ทำไมอังกฤษ จึงไม่ดุดันดั่งสิงโตคำราม เพื่อให้สมกับเป็นเต็งหนึ่งในฟุตบอลยูโร 2024 แท็กติกกุนซือ ความเหนื่อยล้า หรือว่านักเตะหมายเลข 8 กันแน่?“นี่คือ…ฟอร์มของทีมที่ได้ชื่อว่าเป็นเต็งหนึ่งในฟุตบอลยูโร 2024 จริงๆ หรือนี่?” วลีที่ว่านี้อาจเป็นการ “หล่นอุทาน” ของใครๆ หลายคนในเวลานี้ หลังเห็นฟอร์มของนักเตะค่าตัวแพงระยับในนาม “ทัพสิงโตคำราม” โชว์ฝีเท้าอันน่าผิดหวังบนผืนแผ่นดินเยอรมนี ในการลงเล่น 3 นัดแรก เหตุใด “กลุ่มนักเตะชั้นยอด” ซึ่งต่างโชว์ฝีเท้าได้อย่างเลอเลิศให้กับสโมสร แต่พอมารวมตัวกันภายใต้การปรุงแต่งของอดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษ อย่าง “แกเร็ธ เซาธ์เกต” จึงกลายเป็นความน่าผิดหวัง…บางที “ข้อมูล” เหล่านี้อาจจะพอนำไปสู่ “คำตอบ” ที่ “คุณ” อาจกำลังครุ่นคิดอย่างหนักหน่วงอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้ความไม่สมดุลในแดนกลาง หมายเลข 8 ต้องยอมรับว่า การตัดสินใจของ “แกเร็ธ เซาธ์เกต” ที่ให้ “เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์” ลงเล่นเป็นมิดฟิลด์ทำเกมแทนที่จะเป็น “แบ็กขวา” ตำแหน่งที่เจ้าตัวสุดโปรดปราน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างอย่างล้นหลามจากผลการแข่งขันที่เกิดขึ้น แล้วการรับบทบาทใหม่ในฐานะมิดฟิลด์หมายเลข 8 ของ “เทรนต์” 3 นัดแรกของศึกยูโร 2024 ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร? และนี่คือ...สถิติการลงเล่นของ “เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์” หลังการฝึกซ้อมพิเศษร่วม 12 เดือน ภายใต้การดูแลของ แกเร็ธ เซาธ์เกต และ สตีฟ ฮอลแลนด์ ผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ เพื่อหวังเปลี่ยน “เทรนต์” ซึ่งมี “จุดเด่น” เรื่องการผ่านบอลแนวลึก, การครอสบอลอันแม่นยำ รวมถึงลูกฟรีคิก กลายเป็น “อาวุธลับพิเศษหมายเลข 8” ของทัพสิงโตคำรามในฟุตบอลยูโร 2024 (อารมณ์น่าจะใกล้เคียงเมื่อครั้ง ฟาบิโอ คาเปลโล จับ เดวิด เบคแคม มาทำหน้าที่ ควอเตอร์แบ็ก ให้กับทีมชาติอังกฤษในอดีต) นัดแรกพบทีมชาติเซอร์เบีย ลงเล่น 69 นาที สัมผัสบอล 60 ครั้ง ยิงเข้ากรอบ 1 ครั้ง ผ่านบอลรวม : 42 ครั้ง ค่าเฉลี่ยการจ่ายบอลสำเร็จ : 88.1% ค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง : 40%นัดที่ 2 พบทีมชาติเดนมาร์ก ลงเล่นรวม 54 นาที สัมผัสบอล 51 ครั้ง ผ่านบอลรวม : 40 ครั้ง ค่าเฉลี่ยการจ่ายบอลสำเร็จ : 87.5% ค่าเฉลี่ยการเข้าสกัดชนะคู่แข่ง : 60%นัดที่ 3 พบทีมชาติสโลวีเนีย (ถูกเปลี่ยนลงเล่นในนาทีที่ 84) ลงเล่นรวม 54 นาที สัมผัสบอล 10 ครั้ง ยิง : 1 ครั้งผ่านบอลรวม : 9 ครั้ง ค่าเฉลี่ยการจ่ายบอลสำเร็จ : 66.7% การถูกจับยืนเคียงข้างมิดฟิลด์ห้องเครื่องอย่าง “ดีแคลน ไรซ์” ในแดนกลาง โดยให้หมายเลข 10 อย่าง “จู๊ด เบลลิงแฮม” ยืนอยู่ด้านหน้าและมีอิสระอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเกมรุก กลับกลายเป็นความไม่ลงตัวไปอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยทัศนะของสื่อในอังกฤษส่วนใหญ่มองว่า เหตุผลที่แดนกลางของอังกฤษเกิดอาการสะดุดและไม่ไหลลื่น มีปัจจัยสำคัญมาจาก “เคมีที่ไม่เข้ากันระหว่างมิดฟิลด์ทั้ง 3 คน”หลายจังหวะที่ “จู๊ด เบลลิงแฮม” ขยับไปรับบอลสั้นจากเพื่อนร่วมทีม การเคลื่อนที่ของกลุ่มมิดฟิลด์ โดยเฉพาะ “เทรนต์” กลับไม่ได้ขยับเข้าไปใกล้พอเพื่อเล่นกับ “เพลย์เมกเกอร์หมายเลข 10” นั่นจึงทำให้การ “เชื่อมต่อ” ระหว่างแดนกลางและกองหน้าอย่าง “แฮร์รี เคน” ไม่เกิดขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น!ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับด้วยว่า ความพยายามขับเคลื่อนด้วยบอลสั้นของ “จู๊ด เบลลิงแฮม” ยังเป็นผลให้ “จุดเด่น” เรื่องการวางบอลยาวของ “เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์” ถูกจำกัดให้น้อยลงด้วย เนื่องจากเชปของทีม (โดยเฉพาะผู้เล่นริมเส้น) ถูกหดให้เล็กลงเพื่อปรับให้เหมาะสมสำหรับการลำเลียงบอลสั้นด้วย นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “จุดอ่อนแอสำคัญ” ของ “เทรนต์” คือ “การเล่นเกมรับ” ฉะนั้น เมื่อ “จู๊ด เบลลิงแฮม” ซึ่งตามบทบาทที่ได้รับคือ “อิสระในการเล่นเกมรุกอย่างเต็มที่” คนที่เหลือในแดนกลางทั้ง “เทรนต์และไรซ์” จึงต้องรับผิดชอบในส่วนเกมรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็อย่างที่ เราๆ ท่านๆ ได้เห็นกัน คือ “Energy” ในทีมหายไป เพราะ “มิดฟิลด์พลังไดนาโมยี่ห้อกูนเนอร์” ผู้เดียวดาย ย่อมไม่อาจต้านทานการถูกกลุ้มรุมเข้าห้อมล้อมของแผงมิดฟิลด์ฝ่ายตรงกันข้ามแน่นอน! EnergyEnergy คืออีกหนึ่งประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงในเวลานี้ นั่นเป็นเพราะ “เรา” แทบไม่ได้เห็นนักเตะอังกฤษวิ่งไล่กวดเพื่อบดขยี้คู่ต่อสู้ในนาม “เพรซซิ่ง” เช่นที่ “เรา” มักได้เห็นจนชินตาในพรีเมียร์ลีกเลยแม้แต่น้อย คำถามคือ “เรี่ยวแรง” ของนักเตะอังกฤษโดยเฉพาะนักเตะกำลังหลักในแดนกลางและกองหน้าหายไปไหน? เช่นนั้น “เรา” ลองไปดูข้อมูลการลงเล่นในฤดูกาลที่ผ่านมา ก่อนที่กลุ่มนักเตะเหล่านี้จะลงฟาดแข้งในยูโร 2024 กันดูสักนิด…1. จู๊ด เบลลิงแฮม ลงเล่นทุกถ้วยให้กับ เรอัล มาดริด เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมารวม 45 นัด (3,585 นาที)ลงเตะนัดสุดท้าย : 1 มิ.ย. 24 (นัดชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก)ได้พัก 15 วัน ก่อนนัดแรกของอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 (16 มิ.ย. 24)ลงเล่นในศึกยูโร 2024 : 3 นัด (266 นาที) รวมระยะทางการวิ่งในสนาม : 29.98 กิโลเมตร Top Speed : 33.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2. แฮร์รี เคน ลงเล่นทุกถ้วยให้กับ บาเยิร์น มิวนิก เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมารวม 48 นัด (4,159 นาที)ลงเตะนัดสุดท้าย : 18 พ.ค. 24 (บุนเดสลีกา นัดสุดท้ายของฤดูกาล) ได้พัก 28 วัน ก่อนนัดแรกของอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 (16 มิ.ย. 24)ลงเล่นในศึกยูโร 2024 : 3 นัด (250 นาที) รวมระยะทางการวิ่งในสนาม : 28.97 กิโลเมตร Top Speed : 30.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 3. ฟีล โฟเดน ลงเล่นทุกถ้วยให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมารวม 55 นัด (3,882 นาที)ลงเตะนัดสุดท้าย : 25 พ.ค. 24 (นัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ) ได้พัก 20 วัน ก่อนนัดแรกของอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 (16 มิ.ย. 24)ลงเล่นในศึกยูโร 2024 : 3 นัด (248 นาที) รวมระยะทางการวิ่งในสนาม : 31.59 กิโลเมตร Top Speed : 31.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 4. บูกาโย ซากา ลงเล่นทุกถ้วยให้กับ อาร์เซนอล เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมารวม 50 นัด (4,024 นาที)ลงเตะนัดสุดท้าย : 19 พ.ค. 24 (พรีเมียร์ลีกนัดสุดท้ายของฤดูกาล)ได้พัก 27 วัน ก่อนนัดแรกของอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 (16 มิ.ย. 24)ลงเล่นในศึกยูโร 2024 : 3 นัด (216 นาที) รวมระยะทางการวิ่งในสนาม : 23.59 กิโลเมตร Top Speed : 31.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 5. ดีแคลน ไรซ์ลงเล่นทุกถ้วยให้กับ อาร์เซนอล เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมารวม 54 นัด (4,456 นาที)ลงเตะนัดสุดท้าย : 19 พ.ค. 24 (พรีเมียร์ลีกนัดสุดท้ายของฤดูกาล)ได้พัก 27 วัน ก่อนนัดแรกของอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 (16 มิ.ย. 24)ลงเล่นในศึกยูโร 2024 : 3 นัด (270 นาที) รวมระยะทางการวิ่งในสนาม : 33.79 กิโลเมตร Top Speed : 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 6. เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ลงเล่นทุกถ้วยให้กับ ลิเวอร์พูล เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมารวม 40 นัด (2,631 นาที)ลงเตะนัดสุดท้าย 19 พ.ค. 24 (พรีเมียร์ลีกนัดสุดท้ายของฤดูกาล)ได้พัก 27 วัน ก่อนนัดแรกของอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 (16 มิ.ย. 24)ลงเล่นในศึกยูโร 2024 : 3 นัด (129 นาที) รวมระยะทางการวิ่งในสนาม : 16.39 กิโลเมตร Top Speed : 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า “นักเตะแห่งความหวัง” ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องลงเป็นตัวจริงทุกนัด อย่าง “จู๊ด เบลลิงแฮม” น่าจะเป็นผู้ที่ “อ่อนล้าที่สุด” ของทัพทรีไลออนส์แล้ว “ความอ่อนล้า” สร้างปัญหาในลำดับถัดไปให้กับอังกฤษอย่างไร?Pressing นักวิเคราะห์ในอังกฤษมองว่า ความอ่อนล้าของผู้เล่นกำลังหลัก เป็นผลให้ “ความดุดัน” ในการใช้แรงเข้าบดขยี้เพื่อบีบคั้นคู่ต่อสู้ของอังกฤษ “ลดลง” แล้วจริงหรือไม่ที่ “ความดุดัน” ของทีมชาติอังกฤษ ลดลง?สถิติหลังสิ้นสุดนัดที่ 2 ของทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลยูโร 2024 ทำให้พบกับตัวเลขที่น่าตกตะลึง! นั่นเป็นเพราะ...ทีมชาติอังกฤษ อยู่ในตำแหน่งรองบ๊วยจากทั้งหมด 24 ทีม โดยมีเพียงทีมสมันน้อยอย่าง “แอลเบเนีย” เท่านั้นที่อยู่ต่ำกว่า ในเรื่องสถิติค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งที่คู่ต่อสู้จ่ายบอลก่อนจะเข้าแย่งบอลได้สำเร็จ! (Possession per defensive action) หรือ PPDAซึ่งนั่นแปลว่า... นักเตะอังกฤษไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับคู่ต่อสู้โดยเฉพาะในแดนกลางซึ่งถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของการเล่นฟุตบอลในยุคนี้ได้ดีมากพอนั่นเอง!