เจาะปัญหา “เงิน” กับ “วัด” นักวิชาการศาสนา ชี้ “เจ้าอาวาส” กู้เงินกับญาติโยม ผิดหลักพุทธ เพราะแค่เป็นหนี้ ก็บวชไม่ได้แล้ว...
กุฏฐัง – เป็นโรคเรื้อนหรือไม่
คัณโฑ – เป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่
กิลาโส – เป็นโรคกลากหรือไม่
โสโส – เป็นโรคมองคร่อ (มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลม)
อะปะมาโร – เป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่
มะนุสโส้สิ๊ – เป็นมนุษย์ ใช่ไหม
ปุริโส้สิ๊ – เป็นผู้ชาย ใช่ไหม
ภุชิสโส้สิ๊ – เป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม
อะนะโนสิ๊ – ไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม
นะสิ๊ ราชะภะโต – ไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม
อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ – บิดา มารดา อนุญาต ใช่ไหม
ปะริปุณณะวีสะติวัสโส้สิ๊ – อายุครบ 20 ปี ใช่ไหม
ปะริปุณณัณเต ปัตตะจีวะรัง – มีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม
ข้างต้น คือ คำถามอันตรายิกธรรม หรือ ธรรมอันตรายที่เป็นข้อห้าม 13 ข้อในการบวช โดยชายทุกคนที่ผ่านพิธีอุปสมบท ต้องตอบคำถาม ก่อนก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และหนึ่งข้อจากทั้งหมดนี้ คือ คำถามที่ว่า อะนะโนสิ๊ “ไม่เป็นหนี้ใคร” อะมะ ภัณเต (ใช่ครับ)
และเมื่อมาย้อนดูข่าวดังในเวลานี้ก็พบว่า มีพระระดับเจ้าอาวาสวัดได้มีการกู้หนี้ยืมสินญาติโยม โดยอ้างว่าเอามาใช้จ่ายในวัด และเมื่อค้นดูตัวเลขการเงินในวัด พบว่า เป็นหนี้กว่า 30 ล้าน!! มีการใช้ “บัญชีส่วนตัว” ในการบริหารจัดการวัด ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า “ผิดหลักการ” หรือไม่ การใช้จ่ายเงินในวัดควรเป็นอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม และอดีต ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก มาไขคำตอบ
...
การจัดการเงินในวัด
ดร.ทวีวัฒน์ กล่าวว่า โดยทั่วไปการจัดการเงินในวัดจะเป็นหน้าที่ของ “เจ้าอาวาส” ซึ่งถือเป็นเรื่องปฏิบัติทั่วไป ส่วนเงินทำบุญทั่วไปภายในวัดควรจะเข้าบัญชีของวัด โดยมี ไวยาวัจกร ฆราวาสที่ดูแลวัดและใกล้ชิดกับเจ้าอาวาส เป็นผู้ร่วมดูแลจัดการ ว่า “วัด” ขาดเหลืออะไรบ้าง ซึ่งนี่ก็คือตัวบุคคล ฉะนั้นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ “ความซื่อสัตย์” ของตัวบุคคล
อย่างไรก็ตาม หลักการในการจัดการเงินในวัดควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีตัวแทนเป็นเจ้าอาวาส พระลูกวัด ตัวแทนฆราวาสที่ใกล้ชิดกับวัด รวมถึงตัวแทนโรงเรียน เรียกว่า บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีตัวแทนฝ่ายสงฆ์ และฆราวาส มีการดูแลการเงินต่างๆ ภายในวัด ผ่านคณะกรรมการ... เป็นชื่อวัด ซึ่งเป็นองค์กร ไม่ใช่ชื่อบุคคล เพราะผ่านบัญชีส่วนบุคคลจะตรวจสอบยาก
กรณี กิจนิมนต์ การถวายปัจจัย นั้นถือเป็นการถวายโดยส่วนตัว แต่ทุกอย่างมันอยู่ที่เจตนาของผู้ถวายปัจจัย แต่ถ้าผู้ถวายอยากจะบำรุงวัด ซ่อมแซมวัด เจ้าภาพต้องระบุให้ชัดเจน หากเป็นค่าสาธารนูปโภค ก็ควรเข้าบัญชีวัด....
ใช้บัญชีเจ้าอาวาสวัด “จัดการวัด” แต่ไม่เหมาะ...
