ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกประเทศในโลก ย่อมเจอภัยธรรมชาติ ประเทศไทยเอง เจอพายุฝนหลายครั้ง เกิดน้ำท่วมหนักหลายหน แต่ในปี 2531 มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น จนทำให้ชาว ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ต้องจดจำไม่รู้ลืม
3 นาทีคดีดัง โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปย้อนรอยเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ในพื้นที่ภาคใต้ ดินโคลนถล่ม เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ซึ่งเกิดฝนตกหนัก 3 วัน 3 คืน จากพายุดีเปรสชัน และไม่มีท่าทีที่จะหยุดตก ส่งผลให้เกิดดินโคลนถล่มหลายพื้นที่ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนถูกตัดขาด ขาดแคลนอาหาร เรียกว่าเป็นมหันตภัยใหญ่ในรอบ 50 ปี
แต่สำหรับชาวพิปูน ได้เจอเหตุร้ายหนักหน่วงกว่า เมื่อน้ำ ดินโคลน ก้อนหินขนาดใหญ่ และท่อนซุงมากมาย ได้ไหลบ่าลงมาจากภูเขาอย่างรวดเร็ว แค่ไม่กี่ชั่วโมง หมู่บ้านที่เคยมีคนอยู่อาศัย ได้หายวับไปกับตา เวลาชั่วข้ามคืน พบผู้เสียชีวิต 90 ศพ สูญหาย 102 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน
26 พฤศจิกายน หลังพายุฝนหยุดตก สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลายฝ่ายได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย บรรยากาศเต็มไปด้วยกลิ่นศพคละคลุ้ง พบผู้เสียชีวิตมากมาย ตลอดเส้นทางที่เคยมีบ้านเรือนนับร้อยหลัง ตอนนี้เหลือเพียงสิบกว่าหลัง สองข้างทางเต็มไปด้วยดินโคลน หินขนาดใหญ่ และท่อนซุงเกือบ 50,000 ท่อน
...
พระครูสั่ง ปุญํญูชูโต เจ้าอาวาสวัดห้วยโก วัย 74 ปี เล่าวินาทีทะเลท่อนซุงพุ่งถล่มวัดว่า ขณะนั้น น้ำท่วมเกือบถึงชั้น 3 ของกุฏิแล้ว จากนั้นทะเลท่อนซุงที่มากับน้ำ ได้พุ่งเข้าชนทำลายกุฏิ และพุ่งกระแทกเข้ากลางหลัง จึงพยายามเกาะท่อนซุงที่ไหลมากับน้ำที่เชี่ยวกราก ลอยไปไกลถึง 5 กิโลเมตร จากนั้นไปติดฝั่งใกล้ๆ กับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีสภาพล่อนจ้อน โดนน้ำพัดไม่แตกต่างกัน
เมื่อนักข่าวถามพระครูสั่งว่า ท่อนซุงมาจากไหน...พระครูสั่งถึงกับโกรธ พร้อมบอกว่าตอนนี้อายุ 74 ปี ไม่กลัวตายแล้ว
“ที่ผ่านมา เคยไปประท้วงทางการ ให้จัดการแก๊งลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำมาอย่างเปิดเผยนาน 2 ปี แต่เมื่อกลับมาที่หมู่บ้าน ทั้งพระและชาวบ้านที่ไปประท้วง ก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ข่มขู่ “ถ้าใครพูดมาก จะฆ่าไม่ให้เหลือ”
ด้วยความหวาดกลัวถึงสวัสดิภาพ จึงไม่มีใครกล้าพูด เรื่องจึงเงียบ ปล่อยให้มีการตัดไม้อย่างมโหฬารจนถึงปัจจุบัน
ด้าน พ.ต.พิมล สุวรรณสุภา ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช (ขณะนั้น) บอกว่า ไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้เถื่อน จึงต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้
ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ก็สั่งการให้เร่งจัดการกลุ่มลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
“มันแย่มากนะ คราวนี้มันฟ้องเลย เพราะไม้ไหลลงมากับน้ำและดินโคลน เห็นชัดเลยว่าการตัดไม้มันสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเพียงใด เรื่องนี้เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าพวกตัดไม้นำลงมาทางไหน เพราะหนทางปิดอยู่หมด ดังนั้น เวลาขนลงมา ก็ต้องรู้กันอยู่ เพียงแต่เขาไม่จับกันเท่านั้น” นายกรัฐมนตรี พูดเป็นนัย
ต่อมา ได้มีการตรวจสอบพบว่า ไม้ที่ไหลเป็นทะเลซุงลงมา บางส่วนเป็นไม้ที่รัฐให้สัมปทาน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ส.ส.นครศรีธรรมราช (ขณะนั้น) บอกว่า ไม้จะมาจากสัมปทานหรือไม่ ไม่น่าจะมีการแก้ตัวกัน เราต้องยอมรับตามความจริงว่า มีการตัดไม้ที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์
“ผมมีความเห็นว่า น่าจะประกาศเขต 10 จังหวัดภาคใต้ เป็นเขตภาวะฉุกเฉิน และให้ยกเลิกสัมปทาน”
...
ที่สุดแล้ว ในปี 2532 รัฐบาลได้แก้กฎหมาย ให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลง พร้อมกับรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ของชาติ เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้นี้ จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ศพ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บหลายพันคน พื้นที่เกษตร ถนน สะพาน สถานที่ราชการ วัด มัสยิด และบ้านเรือนประชาชนเสียหายมากมายหลายพันล้านบาท
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ชม 3 นาทีคดีดัง ที่น่าสนใจ