โศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 สายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MU 5735 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 132 คน ตกปริศนาในลักษณะหัวดิ่งโหม่งพื้น จากระดับความสูง 8,840 เมตร บริเวณภูเขาเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางใต้ของจีน เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น่าจะมีผู้รอดชีวิต จากสภาพเครื่องบินกลายเป็นชิ้นส่วนเศษซากกระจัดกระจายไปทั่ว หลังชนภูเขาและเกิดไฟไหม้ โดยอยู่ระหว่างการค้นหากล่องดำ เพื่อหาสาเหตุการร่วงตกกะทันหันอย่างผิดปกติของเครื่องบินลำนี้
ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อนในประเทศไทย เคยเกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินโบอิ้ง 767-300ER สายการบินเลาด้าแอร์ เที่ยวบิน NG004 เส้นทางฮ่องกง-กรุงเทพฯ-เวียนนา ตกในป่ารกทึบ ซึ่งมีหุบเขาสูงและหน้าผาหินปูน บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติเขาพุเตย อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค. 2534 ภายหลังบินมาจากฮ่องกง มายังท่าอากาศยานดอนเมือง อย่างปกติไร้ปัญหา และกำลังมุ่งหน้าต่อไปเวียนนา ประเทศออสเตรีย
...
แต่เมื่อเครื่องบินออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง เพียง 18 นาที ใกล้กับพรมแดนไทย-เมียนมา ปรากฏว่าสัญญาณเรดาร์จากเครื่อง หายไปจากจอมอนิเตอร์ของศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ กระทั่งร่วงจากระดับความสูง 31,000 ฟุต ระเบิดกลางอากาศ เหมือนลูกไฟตกในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพุเตย ชิ้นส่วนเครื่องบินแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ และอวัยวะชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์เกลื่อนไปทั่ว ทำให้การค้นหาศพผู้โดยสารและลูกเรือ รวม 223 คน เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยมีคนไทย 39 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีดร.ไพรัตน์ เตชะรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น และภรรยา
เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความเศร้าสลด เพราะสามารถพิสูจน์ศพผู้โดยสารได้เพียง 72 ศพเท่านั้น จากการลุกไหม้ของตัวเครื่องกระจายไปทั่ว รวมถึงชิ้นส่วนอวัยวะศพของผู้โดยสารจำนวนมากเกลื่อนไปทั่วบริเวณ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ารกและสูงชัน โดยหลายศพตกลงไปในเหวลึก ยากต่อการค้นหา และบางส่วนปะปนไปกับเศษซากของเครื่องบิน
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่นิรภัยการบิน จากหลายหน่วยงานได้เข้าไปตรวจสอบพบชิ้นส่วนหลายชิ้นของเครื่องบิน มีร่องรอยการถูกไฟไหม้ เกิดขึ้นบนอากาศก่อนที่เครื่องจะตกลงสู่พื้นดิน จากการฉีกขาดของปีกที่มีน้ำมันบรรจุอยู่แล้วสาดกระจายมาโดนเครื่องยนต์ที่กำลังทำงาน จึงเกิดการลุกไหม้อย่างรุนแรง แต่ลุกลามไปไม่ถึงปลายปีกทั้ง 2 ข้างและพื้นผิวด้านขวาของลำตัวบางช่วง
การแตกกระจัดกระจายของซากเครื่องบิน ทำให้ยากที่จะตรวจหาความบกพร่องของระบบไฟฟ้า จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์ (Thrust Reverser) กางออก จะเป็นสาเหตุทำให้สายไฟหรือระบบไฟฟ้าขัดข้องหรือไม่ ส่วนเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน ถูกความร้อนเผาเสียหายจนไม่สามารถถอดข้อมูลได้ แต่เครื่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน ได้รับความเสียหายไม่มาก
นำไปสู่การคลี่คลายสาเหตุเครื่องบินตก เนื่องจากพบว่ากัปตันเครื่องบิน ได้เห็นสัญญาณเตือนทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์ บริเวณปีกด้านซ้ายกำลังทำงาน จึงร่วมกับผู้ช่วยนักบินตรวจสอบคู่มือของโบอิ้งเพื่อดูคำแนะนำ ก่อนสิ้นเสียงสุดท้ายของผู้ช่วยนักบิน ร้องเสียงดังว่า "รีเวิร์สเซอร์ กางแล้ว" และตามด้วยเสียงระเบิดบนเครื่อง
...
ผู้เชี่ยวชาญการบินสันนิษฐานว่า เกิดความผิดพลาดจากคอมพิวเตอร์ ทำให้ทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์ของปีกซ้ายทำงานขึ้นมาเอง ส่วนปีกขวา มีแรงยกมากกว่าปีกซ้าย ในการจะวิ่งไปข้างหน้า แต่ปีกซ้ายกลับเบรกต้านลม ทำให้แพนหางที่ปรับทิศทางปริหลุดออก ก่อนเครื่องบินหมุนดิ่งหัวลง และปีก 2 ข้างหลุดออก ทำให้ถังน้ำมันระเบิด ฉีกเครื่องบินออกเป็นชิ้นๆ จนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมช็อกโลก.