การเปิดบัญชีส่วนตัวของพระ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะพระก็เหมือนบุคคลทั่วไป เพียงแต่เวลาจะเปิดบัญชี เจ้าหน้าที่ธนาคารจะขอดูใบสุทธิ อย่างไรก็ตามหากแต่จะใช้บัญชีพระรูปเดียวจัดการการเงินภายในวัด แม้จะอ้างว่าเพื่อความสะดวก มันก็พอรับฟังได้ เพียงแต่สิ่งที่ทำนั้นไม่เหมาะสม นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยได้
“หากเป็นวัดเล็กๆ มันก็รับฟังได้ เพราะเงินที่เข้ามาในบัญชี มันอาจจะไม่เยอะมาก และเพื่อจะนำเงินนั้นออกมาจัดการได้ เพียงแต่มันเป็นบัญชีบุคคล มันจะตรวจสอบได้ยาก แต่หากเป็นวัดใหญ่ๆ เงินเข้าหลักล้าน ถึงร้อยล้าน ก็ควรที่จะจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อความโปร่งใส”
เมื่อถามว่า หากวัดวัดหนึ่ง “ขาดสภาพคล่อง” ทางการเงินจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง พระกู้เงินได้หรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ตอบว่า พระกู้เงินไม่ได้ เพราะแค่คำสวดตอนบวชที่ถามว่า “ไม่เป็นหนี้ใช่ไหม” ซึ่งหากว่าคนที่จะมาบวชนั้น “เป็นหนี้” หรือ “เคลียร์หนี้” ไม่หมดนั้น จะไม่สามารถบวชได้ สาเหตุเพราะหากห่มผ้าเหลืองไปแล้ ปรากฏว่ามี “เจ้าหนี้” มาทวงเงิน มันก็จะดูไม่งาม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่า “คนเป็นหนี้ห้ามบวช” แต่หากเคลียร์หนี้แล้วมาบวชก็อีกเรื่องหนึ่ง...
“วัดจะกู้เงินเพื่อสร้างโบสถ์วิหาร นั้นมันเป็นสิ่งที่ขัดกับเจตจำนงในแบบพุทธ ที่เริ่มต้นจากความศรัทธา ที่สำคัญคือสมัยก่อน (ตั้งแต่สมัย ร.5) พระจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการก่อสร้าง เพราะหลักการคือ หน้าที่ของพระคือ ศึกษาและปฏิบัติธรรม เมื่อมีความรู้ด้านธรรมแล้วก็เอาความรู้เหล่านั้นมาสั่งสอนประชาชน เมื่อพระทำหน้าที่นี้แล้วประชาชนเกิดความเลื่อมใส ประชาชนก็จะช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์ หรือวัด โดยมีประชาชนเป็นคนระดมทุนเอง อำนวยความสะดวกกับปัจจัย 4”
...
การที่พระจะมากู้เงินเพื่อสร้างโบสถ์ วิหารให้สวยงามใหญ่โต มันเป็นเรื่องผิดหลักการ เพราะการจะพัฒนาวัดให้เหมาะสม มันควรจะมาจากความเห็นของประชาชน และชุมชน และเล็งเห็นว่าวัดมีสถานที่ไม่เพียงพอ ขาดแคลน “เสนาสนะ” ไม่ใช่ว่า “เจ้าอาวาส” เห็นว่า “เสนาสนะ” ไม่เพียงพอ แล้วเจ้าอาวาสจะไปกู้เงิน จะมากู้ธนาคาร เขาคงไม่เห็นด้วย เพราะ “พระ” ไม่มีแหล่งรายได้สม่ำเสมอ กู้นอกระบบ กู้ญาติโยม ก็จะผิดวัตถุสงค์
การคอร์รัปชันในวัด กับแนวทางการแก้ไข บ้าน วัด โรงเรียน ต้องร่วมมือ
ทีมข่าวฯ ถามถึงปัญหาการยักย้ายถ่ายเทเงินในวัด และการคอร์รัปชันในวัด รวมถึงการยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด ซึ่งบางวัดได้ยื่น บางวัดก็ไม่ยื่น เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่า ถ้าทางการไปตรวจสอบ ก็อาจจะเจอปัญหาความโปร่งใส แต่ถ้าให้ชุมชนร่วมตรวจสอบ จะเกิดความชัดเจนมากกว่า
คนที่ใกล้ชิดวัด และพระ จะตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ ชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวัด จะรับรู้มากกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะดีกว่าตัวแทนของสำนักพุทธฯ เข้าไปตรวจสอบ
...
ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของ บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน บ้านกับโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับวัดลดลง ในขณะที่วัดมีมากขึ้น
เมื่อถามว่า เราควรออกกฎหมายในการตรวจสอบวัดหรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ มองว่า อาจเป็นเรื่องที่ยิบย่อยเกินไป โดยหลักแล้วหน่วยงานราชการก็น่าจะตรวจสอบได้อยู่แล้ว
ชาวพุทธยึดติด เงินกระจุกตัว
ทีมข่าวฯ ถามว่า เพราะอะไร “เงิน” ถึงไปกระจุกอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแทนที่เป็นบัญชีวัด ดร.ทวีวัฒน์ ยอมรับว่า ชาวพุทธเรานั้นมีหลายแบบ บางคนก็ยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าหลักธรรมคำสอน
และที่สำคัญคือ “กำลังทรัพย์” คนกรุงเทพฯ มีเงินมากกว่าคนต่างจังหวัด ดังนั้นเวลาจะบริจาคเงินทำบุญก็มักจะเลือกวัดหลวง วัดดัง และที่สำคัญคือ บางวัดก็เลือกที่จะแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การใช้วัดเป็นที่จอดรถ สร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับวัด, บางวัดทำวัตถุมงคล กลายเป็นพุทธพาณิชย์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่วัดทั่วประเทศมีรายได้เงินหมุนเวียนมากกว่า 4 แสนล้าน
“เงินที่บริจาคเข้าวัด มันควรจะมาจากศรัทธาที่แท้จริงจากสาธุชนที่เห็นการปฏิบัติของวัดแล้วรู้สึกศรัทธา นำเงินมาสร้างเสนาสนะให้ ดีกว่า “พระ” ขายวัตถุมงคล เรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน การเรี่ยไรไม่ควรมาจากพระ ควรมาจากประชาชนที่ศรัทธา”
...
เราควรตรวจสอบวัดที่เข้มข้นกว่านี้หรือไม่... ดร.ทวีวัฒน์ มองว่า อาจเป็น “ดาบสองคม” เพราะพระบางรูปอาจจะไม่เจตนาในการกระทำผิดในเรื่องการบริหารจัดการการเงิน เพียงแต่ท่านไม่ค่อยมีความรู้ด้านบัญชี การใช้จ่ายผิดประเภทไปบ้าง
หากตรวจสอบเข้มข้นจริงๆ เชื่อว่าพระเกือบจะทุกวัด อาจถูกจับเข้าคุกได้ จากนั้นมันจะสะเทือนศรัทธาของชาวบ้านด้วย
กลับกันถ้ามีการตรวจสอบวัดแบบหละหลวมจะเกิดอะไรขึ้น กูรูด้านศาสนายอมรับว่า วัดเองก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเงินในวัด ทางวัดควรจะมี “นักบัญชี” ของวัดมาร่วมด้วย หากเราคิดว่า “วัด” เป็นแบบนิติบุคคล หรือบริษัท เถ้าแก่จะทำทุกอย่าง หรือทำบัญชีไม่เป็น ใช้เงินแบบปะปนกันไปหมด หากมีการจัดการบัญชีถูกต้อง ถูกต้องประเภท ทุกอย่างโปร่งใส
หากอยากจะแก้ปัญหาเรื่องเงินในวัด จึงจำเป็นต้องมีนักบัญชีคอยดูแล และอาจจะมีคนคอยตรวจสอบบัญชีเข้ามาตรวจสอบเป็นครั้งคราว หรือตามเกณฑ์
“เราต้องดูเรื่องนี้ให้ดี เพราะที่ผ่านมามีข่าวว่ามีคนต่างศาสนาพยายามเข้ามาบั่นทอนศาสนา..”
ทีมข่าวฯ ถามย้ำว่า มีกระบวนการนี้จริงหรือไม่ ดร.ทวีวัฒน์ ไม่ยืนยัน แต่เท่าที่ติดตามข่าว คาดว่า “อาจจะ” มีจริง มีความพยายามดิสเครดิตศาสนาพุทธ วัดพุทธ โดยเฉพาะ “เกจิ” ชื่อดัง โดยการใช้ “นารีพิฆาต” บางเคสมีการวางแผนใส่ร้ายป้ายสีพระ แต่เมื่อเป็นข่าวแล้วคนก็จะเชื่อ และถูกด่าทอพระจนเสียคน เรื่องนี้เราต้องระมัดระวังด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