13 มิถุนายนนี้ ครบรอบการจากไป 30 ปี “ราชินีลูกทุ่ง” พุ่มพวง ดวงจันทร์ ผู้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ลูกทุ่งไทย จากเด็กสาวไร่อ้อย เมืองสุพรรณบุรี แม้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ความพยายาม การจดจำอันยอดเยี่ยม ทำให้ “พุ่มพวง” เจิดจรัส จนเป็นลูกทุ่งสาวคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีหรู โรงแรมดุสิตธานี

จากประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ป่วยหนักด้วยโรคเอสแอลอี หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง การเสียชีวิตด้วยวัย 31 ปี สร้างความเสียใจให้กับแฟนเพลงไปทั่วประเทศ จากนั้นทุกปีที่ วัดทับกระดาน จังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีแฟนเพลง และนักเสี่ยงโชค ไปร่วมรำลึกจนแน่นวัด โดยปีนี้คณะกรรมการวัดเตรียมจัดงานรำลึก พุ่มพวง ดวงจันทร์หลังจากหยุดจัดงานไป 2 ปี

ย้อนรำลึก 10 เหตุการณ์สำคัญ  พุ่มพวง ดวงจันทร์  ที่จากไปแล้ว 30 ปี


ประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์ บนเส้นทางความฝัน

1.เส้นทางชีวิต “รำพึง จิตรหาญ” หรือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เกิดเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ.2504 เป็นลูกคนที่ 5 ของครอบครัว จากเด็กน้อยที่ร้องเพลงในไร่อ้อย ระหว่างช่วยครอบครัวทำงาน เสียงร้องที่อ่อนหวาน ทำให้พ่อเห็นแวว จนพาเธอไปแข่งขันตามเวทีประกวดตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยใช้ชื่อ “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย”

...

2.จากเสียงร้องแว่วหวาน ทำให้ “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” กวาดรางวัลทุกการประกวด พ่อจึงพาไปฝากเป็นลูกบุญธรรม "ราชาเพลงแหล่" ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เมื่ออายุ 15 ปี และได้อัดแผ่นเสียง เพลง แก้วรอพี่ ก่อนครู มนต์ เมืองเหนือ เห็นแวว จึงได้นำมาปลุกปั้นให้เจิดจรัส ด้วยชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์

3.บนเส้นทางที่ต้องไต่เต้าไปสู่ราชินีลูกทุ่ง ช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จ โดย “พุ่มพวง” ร้องเพลง “รักไม่อันตราย” แก้เพลงของนักร้องรุ่นพี่คือ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ที่ร้องเพลง “รักอันตราย” ความล้มเหลวครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้สาวจากไร่อ้อยต้องยุบวงดนตรี แต่ยังไม่คิดหันหลังให้แสงไฟ หรือกลับคืนบ้านนา ดั่งเพลงที่ร้องไว้

4.การกลับมาอีกครั้งของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ภายใต้การสนับสนุนของ “นายห้าง” ประจวบ จำปาทอง ทำให้เริ่มมีเพลงติดหูคนฟัง และ

5.ต่อมาได้ร่วมตั้งวงดนตรีกับรุ่นพี่ จากเมืองสุพรรณคือ “เสรี รุ่งสว่าง” ด้วยชื่อวง “เสรี-พุ่มพวง” เพื่อเดินทางไปเปิดวงแสดงทั่วประเทศ

6.ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้กระแสเพลงลูกทุ่งลดบทบาทลง และถูกแทนที่ด้วยเพลงสตริง “พุ่มพวง” จากที่เคยมีเพลงหวาน เช่น สาวนาสั่งแฟน และ คนดังลืมหลังควาย ได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการลูกทุ่ง ด้วยทำนองเพลงป๊อป และเนื้อเพลง ตามแบบฉบับสาวยุคใหม่ ที่พร้อมจะต่อปากต่อคำ หรือจีบฝ่ายชายโดยไม่เขินอายเหมือนยุคก่อน ดังเช่นเพลง หนูไม่รู้, หนูไม่เอา, พี่ไปดู หนูไปด้วย, ขอให้รวย 


การจากไปของ พุ่มพวง ดวงจันทร์

7.ประวัติของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ช่วงนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของแฟนเพลง พุ่มพวง ดวงจันทร์ กลับเก็บตัวเงียบ ห่างหายจากการแสดงหน้าเวที จนวันที่ 20 มีนาคม 2535 ได้เดินทางจากเชียงใหม่ เพื่อเข้ารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลที่จังหวัดจันทบุรี ต่อมาได้ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็น ‘โรคเอสแอลอี’ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง อาการขั้นรุนแรง ลุกลามไปถึงไต

8.ด้วยอาการป่วยทรุดหนัก “พุ่มพวง” ตัดสินใจออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อไปรักษาตัวด้วยแทพย์ทางเลือกที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงที่หมายได้แวะกราบพระพุทธชินราชในช่วงบ่าย หลังจากนั้นเกิดอาการช็อกหมดสติ ญาติได้นำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ราชินีลูกทุ่ง จึงจากไป เมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 13 มิถุนายน 2535

"พุ่มพวง ดวงจันทร์" กับสามี "ไกรสร แสงอนันต์"
"พุ่มพวง ดวงจันทร์" กับสามี "ไกรสร แสงอนันต์"

9.หลังการเสียชีวิตของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เกิดความขัดแย้งระหว่างสามีและญาติ เกี่ยวกับการจัดการมรดกกว่า 80 ล้านบาท จนมีการฟ้องร้อง สุดท้ายศาลมีคำสั่งให้แยกมรดกเป็น 2 ส่วน ในจำนวนเท่ากัน โดยแบ่งให้กับญาติ และลูกชาย แต่ถ้าสมบัติใดมีการค้นพบหลังแบ่งมรดกเสร็จสิ้น จะถือเป็นของลูกชายเพียงผู้เดียว

10.วัดทับกระดาน จังหวัดสุพรรณบุรี กลายเป็นสถานที่รำลึกถึง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในทุกปี โดยมีการตั้งหุ่นไว้ที่ศาลาริมน้ำ ซึ่งแฟนเพลง และนักเสี่ยงโชค นิยมแวะเวียนเข้ามาสักการะ โดยหุ่นเหมือนพุ่มพวงมี 6 หุ่น ภายในวัดโดยหุ่นแรก ตั้งอยู่กลางศาลา หุ่นนี้ทำการจัดสร้างหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ 

...

เอกชัย ศรีวิชัย ครั้งไปศาลพุ่มพวง ที่วัดทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี
เอกชัย ศรีวิชัย ครั้งไปศาลพุ่มพวง ที่วัดทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี

กำหนดการจัดงานรำลึก 30 ปี พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่วัดทับกระดาน 

“จักรกฤษณ์ เหลืองวิไล” คณะกรรมการวัดทับกระดาน จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า งานรำลึก 30 ปี พุ่งพวง ดวงจันทร์ มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 10-18 มิถุนายนนี้ ปีนี้คาดว่า มีแฟนเพลงเข้ามาร่วมจำนวนมาก เนื่องจากทางวัดไม่ได้จัดงานรำลึกมา 2 ปี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยวันที่ 13 มิถุนายน ตรงกับวันเสียชีวิตของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีการทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลช่วงเช้า จากนั้น 10.00 น. มีการมอบทุนให้กับนักเรียน นักศึกษาที่ยากไร้ 200 ทุน โดยทุนการศึกษาเป็นเงินที่ได้มาจากการนำโต๊ะเครื่องแป้ง มาแก้บน ไปจำหน่ายให้กับแฟนเพลงที่ต้องการทำบุญ และนำโต๊ะเครื่องแป้งไปบริจาคต่อให้กับโรงเรียน และผู้ยากไร้ ตอนนี้ได้เงินกว่า 2 แสนบาท

...

“สิ่งของที่คนมักนำมาแก้บนแม่ผึ้งคือ ชุดแดง ดอกกุหลาบ ของแต่งตัว แต่โต๊ะเครื่องแป้ง ตอนนี้มีจำนวนหลายพันตัว ทำให้ทางคณะกรรมการวัดต้องจุดธูปขอขมาแม่ผึ้ง เพื่อนำโต๊ะเครื่องแป้งไปจำหน่าย นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายมาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กยากไร้ โดยมีแฟนเพลงชาวระยองที่รู้ข่าว ได้มาร่วมทำบุญซื้อโต๊ะเครื่องแป้งไปกว่าพันตัว”

เจ้าหน้าที่เยี่ยมชาวบ้าน ที่ศาลพุ่มพวง ครั้งอดีต
เจ้าหน้าที่เยี่ยมชาวบ้าน ที่ศาลพุ่มพวง ครั้งอดีต


สำหรับนักเสี่ยงโชคจะมากันวันที่ 13 มิถุนายน โดยช่วงบ่าย “ไกรสร แสงอนันต์” สามี และลูกชาย “เพชร ภัควรรธน์” เดินทางมาไหว้หุ่นรูปเหมือนพุ่มพวง บริเวณศาลาริมน้ำ ทำการเสี่ยงทายเป็นประจำทุกปี ก่อนที่ช่วงดึก ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตร้องเพลงร่วมกัน เพื่อเป็นการระลึกถึงการจากไปของราชินีลูกทุ่ง


“การจัดงานปีนี้ ทางคณะกรรมการวัดได้วางมาตรการป้องกันโควิด โดยแฟนเพลงที่เข้ามาในพื้นที่ต้องสวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกตลอดการจัดงาน แฟนเพลงที่จะมา อยากให้เผื่อเวลาในการเดินทาง เพราะคืนก่อนรถติดกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อเข้ามาร่วมงานภายในวัด”

...


สุดท้ายแล้วแม้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะจากไป 30 ปี แต่ความดี และการอุทิศตนเพื่อเป็นแบบอย่างของวงการนักร้องลูกทุ่ง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ยึดถือเป็นแบบอย่าง หลายคนมาที่วัดเพื่อระลึกถึงวันครบรอบการเสียชีวิต ที่ทำให้เห็นว่าคนที่ทำความดี ถึงจากไปนานแค่ไหน ยังมีคนรัก และระลึกถึงอยู่เสมอ.