1 พฤศจิกายน 2564 นอกจากเป็นวันเปิดประเทศของไทย และยังเป็นวันปิดตำนานของโรงหนังที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ก็คือโรงหนังสกาลา โดยทีมก่อสร้างได้เริ่มต้นลงมือทุบ...เพื่อพัฒนาที่ดินกับเจ้าของใหม่ 

3 นาทีคดีดัง โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านไปย้อนรอย โรงหนังแห่งความทรงจำ ที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง และทำเลทอง

สกาลา ถูกยกย่องจากนิตยสารระดับโลกว่าเป็นโรงหนังที่สวยที่สุดในโลก และในปี 2555 ยังได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกอีกด้วย 

จุดเริ่มต้นของโรงหนังในย่านสยามสแควร์ จากปาก คุณนันทา ตันสัจจา ทายาท “พิสิฐ ตันสัจจา” ผู้ก่อตั้งโรงหนังสยาม ลิโด และ สกาลา ต้องย้อนกลับไปกว่าครึ่งศตวรรษก่อน


ก่อนที่จะมาบุกเบิกโรงหนังย่านสยาม คุณพ่อ “พิสิฐ ตันสัจจา” เริ่มมีชื่อเสียงจากปลุกปั้น “เฉลิมไทย” มาก่อน 

จุดเริ่มต้นของโรงหนังในตำนานมาจากชาย 2 คน คือ กอบชัย ซอโสตถิกุล เจ้าของบริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง  ที่ชักชวน “พิสิฐ ตันสัจจา” คุณพ่อของคุณนันทา มาร่วมพัฒนาที่ดิน ถนนพระราม 1 

หลังจากที่ พิสิฐ พัฒนา “เฉลิมไทย” จากโรงละครกลายเป็นโรงหนังที่มีชื่อเสียงแล้ว จึงมีแนวคิดมาพัฒนาโรงภาพยนตร์ในที่ดินที่แพงกว่าทองคำ ณ เวลานี้ 

...

เพียงแต่เวลานั้น ที่ดินตรงสยามสแควร์ ยังเป็นแค่ชุมชนแออัด และสวนฝรั่ง 

“ตอนที่คิดสร้างโรงหนัง แถวนี้มันไม่มีอะไรเลย หากจะกินข้าวต้องไปไกลถึงประตูน้ำ หรือ สามย่าน แบบนี้จะทำยังไง..

คำตอบของคำถามนี้ก็คือก็ “ผูกปิ่นโต” มากินซะเลย...” คุณนันทา เล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม 

15 ธันวาคม 2509 โรงหนังแห่งแรกในย่านสยามได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมฉายภาพยนตร์เรื่องแรก คือ รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge)  

โรงหนังแห่งนี้ เดิมชื่อ “โรงหนังจุฬาฯ” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงหนังสยาม” เพราะถูกท้วงติงจากบุคคลที่มีชื่อเสียงว่า ชื่อพ้องกับพระนาม พระพุทธเจ้าหลวง หรือ รัชกาลที่ 5 

โรงหนังสยามมีความจุ 800 ที่นั่ง ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่ฉายหนัง แต่เหตุการณ์ร้ายได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 เมื่อช่วงชุลมุนทางการเมือง โรงหนังสยามถูกเผา... และจากนั้นก็ไม่ฟื้นอีกเลย  

27 มิถุนายน 2511 ก็ถึงคิวของโรงหนังแห่งที่สองในย่านสยามได้ลืมตาดูโลก 

คุณพิสิฐ เจ้าของได้แรงบันดาลใจจากการตั้งชื่อมาจาก สถานที่แห่งหนึ่งในกรุงปารีส แน่นอน โรงหนังแห่งนี้มีนามว่า “ลิโด” โดยมีความจุ 1,000 ที่นั่ง และต่อมามีการลดขนาดลง 

หนังเรื่องแรกที่ฉายในลิโด คือ หนังเรื่องศึกเซบาสเตียน (Games For San Sebastian) ลิโด โดดเด่นด้วยโปรแกรมฉายหนังที่แตกต่าง เป็นหนังทางเลือก และคนดูยังสามารถขอเจ้าของโรงหนังนำมาฉายได้ด้วย 

โชคชะตาของ “ลิโด” ได้ฉายภาพยนตร์จนถึงวันสุดท้ายในปี 2561 

 

กลับมาที่ สกาลา เปิดรอบปฐมฤกษ์ วันที่ 31 ธันวาคม 2512 

สกาลา เป็นโรงหนังที่มีความจุ 1,000 ที่นั่ง ภาพยนตร์เรื่องแรก คือ สองสิงห์ตะลุยสิบทิศ (The Undefeated) 

ความตั้งใจของผู้ให้กำเนิดโรงหนังสกาลานั้น คืออยากให้เป็นโรงหนังที่สวยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก มารวมไว้ที่เดียว มีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงเอเชีย บาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะมีโคมไฟแชงกาเรียจากอิตาลี คอยทำหน้าที่ต้อนรับผู้ชม ได้เห็นถึงความอลังการ ความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

...

จึงเป็นที่มาของชื่อโรงหนังสกาลา ที่หมายถึง บันได นั่นเอง

“โรงหนังสกาลา เป็นโรงหนังที่สวยที่สุด ระบบเสียงไม่เคยแพ้ใคร เราตามปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่ามีอะไรก็ใส่เข้าไปในโรงของเรา ถึงได้บอกว่าถ้าเป็นหนังที่ใช้เทคนิคมากๆ ให้มาดูที่สกาลา ไม่ต้องไปดูที่อื่น เพราะว่าที่นี่จะได้บรรยากาศ ได้ความรู้สึกดีกว่าที่อื่น เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในนั้นเลย”

ชีวิตของโรงหนังสกาลา เดินทางมาถึงในวัย 51 ปี ก็ถึงวันต้องอำลา 

5 กรกฎาคม 2563 สกาลา ได้ฉายหนังรอบสุดท้ายในชื่องาน Final Touch of Memory ก่อนจะหมดสัญญา กับทางสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : Apex Scala
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : Apex Scala

...

เราอยู่อย่างสนุก เราไม่ได้รวยเพราะตรงนี้ แต่เราทำเพราะเรารักอยากจะทำ พอหมดสัญญาเช่า แม้เราจะเป็นผู้ก่อสร้างก็ต้องยกทั้งหมดให้กับเจ้าของที่ ส่วนเขาจะรักที่นี่เหมือนที่เรารักหรือเปล่าก็ไม่รู้ เขาไม่จำเป็นต้องเอาเราไว้ แต่ขอแค่โรงหนังสกาลายังคงอยู่ต่อไปก็พอ เราอยากให้อนุรักษ์ไว้ 

คุณนันทา กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เมื่อครั้งได้สัมภาษณ์พิเศษ เมื่อปี 2559 

ซึ่งก็มีรายงานจากกลุ่มเซ็นทรัลว่า ยังอยากอนุรักษ์ไว้ ส่วนสกาลา จะลาลับหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน