การขยายตัวของอุตสาหกรรม K-POP ผลักดันให้การสร้าง Girl Group พุ่งขึ้นสูงมากน้อยแค่ไหนแล้ว?...

การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของอุตสาหกรรม K-POP ณ ยุคปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังกลายเป็นจุดสนใจ คือ “เกิร์ลกรุ๊ป” ที่กำลังขยายบทบาทของตัวเองในอุตสาหกรรมนี้...มากขึ้นและมากขึ้นทุกที 

โดยตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ การที่วง TWICE ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการบุกเข้าสู่ดินแดนสุดหินอย่าง “วงการเพลงญี่ปุ่น” และกลายเป็นเกิร์ลกรุ๊ปวงแรกของวงการ K-POP ที่สามารถสร้างยอดขายอัลบั้มได้เกิน 1 ล้านก๊อบปี้ 

และแน่นอน...“ปรากฏการณ์สั่นสะเทือนตลาดอเมริกาเหนือ” ของ "BLACKPINK" ที่ส่งให้พวกเธอกลายเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ป ที่มีผู้ติดตามบน YouTube มากถึง 91 ล้าน Subscribe! และสามารถสร้างยอดขายถล่มทลายถึงขนาดกินส่วนแบ่งยอดขายอัลบั้มเพลงของศิลปินหญิงในประเทศเกาหลีใต้ได้ถึง 20% ในปี 2021 

...

และล่าสุดแม้เพียง “ความคลุมเครือ” เรื่องการต่อสัญญาของเมมเบอร์ กลับมีอิทธิพลถึงขนาดทำให้ราคาหุ้นของ 1 ใน 4 บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง YG Entertainment “เกิดแรงสั่นไหว” ในระดับที่ไม่ต่างกับที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีอื้อฉาวของวงบอยแบนด์ระดับตำนาน BIGBANG เลยทีเดียว  

ว่าแต่...กว่าที่วงเกิร์ลกรุ๊ปสักวงหนึ่งจะมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรม K-POP ได้มากมายถึงขนาดนี้ “ต้นทุน” สำหรับการฟูมฟักเหล่าสาวๆ จนกระทั่งกลายเป็น “กลุ่มศิลปินอันเฉิดฉาย” นั้น มีราคาที่ต้องจ่ายมากน้อยเพียงใด? รวมถึงใครคือกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนหลักของเหล่าไอดอลสาวเหล่านี้กันบ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกันสำรวจข้อมูลที่ว่านี้ร่วมกัน! 

ต้นทุนเฉลี่ยสำหรับการสร้างเกิร์ลกรุ๊ป : 

จากรายงานของสื่อในประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า ต้นทุนการสร้างวงเกิร์ลกรุ๊ปในประเทศจากเดิมช่วงต้นยุค 2000 อยู่ที่เฉลี่ยประมาณวงละ 1,000 ล้านวอน (27 ล้านบาท) หากแต่ ณ ปัจจุบัน “ราคาที่ต้องจ่าย” ได้เพิ่มขึ้นไปเป็น 2-3 เท่าแล้ว!

โดยประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากโปรดิวเซอร์และบริษัทในอุตสาหกรรม K-POP ซึ่งได้ออกมายอมรับว่า ต้นทุนการสร้างเกิร์ลกรุ๊ป อยู่ที่ประมาณ 2,000-5,000 ล้านวอน (54 ล้านบาท- 135 ล้านบาท) หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,178 ล้านวอน (86 ล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่าย (อย่างน้อย) ในระยะเวลา 3 ปีจนถึง Debut

แล้วค่าเฉลี่ยต้นทุน 3,178 ล้านวอนที่ว่านี้...ใช้ไปกับค่าใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง?

1. การฝึกฝนและบริหารจัดการ คิดเป็นสัดส่วน 10% : 323 ล้านวอน (8.7 ล้านบาท) 

2. ผลิต Album คิดเป็นสัดส่วน 80% : 2,547 ล้านวอน (69 ล้านบาท) 

3. จ้างทีมงาน คิดเป็นสัดส่วน 4% : 131 ล้านวอน (3.5 ล้านบาท)

4. ค่าสตูดิโอสำหรับฝึกซ้อม คิดเป็นสัดส่วน 3% : 95 ล้านวอน (2.5 ล้านบาท)

5. ค่าเช่าที่พัก (สำหรับศิลปิน) คิดเป็นสัดส่วน 3% : 82 ล้านวอน (2.2 ล้านบาท)

...

เหตุใดต้นทุนการสร้างเกิร์ลกรุ๊ปจึงเพิ่มสูงขึ้น : 

ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เมื่อกระแสของ K-POP สามารถเข้าแทรกซึมในอุตสาหกรรมดนตรีโลกได้สำเร็จ บริษัทบันเทิงในเกาหลีใต้ได้ขยับเป้าหมายจากเพียงตลาดในประเทศออกสู่ระดับนานาชาติมากขึ้น

หากแต่สำหรับ “เกิร์ลกรุ๊ป” นอกจากความพยายามในการเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดต่างประเทศด้วยการเปิดออดิชันเพื่อเปิดพื้นที่ให้มีหนึ่งในเมมเบอร์เป็นชาวต่างชาติแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่กำลังเป็นเทรนด์ในเวลานี้ คือ “การสร้างความพรีเมียมให้กับวง” ผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์ของเหล่าไอดอลสาว

นั่นเป็นเพราะ...เหล่าบริษัทบันเทิงในเกาหลีใต้ เชื่อว่า ศิลปินเหล่านี้มี “อิทธิพล” อย่างสูงสำหรับเหล่าแฟนด้อมสาวๆ ในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะเหล่าสินค้าแบรนด์เนมสุดหรูหราตามศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ปัจจุบัน เกิร์ลกรุ๊ประดับท็อป ได้กลายเป็นตัวแทนของแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์หลายต่อหลายแบรนด์

...

แฟนด้อมสาวผู้สนับสนุนหลักของอุตสาหกรรม K-POP : 

บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ เชื่อว่า ประมาณ 70-90% ของแฟนคลับ K-POP เป็นผู้หญิง ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ทางการตลาดของ Samsung Securities พบว่า กลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง ให้ความสำคัญกับ “คุณค่าและความพึงพอใจส่วนบุคคล” เป็นลำดับแรก ซึ่งเพียงเท่านี้น่าจะเพียงพอแล้วว่า “เสาหลัก” ที่ให้การสนับสนุนวงการ K-POP อย่างเต็มที่คือ “กลุ่มแฟนด้อมสาว” 

คำถามต่อไปคือ เหล่าแฟนด้อมสาว ณ ปัจจุบัน คือใคร และมีส่วนร่วมในการช่วยผลักดันเหล่าเกิร์ลกรุ๊ปมากน้อยเพียงใด?

จากการสุ่มสำรวจทางออนไลน์ของสื่อในประเทศเกาหลีใต้ พบว่า “เหล่าแฟนด้อมสาว” ที่ชื่นชอบและให้การสนับสนุนวงเกิร์ลกรุ๊ปนั้น พบว่า กลุ่มพนักงานออฟฟิศ วัย 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเติบโตมาพร้อมการขยายตัวของอุตสาหกรรม K-POP คือกลุ่มผู้สนับสนุนหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 53% 

ด้านเงินทุนที่กลุ่มแฟนด้อมสาวใช้ในการสนับสนุนวงเกิร์ลกรุ๊ปที่ตัวเองชื่นชอบนั้น พบว่าสัดส่วนที่มากที่สุด คืออย่างน้อย 100,000 วอน (2,700 บาท) ต่อเดือน มีสัดส่วนมากที่สุดโดยคิดเป็น 41% และกลุ่มที่ให้การสนับสนุนมากกว่า 1 ล้านวอน (27,099 บาท) ต่อเดือน มีสัดส่วนถึง 15% 

...

ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจดังกล่าวยังพบอีกว่า เหล่าแฟนด้อมสาว ซึ่งมีความชื่นชอบในการรับชมคอนเทนต์และมักแชร์ต่อให้กับบุคคลอื่นๆอย่างสม่ำเสมอนั้น มีค่าเฉลี่ยการใช้เวลาในการมีส่วนร่วมเพื่อรับชมคอนเทนต์ของวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อวันสูงถึง 45% และ 3-5 ชั่วโมงต่อวัน ถึง 32% ด้วย

หากแต่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจครั้งนี้ คือ แนวโน้มสำคัญที่ทำให้แฟนด้อมสาวหันมาชื่นชอบและสนับสนุนวงเกิร์ลกรุ๊ปเพิ่มมากขึ้นเป็นเพราะพวกเธอเชื่อว่า เหล่าเกิร์ลกรุ๊ป น่าจะมีความเสี่ยงในการเข้าไปพัวพันกับการสร้างเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ได้น้อยกว่าศิลปินฝ่ายชาย และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเธอรู้สึกสบายใจมากขึ้นในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเหล่าเกิร์ลกรุ๊ป!

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :