เกือบครบ 20 ปีแล้ว สำหรับอุบัติเหตุ “คลังแสงระเบิด” กลางเมืองปากช่อง จ.นครราชสีมา 3 นาทีคดีดัง โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านย้อนรอยเหตุการณ์ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง

โดยจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงสายวันที่ 25 ตุลาคม 2544 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ที่คลังแสง 5 กองสรรพาวุธ กองทัพบก ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

แรงระเบิดแผ่รัศมีไปไกล 1 กิโลเมตร โรงงานพลาสติกที่อยู่ห่างจากรั้วคลังแสง 500 เมตร ถูกเพลิงไหม้ บ้านเรือนประชาชน วัด โรงงานหลายแห่งได้รับความเสียหาย 

นายอัญวุฒิ โพธิ์อำไพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู รหัส “นคร45” เผยว่า หลังรับแจ้งก็เดินทางไป แต่ก็เข้าพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้กันไว้หมด เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย

“ภาพติดตาคือ เมื่อไปถึงเห็นระเบิดกระจัดกระจาย บางลูกยังไม่ระเบิดไปติดค้างบนหน้ารถประชาชน เรียกว่าเห็นเต็มท้องถนน ชาวบ้านบางคนเก็บลูกระเบิดมาให้เรา เราจึงรีบสั่งห้ามว่าอย่าเก็บ เพราะระเบิดเหล่านี้บางลูกยังทำงานได้”

...

พี่ยอด หรือ นายอัญวุฒิ ยังบอกอีกว่า เราไปค้างคืนอยู่ 2 วัน ซึ่งในช่วงแรกยังได้เสียงระเบิดเป็นระยะๆ ตูมๆ พอตูมที ก็ต้องมองขึ้นไปบนฟ้า เพราะมีเศษระเบิดที่ยังไม่ระเบิดกระจัดกระจาย เราต้องคอยหลบ

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ได้ออกคำสั่ง อพยพประชาชน ให้พ้นรัศมี 20 กิโลเมตร พร้อมสั่งห้ามคนที่จะเข้าไปในพื้นที่ใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะเกรงว่าสัญญาณโทรศัพท์จะทำให้เกิดระเบิดซ้ำ 

สำหรับ คลังแสงดังกล่าว มีพื้นที่กว่าพันไร่ เก็บวัตถุระเบิดไว้มากมาย หลายพันตัน อาทิ ระเบิดนานาชนิด กระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนรถถัง กระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน และวัตถุระเบิดที่ยึดได้จากชายแดนไทย-กัมพูชา

คลังแสงแห่งนี้ กองทัพสหรัฐฯ ร่วมกับกองทัพไทยจัดสร้างขึ้นในสมัยสงครามร่มเกล้า เพื่อใช้ในยามเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นคลังแสงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน โดยมีนายทหารของสหรัฐฯ บางส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยดูแลความปลอดภัย 

หลังควบคุมสถานการณ์ได้ ทหารช่างกองพันที่ 3 จ.ราชบุรี 80 นาย พร้อมอุปกรณ์เก็บกู้วัตถุระเบิด แบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด ชุดแรก เดินแถวเรียงหน้ากระดาน เพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ปลิวมาตกในพื้นที่บริเวณใกล้ถนนมิตรภาพ อีก 2 ชุด เข้าไปตรวจสอบภายในคลังแสง ร่วมกับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด

พล.ท.สุรพันธ์ พุ่มแก้ว โฆษกกระทรวงกลาโหม (ขณะนั้น) แถลงในนามกระทรวงกลาโหม แสดงความเสียใจแก่ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต กองทัพบก ได้ชี้แจงผ่านแถลงการณ์เป็นหนังสือ 2 ฉบับ โดยใจความระบุว่า การระเบิดครั้งนี้สืบเนื่องจาก มีการตรวจสอบพบวัตถุระเบิดเสื่อมสภาพ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงมีคำสั่งกองคลังแสงที่ 235/44 ให้เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบและทำลายวัตถุระเบิด เข้าดำเนินการพิจารณาทำลายวัตถุระเบิดตามที่ได้รับรายงานโดยกำหนดให้เคลื่อนย้ายระเบิด ในช่วงวันที่ 24-30 ตุลาคม 2544 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านทำลายวัตถุระเบิด 

ต่อมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.กลาโหม (ขณะนั้น) ได้ตอบกระทู้ถาม จากนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม. โดยมีการเผยแพร่คำตอบในราชกิจนุเบกษา เล่มที่ 19 ตอนที่ 73 ก วันที่ 30 กรกฎาคม 2545 ไว้ว่า สาเหตุการระเบิดมาจาก 3 ประการ 

...

1. ระบบนิรภัยของลูกระเบิดจากปืนเล็กขนาด 70 มิลลิเมตร ชนิดระเบิดต่อสู้รถถังแบบ 67 ที่จะไปทำลาย บางนัดบกพร่อง ทำให้ชนวนจุดระเบิดอยู่ในสภาพพร้อมทำงานทันทีเมื่อได้รับการกระทบกระเทือนจากการขนย้ายตามปกติ

2. ดินระเบิดเสื่อมสภาพไหลเยิ้มออกมานอกหัวรบ เกิดการเสียดสีหรือปฏิกิริยาทางเคมีทำให้เกิดการระเบิด 

3. เกิดจากอุณหภูมิความร้อนจัดทำให้เกิดการสันดาป เป็นเหตุให้เกิดการปะทุของวัตถุระเบิดแล้วเกิดเป็นเพลิงไหม้ 

ส่วนวิธีการป้องกัน ได้มีการออก 7 มาตรการ อาทิ ให้มีการทบทวนการปฏิบัติเรื่อง พระราชบัญญัติเขตปลอดภัยทางทหาร พ.ศ.2475 และแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด, ให้เข้มงวดตรวจตราคลังทุกคลังของหน่วยให้ปฏิบัติตามระเบียบ และให้ตรวจสอบกระสุนและระเบิดนอกอัตราที่ยึดได้จากฝ่ายตรงข้าม หากหมดอายุให้รีบทำลายทิ้ง 

เหตุการณ์นี้ สรุปแล้วมีผู้เสียชีวิตรวม 19 ศพ เป็นทหาร 17 ศพ พลเรือน 2 ศพ บาดเจ็บสาหัส 5 ราย บาดเจ็บเล็กน้อยอีก 60 ราย โดยมีบ้านเรือน วัด เสียหายกว่า 170 หลัง 

...

ส่วนการช่วยเหลือ ผู้เสียชีวิตที่เป็นทหารบกจากกรมสรรพาวุธ ได้เลื่อนยศ 7 ขั้น ทายาทจะได้รับบำนาญตกทอดตามเงินเดือนหลังปูนบำเหน็จแล้ว ส่วนผู้บาดเจ็บกองทัพบกให้การช่วยเหลือเรื่องการรักษาพยาบาลฟรีจนกว่าจะหายเป็นปกติ พร้อมมอบเงินบำรุงขวัญให้ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ชม 3 นาทีคดีดังที่น่าสนใจ