มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ประเทศไทย “ยินยอม” ให้กองหน่วยคอมมานโดต่างชาติ ยกกำลังมาปฏิบัติการจู่โจมด้วยอาวุธครบมือ ถึงกรุงเทพมหานคร สาเหตุเพราะกำลังเผชิญหน้ากับกลุ่ม “สลัดอากาศ” ที่ลงมือจี้เครื่องบิน และลงมาจอดนิ่งที่สนามบินดอนเมือง
3 นาที Shorts Story สัปดาห์นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านไปอ่านย้อนรอยเหตุการณ์ “จี้เครื่องบิน” สุดระทึก ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีก่อน สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ อาจจะพอจำเหตุการณ์นี้ได้ แต่สำหรับคนวัย 45 ปี ลงมา เชื่อว่า ไม่เคยรู้มาก่อน
ย้อนกลับไปเวลา 17.12 น. วันที่ 28 มีนาคม 2524 เกิดเหตุวุ่นวายที่ “สนามบินดอนเมือง” เมื่อเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินได้รับการติดต่อจาก “กัปตัน” สายการบิน “การูด้า” สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ในเที่ยวบิน GA 602 ว่าเที่ยวบินกล่าว ถูกสลัดอากาศยึด และจะขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินดอนเมือง
เมื่อทราบดังนั้น ในทีแรก เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ลง และพยายามบ่ายเบี่ยงให้ไปลงที่สนามบิน “อู่ตะเภา” แทน...แต่กลุ่มสลัดอากาศชาวอิเหนาไม่ยินยอม และข่มขู่จะขอลงที่ดอนเมือง ให้ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงยากที่จะปฏิเสธ
หลังเครื่องถลาร่อนลง เครื่องบินลำดังกล่าวได้ขับต่อตามแท็กซี่เวย์ ไปจอดที่ข้างโรงเรียนอากาศโยธินเก่า โดยพบว่าเป็นเครื่องบินขนาด DC9
...
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้กันแน่... ทำไมสลัดอากาศจึงยึดเครื่องบินไปได้?
ช่วงเวลา 08.00 น. วันเดียวกันนี้ เที่ยวบิน GA 602 มีกำหนดออกจากสนามบิน “จาการ์ตา” ไปที่เมือง “เมดาน” หลังจากนั้น ก็จะไปแวะที่เมือง “ปาเล็มบัง” ซึ่งอยู่ทางตอนใต้เกาะสุมาตรา เริ่มต้น...จากจาการ์ตา มีผู้โดยสาร 37 คน อีก 14 คน ขึ้นที่ “ปาเล็มบัง” และที่ตรงนี้เอง คือโอกาสที่กลุ่มคนร้าย ได้ปะปนกับผู้โดยสาร อาศัยโอกาสเจ้าหน้าที่ไม่ระวังตัว ขนอาวุธครบมือขึ้นเครื่องมาด้วยและสบโอกาสจี้เครื่องบินได้สำเร็จ พร้อมกับจับผู้โดยสารและลูกเรือเป็นตัวประกัน
เมื่อเครื่องบินเหินขึ้นจากสนามบิน ในเวลา 10.30 น. อีก 19 นาทีต่อมา กัปตันเครื่องบินถึงจะรู้เรื่อง และแจ้งไปยังภาคพื้นให้รับทราบ ซึ่งทางการอินโดฯ ก็ประชุมด่วน วางแผนรับมือ กระทั่งเครื่องมานิ่งสนิทที่สนามบินดอนเมือง...และคอมมานโดของไทย ก็ล้อมเครื่องบินไว้ทันที และในเบื้องต้น กลุ่มคนร้ายชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเข้าใจในตอนแรกว่ามี 7 คน ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้
1.ปล่อยนักโทษการเมืองอินโดนีเซีย จำนวน 20 คนที่ถูกคุมขังที่เกาะชวา และสุมาตรา ให้ส่งตัวไปประเทศศรีลังกา
2.รัฐบาลจัดส่งนักบินมาที่ดอนเมือง เพื่อบินไปที่ศรีลังกา
3.ต้องปล่อยนักโทษดังกล่าวภายใน 28 ชั่วโมง!
การต่อรองครั้งนี้ มี พล.ท.แอดนีล ฮัสนัน ฮาบีบ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย เป็นตัวกลางในการพูดคุย ขณะที่ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้น ชี้แจงว่า สลัดอากาศชาวอินโดนีเซียมีทั้งสิ้น 7 คน มีอาวุธเป็นปืนกลมือ และระเบิด ซึ่งตอนนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในอินโดนีเซีย กำลังเดินทางมาประเทศไทย เพื่อมาร่วมเจรจาต่อรอง
ขณะที่ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ขอร้องทางการไทย “อย่าใช้วิธีการรุนแรง” เพราะกลุ่มโจรกำลังเรียกร้องให้ปล่อยกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ ซึ่งเวลานี้ยังไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง...และ ไม่รู้ว่า ต้องการ 28 ชั่วโมงจริงหรือไม่
ในทางการทูตอินโดฯ บอกอย่าใช้ความรุนแรง แต่กลับมีรายงานข่าวว่า ทางการอินโดนีเซีย ได้ส่งนักหน่วยคอมมานโดแม่นปืน 20 คน ร่วมคณะ กับ พล.ท.ยูการ์โซ โคโม อธิบดีกรมประมวลข่าวกลางของอินโดนีเซีย ที่ถูกยกย่องว่าเป็นยอดมือปราบของอินโดฯ เดินทางมาด้วย
22.30 น. เครื่องบิน ของ พล.ท.ยูการ์โซ แตะพื้นรันเวย์สนามบินดอนเมือง และเข้าประชุมและเข้าเจรจากับกลุ่มสลัดอากาศ ซึ่งก็มีรายงานเล็ดลอดมาว่า หากคุยกันไม่รู้เรื่อง อาจจะต้องใช้กำลังบุกยึดเครื่องซึ่งทางการไทยไม่เห็นด้วย..
23.00 น. กลุ่มสลัดเวหา ได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องเดิม ให้ปล่อยนักโทษการเมือง 20 คน หากไม่ได้ภายใน 28 ชั่วโมง “จะระเบิดเครื่องบินลำนี้!” (เวลา 13.00 น. 29 มีนาคม 2524)
เข้าสู่วันที่ 29 มีนาคม 00.45 น. ทางการอินโดนีเซีย มีท่าทีว่าจะยินยอมตามคำขู่ของกลุ่มสลัดอากาศ โดยอ้างว่า ประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ “อาจจะ” ปล่อย 20 นักโทษ ซึ่งทางการข่าวของไทยก็เชื่อว่า นี่เป็นเพียง “ชั้นเชิง” การซื้อเวลา และทางการไทยยังได้ส่ง “เทเล็กซ์” ด่วน ไปถึงอินโด เพื่อยับยั้งการส่งเครื่องบินมารับ กลุ่มสลัดอากาศ เนื่องจากได้ประสานไปยังประเทศศรีลังกาแล้ว แต่ทางศรีลังกาปฏิเสธที่จะรับกลุ่มคนร้ายเหล่านี้เข้าประเทศ
...
**หมายเหตุ เทเล็กซ์ : การสื่อสารประเภทหนึ่งโดยใช้เครื่องรับส่งซึ่งเรียกว่า Tele-Machine ทำหน้าที่คล้ายเครื่อง พิมพ์ดีดส่งสัญญาณ ตัวหนังสือผ่านสายไปยังชุมสาย เพื่อนำส่งต่อไปยังเครื่องรับปลายทางระหว่างประเทศหรือ ระหว่างทวีป ประเทศไทยเริ่มมีเครื่องรับ-ส่งเทเล็กซ์ใช้เป็นครั้งแรก ณ กรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อ พ.ศ. 2518 ** ที่มาข้อมูล : ข้อแตกต่างระหว่างเทเล็กซ์ กับจดหมายธุรกิจ )
03.00 น. ทิศทางการเจรจา ทำท่าจะมืดมัวลง เมื่อกลุ่มคนร้ายได้เพิ่มเงื่อนไข จากขอปล่อย 20 นักโทษ เพิ่มเป็น 80 นักโทษ
04.00 น. ท่ามกลางกระแสข่าว กองกำลังของอินโดฯ มีแนวคิดจะใช้ปฏิบัติการเฉียบขาด พล.ร.อ.อมร ศิริกายะ รมว.คมนาคม ที่เดินทางมาติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงแรก ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า
“จะมาใช้กำลังได้ยังไง นี่มันบ้านเมืองเรา เราไม่อนุญาตเด็ดขาด!”
...
07.00 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายเสบียง ได้นำอาหารไปส่งแก่กลุ่มสลัดอากาศ และ ตัวประกัน โดยใช้วิธีขับรถเสบียงรอบเครื่องบิน 3 รอบ แล้วจอดรถไว้ จากนั้น สลัดอากาศ 2 คน ได้ควบคุมตัวแอร์โฮสเตส ออกมารับ ซึ่ง แอร์ฯ สาวมีท่าทีหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะรับเสบียงกลับไป
08.00 น. เนื่องจากฟ้าเริ่มสว่างแล้ว หน่วยสอดแนมของไทย ได้ส่องรอบเครื่องบิน และเห็นสลัดอากาศ 2 คน คุมกัปตันอยู่ คนหนึ่งสวมเสื้อแขนยาวสีขาว อีกคนสวมเสื้อสีครีม...เรียกว่า เวลานี้อาจจะเริ่มระบุตัวตนกันแล้ว และทราบว่า คนร้ายแบ่งหน้าที่กันควบคุมคนบนเครื่อง ด้านหน้า กลางลำ ห้องกัปตัน และท้ายเครื่อง!
08.45 น. ทางการอินโดฯ ส่งวิทยุฯ มาถึงไทย ขอให้กองกำลังคอมมานโด ของอินโดฯ มาลงสนามบินดอนเมือง เพิ่มเติม ในเวลา 13.00 น. แต่ไทยก็ไม่อนุญาต
พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์อย่างเคร่งเครียดว่า “ผมสั่งการไปแล้วว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ให้มาลงในแผ่นดินไทย เพราะเป็นการรุกล้ำ “อธิปไตย” ของเรา”
ประเด็นกองกำลังของอินโดฯ ได้มีการเข้าประชุมระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยผู้นำ 2 ชาติ นำโดย พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ รมช.กลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ขณะที่สื่อต่างประเทศ รายงานอ้างคำพูดนายรัสมิน นูรยาดิน รมว.คมนาคม อินโดนีเซีย บอกว่าพร้อมทำทุกอย่าง เพื่อให้ผู้โดยสารและลูกเรือปลอดภัย
11.15 น. เกิดเหตุระทึกขึ้น เมื่อมี ผู้โดยสารชาวอังกฤษคนหนึ่ง เปิดประตูเครื่องบิน ข้างที่ใช้เปิดรับเสบียงอาหาร โดยถลาล้มลงเล็กน้อย จากนั้นได้วิ่งหนีสุดชีวิตไปที่โพรงหญ้าได้ข้าง สลัดอากาศคนหนึ่งเปิดม่านดู แต่ไม่ได้ยิงปืนออกมา ขณะที่ทหารรักษาการที่คุมเชิงอยู่ เห็นเข้าก็วาดกระบอกปืนจ่อตาม ไทยมุงและผู้สื่อข่าวตรงนั้นรีบตะโกน “อย่ายิง...อย่ายิง” แล้วโบกมือให้วิ่งมาที่ที่ปลอดภัย
...
11.30 น. กลุ่มสลัดอากาศ ได้ยื่นข้อเสนออีก 3 ข้อ หลังทางการอินโดฯ โอนอ่อนผ่อนตาม ที่จะปล่อย 80 นักโทษ
1.ปล่อยนักโทษการเมืองเพิ่มอีก 4 คน
2.ประณาม รัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันการจัดซื้อเครื่องบิน
3.ให้อิสราเอล ถอนทหารออกจากอินโดนีเซีย
ขณะที่ ผู้โดยสารอังกฤษที่หลบหนีออกมาได้ ทราบชื่อต่อมา คือ นายโรเบิร์ต เวนไรท์ อายุ 27 ปี ได้เปิดเผยข้อมูลของแก๊งสลัดอากาศทั้งหมด บอกว่า สลัดอากาศ แท้จริงแล้วมีเพียง 5 คน ไม่ใช่ 7 คน อย่างที่เข้าใจ ส่วนบรรยากาศในเครื่องฯ นั้น คนร้ายมีทะเลาะกันเองบ่อยครั้ง บางคนถึงกับร้องไห้
เวลาต่อมา สลัดอากาศ ได้ยื่นคำขาดให้ไทยช่วยเติมน้ำมันเครื่องบินให้ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องยอมทำตาม
17.00 น. เสียงปืนได้ดังขึ้น ร่างชายคนหนึ่งร่วงกองมาที่ใต้ท้องเครื่องบิน ทหารไทยรอดูท่าที ก่อนตัดสินใจเข้าไปช่วย และนำตัวส่งโรงพยาบาล พบว่า ผู้โดยสารรายนี้คือ นายคาร์ล เอฟ ชไนเดอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน วัย 46 ปี ถูกยิงเพราะพยายามจะหลบหนี
19.45 น. รัฐบาลไทย ได้อนุญาตให้เครื่องบิน ดี.ซี.10 ของอินโดนีเซีย ที่นำกองกำลังคอมมานโด เข้าประเทศ สาเหตุเพราะ สลัดอากาศ ได้ยิงชาวอเมริกัน
01.00 น. วันที่ 30 มีนาคม 2524 กองกำลังอินโดฯ ได้ร่วมวางแผนกับฝ่ายไทย หวังช่วยชีวิต 49 ตัวประกัน
02.55 น. มีรายงานว่าทางการอินโดฯ ได้เปลี่ยนใจปฏิเสธตามข้อเรียกร้องของกลุ่มสลัดเวหา
05.30 น. พล.ท.เบนนี่ มูรดายี ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก โดยมีการหารือ 30 นาที จากนั้นได้กลับไปที่กองบัญชาการฉุกเฉิน เพื่อคุยกับ 3 รมต. ไทยที่รออยู่ นักข่าวถามฯ นายกฯ ในเวลาต่อมาว่า ทางการอินโดฯ จะลงมือปฏิบัติการหรือไม่ พล.อ.เปรม ตอบว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ต้องได้รับการอนุญาตจากเราก่อน..
หลังหารือกับ นายกฯ ไทย ตลอดวันนั้น ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร กระทั่งฟ้าเริ่มมืด เข้าคืนวันที่ 31 มีนาคม....
