"โทริยามะ อากิระ" การเดินทางมาถึงบทอวสานของจินตนาการ และความฝันในวัยเยาว์ของใครหลายๆ คน....สวัสดีทุกคน ผมโทริยามะ อากิระ (Toriyama Akira)ผมขอแนะนำตัวเองให้คุณได้รู้จักสักนิดนะครับ ผมเกิดวันที่ 5 เมษายน 1955 ที่เมืองคิโยสุ (Kiyosu) จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น และเหล่านี้น่าจะเป็นผลงานที่ทำให้คุณ รู้จักผม ใช่ไหม?ขอบคุณมากๆ สำหรับการตอบรับในผลงานของผม แต่ก่อนที่เราจะจากกันไป (ตลอดกาล) ....วันนี้ ผมอยากจะมาขอเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ช่วยให้เรา สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้สักนิดได้ไหม?คุณรู้ไหมเพราะอะไรผมจึงอยากเป็น Mangaka? ผมชื่นชอบผลงานของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu ผู้ให้กำเนิดเจ้าหนูปรมาณู) และ วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เพราะแบบนี้ผมจึงหลงรักการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมจำได้ว่า ตัวเองนั่งวาดรูปหุ่นยนต์คิงคองได้ทุกวี่ทุกวันไม่รู้จักเบื่อ (หัวเราะ)พอเข้าชั้นประถมศึกษา ผมเริ่มต้นฝึกฝนการออกแบบด้วยการนำคาแรกเตอร์จากภาพยนต์แอนิเมชัน One Hundred and One Dalmatians ของ ดิสนีย์ ซึ่งผมชื่นชอบและมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงานของผมในเวลาต่อมา มาใช้สำหรับการแข่งขันออกแบบในชั้นเรียนหลังเรียนจบโรงเรียนเทคนิคการออกแบบ (Design Department of Prefectural Technical High School) เมื่อปี 1974 ผมตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเข้าไปทำงานที่บริษัทโฆษณาใกล้ๆบ้าน โดยมีหน้าที่ออกแบบใบปลิวโฆษณา แต่ด้วยเพราะบริษัทต้องการประหยัดต้นทุนสำหรับการจ้างคนภายนอกมาทำอาร์ทเวิร์ค ผมเลยต้องรับผิดชอบเรื่องการวาดภาพไปด้วย ตอนนั้นผมวาดแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าเด็ก เนื้อสัตว์ หรือ แม้กระทั่งตู้เสื้อผ้า! ซึ่งการทำแบบนั้นนานวันเข้า ทำให้ผมได้ฝึกฝนตัวเองจนกลายเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง และกลายเป็นพนักงานทรงคุณค่าของบริษัทไปในที่สุด แต่สุดท้ายผมก็ทำได้เพียง 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออก เพราะว่า.... ผมขี้เกียจตื่นแต่เช้า (หัวเราะ)คือเรื่องเป็นแบบนี้ครับ... เนื่องจากผมต้องทำงานแทบทุกอย่าง มันเลยทำให้ผมต้องทำงานจนถึงดึกๆดื่นๆในทุกๆวัน แต่ในวันถัดไปผมต้องไปทำงานในทันเวลา 08.30 ในทุกๆวันอยู่ดี สุดท้ายผมเลยเริ่มมาทำงานสายเพราะผมอยู่ทำงานจนดึกทุกวัน (หัวเราะ) แต่เวลาโบนัสออกทีไร ผมจะรู้สึกท้อแท้ทุกครั้งที่เห็นตัวเลข (หัวเราะ) ผมจึงคิดว่าตัวเองน่าจะไม่เหมาะสมกับการทำงานออฟฟิศ จึงได้ตัดสินใจลาออกในที่สุด จุดเปลี่ยนสู่การมุ่งหน้าเป็น Mangaka หลังลาออกงานประจำ ผมหันไปทำงานพาร์ทไทม์ร่วม 