“ซีเกมส์” มหกรรมกีฬาที่ถูกจัดขึ้นเพื่อหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียว ก่อเกิดความรัก ความสามัคคี กลมเกลียวผ่านกีฬา…?
ข้างต้นที่ได้อ่านผ่านตามา คือ “หลักการ” ในการก่อเกิดกีฬาในมิตรประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่...ในความเป็นจริง และเกือบทุกๆ ครั้ง ก็มักเจอคำครหาการโกง จนกลายเป็นว่า มหกรรมซีเกมส์ กลายเป็นกีฬา “ซีโกง”
ครั้งนี้ ทีมชาติไทย ก็เจอกับตัวเอง กับกีฬาที่ชื่อว่า “ปันจักสีลัต” ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม “จุ้น ศรานนท์ กลมพันธุ์” หรืออดีตฉายามวยไทย “ธงชัย ศิษย์สองพี่น้อง” ปะทะกับ “เชคฟาฮัค บินเชคอารูดิน” นักกีฬาทีมชาติสิงคโปร์ ในคลาสเจ (น้ำหนัก 90-95) ซึ่งในระหว่างการต่อสู้กันนั้น ทีมชาติไทยคะแนนกลับไม่ค่อยขึ้น แตกต่างจากคู่แข่ง และก็เป็นไปตามคาด “จุ้น” พ่ายแพ้ แบบคะแนน -6
ปัญหาของเคสนี้ น่าจะพอทราบกันแล้วว่า แข่งกับใคร? เขาคนนั้นคือลูกชาย “เชคฮารูดิน” ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินในกีฬาซีเกมส์ แม้เราจะพยายามฟ้องโลก ออกหนังสือประท้วง (ส่วนตัว) เชื่อว่าก็คงจบไปแบบเจ็บๆ เช่นที่ผ่านมา...
เมื่อมาย้อนดูปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต
ในปี ค.ศ.2005 การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกีฬา “เทควันโด” คือความหวังเหรียญทองของแฟนๆ กีฬาชาวไทย แต่...ปัญหาคือ “จอมเตะ” ดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในเวลานั้น คือ “วิว เยาวภา บุรพลชัย” ดันมาเจอ “เจ้าภาพ” ตั้งแต่รอบแรกๆ
ก่อนหน้านั้น 1 ปี “วิว” เพิ่งคว้าเหรียญทองแดง “โอลิมปิก” แต่เมื่อมาลงแข่งขันซีเกมส์กับเจ้าภาพ วิวพยายามเดินหน้าเตะทำคะแนน แต่เหมือนคะแนนจะไม่ค่อยขึ้น ยกแรก วิว ตามอยู่ 0-1 เมื่อจบยก 2 คะแนนเจ้าภาพก็คงยังนำอยู่ 1 คะแนน ที่ 1-2 เมื่อถึงยกสุดท้าย “วิว” พยายามไล่เตะนักกีฬาเจ้าภาพ สุดท้ายจบลงที่คะแนน 4-4 จึงต้องตัดสินด้วยระบบ “ซัคเด้น เดธ” ก็จบลงตามคาด แม้จะได้เตะก่อน แต่คะแนนไม่ขึ้น และเจ้าภาพก็ชนะไป
...
หลังเกมวันนั้น “น้องวิว” ถึงกับ “หลั่งน้ำตา” พร้อมระบายความในใจว่า “พยายามเต็มที่แล้ว คนไทยทุกคนคงได้เห็น ถ้าแข่งในระดับ เอเชียนเกมส์ หรือ โอลิมปิกเกมส์ นักเทควันโดไทยคงมีโอกาสมากกว่านี้ ส่วนตัวทำใจตั้งแต่แรก ตั้งแต่รู้ว่าเจอเจ้าภาพ..
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแข่งกีฬา เกือบจะบานปลายเป็นเรื่องการเมือง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯไทย ในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 48 ว่า การแข่งขันซีเกมส์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าภาพโกงหลายประเภท ถ้าซีเกมส์เป็นแบบนี้ต่อไป กีฬาอาจจะไม่เป็นที่นิยม เพราะ “มุ่งเอาเหรียญมากกว่ามุ่งเอาสปิริต”
หลังสิ้นเสียง นายกฯ ทักษิณ ในตอนนั้น คณะกรรมการโอลิมปิกฟิลิปปินส์ ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงทันทีว่า คณะกรรมการการแข่งขันได้มีเจตนาจะให้ผู้ตัดสินให้คะแนนเอาใจเจ้าภาพอย่างที่ถูกกล่าวหา คณะทำงานคำนึงถึงเป้าหมายของการแข่งกีฬาอย่างแท้จริง มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเน้นความสามัคคี ความมีน้ำใจนักกีฬา และต้องการพัฒนากีฬาในย่านอาเซียนร่วมกัน คณะกรรมการไม่มีอำนาจ หรือใช้กำลังบังคับขู่เจ้าหน้าที่ให้ตัดสินเข้าข้างเจ้าภาพ...
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นจนหวิดจะบานปลาย ชาวฟิลิปปินส์บางส่วนไม่พอใจ ถึงขั้นมาประท้วงที่หน้าสถานทูตไทย และวิพากษ์วิจารณ์ประเทศไทยกลับ ในขณะที่โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้มาอธิบายว่า สิ่งที่นายกฯ “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์นั้น คือ เจตนาที่ดี และไม่ได้กล่าวหาว่าโกงกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่ง
ซีเกมส์ ซีโกง สื่อตั้งฉายาใน ซีเกมส์ครั้งที่ 29
ในปี 2017 การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศ “มาเลเซีย” ตอนนั้นมีกีฬาหลายประเภทถูกตั้งคำถามว่าใส่ในโปรแกรมแข่งขัน เพื่อให้ “มาเลเซีย” เป็นเจ้าเหรียญทองหรือไม่... อาทิ คริกเกต, เนตบอล, ฮอกกี้น้ำแข็ง และ “ปันจักสีลัต” (ปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึงศิลปะ) ซึ่งแน่นอนว่าตอนนั้นไทยมีนักกีฬาประเภทนี้ไม่มากนัก และก็เป็นมาเลเซียกวาดไป 10 เหรียญทอง จาก 20 เหรียญ ที่เหลือเป็นประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ที่ได้ประเทศละ 1-3 เหรียญ
นอกจากปัญหาในสนามที่เจอในระหว่างการแข่งขัน นักกีฬาทีมชาติไทย ยังเจอปัญหานอกสนาม เช่น
- จัดโปรแกรมซ้อมให้ทีมยิมนาสติกไทยในตอนเช้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าทีมชาติไทยจะเดินทางไปถึงตอนเย็น?
- “ลักหลับจับสลาก” ในการแข่งขันกีฬาบางประเภท
- ไม่แสดงคะแนนในระหว่างการแข่งขัน
...
ส่วนการแพ้คาสนามแบบงงๆ ก็มี กับการแข่งขัน “คาราเต้” ทิพวัลย์ คำศรี กำลังจะชนะคู่แข่งชาวเวียดนาม หลังคะแนนนำ 3-2 และเหลือเวลาอีก 5 วินาทีก็จะจบ แต่ถูกจับแพ้ฟาวล์ในรอบตัดเชือก อ้างว่า “ทิพวัลย์” ไปผลักคู่แข่ง แต่เชื่อกันว่าหาก ทิพวัลย์ ชนะ จะไปเจอกับคู่แข่งชาวมาเลเซีย ที่เคยแพ้ทีมชาติไทยมาแล้วหลายครั้ง
และทีมชายอีกรุ่น “สิรวิชญ์ สว่างศรี” เข้าชิงเหรียญทองกับเจ้าภาพ นำอยู่ 2-0 แต่ก็ถูกกรรมการคนเดิมจับ “แพ้ฟาวล์” โดยไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตามกฎว่าไว้ หากไม่เกี่ยวกับคะแนน ก็ขึ้นอยู่ที่ “ดุลยพินิจ” ของกรรมการ....ครับ
...
สำหรับการแข่งขันซีเกมส์ในรอบ 5 ครั้งหลังสุด พบว่า ส่วนใหญ่เจ้าภาพก็มักจะเป็นเจ้าเหรียญทอง
ในปี 2019 ประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าภาพ เป็นเจ้าเหรียญทอง กวาดไป 149 เหรียญ ไล่ตั้งแต่ ปี 2013 ประเทศเมียนมา เป็นเจ้าภาพ ได้ 86 เหรียญทอง ขณะที่ไทย ได้เป็นเจ้าเหรียญทอง 107 เหรียญ ในปี 2017 มาเลเซีย เจ้าภาพ เป็นเจ้าเหรียญทอง 145 เหรียญ ในปี 2015 ประเทศสิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพ ไทยได้เป็นเจ้าเหรียญทอง ได้ 95 เหรียญ ส่วนสิงคโปร์ เป็นที่ 2 ได้ 73 เหรียญ และซีเกมส์ 2021 ที่ถูกเลื่อนมาจากปีก่อน ที่กำลังแข่งขันในขณะนี้ เวียดนาม เจ้าภาพนำโด่ง ทะลุ 100 เหรียญทองไปแล้ว ส่วนไทย อยู่ที่ 2 ได้ 48 เหรียญทอง.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...