ถือเป็นช่วงปลายสมัยนายกรัฐมนตรี ที่มีนามว่า “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว หลังเจอมรสุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจหลายเรื่อง ไล่เรียงตั้งแต่ โควิด วิกฤติวัคซีน ผลพวงจากการ “ล็อกดาวน์” และล่าสุด กับเรื่อง ของแพงทั้งแผ่นดิน โดยมีปัจจัยจากเรื่อง “หมูๆ” ที่กลายเป็น “ไม่หมู” ไปเสียแล้ว เพราะมีต้นตอมาจากโรคระบาด จนถูกประชาชน ตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า... ทำอะไรกันอยู่?

จากหมูแพง  สู่ “ไข่แพง” สินค้าที่เปรียบเสมือน “อัตราชี้วัด” ของแพง ได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง (รองมาจาก “มาม่า” ที่ยืนยันแล้วว่ายังไม่ขึ้นราคา) ซึ่ง “ไข่แพง” ก็คือรากฐานความนิยมในตัว “นายกรัฐมนตรี” อย่างหนึ่ง ซึ่งแต่ละยุคก็มีการเก็บข้อมูลและถูกเปรียบเทียบกันไว้อย่างเห็นภาพ

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอไล่เรียง “ราคาไข่” ในแต่ละยุค ไล่ตั้งแต่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จนถึง “ลุงตู่” สู้โควิดในปี 2565 นี้เลย...

เรื่องไข่...อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะถ้าไข่แพง ก็จะเสียความนิยมได้ (นะจ๊ะ)

...

 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถือเป็นยุค “ไข่ไก่” ยุคแพงที่สุดยุคหนึ่ง ในช่วงมีนาคม 2518 ถึง มกราคม 2519 พบว่า “ไข่คึกฤทธิ์” มีราคาเฉลี่ยฟองละ 1.50-1.60 บาท เรียกว่า “แพงมาก” ในยุคนั้น เมื่อเทียบกับค่ารถเมล์ เที่ยวละ 3 สลึง (75 สตางค์) ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่ที่ ฟองละ 75 สตางค์

มาถึงยุค “เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นยุคเศรษฐกิจโลกปั่นป่วน เป็นยุค “ข้าวยากหมากแพง” อีกยุค เพราะกลุ่มโอเปก รวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมันดิบ ทำให้ “พ่อค้าหน้าเลือด” บางรายในยุคนั้น โขกสับไปที่ประชาชน ก่อนที่สุดท้าย นายกฯ ที่ชื่อ “เกรียงศักดิ์” ได้ลาออกจากตำแหน่ง “ไข่เกรียงศักดิ์” ในยุคนั้น ก็ยังคงมีราคาอยู่ประมาณฟองละ 1.60 บาท

พอก้าวเข้าสู่ นายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ครองตำแหน่งผู้นำประเทศยาวนานถึง 8 ปี ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ “ไข่เปรม” ราคาแสนถูกที่ ฟองละ 1.26 บาท จะเห็นว่าลดลง เมื่อเทียบกับสมัย นายเกรียงศักดิ์

แต่พอช่วงปลายๆ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง ก็เริ่มที่จะไม่ไหว “ไข่เปรม” แพงขึ้น และจากการไล่สำรวจตลาด ช่วงเดือนกันยายน 2530 “ไข่เปรม” มีราคาที่ฟองละ 1.80 บาท

พอผ่าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าสู่ยุค “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โน พลอมแพลม (No Problem) ไข่ไก่น้าชาติก็ขึ้นมาอีก 10 สตางค์ เป็นฟองละ 1.90 บาท ไข่เป็ดราคา 2.25 บาท

กระทรวงพาณิชย์ สมัย “น้าชาติ” ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ไข่ราคาแพงขึ้นเพราะอาหารสัตว์ขึ้นราคา และเกษตรกรเลิกเลี้ยง “ไก่” และ “เป็ด” ทำให้ปริมาณไข่ในประเทศลดลง (ไม่เหมือน “ลุง” แถวนี้นะครับ ที่ให้เลี้ยงไก่บ้านละ 2 ตัว...ฮา)

หลังจากน้าชาติ ไปแล้ว ก็มาถึงยุค นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมี นายอมเรศ ศิลาอ่อน เป็น รมว.พาณิชย์ ก็เริ่มมี “ธงฟ้า” ไข่ไก่ใบเล็ก ถูกสุด เพียง 90 สตางค์ เท่านั้น จนกระทั่ง ธันวาคม 2534 ราคาไข่ตกใบละ 1.50-1.60 บาท

กระทั่งถึง รัฐบาล นายชวน หลีกภัย เรียกว่า ราคา “แพงขึ้น” แบบผิดหูผิดตา จนคนในยุคนั้น บอกว่า “แพงที่สุด” เพราะไข่ “นายชวน” ฟองละ 2.70 บาท เลยทีเดียว

เมื่อมาถึงยุคของนายบรรหาร ศิลปอาชา ราคาไข่ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ประมาณฟองละ 3 บาท แต่พอในปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หลังประกาศลอยตัวเงินบาท ราคาไข่ก็ร่วงลงมาเหลืออยู่ที่ 1 บาท กว่าๆ

...

จุดพีกของ “ราคาไข่” มาอยู่ในช่วงรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” โดยค่อนข้างผันผวนอย่างหนัก “ไข่ทักษิณ” ในช่วงปี 2545 ราคาตกต่ำลงเหลือฟองละ 1.55 บาท จนผู้เลี้ยงไก่ต้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ และใช้วิธีการปัญหาด้วยการ “เร่งส่งออก” แต่ราคาก็ยังดิ่งลงเหลือ 1.55 บาท

ด้วยราคาที่ตกต่ำลง ราคาอาหารสัตว์แพงขึ้น จึงเลือกวิธี “ฆ่าแม่ไก่” ไปนับล้านตัว ในช่วงปลายปี 2545 ถึงต้นปี 2546 วิธีดังกล่าวถือว่า “ได้ผล” กระทั่งกลางปี ราคาไข่เริ่มปรับขึ้น

ปี 2547 “ไข่ทักษิณ” ขึ้นราคาอย่างหนัก เหตุเพราะ “ไข้หวัดนก” ระบาดหนัก จึงจำเป็นต้อง “ทำลายไก่” ไปจำนวนมาก 16 มิ.ย.47 ราคาไข่ไก่ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.10-3.30 บาท ถือว่าราคาสูงเป็นประวัติการณ์ (ยุคนั้น)

แม้จะมีการคาดการณ์ว่า ราคาไข่อาจพุ่งสูงถึง 6 บาท แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะปริมาณบริโภคประเทศลดลง เพราะยังกลัว “ไข้หวัดนก” ซึ่งราคาไข่ขายสูงสุดในยุคทักษิณ อยู่ที่เกือบ 4 บาท ก่อนจะค่อยๆ ลดลง

เข้าสู่ยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ราคาไข่เฉลี่ย อยู่ที่ 2.18 บาท

และ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ราคาไข่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.65 บาท ถือเป็นการเพิ่มขึ้นไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิต

...

มาฮือฮา เอาตอน “ไข่มาร์ค” รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคาไข่ ขายปลีก เบอร์ 3 ราคาใบละ 2.85 บาท (14 ก.ย.52) หากเป็นเบอร์ 0 ราคาจะพุ่งขึ้น 3.00-3.30 บาท แผง 30 ใบ จะอยู่ที่ราคา 80 บาท จึงมีแนวคิดเรื่อง “ไข่ชั่งกิโล” กิโลกรัมละ 52 บาท ซึ่งคิดว่าจะถูกลงประมาณ 2-3 บาท/กิโลกรัม

แต่แนวคิดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะหลายปัญหา
1.ปัญหาเรื่อง “ไข่แตก” ในระหว่างซื้อขาย
2.พ่อค้าแม่ค้าบางราย “โกงตาชั่ง”
3.การใช้งานไม่เหมาะสม เพราะผู้ค้าบางรายจะเลือกซื้อตามเบอร์ แต่การชั่งไข่ มีการคละไซส์

มาตรการนี้ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ จบลงภายใน 3 เดือน เพราะผู้ซื้อและขายไม่ยอมรับ และต้องการซื้อแบบ “เบอร์” มากกว่า ซึ่งราคาแพงสุด คือเบอร์ 0 ราคาขายปลีก ฟองละ 4 บาท (22 เม.ย.54)

มาถึง นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราคาไข่ “นายกฯปู” ก็ยังฉุดไม่อยู่ แม้จะมีราคาแนะนำ ราคาไข่ไก่ เบอร์ 2 ฟองละ 3.60 บาท แต่ราคาท้องตลาดขายปลีกจริงๆ ทะลุไปที่ 4-4.10 บาท (18 พ.ย. 54) กระทั่งต่อมาราคาไข่ร่วงลง เพราะอยู่ในภาวะ “ไข่ล้นตลาด”

...

กระทั่งการมาของ “ลุง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เจอปัญหารุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะราคาหมูแพง ในขณะที่ ราคาไข่ ณ เวลานี้ ได้ขอปรับขึ้น 6 บาท ต่อแผง เฉลี่ยคละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 3 บาท (ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยง ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่) โดยไข่เบอร์ 0 อยู่ที่ 3.40 บาท เบอร์ 1 ราคา ฟองละ 3.30 บาท เป็นต้น 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