1 ปี ตอนนั้นผมแทบจะไม่มีเงินเลย เวลาออกไปข้างนอกทีไร ผมจึงไปได้แค่ร้านกาแฟ และที่ร้านกาแฟนั่นเองที่ทำให้ผมกลับมาอ่านมังงะอีกครั้งเพื่อฆ่าเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปหยิบนิตยสารมังงะสำหรับเด็กผู้ชายฉบับหนึ่งขึ้นมาจนกระทั่งได้เจอบทความประกาศหาผู้ส่งงานเข้าประกวดนักเขียนหน้าใหม่ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลถึง 500,000 เยน! (120,423บาท)ผมจึงตัดสินใจเริ่มตั้งหน้าตั้งตาเขียนมังงะอย่างจริงจัง (เพื่อหวังเงินรางวัล) ทั้งๆที่ในเวลานั้น แทบไม่เคยวาดงานแนวมังงะเพื่อส่งเข้าประกวดมาก่อนเลยก็ตาม ด้วยเหตุนี้พอลงมือวาดจริงๆ มันเลยใช้เวลามากกว่าที่คิดจนกระทั่งเลยกำหนดเวลาส่งเข้าประกวดของนิตยสารฉบับนั้นไป แต่เอาล่ะ! ในเมื่ออุตสาห์เขียนจนเสร็จแล้ว หากเลือกที่จะรอนิตยสารมังงะฉบับนั้นซึ่งเปิดรับสมัครเพียงปีละ 2 ครั้ง มันก็จะนานเกินไป ผมเลยตัดสินใจส่งงานไปประกวดที่ “โชเน็นจัมป์” ที่เปิดประกวดรับงานศิลปินหน้าใหม่ทุกเดือนแทน ถึงแม้ว่าจะมีเงินรางวัลเพียง 100,000 เยน (24,084บาท) ก็ตามเถอะ! เส้นทางกว่าจะเป็นศิลปิน Mangaka ที่มีชื่อเสียงหลังส่งผลงานแรกไปประกวดที่ “โชเน็นจัมป์” คุณเชื่อไหมว่า? งานของผมไม่ผ่านการคัดเลือก และไม่ได้รับแม้กระทั่งรางวัลชมเชยด้วยซ้ำไป ซึ่งตอนนั้นอาจจะเป็นเพราะผมมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ผมคิดเผื่อถึงขนาดว่าจะเอาเงินรางวัลไปซื้อของเล่นอะไรดี? (หัวเราะ) เพราะแบบนี้เมื่อสุดท้ายพลาดหวัง ผมจึงรู้สึกเหมือนถูกเอาก้อนอิฐฟาดหัวในตอนที่ผลงานถูกปฏิเสธ (หัวเราะ)แต่แล้ว....หลังผ่านการทำงานอย่างหนักร่วม 1 ปี กับผลงานต้นฉบับมากมายหลายชิ้นที่ถูก “ปฏิเสธ” ในที่สุด ความเพียรพยายามของผมก็ประสบความสำเร็จ เมื่อมังงะเรื่อง “Wonder Island” ถูกตีพิมพ์ลงบน “โชเน็นจัมป์” ได้สำเร็จในปี 1978! การลิ้มรสชาติของความสำเร็จครั้งแรกดีจ้า....ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ มันเป็นมังงะที่ว่าด้วยเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง “โนริมากิ เซมเบ้” และหุ่นยนต์แอนดรอย์สุดใจดีและไร้เดียงสา “โนริมากิ อาราเล่” ที่ร่วมกันสร้างความวุ่นวาย (แต่น่ารักน่าชัง) ทั่วหมู่บ้านเพนกวินซึ่งเต็มไปด้วย เหล่าคนที่ดูไม่ค่อยปกติหรือแม้กระทั่งมนุษย์ต่างดาวที่สุดพิลึกพิลั่นโดย ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่ หรือในชื่อ Dr.Strange and the Robot Doll ที่ทางฝั่งตะวันตกรู้จัก ถือเป็นมังงะเรื่องแรกก็ว่าได้ ที่ทำให้ พวกคุณรู้จักผม ใช่ไหม? (หัวเราะ)… “อาราเล่จัง” ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกใน “โชเน็นจัมป์” ตั้งแต่เมื่อปี 1980 ก่อนจะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะออกอากาศทางโทรทัศน์ในปี 1981 (ครั้งที่ 2 ในปี 1997) โดยในช่วงที่พีคที่สุดนั้น เคยมียอดผู้ชมสูงสุดถึง 36.9% ซึ่งการประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามของ “ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่” เป็นผลให้มีการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องออกมาวางจำหน่ายอย่างมากมาย จนกระทั่งกลายเป็นต้นทางของ การตลาดแนวมีเดียมิกซ์ของ “โชเน็นจัมป์” ในเวลาต่อมาด้วย ว่าแต่... คุณ ยังคิดถึง “อาราเล่จัง” กันอยู่ใช่ไหมครับ?ดราก้อนบอล และ Kamehameha! สำหรับ ดราก้อนบอล ที่พวกคุณสุดคุ้นเคยในวัยเด็กนั้น “ซุน โกคู” หรือ “โง กุน” ของน้าต๋อย เซมเบ้ และแฟนๆช่อง 9 การ์ตูนในประเทศไทย นั้น ปรากฏตัวใน “โชเน็นจัมป์” ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1984 สามารถสร้างยอดขายฉบับรวมเล่ม 42 เล่ม ได้รวมกันมากกว่า 260 ล้านเล่มทั่วโลก จากการประเมินของสื่อชื่อดังอย่าง San Francisco Chronicle ของสหรัฐฯ ในปี 2019 สำหรับฉบับอนิเมะออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1986และล่าสุดบริษัท Oricon ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายผลงานที่เกี่ยวข้องกับดราก้อนบอลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นมังงะ , ผลงานเพลง หรือวิดีโอ ตั้งแต่เดือนเมษยนปี 2008 จนถึง เดือนมีนาคม 2024 สร้างมูลค่ารวมสูงถึง 13,000 ล้านเยน (3,131ล้านบาท) แบบนี้คงไม่น่าจะแปลกอะไรใช่ไหม? ที่ คุณ อาจต้องเคยทำท่า “พลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้า” ในตอนที่เล่นกับเพื่อนๆแถวบ้านคุณสักครั้ง (หัวเราะ) ต้นทางไอเดีย อาราเล่จัง และ ซุน โกคู สำหรับผมแล้ว “โทริชิม่า คาซุฮิโกะ” ชายคนนี้ คือ บก.ปิศาจในตำนานของ “โชเน็นจัมป์” อย่างแท้จริง (หัวเราะ) แต่ในทางกลับกัน เขาคือ บก. ที่ช่วยชี้ทางให้ผมและศิลปินของจัมป์หลายๆคนไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน ในตอนที่ผลงานของผมไม่ผ่านการคัดเลือก คุณโทริชิม่า คาซุฮิโกะ (Torishima Kazuhiko) กลับเป็นคนเดียวที่ประทับใจกับผลงานของผม แต่เอาจริงๆ ถ้าหาก คุณ ฟังคำชมของเขา บางทีคุณอาจเข้าใจก็ได้ว่าเพราะอะไรเขาจึงได้รับฉายาให้เป็น บก.ปิศาจ (หัวเราะ) เพราะเขาบอกกับผมว่า...ผลงานของผมแม้จะน่าเบื่อ (หัวเราะ) แต่วิธีที่ผมเขียนเสียงประกอบกับโลโก้นั้นถือเป็นไอเดียที่ดีมากกกก.... (หัวเราะ)นอกจากนี้ เขายังแนะนำว่าการที่ผมวาดรูปเด็กผู้หญิงออกมาน่ารักใช้ได้จึงควรวาดมังงะที่มีคาแรกเตอร์นำเป็นผู้หญิง ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าผมชอบการวาดคาแรกเตอร์ผู้ชายมากกว่า (หัวเราะ) ซึ่งคำชมที่ว่านี้ ของคุณโทริชิม่า คาซุฮิโกะ ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกดีใจเลยสักนิด (หัวเราะ) แต่...