"สัปเหร่อ" หนังที่ชวน "เรา" ไปถกเถียงในความคิดว่า อะไรบ้าง ควรจะเป็นแค่ "ศรัทธาพื้นถิ่น" หรือ "ความเชื่องมงายแบบพื้นบ้าน"...

สังคมใหม่ในยุค social ช่วงระยะเวลา 3-5 ปีมานี้ มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ (และเสียใจ) หนึ่งในนั้นคือ อาชีพ "รับจ้างจัดการงานศพ" ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งดังมาจากญี่ปุ่น โดยการบริการนั้น มีตั้งแต่รับห่อศพจากสถานที่ตาย ไปจนถึงเผาสุดท้าย เรียกว่า ครอบครัวไม่ต้องทำอะไรเลยใน process มีหน้าที่แค่ ร้องไห้ และร่วมงาน 

น่าสนใจที่มันสะดวกดี - แต่ก็น่าเสียใจที่มันดูฉาบฉวยเกินไป อาชีพใหม่นี้ ทำให้คนเป็น "สัปเหร่อ" ถูกลบหายไปจากสังคมไทยไม่น้อย พูดให้ง่ายคือ "ไม่จำเป็นอีก"

ที่เล่ามาข้างต้นนี้ - ไม่เกี่ยวอะไรกับหนัง 300 ล้านบาทที่กำลังดังอย่าง "สัปเหร่อ" จาก "ไทบ้าน เดอะซีรีส์" 

แต่ถึงไม่เกี่ยว - หนังก็พาเราไป "สำรวจ" วัฒนธรรมพื้นบ้าน "เกี่ยวกับศพ" ของสังคมชนบท อย่างน่าทึ่ง (ทั้งเย้ยหยันและเห็นใจ)

...

"ศพ" เป็นตัวละครสำคัญ ตั้งแต่ฉากแรก เมื่อมีตัวละครอย่าง ใบข้าว ตายลง... จากนั้นก็มีอีกหลายศพ ทั้งศพที่รับรู้อยู่ไกลๆ แบบข่าวสาร หรือศพของฝรั่งต่างชาติ, ศพ LGBTQ รวมทั้งศพของพ่อเจิด (ซึ่งเป็นสัปเหร่อเอง)

ทำไมหนังให้มี "ศพ" (the body) เป็นตัวละครสำคัญ แม้เข้าใจได้ว่า ก็ชื่อหนัง คือ the undertaker หรือ สัปเหร่อ

บทหนังถูกวางอย่างตั้งใจว่า ทุกครั้งที่มีศพ มุมมองของหนังจะ "เคลื่อนไปอยู่เสมอ" (แม้จะตลกที่คนตาย ร่างนิ่ง แต่ที่เคลื่อนได้คือ วิญญาณ)

เจิดกับพ่อของเจิด ตั้งคำถามว่า ในวัฒนธรรมของศพและสัปเหร่อนั้น ล้วนท่วมทับ ไปด้วยความเชื่อมากมาย ทั้ง tradition, ritual และ astral travel (การถอดจิตไปคุย หา พบ กับคนตาย)....แล้วเราจะเชื่ออะไรดี?

"ปีเตอร์ แบรดชอว์" นักวิจารณ์หนังของสื่อน้ำดีอย่าง The Guardian เพิ่งเขียนถึง ตระกูลหนัง folk horror ว่า แม้โดยพื้นถิ่นของแต่ละประเทศ จะมีเรื่องราวความเชื่อต่างกันไป แต่เสน่ห์ของหนังตระกูลนี้ ก็คือ "ความเชื่อ" ทั้งเหมาะสมและงมงาย (ใน ลอนดอน ฟิล์ม เฟสฯ เดือนนี้ ก็มี folk horror เข้าร่วมแถมโดดเด่น)

"ธิติ ศรีนวล" ทำ สัปเหร่อ ได้น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งเทมโปของหนังแบบสมัยใหม่ ที่รับมาจาก TikTok YouTube 

ถ้าเขียนแบบมักง่าย ผมอยากจะบอกว่า สัปเหร่อ คือ แม่นาคพระโขนง เพศชาย ที่ไม่อาจตัดใจลา คนรักเก่าคือ ใบข้าว

แต่ที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่ทำให้เป็น folk horror ขรึมเครียด แต่ใส่ ผสม แทรกวาง อารมณ์ขันแสบๆ แบบจิกกัดวัฒนธรรมพื้นถิ่น ทั้งเข้าข้าง และยืนเหยียบเท้า (ตัวเอง)

การหยิบดอกไม้จันทน์แทนไม่ได้, การเคาะโลง, การผูกศพ, ทิศทางการเดิน เราจะเห็นว่าในวัฒนธรรมศพพื้นบ้าน มีอะไรมากมายมหาศาล ที่น่าทึ่ง และหนังจัดวาง เกลี่ยน้ำหนักให้พอดีกัน เช่น ขำคือ เซียง, เคร่งคือ พ่อเจิด

ในเรื่องนี้ ตัวละครที่เด่นที่สุดคือ เซียง ก็มีสภาพเป็น "ศพ" แม้ว่าจะไม่ได้เสียชีวิต....เซียง ถูกฆ่าด้วยความรัก ที่ไม่อาจตัดใจลา

เขาหมกมุ่น แต่การถอดจิต โดยไม่เคยสนใจเรื่องรอบตัว....เซียง ไม่มีชีวิต เขาคือศพ แบบหนึ่ง

สัปเหร่อ คือ การขึ้นชั้นแนวหน้าของหนัง second tier แบบน่าทึ่ง หรือจะบอกว่านี่คือ ชัยชนะอันงดงามของ folk horror ฉบับขำ ก็ยังได้ (เพราะปรกติ folkhorror เอาแต่เคร่งขรึม)

...

สัปเหร่ออย่าง เจิดและพ่อเจิด ชวนคนดูแบบเราไปถกเถียงในความคิดว่า อะไรบ้าง ควรจะเป็นแค่ "ศรัทธาพื้นถิ่น" หรือ "ความเชื่องมงายแบบพื้นบ้าน"

ที่เจ็บแสบที่สุดคือ หนังได้แดกดันโดยท่าทีว่า แท้จริงแล้ว มีอีกศพ ที่อยู่ในโรงหนัง...ศพที่เดินได้ แต่จมอยู่ในความเชื่อบางอย่าง...และไม่สามารถจะ “หลุดพ้น”

เพราะแม้จะ "ถอดจิต" ไปคุย...อาจต้องใช้ธูปทั้งร้าน

อ่านบทความ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :

...