ย้อนกลับไปกว่า 40 ปี ได้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ กลางเมือง กลางแม่น้ำเจ้าพระยา
19 ก.ย. 2524 กองทัพอากาศ ได้จัดการ "ซ้อมรบ" กับรหัส "นภาพิทักษ์" โดยสมมติว่าเป็นของข้าศึก ขับเครื่องบินไอพ่น "เอฟ 5 เอ" จำนวน 3 ลํา เข้าโจมตีพื้นที่บริเวณสะพานรถไฟพระราม 6 และหมู่บ้านริมทางปากซอยสีน้ำเงิน
3 นาทีคดีดัง จะพาย้อนรอยอุบัติเหตุระหว่างซ้อมรบ ที่ไม่มีใครคาดคิด
ในวันนั้น การซ้อมรบได้ใช้เครื่องบินไอพ่น เอฟ 5 เอ เป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียว ของกองทัพอากาศ มีความเร็วเหนือเสียง รัศมีรบอาวุธเต็มที่ 195 ไมล์ บินได้นาน 2 ชั่วโมง
ก่อนจะเริ่มซ้อม มีการระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ เข้าพื้นที่ พร้อมจำลองสถานการณ์ ว่ามีคนบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต แต่...ใครจะคิด ว่าทีมฯ ที่เตรียมมากลับต้องมาใช้จริง
เมื่อถึงเวลานัดหมาย บ่ายวันนั้น เครื่องบินรบ “เอฟ 5 เอ” เริ่มบินโฉบเฉี่ยวเหนือน่านฟ้า สะพานรถไฟพระราม 6 เครื่องบินทั้ง 3 ลำ ได้โชว์บินผาดแผลงท่ามกลางสายตาประชาชนหลายพันคน
ในเที่ยวแรก เครื่องบินรบทั้ง 3 ลำ บินโฉบลงต่ำ ปล่อย “โซนิกบูม” เปรียบเสมือนการ “ทิ้งระเบิด” ใส่จุดเป้าหมาย ประชาชนที่เฝ้าดู ต่างส่งเสียงฮือฮา ตื่นเต้นกับการโชว์ ของกองทัพอากาศ ที่น้อยนักที่จะได้เห็น
หลังโฉบปล่อยโซนิกบูม ในรอบแรก ก็มีการส่งสัญญาณว่าจะวนกลับมาอีกครั้ง...
...
ในรอบที่สอง เครื่องบินลำแรกบินโฉบเข้ามา ก่อนจะปล่อยโซนิกบูม และก็บินผ่านไป
เมื่อถึงเครื่องบินลำที่ 2 เหตุไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นกับเครื่องบิน “เอฟ 5 เอ” หมายเลขเครื่อง 10321 ที่มีเรืออากาศโทอนุวรรตน์ ศรีพื้นผล เป็นนักบิน วัย 25 ปี ในสังกัดกองบินที่ 1 ฝูงบินที่ 103
ระหว่างเลี้ยวตีวงเพื่อดิ่งเข้าโจมตี ในระยะต่ำ เครื่องบินของเรืออากาศโทอนุวรรตน์ บินเลี้ยวทำมุม 45 องศา จู่ๆ ได้ไปเฉี่ยวหลังคาตึกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตยันฮี
วินาทีนั้น เครื่องบินเกิดขัดข้อง เงยหัวไม่ขึ้น เครื่องบินจึงพุ่งลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หางเครื่องสะบัดกระเด็นออกจากตัวเครื่อง มีเสียงระเบิดดังขึ้นจากใต้น้ำ น้ำกระจายสูงกว่า 15 เมตร คนที่ยืนดูกว่า 2 พันคน ต่างตกตะลึงกับภาพตรงหน้า
ตัวเครื่องบินจมดิ่งบริเวณตอนบนของสะพานพระราม 6 ห่างไป 300 เมตร ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาในเวลานั้นก็ไหลเชี่ยวกราก
พลอากาศโทประภา เวชปาน ผู้อำนวยการฝึกร่วมป้องกันภัยทางอากาศ 2524 สั่งการทันที ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกู้ภัยฯ ที่ประจำการบริเวณนั้นเข้าช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้น ทยอยนำชิ้นส่วนปีกและหางเครื่องบินมาส่งคืน
พนักงานทำความสะอาดโรงไฟฟ้า ที่อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ เล่าว่า ก่อนเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ เห็นปีกเครื่องบินส่ายไปมา เข้าใจว่านักบินกำลังดึงเครื่องขึ้น เพื่อหลบให้พ้นจากรัศมีโรงไฟฟ้าฯ แต่เมื่อขับพ้น เครื่องบินกลับหัวปักลงกลางแม่น้ำ จนเกิดระเบิดดังสนั่น
เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง จนถึงพลบค่ำ ก็สามารถเก็บกู้ซากเครื่องบินขนาดใหญ่ได้
พลอากาศโทประภา ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าใจว่านักบินพยายามบังคับเครื่องให้ลงกลางแม่น้ําเพื่อหลบการชนบ้านเรือน การไฟฟ้า หรือสะพานพระราม 6 เลี่ยงการตายหมู่ โดยสละชีวิตตัวเองจนเครื่องระเบิดใต้น้ํา
เท่าที่ดูจากซากเครื่องบิน คาดว่าเครื่องตกก่อนถึงมีการระเบิด เพราะหากระเบิดก่อน เครื่องต้องแหลกกว่านี้
ส่วนสาเหตุอาจจะมาจากเครื่องยนต์ดับ ทำให้น้ำมันส่งเข้าท่อไม่ได้ ทำให้เครื่องตก
ทั้งนี้ ได้มีการตามหาร่างผู้เสียชีวิตอยู่หลายวัน แต่หาเท่าไรก็ไม่พบ ทางครอบครัวจึงตัดสินใจจัดพิธีศพโดยไม่มีร่างผู้เสียชีวิต มีเพียงชิ้นเนื้อและเศษผมอีกเล็กน้อย
...
หลังเกิดเหตุการณ์สลดครั้งนี้ ก็ไม่มีการจัดซ้อมรบที่มีลักษณะอันตรายแบบนี้ในเมืองหลวงอีกเลย และเครื่องบินรบรุ่นนี้ก็ปลดประจำการไปตามเวลา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน