เหมือนจะเป็นการจุดชนวนความตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับการเยือนของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางพบผู้นำ “ไต้หวัน” ท่ามกลางเสียงคัดค้านและข่มขู่ของรัฐบาลปักกิ่ง...
สิ่งที่เราได้เห็นจากข่าว คือ การเยือนครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนรอบ 25-26 ปี ของสหรัฐฯ และก็เป็นการครบรอบ การซ้อมรบครั้งใหญ่ รอบเกาะไต้หวัน เมื่อในอดีตด้วย
จากอดีตถึงปัจจุบัน เหมือนจะเป็นเรื่อง “เดจาวู” ที่ยังมีชาติมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ศักยภาพของจีนนั้นไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา...
สำหรับ เมื่อกว่า 25 ปี มีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น การซ้อมรบของจีนเป็นมาอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านไปไล่เรียงประเด็นปัญหา และที่มาการซ้อมรบ เมื่อราวเดือนมีนาคม 2539 ในเขตแดนจีน ใกล้กับเกาะไต้หวัน
ก่อนจะเข้าถึงประเด็นปัญหา คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ไต้หวัน” ได้แยกตัวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี 2492 หลังจากที่แพ้สงครามกลางเมือง อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยจีนคณะชาติ หรือ “ก๊กมินตั๋ง” ของนายพลเจียงไคเช็ก
...
สำหรับ การซ้อมรบครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2539 ที่จีนประกาศจะทดลองยิงขีปนาวุธ เพื่อข่มขู่ไต้หวัน เพราะไต้หวันกำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบประชาธิปไตยครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2539 จีนเกิดความกังวลว่าไต้หวันซึ่งถือเป็นจังหวัดหนึ่งของจีน กำลังจะทำการแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่ และอาจนำไปสู่การประกาศตัวเป็น “เอกราช”
นี่คือจุดเริ่มต้น การซ้อมรบ ในครั้งนั้น...
หลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีของจีนในขณะนั้น กล่าวว่า จีนจะยังคงใช้กำลังทางทหารเพื่อบีบไม่ให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชอีกต่อไป
ขณะที่ นายนิโคลัส เบิร์นส์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในขณะนั้น แถลงว่า การทดลองยิงขีปนาวุธของจีน เป็นการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบ หากการทดลองผิดพลาดอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาคได้....
นี่คือความห่วงใยจากสหรัฐฯ ที่ส่งมายังภูมิภาค
8 มีนาคม 2539 จีนทดลองยิงขีปนาวุธ 3 ลูก ซึ่งเป็นขีปนาวุธแบบนำวิถี เอ็ม-9 ผลการทดลอง 2 ลูกแรกยิงลงกลางทะเล ห่างจากเมืองเกาสงเมืองท่าสำคัญของไต้หวัน ราว 80 กิโลเมตร ส่วนขีปนาวุธอีกลูกตกใกล้กับเมืองคีหลุง หรือ จีหลง (Keelung City) อยู่ในพื้นที่แหลมตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน
การยิงขีปนาวุธครั้งนี้ เชื่อว่าไม่ได้ติดหัวรบระเบิดลงไป แต่ติดนำวิถีพุ่งสู่เป้าหมาย และมีพิสัยไกลถึง 600 กิโลเมตร
หลังกดปุ่มยิงขีปนาวุธครั้งนี้ ทั้งสหรัฐฯ ก็ออกมาเตือนดังๆ อีกครั้งเพื่อให้ไปถึงจีน ในขณะที่ญี่ปุ่นก็บอกว่าระวังจะกระทบความสัมพันธ์
ขณะที่ ไต้หวัน เอง ก็เริ่มการเปิดฐานยิงจรวดพิสัยไกล เร็วขึ้น 1 เดือน จากกำหนดเดิม ซึ่งฐานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเกาะคีมอย ใกล้กับช่องแคบไต้หวัน โดยห่างจากชายฝั่งแผ่นดินจีนเพียง 2-3 กิโลเมตร เท่านั้น โดยมี “สกายโบว์” หรือ “เกาทัณฑ์สวรรค์” ประจำการ
11 มีนาคม 2539 นายวอร์เรน คริสโตเฟอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน “อินดิเพนเดนซ์” ซึ่งมีขีดความสามารถบรรทุกเครื่องบินได้ 70-80 ลำ พร้อมด้วยเรือคุ้มกันอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางจากกองเรือที่ 7 ประจำภาคพื้นแปซิฟิกมุ่งหน้าไปยังช่องแคบไต้หวัน
นอกจากนี้ ยังส่งเครื่องบิน “นิมิตซ์” พร้อมเรือคุ้มกันไปด้วย
หากไต้หวันต้องการความช่วยเหลือ....สหรัฐฯ ก็พร้อม (จัดให้)
...
อีก 3 วันถัดมา หรือ 14 มีนาคม 2539 สหรัฐฯ ก็ประกาศจะขายเครื่องบินเอฟ-16 ให้ไต้หวัน มูลค่า 1,150 ล้านดอลลาร์ หรือ 28,750 ล้านบาท (ในขณะนั้น) เพื่อยกระดับมาตรฐานกองทัพอากาศไต้หวัน โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศว่าเป็นการซื้อขายตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับการซ้อมรบทางทหารด้วยกระสุนจริงและการทดลองยิงขีปนาวุธของจีนที่บริเวณช่องแคบไต้หวัน
โดยมีรายงานว่า ข้อตกลงซื้อเครื่องบินรบนั้น มีขึ้นตั้งแต่ปี 2536 โดยเป็นเครื่องบิน เอฟ-16 A จำนวน 120 ลำ และแบบทันสมัยอีก 30 ลำ
ในขณะที่สื่อจีนก็รายงานว่า “จีน” ไม่มีแผนบุก “ไต้หวัน” ถึงจะเป็นการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง ในช่องแคบไต้หวัน แต่ไม่ใช่สงคราม...
15 มีนาคม 2539 นาวาเอกไมเคิล ดับเบิลเดย์ โฆษกกลาโหมสหรัฐฯ แถลงที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า จากการประเมินเชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างจีนกับไต้หวัน และจีนจะไม่ใช้กำลังทหารโจมตีไต้หวัน เพราะเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เจรจาเป็นการส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งได้ให้หลักประกันกับสหรัฐฯ ว่าจะไม่รุกรานไต้หวัน
...
วันถัดมา นายเฉิน กัวะ ฟาง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ก็แถลงว่า “จีนไม่เคยให้สัญญาใดๆ กับสหรัฐฯ ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารกับไต้หวัน เพราะจีนยังรักษาสัญญาว่าจะรวมไต้หวันเข้าเป็น “หนึ่งเดียว” กับจีนโดยสันติวิธี ยกเว้นไต้หวันจะประกาศตัวเป็น “ประเทศอิสระ” หรือมีกองกำลังต่างชาติเข้าร่วมด้วย ซึ่งถึงตอนนั้น จีนอาจใช้วิธีการใดก็ได้ ในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพดินแดนของจีน
จากนั้นก็มีการประกาศซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันอีกครั้ง ซึ่งเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ ทั้งทางเรือ บก ระหว่างวันที่ 18-25 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ในวันที่ 23 มี.ค.
ที่สำคัญ การซ้อมรบครั้งนี้อยู่ห่างเกาะอู่ฉิว, ตังชู และชิชู ซึ่งถือเป็นปราการด่านหน้าของไต้หวันเพียง 18.5 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการแสดงท่าทีคล้าย “ข่มขู่” ไต้หวันมากที่สุด
สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนั้น เรียกว่าบรรยากาศตึงเครียดสูงสุด ขณะที่ “ไต้หวัน” ก็สั่งการพร้อมรับมือ ระดมกำลังทหารกว่า 30,000 นาย ที่อยู่บนเกาะคีมอย เตรียมพร้อมประจำการ
ขณะที่มีรายงานจากฝั่งตะวันตก ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่บางคนข่มขู่สหรัฐฯ ว่าไม่ให้เข้ามายุ่ง หากสหรัฐฯ เข้ามาปกป้องไต้หวันจะถูกโจมตีด้วยหัวรบนิวเคลียร์ โดยล็อกเป้าที่นครลอสแอนเจลิส
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายเฉิน กัวะ ฟาง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ออกมาเปิดเผยว่า จะมีการพูดคุยกับ รมว.กลาโหม สหรัฐฯ เพื่อหาทางคลี่คลาย
จีนหวังว่า การเจรจากับ รัฐมนตรีของสหรัฐฯ จะช่วยเสริมความเข้าใจ และยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักการแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ห้ามไม่ให้ใช้สิทธิพิเศษทางการค้าในฐานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ทางการค้า หรือ MFN ที่สหรัฐฯ ให้กับจีนมาเป็นประเด็นตอบโต้การซ้อมรบของจีนครั้งนี้
2. ให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนความพยายามแบ่งแยกมาตุภูมิที่มีขึ้นในไต้หวัน
3. ยกเลิกขายอาวุธให้กับไต้หวัน
...
