กลยุทธ์กู้วิกฤติ Adidas จากหายนะของ "คานเย เวสต์” (Kanye West) ด้วยการคืนสู่ DNA พลังแห่งกีฬา ของ CEO ที่อยากเป็นนักฟุตบอล บียอร์น กูลเดน (Bjorn Gulden)...“ผมอยากเป็นมานูเอล นอยเออร์ มากกว่าจะเป็น CEO ของ อาดิดาส” บียอร์น กูลเดน (Bjorn Gulden) CEO Adidas หมายเหตุ : มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนี และสโมสรบาเยิร์น มิวนิก นั่นคือคำพูดของ “บียอร์น กูลเดน” วัย 58 ปี อดีตนักฟุตบอลอาชีพชาวนอร์เวย์ ที่ถูกอาการบาดเจ็บที่เข่าเล่นงาน จนกระทั่งต้องผันตัวเองไปสู่การเป็นผู้บริหารธุรกิจกีฬาชั้นนำ และถูกดึงตัวมาเพื่อกอบกู้ “หายนะ” ให้กับ “อาดิดาส” (Adidas) แบรนด์กีฬายักษ์สัญชาติเยอรมนี ที่ประสบภาวะ “ขาดทุน” เป็นตัวเลขสูงถึง 724 ล้านยูโร! (28,823 ล้านบาท) ในไตรมาส 4 ปี 2022 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022)หากแต่...สิ่งแรกที่ชายคนนี้ลงมือทำเพื่อ “กอบกู้วิกฤติ” หลังเข้ารับตำแหน่ง CEO ในเดือนมกราคม ปี 2023 คือ การแจกเบอร์โทรศัพท์มือถือส่วนตัวให้กับ “พนักงานมากกว่า 60,000 คน” ของ “บริษัทสามขีด” (Opps)“ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่า ผมคงบ้าไปแล้ว (หัวเราะ)” แต่ “คุณ” รู้หรือไม่ว่า “วิธีการที่แหวกแนว” เช่นนี้ รวมถึงไอเดียด้านการตลาดอื่นๆ ที่แทบจะ “ตรงกันข้าม” กับสิ่งที่ “อาดิดาส” เคยทำมาก่อนหน้านี้ กลับช่วยให้ไตรมาสแรกของปี 2024 (สิ้นสุดวันที่31 มี.ค. 2024) อาดิดาส สามารถฟื้นตัวอย่างได้อย่างแข็งแกร่งเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้โดยสามารถสร้างยอดขายสุทธิได้สูงถึง 5,458 ล้านยูโร หรือ 216,677 ล้านบาท (+3.5% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) และมี “กำไรจากผลการดำเนินงาน” ถึง 336 ล้านยูโร หรือ 13,338 ล้านบาท (+458.4% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) ได้เป็นผลสำเร็จ และทำให้ราคาหุ้นของอาดิดาส เพิ่มขึ้นถึง 48% ภายในระยะเวลาการทำงานเพียง 1 ปีเศษ! ช่างแสนน่าอัศจรรย์ใช่ไหม?…. เช่นนั้นแล้ว วันนี้ “เรา” จะพา “คุณ” ไปรู้จัก กลยุทธ์กอบกู้ธุรกิจในยามวิกฤติของบุรุษที่มีชื่อว่า “บียอร์น กูลเดน” ด้วยกันทำความรู้จัก บียอร์น กูลเดน “ผมเกิดมาเป็นนักฟุตบอล ผมคิดว่าการเล่นกีฬา การเล่นฟุตบอลเป็นสิ่งที่สนุกที่สุดในโลก”“บียอร์น กูลเดน” (Bjorn Gulden) ปัจจุบัน อายุ 58 ปี อดีตนักฟุตบอลอาชีพ ที่เคยค้าแข้งทั้งในบุนเดสลีก้าและลีกอาชีพของนอร์เวย์ ก่อนที่อาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่เข่า จะทำให้ต้องยุติเส้นทางการเป็นนักฟุตบอล จากนั้น จึงได้ผันตัวเองไปทำงานที่ Adidas ในช่วงระหว่างปี 1992 - 1999 จนถึงขั้นได้นั่งตำแหน่ง รองประธานอาวุโส ฝ่ายเครื่องแต่งกายและแอคเซสเซอรี (Senior Vice President of Apparel and Accessories) จากนั้นเขาได้ถูกดึงตัวไปนั่งเก้าอี้ CEO ของแบรนด์กีฬาคู่แข่งอย่าง PUMA เป็นเวลาถึง 9 ปี ก่อนที่จะกลับคืนสู่ Adidas อีกครั้งในเดือนมกราคม ปี 2023 หลัง อาดิดาส ประสบหายนะจาก Yeezy ทั้งนี้ จากรายงานของ Financial Time ซึ่งอ้างอิงจากการสัมภาษณ์บรรดาอดีตเพื่อนร่วมงานของ “บียอร์น กูลเดน” ระบุว่า อดีตนักฟุตบอลอาชีพรายนี้ มีสไตล์การบริหารงานในแบบฉบับเฉพาะตัวที่คาดเดาได้ยาก ค่อนข้างดื้อดึง และมักจะรับฟังและให้ความเคารพกับคนที่มีพื้นฐานในวงการกีฬาแบบเดียวกัน มากกว่า บรรดาทีมงานและที่ปรึกษาด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่มักจะเห็น “บียอร์น กูลเดน” พร้อมจะกระโดดเข้าไปพูดคุยเรื่องการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ รวมถึงเจรจากับบรรดาซัพพลายเออร์ , พันธมิตรค้าปลีก , และนักกีฬาชื่อดังได้ทุกเมื่อ โดย CEO คนปัจจุบันของ Adidas พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า... “แทนที่จะต้องหารือกับคน100คน ที่ในจำนวนนี้ อาจจะมีถึง 90 คน ที่จะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ผมสู้พยายามค้นหาคนเพียง 10 คนที่สามารถตอบโจทย์ดีกว่า” หายนะของ อาดิดาส การประกาศตัดสัมพันธ์การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ภายใต้แบรนด์ Yeezy อย่างเป็นทางการกับ “คานเย เวสต์” (Kanye West) ในเดือนตุลาคม ปี 2022 เป็นผลให้ ไตรมาส 4 ปี 2022 อาดิดาส ถึงกับขาดทุนจากผลการดำเนินงาน คิดเป็นตัวเลขสูงถึง 724 ล้านยูโร! (28,823 ล้านบาท) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก “สารพัดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Yeezy” ต้องยุติการจัดจำหน่าย และถูกทิ้งคงค้างอยู่ในคลัง อ่านเพิ่มเติม : คานเย เวสต์ ความขบถที่นำความเสี่ยงสู่แบรนด์พันธมิตรคานเย เวสต์ ปากสร้างเกลียดชังสู่การถอยหนีพันธมิตรแบรนด์ คานเย เวสต์ X Adidas อนาคตหลังบอกเลิกความสัมพันธ์Adidas X Kanye West Adidas ประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Kanye West ตั้งแต่ปี 2013 ก่อนที่จะมีการเปิดตัวคอลเลกชัน Yeezy Boost 750 สนีกเกอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2015โดยตลอดระยะเวลาการเป็นพันธมิตรอันยาวนานมีการประเมินว่า Yeezy สร้างรายได้ต่อปีให้กับอาดิดาส คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 5% หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของ “กำไรจากผลการดำเนินการ” ที่ “แบรนด์สามขีด” ทำได้ในแต่ละปี ปี 2015 : ยอดขายสุทธิ 16,915 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 1,059 ล้านยูโรปี 2016 : ยอดขายสุทธิ 19,291 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 1,491 ล้านยูโรปี 2017 : ยอดขายสุทธิ 21,218 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 2,070 ล้านยูโรปี 2018 : ยอดขายสุทธิ 21,915 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 2,368 ล้านยูโรปี 2019 : ยอดขายสุทธิ 23,640 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 2,660 ล้านยูโรปี 2020 : ยอดขายสุทธิ 19,844 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 751 ล้านยูโรปี 2021 : ยอดขายสุทธิ 21,234 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 1,986 ล้านยูโรปี 2022 : ยอดขายสุทธิ 22,511 ล้านยูโร กำไรจากผลการดำเนินงาน : 669 ล้านยูโรอ้างอิง รายงานผลประกอบการ Adidasกลยุทธ์กอบกู้วิกฤติ “ปี 2023 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อการวางรากฐานไปสู่ ปี 2024 และ ปี 2025 เราจำเป็นต้องลดจำนวนสินค้าคงคลัง (แบรนด์ Yeezy) จากนั้น เราจึงจะสามารถเริ่มต้นสร้างธุรกิจที่สร้างผลกำไรได้อีกครั้งในปี 2024 อาดิดาส มีองค์ประกอบชั้นเยี่ยมที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จได้ แต่เราจำเป็นต้องมุ่งโฟกัสไปที่ แกนหลักสำคัญขององค์กร นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภค พันธมิตรค้าปลีก และนักกีฬาชั้นยอด จากนี้ต่อไป เราจะทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งบุคลากรของและวัฒนธรรมของ Adidas!” บียอร์น กูลเดน แถลงการณ์อย่างเป็นทางการในระหว่าง รายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2022 กำจัด Yeezy “นี่คือ หนึ่งในการตัดสินใจที่ซับซ้อนที่สุด เท่าที่ผมต้องเคยเผชิญมา”บียอร์น กูลเดน (Bjorn Gulden) CEO Adidasโจทย์สำคัญข้อแรกสำหรับ ภารกิจกอบกู้วิกฤติ ของ CEO คนใหม่ของอาดิดาส คือ จะทำอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ Yeezy กองมหึมาที่คงค้างอยู่ในคลัง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านยูโร (19,849ล้านบาท) โดยในช่วงแรก ตามรายงานข่าวที่เล็ดลอดออกมา อาดิดาส ดูเหมือนจะตัดสินใจเผาทำลายผลิตภัณฑ์ Yeezy เหล่านั้นทิ้งทั้งหมด แต่แนวคิดดังกล่าวกลับมาติดตรงที่ “ตัวเงินที่สูญเสียไปเฉยๆ” จากวิธีการดังกล่าวนั้น นอกจากจะมีตัวเลขที่สูงมากเกินไปแล้ว “วิธีการเผาทำลาย” ยังอาจถูกโจมตีในเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่ถ้าหากเปลี่ยนจากการ “เผาทำลาย” แล้วตัดสินใจนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ออกมาวางจำหน่ายท่ามกลาง “ดราม่าการเหยียดเชื้อชาติ” ที่ “คานเย เวสต์” ก่อเรื่องก่อราวเอาไว้ไม่หยุดหย่อน มันก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการทำให้ “ชื่อเสียงแบรนด์ได้รับความเสียหาย” ได้เช่นกัน แล้ว CEO อาดิดาส ตัดสินใจแก้ปัญหาอันซับซ้อนนี้อย่างไร? “บียอร์น กูลเดน” เลือกวิธีทยอยนำผลิตภัณฑ์ Yeezy ที่คงค้างอยู่ในคลัง ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูง อย่าง YEEZY 350 V2 ออกมาวางจำหน่ายในราคา “ต้นทุน” และภายในระยะเวลาที่จำกัด เป็นระยะๆ พร้อมกับประกาศแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ, การสร้างความเกลียดชัง และต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่ง “กลยุทธ์อันชาญฉลาด” และประนีประนอมนี้ ได้รับการขานรับจากบรรดา Sneakerhead ทั่วโลกที่ยังคงแห่ไปอุดหนุน YEEZY จนสินค้า Sold out แทบจะในทันทีเช่นเดิม โดยที่ไม่ทำให้ชื่อเสียงแบรนด์ ได้รับผลกระทบใดๆ จากเรื่องฉาวๆ ของ Ye อีกด้วย ทั้งนี้ ตามรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2024 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2024) อาดิดาส รายงานว่า สามารถลดสินค้าคงคลัง ลงไปได้แล้วถึง 1,248 ล้านยูโร หรือลดลงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี (จาก 5,675 ล้านยูโร เหลือ 4,427 ล้านยูโร)มูลค่าสินค้าคงคลัง ของ อาดิดาส หลังสิ้นสุดการเป็นพันธมิตรกับ Kanye West ไตรมาส 1 ปี 2023 : 5,700 ล้านยูโร (สินค้าแบรนด์ YEEZY : 500 ล้านยูโร) ไตรมาส 2 ปี 2023 : 5,500 ล้านยูโร (สินค้าแบรนด์ YEEZY : 400 ล้านยูโร)ไตรมาส 3 ปี 2023 : 4,800 ล้านยูโร (สินค้าแบรนด์ YEEZY : 300 ล้านยูโร)ไตรมาส 4 ปี 2023 : 4,500 ล้านยูโร (สินค้าแบรนด์ YEEZY : 250 ล้านยูโร)ไตรมาส 1 ปี 2024 : 4,400 ล้านยูโร (สินค้าแบรนด์ YEEZY : 200 ล้านยูโร)ทั้งนี้ ตามรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ระบุว่า อาดิดาส สามารถทำรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ YEEZY ที่คงค้างในคลังไปได้รวม 150 ล้านยูโร (5,954 ล้านบาท) และส่วนเหลือซึ่งมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านยูโร (7,939 ล้านบาท) จะค่อยๆ ถูกทยอยนำออกขายใน 3 ไตรมาสถัดไป ปรับทัศนคติ“ที่นี่กำลังมีวัฒนธรรมในการค้นหาเหตุผล เพียงเพื่อที่จะไม่ต้องทำสิ่งต่างๆ” บียอร์น กูลเดน (Bjorn Gulden) CEO Adidas ในท่ามกลางวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นจาก “คานเย เวสต์” สิ่งที่ “บียอร์น กูลเดน” ค้นพบเป็นสิ่งแรกหลังขึ้นนั่งเก้าอี้ CEO ในช่วงต้นปี 2023 คือ “ขวัญกำลังใจของพนักงานถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง” ทุกที่เต็มไปด้วย “คำถาม” ถึงสิ่งที่ก่อตัวเป็น “เมฆหมอกแห่งความไม่ชัดเจนต่างๆ นานาของบริษัท” ด้วยเหตุนี้ “ชายผู้กอบกู้” จึงต้องหาทางแก้ไข ด้วยการปรับทัศนคติของเหล่าพนักงานให้มองภาพที่กำลังจะมุ่งหน้าไปให้เป็นทิศทางเดียวกันเสียก่อน และสิ่งนั้น คือ ตัดสินใจแจกเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวให้กับพนักงานมากกว่า 60,000 คน ที่มาเข้าร่วมประชุม Town Hall เพื่อรับทราบนโยบายทันที!ซึ่ง “ผลลัพธ์” ที่ได้รับกลับมา คือ… มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากพนักงานมากถึง 200 สายต่อสัปดาห์! เกี่ยวกับข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะนำไปสู่ “การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับบริษัท”“มีบางคนคิดว่า ผมคงจะบ้าไปแล้ว (หัวเราะ) แต่สำหรับผม สิ่งสำคัญสำหรับคนที่จะเป็นผู้นำ คือ…ต้องเปิดใจ และหากพนักงานมีบางสิ่งที่สำคัญ พวกเขาควรรู้สึกสบายใจที่จะมาพบกับผมได้โดยตรง” บียอร์น กูลเดน ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2024“ผมมักมองหาคนที่ช่วยทำให้ทีมดีขึ้นอยู่เสมอๆ และผมไม่ชอบเรื่องที่เป็นความลับ ผมชื่นชอบกับการทำให้ทุกอย่างโปร่งใส มันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะเป็นใคร คุณต้องสามารถเข้าถึงในสิ่งที่คนอื่นสามารถเข้าถึงได้ ต้องใกล้ชิดกับลูกค้า คนท้องถิ่น และต้องรวดเร็วเมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป” บียอร์น กูลเดน ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2024 ต้องยืนด้วยตัวเอง“สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจ คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถซื้อรองเท้าได้ในราคา 120-150 ยูโร (4,763-5,954 บาท) หากแต่ทุกคนต่างปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเทรนด์เดียวกันต่างหาก” อีกหนึ่งปัญหาที่ “บียอร์น กูลเดน” ค้นพบในช่วงแรกหลังได้เข้าประชุมกับทีมผู้บริหารอาดิดาสในปี 2023 คือ ผู้คนในบริษัทต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจัยสำคัญของปัญหา คือ ไร้ซึ่งนวัตกรรม, ขาดแคลน Hot Item และที่สำคัญที่สุด คือ แบรนด์ไร้ซึ่งแรงดึงดูดใจบรรดาสาวก (หลังการตัดขาดจาก YEEZY) แล้ว CEO ชาวนอร์เวย์ ตอบโต้การตัดพ้อที่ว่า “อาดิดาสจะอยู่ได้อย่างไรเมื่อไร้ YEEZY” ของผู้คนในบริษัทสามขีดอย่างไรน่ะหรือ? คำตอบ คือ อาดิดาส จะไร้ซึ่งนวัตกรรม, ขาดแคลน Hot Item หรือแบรนด์ไร้ซึ่งแรงดึงดูดใจบรรดาสาวก ไปได้อย่างไร ในเมื่อแบรนด์มีทั้ง Samba, Gazelle, Stan Smith, Spezial, Campus หรือแม้กระทั่ง Superstar ซึ่งเป็นแฟรนไชส์รองเท้าคลาสสิก ที่เข้าได้กับทุกไลฟ์สไตล์ของบรรดาสาวกสามขีด ทั้งชายและหญิง หรือแม้กระทั่งเด็กๆ มาอย่างยาวนาน แถมยังมีราคาที่สุดแสนจะเป็นมิตรภาพเฉลี่ยเพียง 60-80 ยูโร (2,381 - 3,175 บาท)ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมด้วยว่า อาดิดาส ยังมีความร่วมมือกับ Y-3 สตรีทแบรนด์ชื่อดัง หรือตัวแม่แฟชั่นไฮเอนด์รักษ์โลก “สเตลลา แมคคาร์ทนีย์” (Stella McCartney) รวมไปจนกระทั่งถึง “เกรซ เวลส์ บอนเนอร์” (Grace Wales Bonner) อีกหนึ่งแฟชั่นดีไซเนอร์ระดับโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นด้วย “นวัตกรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่เทคโนโลยี แต่นวัตกรรมยังรวมถึงวิธีการที่คุณสับเปลี่ยนหมุนเวียนแฟรนไชส์ของคุณเพื่อให้เกิดการรับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ด้วย” ด้วยเหตุนี้ในปี 2023 “บียอร์น กูลเดน” จึงสั่งเดินหน้าการผลิตแฟรนไชส์ Samba และ Gazelle รุ่นปรับปรุงใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จากแผนการผลิตเริ่มต้นทันที ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มพนักงานหา “เหตุผลนับเป็นร้อยๆ ข้อ” เพื่อพยายามคัดค้านไอเดียหารายได้มาทดแทนหายนะจาก YEEZY ก็ตามทีหากแต่มุมมองในการวิเคราะห์ตลาดของ CEO คนใหม่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าไอเทมสุดชิก สไตล์ย้อนยุค 90 ทั้ง 2 รุ่นนี้ จะกลับมาฮิตได้อีกครั้งในหมู่ชาว Gen Z ทุกอย่างจึงเดินหน้าต่อไป และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ Samba และ Gazelle รุ่นใหม่ กลายเป็น “ไอเทมสุดร้อนแรง” ของแบรนด์ที่ขายดิบขายดีจนข้ามมาถึงปี 2024 ได้สำเร็จ และประเด็นนี้ได้รับการตอกย้ำในการแถลงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบุว่า รายได้จากหมวดรองเท้าเพิ่มขึ้นถึง 13% จากแรงหนุนของ กลุ่ม Original โดย เฉพาะ แฟรนไชส์ Samba , Gazelle Spezial และ Campus ที่ยังคงแข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่องพันธมิตรผู้ค้าปลีกการตัดสินใจของอาดิดาสก่อนหน้านี้ โดยเน้นไปที่กลยุทธ์การขายสินค้าผ่านเว็บไซต์และสโตร์อย่างเป็นทางการของตัวเอง พร้อมกับ “ปล่อยมือ” จากบรรดาพันธมิตรเครือข่ายผู้ค้าปลีกรายย่อย กลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลที่ “บียอร์น กูลเดน” ต้องเข้ามาแก้ไข เพราะแม้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าว อาจช่วยเพิ่มผลกำไรได้ส่วนหนึ่ง หากแต่ในข้อเท็จจริงแล้ว “ยอดขาย” ที่คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของ อาดิดาส นั้น มาจากบรรดาพันธมิตรเครือข่ายผู้ค้าปลีกรายย่อยเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสายสัมพันธ์ดังกล่าว ยังเป็นผลให้บรรดาผู้ค้าปลีกเหล่านั้น “ตอบโต้” ด้วยการเลือกที่จะ “ไม่แนะนำผลิตภัณฑ์ของอาดิดาส” ให้กับบรรดาผู้บริโภคเสียด้วย!เมื่อเป็นเช่นนี้ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง “บียอร์น กูลเดน” จึงต้องแก้ไขปัญหานี้ทันที ด้วยการส่งหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ ถึงเครือข่ายพันธมิตรผู้ค้าปลีก เพื่อให้เข้ามาหารือกระชับความสัมพันธ์ ที่สำนักงานใหญ่ของ อาดิดาส ด้วยตัวเอง จนเป็นผลให้ยอดขายของแบรนด์กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้งจากผลประกอบการไตรมาสล่าสุด “สำหรับผม การร่วมงานกับบรรดาพันธมิตรผู้ค้าปลีก ถือเป็นวิถีปกติในการดำเนินธุรกิจ แต่เอาล่ะ! เมื่อ อาดิดาส เบี่ยงเบนไปจากวิถีดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ตอนนี้เรากลับมาแล้ว และเราจะพยายามเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดกับบรรดาผู้ค้าปลีกของเราต่อไป” “บียอร์น กูลเดน” ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2024 DNA ของ อาดิดาส ก่อนหน้าการมาถึงของ CEO คนใหม่ “แบรนด์สามขีด” ตัดสินใจถอนตัวจากการสนับสนุนกีฬาในหลายประเภทที่มองว่า “ไม่ทำกำไรเท่าที่ควร” ซึ่งในจำนวนนั้นไม่เว้นแม้แต่กีฬาที่ถูกจัดให้มีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก เช่น ยกน้ำหนักและมวยปล้ำ แต่แล้วเมื่อ “บียอร์น กูลเดน” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง แนวทางดังกล่าวก็เปลี่ยนไปทันที…“ปัจจุบัน เรามีนักกีฬาและทีมกีฬาชั้นยอดที่เราต้องการ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับอาชีพและระดับมหาวิทยาลัย แต่หลังจากนี้ เราจะลงทุนในกีฬาระดับเล็กๆ อื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อขยายพอร์ตการลงทุนของเรา เพราะผมคิดว่า DNA ของ อาดิดาส คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับกีฬาทุกประเภทมาโดยตลอด ฉะนั้น เราจะไม่จำกัดตัวเองให้อยู่แค่เพียงกีฬาในระดับเมเจอร์เท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างทั้งความน่าเชื่อถือและพลังให้กับแบรนด์ในฐานะผู้นำทางด้านกีฬา” “บียอร์น กูลเดน” ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023และทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวของชายที่เติบโตมากับความรักในกีฬา และรู้ว่ากีฬาคืออะไร และจะต้องทำอย่างไรหากจะใช้ DNA ของ กีฬา ไปกอบกู้แบรนด์กีฬาที่กำลังตกที่นั่งลำบากได้อย่างน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง... ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก : Anon Chantanant อ่านบทความในรูปแบบ Storytelling เพิ่มเติมหย่าแห่งศตวรรษ การทรยศที่ต้องชดใช้ 30,000 ล้านสิงคโปร์ แอร์ไลน์ SQ321 ลำดับเหตุการณ์และสิ่งที่ควรรู้คัง คยอง ยุน ผู้ทำลาย Burning Sun Scandalศรัทธาที่สูญเสียกับเงินพนัน 6,000 ล้านบาท ของ โชเฮย์ โอทานิเฟรเดอริก อาร์โนลต์ กับ 5 กลยุทธ์ Transforming TAG Heuer