3 ปัจจัยเกื้อหนุนที่ (อาจ) ทำให้ "ดิสนีย์" ตัดสินใจรุกเข้าสู่ตลาดวิดีโอเกม ด้วยการทุ่มเงินซื้อ EA...
ด้วยมูลค่าตลาดรวมทั่วโลกมากกว่า 187,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.8 ล้านล้านบาท) จากการประเมินของ "Newzoo" บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลวงการเกมที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จะเริ่มมุ่งโฟกัสมาที่ “ตลาดวิดีโอเกม” มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจบันเทิงที่อัดแน่นไปด้วย “คอนเทนท์ระดับแม่เหล็กมากมาย” ที่สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็น “แฟรนไชส์วิดีโอเกม” ที่น่าจะสามารถทำเงินในระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (36,470 ล้านบาท) ได้อย่างง่ายดาย
แล้วถ้าหาก...ยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงในที่นี้ หมายถึง “บริษัทดิสนีย์” ซึ่งเต็มไปด้วย “คอนเทนท์ที่มีสาวกเดนตายเหลือคณานับ” เช่น Star Wars, Marvel เกิดไปควบรวมเข้ากับ “บริษัท อิเล็กทรอนิก อาร์ตส์" (Electronic Arts) หรือ EA บริษัทเกมที่...เหล่าเกมเมอร์แสนรักใคร่ (หรือเปล่า?) ซึ่งมี แฟรนไชส์เกมปั๊มเงินจากกระเป๋าเกมเมอร์รายๆ ปี ด้วยการปรับเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยไม่ต่างจาก iPhone ในยุคปัจจุบัน Opps! ....ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง “คุณ” จินตนาการไปถึงไหมว่าวงการวิดีโอเกมหลังจากนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
...
ฉะนั้นวันนี้ “เรา” ลองไปพิจารณา “ฐานข้อมูล” ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลังเกิดกระแสข่าว (ลือ) ว่า “ดิสนีย์” เตรียมกระโจนเข้าสู่ตลาดวิดีโอเกม ผ่านการเข้าซื้อกิจการ "บริษัท EA" (ที่พวกเราแสนรักใคร่?) กันดู!
มูลค่าตลาด ณ ปัจจุบัน :
มูลค่าตลาดของ “ดิสนีย์” ณ เดือนตุลาคม ปี 2023 อยู่ที่ 154,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.6 ล้านล้านบาท)
มูลค่าตลาดของ “EA” ณ เดือนตุลาคม ปี 2023 อยู่ที่ 35,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 ล้านล้านบาท)
ผลประกอบการ :
รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2023 “ดิสนีย์” มีรายได้รวม 22,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (814,375 ล้านบาท) รวม 9 เดือน (สิ้นสุด 1 ก.ค. 23) มีรายได้ 67,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท)
รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2024 “EA” มีรายได้รวม 1,924 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (70,168 ล้านบาท) รวม 12 เดือน (สิ้นสุด 30 มิ.ย. 23) มีรายได้ 7,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (276,552 ล้านบาท)
อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ดิสนีย์ (อาจ) จ้องซื้อ EA :
1.คุณภาพเกมต่ำตม จนเก็บรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
สำนักข่าว Bloomberg ต้นตอของข่าวนี้ ระบุว่า บอร์ดบริหารของดิสนีย์ กำลังพยายามกดดันให้ “บ็อบ ไอเกอร์” (Bob Iger) CEO ของบริษัทเข้าซื้อบริษัทเกม เพื่อเข้าสู่ตลาดวิดีโอเกมอย่างเต็มตัว หลังที่ผ่านมาทำเพียง “คอยเก็บเกี่ยวค่าลิขสิทธิ์” จากการปล่อยแฟรนไชส์คอนเทนต์ของบริษัทไปให้กับบรรดาสตูดิโอพัฒนาเกมต่างๆ ผลิตเกมออกสู่ท้องตลาด
อย่างไรก็ดีในระยะหลังๆ (โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ดิสนีย์กำลังประสบปัญหาในการทำธุรกิจ) บรรดาสตูดิโอเกมส่วนใหญ่ ที่ได้รับลิขสิทธิ์จากดิสนีย์ไปผลิตวิดีโอเกม กลับปล่อย “ผลงาน” ที่สร้างความผิดหวังให้กับบรรดาเกมเมอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โดยเฉพาะกรณีการทำให้เกม Star Wars Battefront ซึ่งควรจะเป็นที่รักของ “บรรดาเจไดน้อยใหญ่” กลายเป็นหายนะอย่างแท้จริงจากความพยายามเอารัดเอาเปรียบบรรดาเกมเมอร์ “ด้วยการมุ่งขายสารพัดไอเทมภายในเกมจนเกินงาม” ซึ่งเจ้าของผลงานสุดอื้อฉาวนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเขาก็คือ....บริษัท EA ที่บรรดาเกมเมอร์แสนรักใคร่นั่นเอง!
...
หรืออีกหนึ่งกรณีแห่งความ “หายนะ” กับ แฟรนไชส์ Marvel จากน้ำมือของสตูดิโอ Square Enix ที่ทำดันไปปล่อยเกม Marvel’s Avengers Game ที่ยังทำไม่เสร็จดีออกวางจำหน่าย จนกระทั่งทำให้เกมที่ควรจะทำเงินได้อย่างถล่มทลาย กลายเป็นเกมที่เรียกเสียงชื่นชมจากบรรดาเกมเมอร์ไปทั้งสิบทิศแทน!
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาบรรดาวิดีโอเกมที่เป็นผลพวงจากลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ นั้น ก็มักจะมียอดขายที่ไม่สู้ดีนักด้วย ด้วยเพราะสตูดิโอพัฒนาเกมต่างๆ เมื่อต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์มหาศาลให้กับ “ดิสนีย์” แล้ว สิ่งที่พวกเขามองหาคือ “จะทำอย่างไรเพื่อได้เงินคืนมาให้เร็วที่สุดโดยใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด” ด้วยอาจเพราะเชื่อว่า...ไม่ว่าจะทำเกมอย่างไรออกมาก็มี “สาวกเดนตาย” คอยให้การสนับสนุนอยู่แล้ว!
และด้วยเหตุผลนี้เอง...จึงทำให้ “เกมที่แปะลิขสิทธิ์ดิสนีย์” ส่วนใหญ่ จึงมักถูกผลิตด้วย “ต้นทุนที่ไม่สูงนัก” จนเป็นเหตุให้ขาดแคลน “คุณภาพ” ในแบบที่บรรดาเกมเมอร์ตั้งความหวัง
...
อย่างไรก็ดีดูเหมือนตอนนี้จะมีเกมจาก "Marvel" เพียงเกมเดียวที่ได้รับการยอมรับจากเกมเมอร์ในแง่ของคุณภาพจนนำไปสู่ยอดขายที่น่าปลื่มปริ่ม เพียงแต่...เกมจาก Marvel ที่ว่านี้ กลับเป็น แฟรนไชส์เกม Spider Man ที่ปัจจุบัน Sony ถือครองลิขสิทธิ์อยู่!
2. การเข้าซื้อ สตูดิโอ Activision Blizzard ของ Microsoft
หากการรุกเข้าขยายตลาดวิดีโอเกมของ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ด้วยการทุ่มเงินมากกว่า 68,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.5 ล้านล้านบาท) เพื่อกลืนกิน “สตูดิโอแอคติวิชัน บลิซซาร์ด” (Activision Blizzard) เจ้าของแฟรนไชส์หมื่นล้านจากอภิมหาเกม FPS อย่าง Call of Duty ที่ปัจจุบัน “ยังมีข้อต่อสู้เรื่องการผูกขาดตลาดวิดีโอเกม” เกิดประสบความสำเร็จได้ในบั้นปลายขึ้นมาจริงๆ โอกาสในการเข้าซื้อ EA ของ ดิสนีย์ “ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้” เช่นกัน (ข่าวอัปเดตล่าสุดวันที่ 12 ต.ค. 66)
...
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
3. การต่อยอดปั๊มเงินจาก แฟรนไชส์ FIFA (Opps!...ไม่ใช่สิต้อง) แฟรนไชส์ FC :
ปัจจุบัน “ดิสนีย์” เป็นเจ้าของ ESPN ช่องกีฬาทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ หากเกิดได้ EA ซึ่งมี สารพัดแฟรนไชส์อเมริกันเกม โดยเฉพาะ “แฟรนไชส์ฟุตบอลปั๊มเงินรายปี” มาไว้ในอุ้งมือ การตัดสัมพันธ์กับ FIFA ของ EA ย่อม (อาจ) ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แถมมันยังจะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญสำหรับการต่อยอดธุรกิจให้กว้างไกลออกไปได้มากขึ้น ด้วยโดยเฉพาะตลาดกีฬาโลก
เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ สถานะของวิดีโอเกม ณ ปัจจุบัน นั้น ถือเป็น “หนึ่งในกิจวัตรประจำวัน” ที่คนรุ่นใหม่ ต้องสละเวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวันไปแล้ว
*** หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 13 ต.ค. 2566 ***
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :