จี ดรากอน “G-Dragon” อีกหนึ่ง ศิลปิน K-POP ที่ถูกผูกโยงเข้ากับปัญหายาเสพติดในเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ...
สื่อหลายสำนักของเกาหลีใต้ รายงานยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจอินชอนได้เข้าควบคุมตัว “ควอน จี-ยอง” (Kwon Ji-yong) หรือที่ชาวโลกรู้จักในนาม “G-Dragon” นักร้อง นักแต่งเพลง และแฟชั่นไอคอนแห่งวงการ K-POP ไปทำการสอบปากคำ หลังหนึ่งในสมาชิกวง “Big Bang” ผู้นี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีใช้สารเสพติด
โดยหลังจากปรากฏข่าวว่า “GD” ตกเป็นผู้สงสัยในคดีนี้ ได้ทำเอาเหล่า V.I.P แสดงความกังวลออกมาท่วมท้นโลกโซเชียลมีเดียทันที เนื่องจากเมื่อปี 2011 “G-Dragon” เคยถูกสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ “กัญชา” มาแล้ว เพียงแต่ในครั้งนั้น ที่สุดแล้วคดีดังกล่าวได้ถูกถอนฟ้องไป หลัง GD ยอมรับว่า “พลาดไปสูดดมสารดังกล่าวโดยไม่ได้ตั้งใจ”
...
ด้าน “YG Entertainment” ยังไม่ได้มีการแสดงปฏิกิริยาที่ชัดเจนใดๆ กับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบัน GD ไม่ได้เป็นศิลปินในสังกัด หลังเพิ่งหมดสัญญากับ YG ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และปัจจุบันยังไม่ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงใด
โดยข่าวอื้อฉาวล่าสุดที่เกิดขึ้น ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการ K-POP ทันที เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ “อี ซอน คยุน” (Lee Sun-kyun) นักแสดงที่รับบทนำในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ “Parasite” เพิ่งถูกจับกุมในไนท์คลับแห่งหนึ่งในย่านกังนัม ก่อนจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีใช้สารเสพติด (กัญชาและยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) และได้มีการขยายผลไปยังผู้ต้องสงสัยในคดีเดียวกันอีกอย่างน้อย 8 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ พิธีกรรายการโทรทัศน์และนักแต่งเพลงชื่อดัง “จอง ดา อึน” (Jung Da-eun) นอกจากนี้ “ยูอาอิน” (Yoo Ah-in) นักแสดงหนุ่มอนาคตไกลของเกาหลีใต้ ก็เพิ่งมีข่าวพัวพันเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วย!
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ยูอาอิน อีกหนึ่งภาพสะท้อนปัญหายาเสพติดในเกาหลีใต้
การขยายตัวของปัญหายาเสพติดในประเทศเกาหลีใต้ :
อ้างอิงจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ เกาหลีใต้ได้หลุดออกจากบัญชีประเทศปลอดยาเสพติด (Drug-Free Country) หลังค่าเฉลี่ยจำนวนผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดพุ่งสูงเกินกว่าข้อกำหนด หรือค่าเฉลี่ยไม่เกิน 20 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ไปอยู่ที่ 36 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน เมื่อปี 2016
ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดในประเทศเกาหลีใต้ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 15,000 คนต่อปี และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 มีรายงานด้วยว่า มีการจับกุมผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดได้มากถึง 18,050 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขในระดับ All-Time High ของดินแดน Soft Power แห่งนี้
และล่าสุด....สำนักงานอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้ รายงานว่า เฉพาะช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปี 2023 มีผู้กระทำผิดคดียาเสพติดแล้วมากถึง 2,600 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 32.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2022
...
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปราบปรามยาเสพติดในเกาหลีใต้ :
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ เชื่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ปัญหายาเสพติดในเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2021 มีการ “จำกัดอำนาจ” การสอบสวนและฟ้องร้องคดียาเสพติดของอัยการเกาหลีใต้ จนเป็นผลให้ อัยการจะสามารถสอบสวนและดำเนินการฟ้องร้องผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้เฉพาะในคดีที่มีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านวอน (133,435 บาท) รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองเพื่อวัตถุประสงค์ในการลักลอบไปจำหน่ายเท่านั้น ส่วนคดียาเสพติดที่นอกเหนือจากนั้น อัยการจำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนคดีต่างๆ
ซึ่ง “ข้อจำกัดในการสืบสวน” ด้วยการมีเส้นแบ่งที่ว่านี้เอง เป็นผลให้ “อัยการของเกาหลีใต้” ไม่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ว่าขบวนการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องยาเสพติดซึ่งกำลังแพร่หลายอยู่ในเวลานี้ “มีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไรกันแน่?” รวมถึงยังทำให้ประสิทธิภาพในการปราบปรามลดลงอย่างมากด้วย
...
**หมายเหตุ พนักงานอัยการเกาหลีใต้ มีอำนาจคลอบคลุมทั้งการสืบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดี รวมถึงยังสามารถกำกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานสืบสวนคดีอาชญากรรมด้วย**
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านเพิ่มเติม :