“ขาโหด” วิเคราะห์การตลาดใน “สาธุ” คือ Marketing & Place Branding สร้างความต้องการด้วยแรงศรัทธา ชี้หลายวัดก็ใช้ แต่มีข้อควรระวัง ห่วง ชี้ช่องมิจ...ไซฟ่อนเงิน
เป็นประเด็นที่ “กล้า” และ “ร้อนแรง” ที่สุดในเวลานี้ สำหรับซีรีส์ “สาธุ” ของ “Netflix” ที่นำแสดงโดย เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ พีช พชร จิราธิวัฒน์ และ แอลลี่ อชิรญา นิติพน ที่เอาหลัก “การตลาด” มา “วัด” กับ “แรงศรัทธา” กับศาสนาพุทธ ที่มีเดิมพันด้วยขุมทรัพย์ก้อนโต ด้วยเงินมหาศาลและยากจะตรวจสอบ...
เนื้อเรื่องสั้นๆ ของซีรีส์เรื่องนี้ คือ 3 ตัวแทนคนยุคใหม่ กับ “วัยรุ่นสร้างตัว” อยาก “รวยเร็ว” ด้วยความ “เสี่ยง” ในการทำเหรียญคริปโตฯ แต่สุดท้ายกลับ...ปรากฏว่า สิ่งที่หวังพังทลายในชั่วข้ามคืน เพราะถูกความฉ้อฉล และเล่เหลี่ยมของคน กลายเป็นว่า จากที่จะรวย กลายเป็นร่วง ติดหนี้กว่า 40 ล้าน ในช่วงที่สิ้นหวังจากธุรกิจ...การได้เข้าวัดกับแม่ กลายเป็นไอเดียในการเอาตัวรอด ซึ่งพวกเขาจะใช้วิธีการไหน คงต้องไปรับชมกันเอง
คำเตือน!! สิ่งที่เขียนและสัมภาษณ์ อาจมีสปอยล์เนื้อเรื่องอยู่บ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็ไปบรรทัดถัดไปได้เลย
...
กับเรื่องราว “การตลาด” และ “ธุรกิจ” ในวัด จาก ซีรีส์ “สาธุ” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ “ขาโหด” หรือ อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และนักวิเคราะห์การตลาดชื่อดัง มองว่า ซีรีส์เรื่องนี้เป็นการสะท้อนความคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่มองว่าการสร้างตัว “รวยเร็ว” เป็นเรื่องง่าย ทุกอย่างดำเนินด้วยความ “เสี่ยง” เริ่มต้นด้วยการเป็นสตาร์ทอัพ ทำเหรียญคริปโตฯ กะว่าจะรวยเป็นพันๆ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ลงทุนด้วยการ “กู้เงิน” มา
ชีวิตเหมือนบิตคอยน์ ขึ้นสวรรค์ ลงนรกในวันเดียว แต่เนื่องจากทั้ง 3 คนเป็นคนเก่ง แบ่งหน้าที่กัน คนหนึ่งเรียนวิทย์คอมฯ เก่งการตลาด คนหนึ่งบ้านเหมือนจะรวย อีกคนเก่งรอบด้าน โดยเฉพาะการออกแบบ แต่เมื่อทุกอย่างเข้าตาจน... ทั้ง 3 จึงเลือกที่จะทำทุกอย่าง
ขาโหดมองว่า หากเป็นชีวิตคนจริงๆ 3 คนนี้จะเดินทางเข้าสู่ ด้านมืดด้วยการทำเว็บพนันออนไลน์ แทนที่จะเข้าวัด เพราะ 1 ในตัวเอก คือ “วิน” (เจมส์ ธีรดนย์) เป็นคนเก่งในการเขียนโค้ดและการตลาด แค่คาแรกเตอร์ตัวนี้ตัวเดียว ก็สามารถเดินเข้าสู่เส้นทางนั้นได้แล้วแถมยังได้เงินมากมายและง่ายกว่า
การตลาดในวัด หรือ มารศาสนา หากินกับวัด
อาจารย์ธันยวัชร์ มองว่า สาเหตุที่ “เน็ตฟลิกซ์” เลือกที่จะจับประเด็นเกี่ยวกับวัด เพราะเขาเคยทำสารคดีเกี่ยวกับวัดวัดหนึ่งอยู่แล้ว และคิดว่าหากทำเรื่องแนวนี้ อาจจะจับกระแสกับคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ หรือสามารถขายได้ทั่วโลก
“สิ่งที่สะท้อนชัดเจนมากในเรื่องนี้ คือ 'คนฉลาด' เมื่อเข้าตาจนแล้ว และต้องการผลสำเร็จในเวลาอันสั้นนั้น จะสามารถทำได้ทุกอย่างโดยไม่สนวิธีการ ขอแค่มี 'โอกาส' ถึงจะมี 'ความเสี่ยง' โดยเฉพาะคนยุคนี้ ที่จะ 'หลบเลี่ยง' เส้นทางการเงิน เพราะทุกอย่างถูกแปลงออกไปเป็นเหรียญคริปโตฯ มันจะทำให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ยาก”
กูรูการตลาด อธิบายว่า “การตลาด” นั้นนำมาใช้กับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ทั้งจะ “ประกาศ” ว่าทำการตลาด หรือ “ไม่ประกาศ” ก็ตาม เนื่องจากสมัยนี้ “วัดดัง” มากมายก็นำการตลาดมาใช้ หมายความว่า วัดบางวัดเอง อาจทำการตลาดโดยไม่รู้ตัว และหากพูดตรงๆ ก็คือ “กลยุทธ์การตลาด” ในซีรีส์ วัดจำนวนมากก็นำมาใช้ เพียงแต่กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น “ส่วนใหญ่” มาจากโดย organic ยกตัวอย่างเช่น เกิดพระดัง หรือมีวัตถุมงคลดังขึ้นมา กระแสจะเริ่มต้นจาก “ปากต่อปาก”
...
“การตลาดที่เขาใช้ในซีรีส์ ทำให้ผมนึกถึงผู้บริหารการตลาดใหญ่คนหนึ่งในประเทศจีน เคยพูดไว้เมื่อกว่า 20-30 ปีก่อน ช่วงจีนเปิดประเทศ โดยเขาบอกว่า มีเด็กรุ่นใหม่พูดกับเขาว่า หากอยากให้ “รัฐวิสาหกิจเจริญเติบโต” ก็ให้พวกเขาเข้าไปบริหารหรือไม่หากบริหารได้ดีกว่า ต้องแบ่งส่วนแบ่งให้ แนวๆ Investment Banker เหมือนกับว่า เวลาบริหารสินทรัพย์ หากเจอสินทรัพย์ที่บริหารไม่ดี เขาก็แนะนำให้ไปเทกโอเวอร์เพื่อมาจัดการ”
ขาโหด กล่าวต่อว่า การเลือกที่จะเล่นกับประเด็น “วัด” เพราะ “รายได้” วัดมันใหญ่มาก 1 ปี น่าจะมีรายได้มากกว่า 4 แสนล้าน ใหญ่กว่าธุรกิจมืดอีก ที่สำคัญคือ แทบจะ “ไร้การตรวจสอบ” หากเป็น “มิจฉาชีพ” ขอแค่มีความรู้ด้านการเงิน และโอนเงินผ่านคริปโตฯ จะทำให้การ “ไซฟ่อน” เงินมันง่าย ที่สำคัญคือ มันมี Value ที่ซ่อนเร้น หากเอาการตลาดมาใช้อย่างเป็นระบบ คุณจะสามารถ ปั้นวัด สร้างแบรนด์ให้กับวัด เพิ่มมูลค่าในเวลาอันสั้น
“การตลาดแบบนี้ ถ้าใช้อย่างเป็นระบบ คุณสามารถสร้าง Marketing & Place Branding เพราะ “วัด” คือ Place ด้วยการ Create demand (สร้างความต้องการ) ด้วย Belief และคนที่มีความต้องการนั้น ต้องเป็นคนที่มีกำลังซื้อด้วย หากมีความต้องการแต่คนไม่มีเงินซื้อ รายได้ก็ไม่เกิด นอกจากนี้ การเลือกในซีรีส์จึงเลือก “วัด” ที่ไม่ไกลมาก ไม่ใหญ่มาก ไม่ทรุดโทรมมาก เจ้าอาวาสต้องไม่รู้เรื่อง และอนุญาต ต้องมีไวยาวัจกร ต้องเอาด้วย องค์ประกอบทุกอย่างต้องครบ...กระทั่งเจอ “พระอีกรูป” เข้ามา (จุดเปลี่ยนของเรื่อง)”
ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในเชิง “การตลาด” นั้น คือ การหา “โอกาส” ให้กับตัวเอง จากนั้นก็สร้าง “เป้าหมาย” โดยเลือกจาก STP Marketing โดยการเลือก Segmentation, Targeting และ Positioning ซึ่งก็คือ “วัด” หากวัด “ไม่มีจุดขาย” ต้องสร้าง Unique Selling Point (USP) ด้วยการเชิญ “Brand Ambassador” ซึ่งก็คือ “พระปั๊บ” ซึ่งในวงการนี้ก็มีอยู่ 2 แบบ คือ สายเกจิ เครื่องรางของขลัง หรือพระที่เทศนาเก่ง
...
ในอดีต เราจะมีพระเทศนาเก่งมาก สมัยก่อนถึงขั้นมีช่องของตัวเองก็มี ซึ่งมีทั้งสนุก ฮา ซาบซึ้งกินใจ พูดภาษาง่ายๆ หรือไม่ก็สายเกจิ ทำวัตถุมงคลไปเลย เมตตามหานิยม ยิง ฟันแทง ไม่เข้า นี่คือ “จุดขาย” ที่ถูกสร้างขึ้นมา นั่นก็เป็นที่มาของ “พระดล” (Brand Ambassador) โดยมีฝ่าย convince เข้าไปหา อ้างเรื่องเผยแผ่ศาสนา
จากนั้นการตลาดของวัด ที่ตามมา คือการใช้โซเชียลมีเดีย คือ การ “ปั้น” ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว....ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ที่มีคนไลฟ์ผ่านติ๊กต่อก ซึ่งเรื่องนี้ในซีรีส์เราจะเห็นไม่มาก....
...
การตลาด กับ แรงศรัทธา และสิ่งที่ต้องระมัดระวัง!
ขาโหด บอกว่า “ถึงแม้การตลาดจะปรับใช้ได้กับทุกสิ่ง แต่ว่าคุณจะคิดแบบการตลาดอย่างเดียวไม่ได้ เช่น การตลาดเพื่อการเมือง จะนำพาประเทศไปในรูปแบบ 'บริษัท' ต้องทำกำไรให้กับประชาชน เพราะประชาชนเป็นลูกค้า คนไหนเป็นกลุ่มเป้าหมายเรา เลือกเรา...ดูแลเขาก่อน เรื่องแบบนี้คิดได้ แต่พูดไม่ได้”
“ศาสนาก็เช่นเดียวกัน การเล่นกับความเชื่อและศรัทธานั้น มันสามารถ “ย้อนกลับ” ได้ เพราะหากถูก “เปิดเผย” ว่ามีกระบวนการทำการตลาด หรือมีกระบวนการ “ชักใย” อยู่เบื้องหลัง ทำให้คนเกิดความศรัทธาที่ไม่จริง แปลว่า คือ “การหลอกลวง” โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีการบูสต์โพสต์ ไม่ได้มาแบบออร์แกนิกโพสต์ มันจะเกิดแรงสะท้อนกลับ และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะพังทลาย ในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็น “มิจฉาชีพ” หรือไม่ ซึ่งในซีรีส์ คือ “มิจฉาชีพ” เพราะมีกระบวนการ “ไซฟ่อนเงิน” ออกไป...
เหตุการณ์ในซีรีส์นั้น “วัด” สามารถนำเอามาใช้อย่างสุจริตได้ แต่ถ้าใช้แบบไม่สุจริต ก็แปลว่า “มารศาสนา” หลอกลวงผู้คน การจะปั้นการตลาดแบบในซีรีส์นั้น ในชีวิตจริงทำค่อนข้างยาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “พระเครื่อง” ที่รอดตายแล้วจะขายดี ยกเว้นแต่ว่าเป็นช่วงที่วัตถุมงคลประเภทนั้นๆ จะนิยมอยู่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงเราก็พบว่า มีคนทำที่วัตถุมงคลติดคุกไปเยอะเช่นเดียวกัน
สิ่งที่กังวลที่สุด สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ คือ กลัวว่าจะเป็นการ “ชี้ช่อง” ให้กับ “มิจฉาชีพ” หากเอาการตลาดไปปั้นวัด ชักใย ไซฟ่อน มันจะกลายเป็นความเสื่อมในทางศาสนามากกว่านี้ ซึ่งในความจริงมันอาจมีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำในช่วงระยะเวลาอันสั้น แล้วไม่ได้มีลักษณะมิจฉาชีพแบบนี้
“การตลาด ขึ้นอยู่กับ 'คนใช้' หากเป็นสายขาว ก็จะเกิดผลดี แต่ถ้า 'คนใช้' เป็นสายดาร์ก มันจะเกิดผลร้ายและสะท้อนกลับ และคนดีๆ เก่งๆ จะกลายเป็นคนไม่ดี เพราะสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งมันมีทฤษฎีลูซิเฟอร์ ที่เคยเป็นเทพมาก่อน สุดท้ายกลายมาเป็นซาตาน หรือเจได กลายเป็น ดาร์ธ เวเดอร์ ได้ ถ้าเกิดความโลภเข้าครอบงำ ยิ่งคนเก่ง โลภ ยิ่งอันตราย...”
อะไรที่มีผลประโยชน์ ตรวจสอบยาก มันจะกลายเป็นแหล่งค้ากำไร หากแหล่งนั้นเป็นแหล่งที่ “ค้ากำไรเกินควร” มันก็มักจะออกมาเป็นแบบนี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ที่มารูป FB Netflix และธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
อ่านบทความที่น่าสนใจ