ที่สุดแล้วเขาก็พูดกับผมอีกว่า ดูจากผลงานของผมแล้วน่าจะมีแววอยู่บ้าง และให้ผมพยายามต่อไปและส่งผลงานมาให้กับเขาโดยตรงผมรู้สึกได้ว่า บก.ปิศาจคนนี้ อาจกำลังมองหาศิลปินสไตล์ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากศิลปินที่อยู่ในกรอบเดิมๆ เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว ผมคิดว่าคุณโทริชิม่า ชอบมังงะสำหรับเด็กผู้หญิง และไม่น่าจะชอบมังงะที่เต็มไปด้วยมัดกล้าม และอิงกับสูตรสำเร็จของ “โชเน็นจัมป์” นั่นคือ ความเป็นเพื่อน ความพยายาม และชัยชนะ คุณโทริชิม่า น่าจะเป็น บก.คนแรกๆของโชเน็นจัมป์ที่พยายามแหวกขนบดั้งเดิมของบริษัทเลยก็ว่าได้ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเขาจึงให้อิสระแก่ผมในการวาดมังงะในแบบที่ตัวเองชื่นชอบแทนที่จะพยายามยัดสูตรสำเร็จของจัมป์เข้ามาในหัวผม จนเป็นผลให้ “อาราเล่จัง” กลายเป็นความน่ารักและแตกต่างท่ามกลางชายวัยรุ่นสุดดีเดือดใน โชเน็นจัมป์ ได้ในที่สุด และในกรณีของ “ดราก้อนบอล” ก็เป็น บก.ปิศาจคนนี้อีกเช่นกันที่ร้องขอ หรือจะว่าไปน่าจะเป็น บีบบังคับมากกว่า (หัวเราะ) ให้ผมเปลี่ยนแนวทางการเดินเรื่อง ซึ่งเน้นไปที่การผจญภัยเบาสมอง ไปสู่แนว Action ที่เน้นการต่อสู้ หลังความพยายามเดินตามรอยความสำเร็จของ “ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่” ที่เคยช่วยให้ ดราก้อนบอล ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ นั้นเริ่มความนิยมถดถอยลง อีกทั้งผลสำรวจความเห็นของ “โชเน็นจัมป์” ยังพบด้วยว่า บรรดาแฟนคลับส่วนใหญ่ (ในเวลานั้น) ชื่นชอบมังงะแนวต่อสู้มากกว่า! และนั่นเองจึงนำไปสู่ “นักรบชาวไซย่าและซุปเปอร์ไซย่าในตำนาน” ที่ คุณ รู้จักกันดีมาร่วม 40 ปี แล้วนั่นเอง!รู้หรือไม่? ความเข้มงวดของปิศาจ ถูกนำไปเป็นไอเดียในการสร้างหนึ่งในคาแรกเตอร์ของ “ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่” “ดร.มาชิโรโตะ” คู่ปรับคนสำคัญของ “ดร.โนริมากิ เซมเบ้” ถูกสร้างขึ้นมาจากทรงผมและคาแรกเตอร์สุดโหดของ บก.โทริชิม่า คาซุฮิโกะ!โดยอาจารย์โทริยาม่า อากิระ ยอมรับว่า ดร.มาชิโรโตะ ถือกำเนิดขึ้นเพราะหลายต่อหลายครั้งที่ไอเดียที่ตัวเองพยายามนำเสนอ มักถูกปัดตกจาก บก.ปิศาจคนนี้อยู่เสมอๆ ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับ...สิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิดของ ดร.มาชิโรโตะ ที่มักจะยืนอยู่ในจุดที่ตรงกันข้ามกับ ดร.โนริมากิ เซมเบ้ อยู่เรื่อยไปนั่นเอง! และเมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกนอกจากอาณาจักรโชเน็นจัมป์ มีเรื่องเล่าด้วยว่า บรรดาแฟนคลับพยายามเฟ้นหาตัวจริงของ บก.ปิศาจคนนี้ให้จงได้ โดยใช้ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของ ดร.มาชิโรโตะ เป็นตัวเปรียบเทียบ ด้วยเหตุนี้ บก.โทริชิม่า คาซุฮิโกะ จึงตัดสินใจเปลี่ยนทรงผมของตัวเองทันที! เคล็บลับความสำเร็จเฉพาะตัว ผมไม่เคยชื่นชมผลงานของตัวเอง หรือแทบไม่ได้อ่านผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ของตัวเองเลยครับ และนั่นจึงทำให้ผมสามารถมองผลงานของตัวเองด้วยสายตาของบุคคลภายนอกได้ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงผมจะรู้ว่าเรื่องที่ผมวาดเกี่ยวกับอะไร แต่ถ้าคนนอกมองงานของผมเป็นครั้งแรกแล้วไม่สามารถทำความเข้าใจได้มันก็ไม่มีความหมาย อีกทั้งมันยังทำให้ผมรู้สึกไม่ถูกกดดันจากความสำเร็จมากเกินไปด้วย รู้หรือไม่? 3เทพมังงะกะที่เป็นแฟนนานุแฟนอันเหนียวแน่นของดราก้อนบอล กล่าวอำลาถึงการสูญเสีย อาจารย์โทริยาม่า อากิระ เอาไว้อย่างไร? “มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้”ทวิตข้อความจาก อาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ (Inoue Takehiko) ผู้วาด SlamDunk ศิลปินที่มีโอกาสเป็นผู้สัมภาษณ์พิเศษอาจารย์โทริยาม่า อากิระในบทความพิเศษฉลองโชเน็นจัมป์ครบรอบ 50 ปี ในปี...พร้อมกับระบุว่า ดราก้อนบอล คือมังงะเรื่องโปรดของเขาตลอดกาล "ผมยังทำใจไม่ได้กับการจากไปของอาจารย์โทริยามา มันเป็นยิ่งกว่าความสูญเสียกว่าเมื่อครั้งที่ดราก้อนบอลเดินทางมาถึงตอนอวสาน ผมยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไร และผมยังทำใจให้กลับไปอ่านดราก้อนบอลที่ผมชื่นชอบมากๆอีกครั้งไม่ได้ ขอบคุณสำหรับการสร้างผลงานที่สนุกสนานมากๆ ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา ขอบคุณสำหรับการทำงานหนัก ขอให้อาจารย์ไปสู่สุคติ" อาจารย์มาซาชิ คิชิโมโตะ (Masashi Kishimoto) ศิลปินวัย 49 ปี ผู้สร้างมังงะนินจาแห่งตำนาน “นารูโตะ” "อาจารย์โทริยามา เป็นคนที่สร้างยุคสมัยที่ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถอ่านมังงะได้อย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน ความสนุกสนานและน่าตื่นเต้นของซีรีย์ดราก้อนบอล ถือเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับเหล่าศิลปินมังงะกะในรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม และยิ่งผมได้ใกล้ชิดกับผลงานของอาจารย์โทริยาม่ามากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งตระหนักได้ว่าผลงานเหล่านั้นมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆผมดีใจมากๆในทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบกับอาจารย์โทริยาม่า เพราะผมรักอาจารย์สุดหัวใจ ผมอยากขอแสดงความเคารพและขอบคุณสำหรับโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่อาจารย์เป็นผู้สร้างเอาไว้ และขอภาวนาให้อาจารย์ได้พักผ่อนอย่างสงบ"อาจารย์เออิจิโระ โอดะ (Eiichiro Oda) วัย 49 ปี ผู้สร้างมหาภาพย์มังงะโจรสลัดที่ยังคงไร้บทสรุป (ต่อไป) ONE PIECE บทสุดท้ายก่อนการกล่าวอำลา... ผมอยากจะเล่าเรื่องราวที่ทำให้เราเชื่อมโยงถึงกันต่ออีกนะ แต่โอว…หมดเวลาพิเศษตามคำขอของแม่เฒ่าพยากรณ์แล้วสินะ ผมต้องขอตัวเดินทางไกลเพื่อกลับไปพบท่านเจ้าพิภพแล้ว ลาก่อนนะทุกคน! แต่เดี๋ยวก่อน!...บางทีหาก “คุณ” สามารถรวบรวมดราก้อนบอลได้ครบทั้ง 7 ลูกแล้วขอพรจากเทพเจ้ามังกรจากโลก หรือ ดาวนาเม็ก โดยไม่ถูกขัดขวางจากแก๊งจักรพรรดิ์ปิลาฟ กองทัพเรดริบบอน ที่ต้องการยึดครองโลก รวมถึง ฟรีซเซอร์ ที่ต้องการร่างอมตะเสียก่อน บางที “เรา” อาจได้กลับมาพบกันอีกครั้งก็เป็นได้ ลาก่อน (อีกครั้ง) ทุกๆคน CHA-LA HEAD CHA-LAโทริยาม่า อากิระ (1มี.ค.24) แด่วันที่ความฝันและจินตนาการในวัยเด็กของใครหลายๆคน ปลิดปลิวไปจากชีวิตตลอดกาลเดี๋ยวนะอย่าเพิ่งรีบลุกไปไหน? เพราะเรายังมี END CREDIT รู้หรือไม่? 1.Bird Studio ของ “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” มาจากอะไร? มาจากชื่อ “โทริ” (Tori) ของอาจารย์ที่ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “นก” 2.เพราะอะไรหุ่นแอนดรอยด์อย่าง “อาราเล่จัง” ต้องสวมแว่น? คำตอบ คือ เป็นเพราะ “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” คิดว่า มันคงเป็นเรื่องตลกดีหากหุ่นยนต์เกิดสายตาสั้น ซึ่งมุกตลกนี้อาจารย์เชื่อว่าน่าจะเรียกเสียงฮาจากผู้อ่านได้ 3.เพราะอะไร “ซุปเปอร์ไซย่า” จึงต้องมีผมสีทอง? คำตอบ คือ “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” ต้องการประหยัดเวลาในการวาดมังงะ เพราะหากให้เป็นผมสีทองไปแล้ว การวาดมังงะจะได้ไม่ต้องใส่สีอะไรลงไปให้ยุ่งยาก (เพราะปกติมีเพียงขาวและดำอยู่แล้ว) 4.ที่มาของคาแรกเตอร์ พิคโกโร ฟรีซเซอร์ และ จอมมารบู? อาจารย์โทริยาม่า เปิดเผยในรายการของสถานีโทรทัศน์ฟูจิทีวี ในปี 2015 ว่า ทั้ง 3 คาแรกเตอร์คู่ปรับสุดแข็งแกร่งของ “ซุน โกคู” ถูกออกแบบมาจากคาแรกเตอร์ของเหล่าบรรณาธิการของ “โชเน็นจัมป์” ที่รับผิดชอบซีรีย์ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งตรงกับ การให้สัมภาษณ์กับ “โชเน็นจัมป์” ก่อนหน้านี้ว่า จริงๆแล้วตัวเองเป็นคนที่หัวแข็งมาก ฉะนั้นเวลาที่มีใครเสนอให้เพิ่มเติมอะไรบางอย่างลงไปในผลงาน ก็มักจะโกรธแล้วเปลี่ยนความคิดใหม่ทั้งหมดไปเลย 5.เสียงของ “ซุน โกคู” ในอนิเมะจริงๆแล้วมาจากเสียงผู้หญิง?คุณมาซาโกะ โนซาว่า (Masako Nozawa) สาวนักพากย์มังงะ ซึ่งทำหน้าที่พากย์เสียงของ “ซุน โกคู” มาเนิ่นนานถึง 38 ปี (ตั้งแต่ออนแอร์ครั้งแรกที่ Fuji TV เมื่อวันที่ 26ก.พ.ปี1986) ได้รับเลือกจากอาจารย์โทริยามาอย่างชนิดไม่มีลังเล หลังได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับเจ้าตัว ปัจจุบัน นอกจากคุณมาซาโกะ จะให้เสียงพากย์ของ “ซุน โกคู” แล้ว เธอยังรับหน้าที่ให้เสียงพากย์ “ซุน โกฮัง” และ “ซุน โกเท็น” ลูกชายของคาคาล็อต นักรบชาวไซย่าในตำนานด้วย 6.ความมั่งคั่งของ “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ”?สื่อในญี่ปุ่นประเมินว่า ค่าลิขสิทธิ์จากผลงานต่างๆโดยเฉพาะจากดราก้อนบอล น่าจะทำให้อาจารย์โทริยาม่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้นประมาณ 11,440 ล้านเยน เป็นอย่างน้อย (2,755ล้านบาท)7.เพราะอะไร “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” จึงใช้ชื่อจริงแทนนามปากกา? อาจารย์โทริยาม่า เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะในช่วงแรกคิดว่าผลงานของตัวเองน่าจะไม่โด่งดังได้ แต่นั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะหลังจากกลายเป็นคนมีชื่อเสียง บ้านพักที่จังหวัดไอจิก็มักถูกแฟนคลับแห่มาพบ หรือ ไม่ก็ต้องรับโทรศัพท์สายแปลกๆจำนวนมากอยู่เสมอๆ 8.ใครคือศิลปินมังงะกะที่สนิทกับอาจารย์โทริยาม่ามากที่สุด?อาจารย์คัตสึนะ มาซาคาสุ (Katsura Masakazu) ผู้วาด WingMan เนื่องจากทั้งคู่อยู่ภายใต้การดูแลของ บก.โทริชิม่า คาซุฮิโกะ มาด้วยกัน อีกทั้งตามคำบอกเล่าของอาจารย์โทริยาม่า ยังพูดถึงเพื่อนสนิทคนนี้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า เขาเป็นเพียงคนเดียวที่กล้าบอกกับผมแม้ในช่วงที่โด่งดังแล้วอย่างตรงไปตรงว่า “ทำไมบทที่นายเขียนช่วงนี้มันไม่ได้เรื่องเอาเสียเลยล่ะ?” 9.“อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” ไม่ใช้สมาร์ทโฟน? โทโทฮิเดะ โอคาว่า (Tomohide Okawa) หนึ่งในเพื่อนสนิทที่รู้จักกับอาจารย์โทริยาม่า มานานถึง 16 ปี ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ TBS เมื่อวันที่ 8มี.ค.24 โดยระบุว่า... บิดาแห่งดราก้อนบอล ไม่ชื่นชอบการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพราะคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการคุกคามเวลาส่วนตัว ด้วยเหตุนี้จึงเลือกที่จะสื่อสารผ่านอีเมล์ด้วยคอมพิวเตอร์มากกว่า10.ไลฟ์สไตล์ของอาจารย์โทริยาม่า? โทโทฮิเดะ โอคาว่า ระบุว่า ปกติอาจารย์โทริยาม่า มักจะชอบสวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ สวมหมวกและถือกระเป๋าใบเล็กๆ อันแสบเรียบง่ายเหมือนกับผู้สูงอายุโดยทั่วไป ส่วนในบ้านพักนั้นเต็มไปด้วยพลาสติกโมเดลของเล่นมากมายมหาศาลส่วนคำถามที่ว่าเพราะอะไร อาจารย์โทริยาม่า มักไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อหรือเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนมากนักนั้น เป็นเพราะบิดาแห่งจักรวาลดราก้อนบอลไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากสารพัดมังงะของเขาติดไปกับชีวิตจริง 11.จริงแล้วๆ อาจารยโทริยามา ไม่ชอบมังงะแนวต่อสู้?อาจารย์โทริยาม่า เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่า ไม่ค่อยชื่นชอบหรือคุ้นเคยกับมังงะที่เน้นการต่อสู้มากนัก แต่เพราะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ (คำสั่งมากกว่า) ของ บก.ปิศาจแห่งโชเน็นจัมป์ การปรับเนื้อเรื่องของดราก้อนบอลให้กลายเป็น Action เต็มตัว เป็นผลให้ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบอย่างอาจารย์โทริยาม่า ต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อให้ภาพวาดการเคลื่อนไหวในการต่อสู้ของคาแรกเตอร์ต่างๆ เกิดความสมจริงสมจังมากยิ่งขึ้น โดยครั้งหนึ่งการทำงานอย่างหนักมาอย่างยาวนานถึงกับทำให้ อาจารย์โทริยาม่า ถึงกับมีอาการเส้นเอ็นอักเสบจนแทบจะขยับมือไม่ได้ แต่แล้วใครจะเชื่อเมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูของ บก.โทริชิม่า คาซุฮิโกะ คำถามที่กลับมาถึง อาจารย์โทริยาม่า คือ “นายยังเขียนชื่อของตัวเองได้ไหม?” เมื่ออาจารย์โทริยาม่าตอบไปว่า “ผมยังเขียนชื่อของตัวเองได้” บก.ปิศาจผู้นี้ ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่า “ถ้านายยังเขียนชื่อตัวเองได้ นายก็วาดมังงะได้!” 12.ที่มาของ Kamehameha หรือ พลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้า? “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NHK เมื่อวันที่ 16มิ.ย.2019 ถึงที่มาของชื่อนี้ว่า ในตอนที่ผมกำลังครุ่นคิดว่าจะตั้งชื่อท่าไม้ตายของผู้เฒ่าเต่าจอมลามกว่าอะไรดี ภรรยาของผมได้พูดขึ้นว่า….“ถ้าเป็นคำว่า Kamehameha ซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้าคาเมคาเมฮา อดีตกษัตริย์ของฮาวาย ล่ะ คุณจะสนใจไหม?” หลังจากได้ยินคำพูดของภรรยา อาจารย์โทริยาม่า รู้สึกว่าชื่อนี้มันน่าสนใจดี เพราะมันพ้องเสียงกับคำว่า “Kame” ที่ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “เต่า” และคำว่า “Hame” ที่ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “การทำลายล้าง” รวมถึงคำว่า “Ha” ในภาษาญี่ปุ่นยังแปลว่า “คลื่น” อีกด้วย เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นคำว่า “พลังคลื่นเต่า” และ...ท่าทางการใช้พลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้านี้เอง ที่ทางสำนักข่าว NHK ใช้เป็นสัญลักษณ์มือในภาษาใบ้ เพื่อแจ้งต่อสาธารณชนให้ทราบถึงมรณกรรมของ อีกหนึ่งชายผู้เป็นตำนานวงการมังงะ ในวันที่ 8มี.ค.24 ดังที่ “คุณ” ได้รับทราบอย่างเป็นทางการทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟฟิก : Anon Chantanantอ้างอิง : เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ของ “อาจารย์โทริยาม่า อากิระ” ผ่านสื่อต่างๆในอดีตและปัจจุบัน อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม Slam Dunk Movie ตำนานที่หวนคืนเพื่อชายวัยกลางคนเกิดใหม่เป็นลูกโอชิ ด้านมืดโลกไอดอลคอบร้า ตำนานที่ถูกปิดจากศิลปินผู้รันวงการมังงะด้วยดิจิทัลสายลมการเปลี่ยนแปลง ที่หวนให้ระลึกถึงมังงะ Sanctuaryฮันเตอร์ X ฮันเตอร์ การกลับมาของมังงะที่ความสนุกเอาชนะปัญหาสุขภาพ