุล
ดาบสอง ใบดาบจะยาวกว่าดาบหนึ่งประมาณ 8 ซม. ใบดาบเรียวคล้ายดาบที่นักรบไทยโบราณทั่วไปใช้ ปลายดาบเฉียงต่ำรับกับความโค้งของใบดาบด้านล่าง สันดาบบางประมาณ 0.7 ซ.ม.
คนเก่าคนแก่ในกรมราชทัณฑ์ เล่าว่า บางตำรา ก็มีการกล่าวถึง “ดาบสาม” ซึ่งอาจจะหมายถึง “ครูเพชฌฆาต” คนที่จะทำหน้าที่ทำพิธีในการประหาร รวมไปถึงการ “หลอมตีดาบ” ซึ่งการจะทำดาบเพชฌฆาต ต้องได้รับมอบหมายหน้าที่อย่างเป็นทางการเสียก่อน นอกจากนี้ คนที่จะถูกคัดเลือกเป็นเพชฌฆาต จะต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างประกอบด้วย
1.ต้องมีอาคมแก่กล้า : สามารถป้องกันตัวเองจากภูตผีปิศาจ
2.มีเพลงดาบ : ต้องมีความรู้ความสามารถด้านเพลงดาบ (ไม่มีเอกสารยืนยันว่าต้องเรียนผ่านสำนักไหน)
3.ดวงเพชฌฆาต : ทางราชการจะมีการตรวจดวงชะตาว่าต้องมี “ดวงเพชฌฆาต” ถ้าคุณสมบัติ 2 ข้อแรกครบ แต่ “ดวง” ไม่คุ้มครองตัวเอง ทางราชการก็จะปฏิเสธไม่ให้เป็น เพชฌฆาต
ส่วนนอกจากดาบแล้ว ยังมีมีดที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนประหาร คือ “มีด” ที่ใช้ในการตัดสายสิญจน์ มีดในการตัดส้นเท้า เพื่อเอาตรวนออก
คนที่จะเป็น “เพชฌฆาต” มีความจำเป็นต้องมีร่างกายกำยำด้วย เพราะเวลาประหาร เจตนาไม่ต้องการให้นักโทษทรมาน เป็นไปได้ต้องฟันครั้งเดียวให้ขาด ถ้าไม่ขาดก็ต้องฟันซ้ำ โดยดาบสอง หากไม่ขาดอีก จะต้องทำการ “เฉือน” ซึ่งภาษาราชการจะใช้คำว่า “บั่นคอ” ให้ตายเสีย...
โดยหลักแล้ว จะเสร็จสิ้นภาย 2 ดาบ แต่จากอนุสาวรีย์ค่ายบางกุ้ง ที่นั่นมีถึง 3 ดาบ เป็นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสิน สั่งประหารนักโทษหนีทัพ แต่จากข้อมูลเกือบทุกแห่ง จะมี เพชฌฆาต 2 คนทั้งนั้น
...
ดาบเพชฌฆาต อาจถูกเก็บใน “จวนผู้ว่าฯ” หรือ ศาลากลางจังหวัด
การเก็บวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องกับการประหารของกรมราชทัณฑ์ มีกระจายอยู่หลายที่ แต่ถ้าเป็นไปตามกฎหมาย มักจะถูกเก็บไว้ในศาลากลางจังหวัด เพราะการประหารชีวิต เป็นอำนาจของ “เจ้าเมือง” เปรียบเสมือน “ผู้ว่าราชการจังหวัด”
ในสมัยก่อนยังไม่มี “กรมราชทัณฑ์” (กรมราชทัณฑ์ถูกก่อตั้งในสมัย ร.6) อำนาจการประหาร จึงขึ้นอยู่กับ “นาย” ที่ปกครอง “บ่าว” ช่วงสมัยที่ยังมีทาส ดังนั้น การลงโทษทัณฑ์ จึงขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองและเจ้าชีวิต ดังนั้น เจ้าเมืองต่างๆ จึงมีอำนาจในการประหารโจรผู้ร้ายได้...