โดยนักเตะเมืองผู้ดี ปล่อยให้คู่ต่อสู้จ่ายบอลด้วยค่าเฉลี่ยสูงถึง 23.1 ครั้ง กว่าที่จะเข้าแย่งบอลได้สำเร็จ (บ๊วยอย่าง แอลเบเนีย อยู่ที่ 24.4 ครั้ง) ซึ่งน้อยกว่าทีมชาติออสเตรีย ของ “ราล์ฟ รังนิก” เจ้าพ่อเพรซซิ่งและชายที่ถูก “โรนัลโด” หยามหมิ่นว่า ไร้แววความเป็นกุนซือ ซึ่งปล่อยให้คู่แข่งจ่ายบอลเฉลี่ยกันได้เพียง 8.7 ครั้ง ก่อนเข้าแย่งบอลได้สำเร็จ ถึง 165.52%! (รองจากทีมชาติออสเตรีย คือ เยอรมนี ซึ่งอยู่ที่ 8.8 ครั้ง)ไม่เพียงเท่านั้น สถิติการเข้าโจมตีเมื่อคู่ต่อสู้เริ่มเล่นตั้งแต่แดนบน (High Turnovers) ของลูกทีม “แกเร็ธ เซาธ์เกต” ก็ยังคงย่ำแย่ โดยอยู่ในอันดับที่ 19 จากทั้งหมด 24 ทีม ด้วยค่าเฉลี่ยการโจมตีคู่ต่อสู้ในแดนบนเพียง 4 ครั้งต่อเกมอีกด้วย! ซึ่งความดุดันที่ลดลงนี้ช่างห่างไกลจากฟอร์มการเล่นในช่วงฟุตบอลโลก 2022 อย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะในฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ย PPDA ของอังกฤษอยู่ที่เพียง 10.4 ครั้งต่อเกมเท่านั้น นอกจากสถิติดังกล่าว ยังมีอะไรที่บ่งชี้ถึงความดุดันที่ลดลงของทีมชาติอังกฤษอีกหรือไม่? 1. สถิติการเข้าแย่งบอลกลับมาอยู่ในความครอบครองจากแดนบน (Possession won final third) ในฟุตบอลยูโร 2024 อยู่ที่เพียง 3 ครั้ง แต่ในฟุตบอลโลก 2022 สูงถึง 6.8 ครั้ง 2. สถิติการเข้าแย่งบอลกลับมาอยู่ในความครอบครองบริเวณกึ่งกลางสนาม (Possession won middle third) ฟุตบอลยูโร 2024 อยู่ที่เพียง 14 ครั้ง แต่ในฟุตบอลโลก 2024 สูงถึง 21 ครั้ง 3. สถิติการแย่งบอลกลับมาครอบครอง (Recoveries) ฟุตบอลยูโร 2024 อยู่ที่ 44.5 ครั้ง แต่ในฟุตบอลโลก 2022 อยู่ที่ 48.4 ครั้ง เกมรุกอันย่ำแย่ เมื่อแดนกลางขาดทั้งความดุดัน และไม่สามารถ Connect กับกองหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ย่อมเป็นที่รู้กันดี คือ เกมรุกที่นำไปสู่การทำประตูย่อมต้องหืดแห้งไปโดยปริยายแล้ว “เกมรุกของทรีไลออนส์” หืดแห้งมากน้อยแค่ไหน? หลังผ่าน 3 นัดแรกในรอบแบ่งกลุ่มยูโร 2024 พบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ... การสร้างสรรค์เกมรุกของขุนพลทีมชาติอังกฤษชุดนี้ มีค่าเฉลี่ยการยิงประตูต่อเกมอยู่ที่เพียง 9.7 ครั้ง (อันดับที่ 20 จากทั้งหมด 24 ทีม) และค่าเฉลี่ยการสัมผัสบอลในพื้นที่กรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้ามต่อเกมอยู่ที่ 17.3 ครั้ง (อันดับที่ 16) อีกด้วย เรียกได้ว่า... “เกมรุก” ที่ขาดแคลนการ connect ช่างไร้ซึ่งความน่าหวาดกลัวอย่างแท้จริงสำหรับทีมฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจากสถิติทั้งหมดจะเห็นได้ว่า “แกเร็ธ เซาธ์เกต” ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากมายเพื่อการนำทีมชาติอังกฤษไปสู่เป้าหมายการคว้าแชมป์ยูโร 2024 แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น...คงต้องหักด่านทีมชาติสโลวาเกีย ในรอบ 16 ทีมสุดท้ายคืนนี้ให้ได้เสียก่อน!ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก : Anon Chantanant