นี่คือข้อเรียกร้องของจีน
แต่ผ่านมา 1 วัน หรือวันที่ 20 มี.ค. 2539 สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบในหลักการตามข้อสัญญาไม่ผูกมัดด้วยคะแนน 369 ต่อ 14 เสียง ให้สหรัฐฯ ดำเนินการใช้กำลังปกป้องไต้หวันเต็มที่ หากจีนใช้กำลังรุกรานหรือใช้จรวดโจมตี และปิดล้อมไต้หวัน ส่วนจะตอบโต้ด้วยวิธีใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเวลา...
“จีนควรตระหนักว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ มีแสนยานุภาพมากที่สุดในโลก และมีสิทธิ์แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน” “วิลเลียม เพอรี” รมว.กลาโหม ข่มขู่จีนอย่างตรงไปตรงมา
23 มีนาคม 2539 วันที่จะบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไต้หวัน เพราะได้ประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ และผู้ชนะก็คือ นายหลี่ เติงฮุย ชนะด้วยคะแนน 54%
24 มีนาคม 2539 นายเฉิน กัวะ ฟาง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ให้สัมภาษณ์ เวิล์ดเทเลวิชันนิวส์ ในกรุงลอนดอน ว่า จีนพร้อมเจรจากับไต้หวันทุกเมื่อ เพียงแต่ขอให้ทางการไต้หวันละทิ้งความพยายาม ที่จะทำให้จีนสองประเทศหรือแยกจีนกับไต้หวันออกจากกันเสียก่อน หากผู้นำไต้หวันยอมรับการรวมประเทศ ความสัมพันธ์อันตึงเครียดก็จะผ่อนคลายลง
25 มีนาคม 2539 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ตอบนักข่าวถึงความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันว่า มีกำลังใจขึ้น หลังจีนกับไต้หวัน ออกแถลงการณ์ลักษณะ “อ่อนข้อ” เข้าหากัน หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน
ซึ่งจีนได้ประกาศ “ยุติ” ซ้อมรบ หลังดำเนินการมา 18 วัน ที่บริเวณช่องแคบไต้หวัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ประกาศว่า อาจจะมีข่าวดีในการประชุมสุดยอดผู้นำทั้งสองฝ่าย ขึ้นบนเกาะไต้หวัน
ขณะที่ เจมส์ ซุง ผู้ว่าการกรุงไทเป กล่าวว่า การรวมจีนและไต้หวัน “อาจจะ” บรรลุผลได้ใน 4 ปีข้างหน้า หากจีนยอมรับการเลือกตั้งในระบบประธานาธิบดีในระบบเสรีประชาธิปไตย
หลังบรรยากาศความตึงเครียดคลี่คลายลง กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้สั่งถอนเรือบรรทุกเครื่องบิน “อินดิเพนเดนซ์” ออกจากน่านน้ำสากล ทางทิศตะวันออกของไต้หวัน กลับฐานประจำการที่เมืองโยโกซุกะ ประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยภายหลังว่า ได้มีการพูดคุยกันอย่างลับๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2539 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง
แต่... เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ช่างแตกต่างในวันนี้ โดยเฉพาะศักยภาพด้านการทหารของจีน ที่มีการพัฒนามากขึ้น มีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้สหรัฐอเมริกา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun, Anon Chantanant
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