เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 หรือเครื่องต้มตุ๋นลวงโลก ถูกเก็บเข้ากรุมานาน 14 ปี กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง เมื่อ "จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์" ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล หยิบยกขึ้นมาอภิปรายเมื่อช่วงดึก ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 วาระที่ 1 ในวันสุดท้าย
เนื่องจากพบการใช้งบ ไม่ปรากฏในเอกสารของกระทรวงกลาโหม เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดย กองทัพบก ได้ทำสัญญาจ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มูลค่า 7,570,000 บาท ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง เฉลี่ยตกเครื่องละ 10,000 บาท
แล้ว GT200 โผล่มาได้อย่างไร? เคยทำให้หน่วยงานรัฐของไทย ต้องเสียค่าโง่ เป็นจำนวนเงินพันกว่าล้านบาทในการจัดซื้อ และไร้คนออกมารับผิดชอบในเรื่องนี้ ภายหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งการให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจสอบ และผลออกมาเป็นเครื่องลวงโลกจริงๆ จึงสั่งทุกหน่วยงาน ยุติการจัดซื้อ GT200 และเครื่องมืออื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ปี 2553
...
แม้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น จากที่เคยยืนกรานขึงขังว่าใช้ได้ผลจริง ผ่านการออกอากาศถ่ายทอดสดทางทีวีช่อง 5 พร้อมทีมงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในที่สุดต้องออกมายอมรับในความไร้ประสิทธิภาพ จนกองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดซื้อมากสุด ได้ปลดประจำการ เครื่อง GT200 จัดซื้อระหว่างปี 2550-2552 จำนวนทั้งสิ้น 757 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 682 ล้าน แล้วกลับมาใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ และสุนัขทหาร ในการตรวจหาระเบิด แบบเดิม
จากเหตุระเบิดตลาดสดรถไฟ จ.ยะลา และคาร์บอมบ์ พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อปลายปี 2552 เพราะ GT200 ทำงานผิดพลาด สร้างความสงสัยให้กับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนต้องนำเครื่องเจ้าปัญหาออกมาผ่าพิสูจน์ และออกมาแฉว่า GT200 เป็นเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก ไม่ต่างอะไรกับ "ไม้ล้างป่าช้า" ไม่มีหลักการวิทยาศาสตร์รองรับในการทำงาน เพราะข้างในเครื่องไม่มีอะไร มีเพียงกล่องพลาสติกเปล่าๆ และเป็นบานพับเท่านั้น
ส่วนผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ลวงโลกในอังกฤษ 3 บริษัท ถูกศาลพิพากษาจำคุก และสั่งยึดทรัพย์ 400 กว่าล้านบาทไปแล้วเมื่อปี 2556 ในข้อหาจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ให้กับหลายประเทศรวมทั้งไทยโดยการฉ้อโกง
ขณะที่ไทยจนถึงปัจจุบัน ด้านคดีความยังไม่ได้ข้อสรุป และในปี 2555 มีการยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ กระทั่งผ่านไปกว่า 9 ปี เพิ่งมีการชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและวินัย ผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างฯ จากหน่วยงาน 20 แห่ง รวมเกือบ 100 คน บางคนมีตำแหน่งเป็นอดีตหัวหน้าส่วนราชการ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.
ต้องรอดูว่าทาง ป.ป.ช. จะสรุปออกมาเป็นอย่างไรต่อไป สำหรับมหากาพย์ GT200 มีอดีตผู้ใหญ่หลายคนในหน่วยงานรัฐของไทย เคยออกมายืนยันใช้ได้จริง ทั้งๆ ที่เป็นเพียงกล่องพลาสติกเปล่าๆ ไม่มีแผงวงจรอะไร และต้นทุนต่อเครื่องแค่ 14 ปอนด์ คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นประมาณ 700 บาท แต่นำมาขายแพงเว่อร์เครื่องละหลายแสนบาท หาใครมารับผิดชอบไม่ได้ กับเงินภาษีของประชาชนที่เสียค่าโง่ไป.
...