โดยหลักแล้ว “ดาบเพชฌฆาต” จึงอาจมีอยู่ทุกจังหวัด และมักจะถูกเก็บไว้ในบ้านผู้ว่าฯ ในที่นี้หมายถึง “บ้านส่วนตัว” ของผู้ว่าฯ ที่เรียกว่า “จวนผู้ว่าฯ” ซึ่งผู้ว่าฯ จะใช้บ้านส่วนตัวในการว่าราชการ (ปัจจุบันมีการเรียก จวนผู้ว่าฯ เป็นบ้านที่ทางราชการให้ผู้ว่าฯ อยู่ ถือว่ามีการเรียกที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดขึ้นเพราะความสับสน)
ภายใน “จวนผู้ว่าฯ” จะมีคุก รวมไปถึงศาลาว่าการฯ ฉะนั้น จึงมีการคาดเดาว่า “ดาบเพชฌฆาต” อาจจะถูกเก็บไว้ภายใน “จวนผู้ว่าฯ”
พอมีกรมราชทัณฑ์เกิดขึ้น จึงมีการ “ประหาร” ตามกฎหมาย คำว่า “เพชฌฆาต” จึงถือกำเนิดขึ้น มีการบริหารงานภายใต้กรมราชทัณฑ์ ก่อนหน้านั้น อาจจะมีคำว่า “เพชฌฆาต” แต่ก็เป็นแค่คำเรียกลูกน้องของผู้ว่าราชการจังหวัด
**หมายเหตุ : การประหารชีวิตด้วยดาบ เริ่มเมื่อได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ว่า "ผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ลงอาญาประหารชีวิต ท่านให้เอามันไปตัดศีรษะเสีย" ประเทศไทยได้ใช้วิธีการประหารชีวิตใช้ดาบตัดศีรษะมาเป็นเวลานานถึง 26 ปี จวบจน พ.ศ. 2477 จึงได้ยกเลิก
ที่มา : เว็บกรมราชทัณฑ์ **
...
จากการบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ของกรมราชทัณฑ์ เผยว่า จากสถิติที่เก็บไว้ การประหารด้วยดาบ มีไม่เยอะมาก น่าจะประมาณ 100 กว่าศพ แต่...ในความเป็นจริงน่าจะมากกว่านั้น เพราะสมัยนั้น ในต่างจังหวัดยังมีอำนาจของเจ้าเมืองอยู่ สถิติที่มีการประหาร จึงไม่ถูกเก็บไว้...
ประหารด้วยปืน และสาเหตุที่ยกเลิกใช้ “ปืนแบล็คมันด์” มาใช้ HK33
สำหรับ “ปืนแบล็คมันด์” ถือเป็นปืน ที่ใช้ประหารต่อจากการใช้ดาบ ซึ่งถือว่าใช้มายาวนานเหมือนกัน ซึ่งต่อมาก็มีการเปลี่ยนปืนมาใช้ HK33 เพราะปืนแบล็คมันด์ เริ่มกลายเป็นปืนที่ล้าสมัย มีโอกาสเกิดการติดขัด อีกทั้งลูกกระสุนของ ปืน HK33 หาง่ายกว่า ซึ่งเหตุผลก็มีอยู่เท่านี้..
ส่วนคนที่จะเป็น เพชฌฆาต ด้วยปืน ก็ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว..เป็นเพียงการหาคนสมัครใจเท่านั้น เพียงแต่...ถามว่ากล้าที่จะลงโทษคนหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องมีคาถาอาคม แค่กล้าที่จะเหนี่ยวไก หรือไม่...
...
**หมายเหตุ การประหารด้วยปืน เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2477 รัฐบาลได้เสนอขอแก้กฎหมายลักษณะอาญา ว่าด้วยการประหารชีวิตโดยวิธีตัดศีรษะ มาเป็นยิงเสียให้ตาย ตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 16ว่า "ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิตให้เอาไปยิงเสียให้ตาย" การประหารชีวิตปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1807/2478 เรื่อง ระเบียบการประหารชีวิตนักโทษ สั่ง ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2478 และตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ที่ 5636/2478 เรื่อง ระเบียบการประหารชีวิตนักโทษ กำหนดให้เรือนจำกลางบางขวางดำเนินการประหารชีวิต หรือบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเรือนจำกลางบางขวางได้ประหารชีวิตด้วยปืนเป็นครั้งแรกเมื่อ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2478 โดยทำการประหารชีวิต นายสวัสดิ์ มะหะหมัด ในความผิดฐานประทุษร้ายพระบรมราชตระกูล โดยคำสั่งพิเศษ มีนายทิพย์ มียศ เป็นเพชฌฆาต การประหารชีวิตด้วยปืนได้มี การยกเลิกเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2546**
สำหรับ ในส่วนการประหารด้วยวิธีการการฉีดยาหรือสารพิษเสียให้ตายนั้น เวลานี้มีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่ถูกประหารในตอนปี 2561 และเวลานี้มีรายงานว่า มีนักโทษประหารทั้งสิ้น 209 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ 164 คน ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาฎีกา 18 คน และนักโทษเด็ดขาดเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว 27 คน (ข้อมูล ก.ค.65 ที่มา : เว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ )
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