ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นบ่อยนัก สำหรับอุบัติเหตุเครื่องบินตก เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่เรียกว่า “ปลอดภัย” ที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้เดินทาง แต่...หากเกิดอุบัติเหตุแล้วละก็ โอกาสรอด...ก็มีน้อยสุดเช่นเดียวกัน
จากอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ ดิ่งตกกระแทกภูเขา ที่เมืองอู่โจว เขตปกครองตนเองกว่างซี เมื่อวันช่วงบ่ายวันที่ 21 มีนาคม 2565 คนในวงการบินก็ยังแทบไม่เชื่อสายตา ว่าเครื่องบิน โบอิ้ง 737-800 ที่มีผู้โดยสารและลูกเรือ รวม 132 ชีวิต จะประสบชะตากรรม แบบเครื่องพุ่งลงพื้นในลักษณะแบบนี้
ที่ผ่านมา ได้เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินโบอิ้ง รหัส 737 แล้วหลายครั้ง แม้แต่ในประเทศไทยก็เคยประสบมาแล้ว และวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาคุณผู้อ่านไปย้อนรอย 3 เหตุการณ์ใหญ่ในอดีต ที่เป็นข่าวใหญ่ และจำไม่รู้ลืมจนถึงทุกวันนี้
...
อุบัติเหตุ พุ่งชนภูเขา เครื่องแหลกทั้งลำที่พังงา เสียชีวิต 11 ศพ
อุบัติเหตุ ที่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องบิน โบอิ้ง 737 ต้องย้อนไปไกลเกือบ 40 ปี คือ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2528 กับ เที่ยวบิน ที.เอช 3143 ของ บริษัทเดินอากาศไทย (บดท.) ที่มีกำหนดการเดินทางออกจากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลา 22.30 น. และจะถึงภูเก็ตในเวลา 23.31 น.
แต่เมื่อถึงเวลาที่เครื่องบินควรจะร่อนลงจอด แต่กลับไม่มีการติดต่อจากเครื่องบินลำดังกล่าว กระทั่งมีรายงานว่า เครื่องบินโบอิ้ง ลำดังกล่าว ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารนับร้อยคน ได้เกิดอุบัติเหตุตก ที่นิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง จ.พังงา โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 คน นักบิน ลูกเรือ 7 คน และผู้โดยสาร 4 คน สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิต 11 ศพ เพราะจุดประสงค์ของเครื่องบินลำดังกล่าว เพื่อจะไปรับผู้โดยสารจากภูเก็ตกลับกรุงเทพฯ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไป จ.ภูเก็ต เสียก่อน
จากการสอบสวนหากล่องดำอยู่แรมเดือน ไม่ได้มีการระบุสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่จากข้อมูลข่าวสารเวลานั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัญหาเรื่อง “เครื่องบอกระยะทาง” (บีเอ็มอี) ที่สนามบินภูเก็ตได้เกิดเสีย ส่งผลต่อการคำนวณระยะทางคลาดเคลื่อนไป 4 นาที ทำให้เครื่องบินลดระดับความสูงก่อนกำหนด ทำให้เกิดอุบัติเหตุชนภูเขา
1 นาทีมรณะ เครื่องบิน ควงสว่านดิ่งทะเล สังเวย 83 ศพ
31 สิงหาคม 2530 เหตุการณ์ร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
เมื่อเวลา 15.40 น. เครื่องบินโบอิ้ง 737 สมญานาม “ลิตเติล ไจแอนต์” ได้เกิดอุบัติเหตุ ตกกลางทะเล ห่างจากสนามบินภูเก็ตไปทางตะวันออก ราว 8 ไมล์ ในพิกัดใกล้กับเกาะยาวกับเกาะนาคา พิกัด 115 ตรงข้ามแหลมขาด ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
เครื่องบินลำที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นเที่ยวบิน ที.เอช. 365 ออกจากสนามบินหาดใหญ่ เวลา 15.05 น. มีเป้าหมายเดินทางมาที่สนามบินดอนเมือง เพื่อแวะรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินภูเก็ต ก่อนจะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ
แต่...เครื่องบินยังไม่ทันลงที่สนามบินภูเก็ต ก็เกิดอุบัติเหตุพุ่งลงทะเล ห่างจากสนามบินภูเก็ต 8 ไมล์ทะเล ด้านตะวันออก โดยมีผู้โดยสาร 74 คน แบ่งเป็นคนไทย 35 คน ต่างชาติ 37 คน ในจำนวนนี้มีเด็ก 2 คน นอกจากนี้เป็นกัปตันและลูกเรือ รวม 83 คน ซึ่งเสียชีวิตทั้งหมด
เหตุเศร้าสลดครั้งนี้ กลายเป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากสาเหตุมาจากมีเครื่องบิน 2 ลำ เกี่ยวข้อง ซึ่งตามข่าวในเวลานั้น ใช้คำว่า “เฉียด...หักหลบกัน” จนกลายเป็นเรื่องเศร้า
การสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งนั้น ใช้เวลาอยู่นาน แม้จะสามารถกู้กล่องดำได้ แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่ชัดเจน กระทั่ง 30 ต.ค. 30 พล.อ.ต.ยุทธพงษ์ กิตติขจร เจ้ากรมจเรทหารอากาศในฐานะรองประธานกรรมการสอบสวนเครื่องบินตกที่ จ.ภูเก็ต เปิดเผยรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน
จุดเริ่มต้นเหตุสลดครั้งนี้ มาจากตารางการบินและเข้าจอดที่สนามบินภูเก็ต...
...
ขณะเกิดเหตุ เครื่องบิน “ดราก้อน แอร์” ที่บินมาจากฮ่องกง เดินทางและเตรียมลงจอดที่สนามบินภูเก็ต โดยเดินทางมาที่ช่องการบิน 038 แต่ระหว่างทางเจอสภาพอากาศไม่ดี จึงขออนุญาตศูนย์การบิน ที่ช่องการบิน 025
เมื่อเดินทางเข้ามาใกล้สนามบินภูเก็ต จึงได้ติดต่อ “หอบังคับการบิน” ว่าจะขอลดระดับที่ความสูง 19,000 ฟุต เป็น 13,000 ฟุต และอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ต 35 ไมล์
ในเวลาใกล้เคียงกัน 1 นาที!!
เครื่องบิน บดท. จากหาดใหญ่ ที่กำลังไปรับผู้โดยสารที่ภูเก็ตในเส้นทางบินที่ WK 14 ได้รับรายงานจากหอการบินว่า บินอยู่ที่ความสูง 15,000 ฟุต จึงขอลดระดับมาที่ 14,000 ฟุต ห่างจากสนามบิน 50 ไมล์
จากนั้น หอบังคับการบิน ติดต่อ ดราก้อน แอร์ อนุญาตให้ลดระดับจาก 13,000 ฟุต เหลือ 6,500 ฟุต
ในเวลาเดียวกัน บดท. ขอลดระดับมาที่ 7,000 ฟุต ขณะห่างจากภูเก็ต 25 ไมล์ ส่วน ดราก้อนฯ อยู่ห่าง 27 ไมล์ ขอนำเครื่องลงสนามบิน หอการบินฯ อนุญาตให้ ดราก้อน แอร์ เข้าที่ 14 ไมล์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ขณะที่ บดท. บินห่างมา 30 ไมล์ หอฯ ก็อนุญาตให้ลดระดับมาที่ 5,000 ฟุต
...
เมื่อเครื่องบินของ ดราก้อนฯ บินมาที่ 14 ไมล์ ความสูง 4,500 ฟุต ขออนุญาตทำวงจรโค้ง 12 ไมล์ ซึ่งทำถูกต้องตามกฎการบินสากล หอบังคับการบิน ก็อนุญาต และลดระดับที่ 2,500 ฟุต
เมื่อหอบังคับการบิน สื่อสารกับ เครื่องบิน ดราก้อนฯ เสร็จ หอฯ ก็ถามไปที่ เครื่องของ บดท. ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน...
“25 ไมล์ทะเลจากภูเก็ต ความสูง 5,000 ฟุต” บดท. ตอบมา
หอบังคับการบิน จึงแนะนำว่าให้ลดมาที่ 4,000 ฟุต เตรียมการลงเป็นหมายเลข 2 ขณะที่ดราก้อนฯ กำลังจะเลี้ยวเข้าระยะสุดท้ายก่อนลงจอด เป็นหมายเลข 1 บดท. ก็ตอบรับ
ขณะที่ดราก้อนฯ อยู่ห่าง 11 ไมล์ บดท. ห่าง 13 ไมล์ ดราก้อนฯ แจ้งหอฯ ว่า เห็นเครื่องบินตัดหน้าจากซ้ายไปขวา ในระยะสูงกว่า ในช่วงนี้เอง หอฯ จึงรีบถาม เครื่องบินทั้ง 2 ลำ ว่าอยู่ตรงจุดไหน ดราก้อนฯ ตอบ 12 ไมล์ ส่วน บดท.ตอบว่า 8 ไมล์ ก่อนถึงสนามบิน หมายความว่า เครื่องบิน บดท. แซงหน้า ดราก้อน มาแล้ว...
หอฯ จึงอนุญาตให้ เครื่องของ บดท. ลงก่อน เป็นหมายเลข 1 ดราก้อนฯ หมายเลข 2
ดราก้อนฯ จึงรีบแจ้งแย้งว่า บดท. อยู่ระยะสูงกว่า ไม่สามารถลงจอดได้ในระยะนี้ และเกรงว่าจะเกิดอันตราย
คนควบคุมในหอบังคับการบิน เริ่มสับสน...
“จะให้ใครลงก่อน...เห็นเครื่องบินฮ่องกงหรือไม่!” บดท.รีบถามหอบังคับการบิน
.......
หอบังคับการบินยังไม่ทันตอบ ช่วงนั้นเองเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของ บดท. ก็เกิดอาการ หัวดิ่งลง ทำมุม 90 องศาฯ เครื่องสั่น สะบัดรุนแรงทางขวา นักบินพยายามแก้ไข ด้วยการเชิดหัวขึ้น แต่ทำได้เพียง 45 องศา เครื่องก็ดิ่งควงสว่านลงกระแทกพื้นน้ำ....ทำให้คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต
จากเหตุการณ์สุดเศร้าสลดครั้งนี้ ทีมสอบสวน สรุปไว้ 2 ประเด็น
...
1. สาเหตุที่เครื่องประสบอุบัติเหตุ มาจากเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินจัดระยะห่างไม่เพียงพอ ในทางปฏิบัติควรจะให้เครื่องบินของ บดท. บินวนรอที่จุดรอ หรือบินผ่านสนามบินไปแล้วค่อยวนมาใหม่ และลงจอดเป็นหมายเลข 2 ต่อจาก เครื่องบิน ดราก้อน แอร์
2. นักบิน บดท. เกิดความลังเล เนื่องจากมุ่งสนใจอยู่ภายนอก เนื่องจากเห็นเครื่องบินอีกลำอยู่ข้างหลัง ในระยะต่ำกว่า จึงทำให้นักบินผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ทันสังเกตระยะเครื่องวัดความเร็ว ทำให้ความเร็วตกลง
อุบัติเหตุเครื่องตก ดับสลด 6 นักบิน ช่างซ่อม
30 มีนาคม 2536 ช่วงสายวันนั้น ศูนย์วิทยุ 191 สภ.อ.เมืองขอนแก่น รับแจ้งเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-300 ของกองทัพอากาศตก ที่บริเวณบ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 14 ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น
จุดเกิดเหตุ ห่างจากถนนมิตรภาพราว 2 กิโลเมตร พบผู้เสียชีวิต 6 คน ประกอบด้วย 2 นักบิน 3 ช่างเครื่องจากกองทัพอากาศ และอีก 1 คน เป็นช่างเครื่องยนต์ จากบริษัทโบอิ้ง
เครื่องบินดังกล่าว บรรจุผู้โดยสารได้ 115 ที่นั่ง มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ก่อนเกิดเหตุ ทราบว่า เครื่องบินลำดังกล่าว มีกำหนดเตรียมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีกำหนดเดินทางในวันที่ 9 เม.ย. 36
แต่...มีการตรวจสอบพบว่า เครื่องบินลำดังกล่าว กำลังมีปัญหาขัดข้องที่ “ทริม” เอลิเวเตอร์ หรือชุดอุปกรณ์ปรับแผนบังคับหางขึ้น-ลง ซึ่งใช้ระบบไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. จึงมีการนำเครื่องบินลำดังกล่าวไปตรวจสอบ และซ้อมบิน เมื่อเวลา 09.10 น. จากกรุงเทพฯ โดยมีกำหนดถึงที่หมายใน จ.ขอนแก่น เวลา 09.55 น. แต่เมื่อเครื่องถึงขอนแก่นก็เกิดขัดข้อง นักบินแจ้งหอบังคับการขออนุญาตนำเครื่องลงฉุกเฉิน จากนั้นก็ขาดการติดต่อ จนกระทั่งมาพบซากเครื่องบินและร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ทั้งนี้ สาเหตุการตก และการพิสูจน์กล่องดำ ก็พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ก็มาจาก “ทริม” ช่วยบังคับการบินขึ้น-ลง ขัดข้อง
ทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุทางอากาศที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งปัจจุบัน บริษัทผลิตเครื่องบินมีเทคโนโลยีเพิ่มความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