02.35 น. นาทีประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้น กองกำลังคอมมานโด 2 ชาติ ไทยและอินโดฯ กว่า 60 นาย ค่อยๆ โผล่เรียงหน้ากระดานวิ่งเข้าท้ายเครื่องบิน เพียงครึ่งนาที บันไดที่เตรียมไว้ก็ถูกพาดปีนขึ้นจากท้ายเครื่อง
หน่วยกล้าตาย 3 นาย ปีนบันไดขึ้นไป เสี้ยววินาทีนั้น คอมมานโดเดนตายของอินโดฯ คนนำหน้าตะโกนส่งสัญญาณ “เอี้ย...” แค่อึดใจมีเสียงดัง “เคล้ง” ประตูเปิดออก
ทันใดนั้น คอมมานโดเดนตายพุ่งกายเข้าไปในเครื่อง เสียงปืนกล รัวดังขึ้น ร่างคอมมานโดหน่วยกล้าตาย รับคมกระสุน กระแทกใส่ร่างเกือบตกเครื่อง แต่เพื่อนคอมมานโดก็ช่วยรับ และกรูเข้าไปอย่างไม่หวาดหวั่นความตาย
แค่เพียงอึดใจ ก็มีเสียงปืนดังเป็นระยะ ปังปังปัง! ยิงรัว เป็นการยิงรัวเป็นชุด ต่อเนื่อง ไม่กี่วินาทีต่อมาประตูเครื่องบินด้านข้างเครื่องก็ถูกเปิดออก คอมมานโดนับสิบนาย กรูขึ้นเครื่องบิน ในจังหวะเดียวกัน คอมมานโดไทย-อินโดฯ ที่ล้อมอยู่ด้านนอกก็บีบวงให้แคบขึ้น เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
วินาทีแห่งความเป็นความตาย ของเจ้าหน้าที่ ตัวประกัน และคนร้าย จู่ๆ มีชายคนหนึ่งกระโดดลงมา ก็ถูกยิงล้มคว่ำทันที คนนั้นคือ สลัดอากาศ
สลัดอากาศอีกคนพยายามจะวิ่งหนี เจ้าหน้าที่คอมมานโดก็รายล้อม จับขังพืดไว้กับพื้น ช่วงเวลาผ่านไปดังติดปีก 6 นาที ก็มีรายงานว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สำเร็จ สามารถยึดเครื่องบินคืนได้สำเร็จ
แต่ สถานการณ์ที่คาดว่าปกติ กลับไม่ใช่ จู่ๆ มีเสียงปืนดังขึ้นอีก คอมมานโด วิ่งกรูขึ้นเครื่องหนที่สอง เรียกว่าวิ่งแบบปูพรมเคลียร์ทุกซอกมุม เพราะเข้าใจว่า สลัดเวหา ยังเหลือรอดอีก 1 โดยสามารถควบคุมตัวไว้ได้
02.47 น. ทุกอย่างก็เงียบลงอีกครั้ง จากนั้นมีการพาคนเจ็บออกมารักษา 3 คน มาทราบภายหลังว่า เป็นคอมมานโด ของอินโดนีเซีย 1 คน สลัดอากาศ 1 คน และอีกคน กลายเป็น “กัปตันเครื่องบิน” GA 602
อย่างไรก็ตาม ผู้บาดเจ็บทั้ง 3 ที่ถูกคมกระสุน ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยสลัดอากาศอินโดฯ เสียชีวิตเป็นคนแรก หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นคอมมานโด หน่วยกล้าตายของอินโดนีเซียก็เสียชีวิต เพราะโดนยิงจุดสำคัญ ขณะที่กัปตันเครื่องบินก็ตายในเวลาต่อมา เพราะโดนยิงบริเวณแสกหน้า
การบุกยึดเครื่องบินคืนจากสลัดอากาศครั้งนี้ คนร้ายตาย 4 คน จับเป็น 1 คน ส่วนตัวประกันทั้งหมดรอดชีวิต
ในเวลาต่อมา หลังจัดการวิกฤติตัวประกัน จี้เครื่องบินฯ มาลงในไทย ทางการอินโดฯ ก็เดินหน้าเก็บกวาด ตามจับพวกที่เหลืออีกกว่าครึ่งร้อย ส่วนชะตาของสลัดอากาศ ที่โดนจับกุมเพียง 1 เดียวนั้น ก็ม้วยมรณา ในปีถัดมา เมื่อต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้ “ประหารชีวิต” ในเดือนมีนาคม 2525
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