Castlevania: Symphony of the Night ดนตรีแห่งราตรีกาล ที่ยังดังกังวานแม้ผ่านมากว่า 25 ปี...
Intro :
สำหรับในรายการรู้รอบเกมตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงหนึ่งในซีรีส์เกมอมตะอย่าง Castelvania และยกย่องว่า Super Castlevania IV “เป็นหนึ่งในเกมที่ยอดเยี่ยมที่สุดบนเครื่อง Super Famicom” กันไป
แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้ตั้งคำถามเกริ่นนำเอาไว้ด้วยว่า แล้วเกมภาคที่ดีที่สุดของซีรีส์นี้คือภาคไหน? ในวันนี้ผมจะมาเฉลยว่าเกม Castlevania ภาคใด ที่ถูกขนานนามว่าเป็นภาคที่ดีที่สุดของซีรีส์ จากการค้นคว้าหาข้อมูลไม่ว่าจะการจัดอันดับ หรือแม้แต่บทความเชิงวิเคราะห์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์ เราก็จะพบว่า Castlevania: Symphony of the Night เป็นภาคที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางที่สุด และถูกยกย่องจากแฟนๆ อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ถ้าคุณจะเล่น Castlevania สักภาคมันก็ต้องเป็นภาคนี้ เพราะฉะนั้นในวันนี้ ผมจะมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความยิ่งใหญ่ของมันให้ทุกคนได้ฟังกัน เชิญรับชมกันได้เลยครับ
...
ก่อน Symphony of the Night :
Castlevania เป็นเกมที่วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1986 ให้กับเครื่อง Nintendo Entertainment System หรือที่บ้านเรารู้จักกันในชื่อ Famicom ถูกสร้างขึ้นบนแผ่นดินญี่ปุ่นโดยค่ายเกมยักษ์ใหญ่ของยุคนั้นอย่าง Konami โดยชื่อในภาษาญี่ปุ่นคือ Akumajō Dracula หรือแปลเป็นไทยคร่าวๆ ว่า ปราสาทปิศาจแดร็กคูล่า, แดร็กคูล่าซาตานเจ้าปราสาท แต่เมื่อเกมถูกนำไปขายในฝั่งตะวันตก ผู้บริหารของโคนามิอเมริกาไม่สะดวกใจกับการมีคำว่า “ปิศาจ” หรือว่า “ซาตาน” อยู่ในชื่อเกม เพราะกลัวว่ามันจะเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นกระทบกระแทกแดกดันเสียดสีศาสนาและศาสนิกชนมากเกินไป จนอาจจะมีปัญหากับกองเซนเซอร์ได้ ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนชื่อเกมเป็น Castlevania ซึ่งก็เป็นการนำเอาชื่อ Transylvania บ้านเกิดของตำนานแดร็กคูล่ามาตัดคำนำหน้าออกแล้วใส่คำว่า Castle ที่แปลว่าปราสาทเข้าไปแทน แต่สำหรับบ้านเรานั้น เกมเมอร์ชาวไทยเรียกเกมนี้ว่าเกม “แส้” เพราะด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายเหลือเกิน พระเอกของเกมนั้นใช้แส้เป็นอาวุธ!
ผู้กำกับเกมคนแรกที่ได้รับเครดิตว่าเป็นบิดาผู้สร้างซีรีส์นี้ขึ้นมาคือคุณ Hitoshi Akamatsu (ฮิโทชิ อาคามัตสึ) ที่ต้องการผสมผสานเอาสิ่งที่เขาชอบสองอย่างเขาไว้ด้วยกัน นั่นคือภาพยนตร์สยองขวัญคลาสิกที่มีปิศาจในตำนานต่างๆ กับหนังแอ็กชันอย่าง Indiana Jones เข้าด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือเกม Castlevania ที่ได้นำเสนอสิ่งที่ค่อนข้างแตกต่างจากเกมทั่วไปในสมัยนั้น ตั้งแต่ธีมของเกมที่ออกแนว Gothic Horror ซึ่งสร้างความน่าหวาดกลัว, เนื้อเรื่องแปลกใหม่ ที่ตระกูลนักล่าปิศาจถูกชะตาลิขิตให้เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับเจ้าชายแห่งรัตติกาล, เกมเพลย์ก็สนุก ออกแบบมาได้แตกต่างเพราะตัวเอกใช้อาวุธที่จะบอกว่าเป็นอาวุธประชิดก็ไม่ใช่ อาวุธระยะไกลก็ไม่เชิงอย่างแส้ ซึ่งมีรัศมีอาณาเขตการโจมตีที่ไม่เหมือนอะไรเลย ไกลกว่าดาบใกล้กว่าปืน และมีจังหวะความหน่วงที่ผู้เล่นต้องทำความเคยชินกับมัน แต่ก็ทรงพลังมากพอที่หากมีใครสักคนมั่นใจในฝีมือ ก็สามารถจบเกมนี้ได้โดยไม่ต้องเก็บพาวเวอร์อัปใดๆ ของเกมเลย แถมขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความยากแบบไร้ปรานี, และดนตรีประกอบที่เฉียบขาด
จริงๆ ผมเสนอว่าถ้าใครอยากจะศึกษาเกม Castlevania ในอนาคต ให้ตั้งประเด็นด้านดนตรีเจาะเป็นหัวข้อแยกไปเลยครับ เพราะมันเหมือนเป็นพระเอกที่ไม่มีใครสนใจเท่าที่ควรของซีรีส์ ผู้เล่นอาจจะไปตื่นตาตื่นใจกับกราฟิกของเกมแต่ละภาคที่สวยงามและวิวัฒนาการให้ล้ำหน้าขึ้นมาตามยุคสมัย หรือว่าความเท่ของเหล่าตัวละครทั้งฝ่ายดีฝ่ายร้าย แต่ว่าดนตรีนี่ถือว่าเป็นทีเด็ดของเกมแทบทุกภาคที่ผมคิดว่าถูกพูดถึงน้อยไปหน่อย
ตัวเกมประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในทันทีทั้งด้านยอดขายและคำวิจารณ์ครับ และถูกสร้างภาคใหม่ติดตามมาอย่างต่อเนื่องบนหลายแพลตฟอร์ม ตั้งแต่จุดกำเนิดของเกมในปี 1986 ไปจนถึงปี 1995 เกือบหนึ่งทศวรรษที่มันอยู่ในวงการเกม ซีรีส์ Castlevania วางจำหน่ายไปทั้งหมด 12 ภาค บนเครื่อง Famicom 3 ภาค, บน Gameboy อีก 3 ภาค, Super Famicom อีก 2 ภาค, MegaDrive 1 ภาค, รวมถึงตู้อาเขต, PC และเครื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีทั้งที่เป็น ออริจินัลเวอร์ชัน, พอร์ตเวอร์ชัน, แล้วก็รีเมกเวอร์ชัน โดยตัวเกมทุกภาค สามารถคงเอกลักษณ์ของเกมเอาไว้ได้แทบเหมือนเดิมทุกประการ และมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบสำคัญค่อนข้างน้อยมาก
...
จุดเปลี่ยน :
สถิติความไวในการปั๊มเกมออกมาวางจำหน่ายถึง 12 เกมใน 9 ปี ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจและสะท้อนสภาวะการสร้างเกมในสมัยนั้นออกมาได้ค่อนข้างมากเลยนะครับ เพราะหากคุณพิจารณาลึกลงไป มันไม่มีทางที่ทีมพัฒนาเพียงทีมเดียวจะรับผิดชอบงานมากมายขนาดนี้ได้ภายในระยะเวลาจำกัด กว่าจะสร้างเกมมาขายสักเกมมันต้องใช้เวลาเป็นปีอยู่แล้ว มันจึงหมายความว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น Castlevania ได้ถูกพัฒนาและมีผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบโปรเจกต์คนละคนกัน มันหมายถึงการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเกมได้ลองผิดลองถูกกับไอเดียใหม่ๆ ทำให้พวกเขาสร้างบุคคลากรช้างเผือกออกมาประดับวงการได้มากมายเหลือเกิน
หนึ่งในนั้นคือคุณ Koji Igarashi (โคจิ อิการาชิ) ผู้กำกับที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการสร้าง Castlevania: Symphony of the Night แต่เราจะพูดถึงคุณอิการาชิ และเกมภาคนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่พูดถึงรุ่นพี่/หัวหน้า/อาจารย์ของเขา นั่นก็คือคุณ Toru Hagihara (โทรุ ฮากิฮาระ)
คุณฮากิฮาระเองเป็นโปรแกรมเมอร์ของโคนามิที่พิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้บริหารเขาเป็นตัวจบโปรเจกต์สำคัญของทางค่ายและซีรีส์นี้อย่าง Castlevania II: Belmont’s Revenge บนเครื่อง Gameboy และ Castlevania: Rondo of Blood บนเครื่อง PC Engine Super CD-ROM ซึ่งโดยตัวของมันเองก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องจากว่า Rondo of Blood นับเป็นวิวัฒนาการร่างสุดท้ายของ Castlevania ที่รวบรวมเอาความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างจากการสร้างภาคก่อนๆ ทั้งหมดมาผสมผสานขัดเกลาจนมีความกลมกล่อมลงตัว สนุกครบเครื่องที่สุดของซีรีส์ ณ เวลานั้น ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
...
ช่วงที่คุณโทรุกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา Rondo of Blood คุณอิการาชิรับผิดชอบการเขียนบทให้กับอีกเกมหนึ่งของค่ายโคนามิ และเป็นเกมระดับตำนานเช่นกันครับ นั่นก็คือ Tokimeki Memorial ซึ่งมันเป็นเกมจีบสาว และเขาก็เบื่อมันมาก!
ขณะเดียวกันนั้นแฟนสาวของคุณอิการาชิกลับรับผิดชอบการสร้าง Rondo of Blood และเขาก็ตื่นเต้นกับโปรเจกต์ของแฟนมากกว่างานของตัวเองเสียอีก จนกระทั่งทั้งสองเกมปิดโปรเจกต์ ทำเสร็จ วางจำหน่าย ตัวคุณฮากิฮาระก็ถูกวางตัวให้ไปสร้าง Castlevania ภาคใหม่ โดยคุณอิการาชิ คราวนี้ขอย้ายตำแหน่งมาเป็นลูกทีมในโปรเจกต์เกมนี้และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ แต่หลังจากที่การพัฒนาผ่านไปสักระยะผู้หลักผู้ใหญ่ในโคนามิต้องการให้คุณฮากิฮาระไปรับตำแหน่งบริหารที่ใหญ่ว่ารับผิดชอบการพัฒนาเกมๆ เดียว ทำให้ Castlevania ภาคนั้น ถูกโอนไปให้คุณอิการาชิซึ่งถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้กำกับของเกมคนเดียวอย่างเต็มตัว
คุณอิการาชิ เรียนรู้การทำงานจาก คุณฮากิฮาระ ในทุกๆ ด้านและยังนำเอาคอนเซปต์หลายอย่างจาก Castlevania ทุกภาคมาปรับใช้ในการสร้างเกมภาคใหม่ในตอนนั้น โดยเฉพาะ 3 ภาคล่าสุดของยุค 16-bit ที่มีมาตรฐานด้านเกมเพลย์ กราฟิก และดนตรีที่สูงมากอย่าง Super Castlevania IV, Bloodline, และ Rondo of Blood เช่นเรื่องการแบ่งเส้นทางการเล่นที่ผู้เล่นสามารถเลือกใช้ทางที่ไม่เหมือนกันเพื่อไปพบบอสใหญ่ท้ายเกม และการใส่ปริศนาความลับของเกมที่ถูกซุกซ่อนใส่เอาไว้ให้ผู้เล่นค้นหา ซึ่งผมไม่อยากสปอยล์ให้ทุกคนเสียอรรถรสหากต้องการไปเล่นเอง และซ่อนเอาไว้ดีมากชนิดที่เรียกว่าคุณอาจจะเล่นเกมนี้จบโดยไม่ได้เห็นเนื้อหาของเกมกว่าครึ่งหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้ว Castlevania ภาคนั้นก็ได้กลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ที่ชื่อ Symphony of the Night
...
จุดเด่นของ Symphony of the Night ที่ทำให้มันกลายเป็นเกมที่แตกต่างจากเกม Castlevania ภาคก่อนหน้า คือการเน้นไปที่ระบบการสำรวจและปริศนาในแผนที่อันคดเคี้ยว, การใส่ระบบสะสมค่าประสบการณ์ให้ตัวละครแข็งแกร่งขึ้นเหมือนเกม RPG จนทำให้เกมง่ายขึ้นได้เมื่อผู้เล่นใช้เวลากับมันมากพอ, ไม่เพียงเท่านั้นอาวุธอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของซีรีส์อย่าง “แส้” ก็ได้ถูกเปลี่ยนออก แล้วแทนที่ด้วยอาวุธนานาชนิดที่หลากหลายจนทำให้เกมเพลย์แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือเอาแวมไพร์มาเป็นตัวเอกแทนคนจากตระกูลเบลมอนท์ เขาคือแวมไพร์หนุ่มโฉมงามผู้มีนามว่า Alucard อลูการ์ด หลายคนอาจจะไม่ทราบนะครับว่า อลูการ์ด นั้นมีประวัติเป็นบุตรชายของแดร็กคูล่า และได้ปรากฏตัวในฐานะตัวละครสมทบของซีรีส์เป็นครั้งแรกใน Castlevania III: Dracula's Curse ซึ่งถือว่าเป็นภาคที่ดีที่สุดของเครื่อง Famicom แต่ครั้งนี้เขาได้รับบทนำเป็นตัวเอกของเรื่อง
แม้แต่ด้านกราฟิกของเกมก็ยังมีความพิเศษมากๆ ครับเพราะมันเป็นช่วงยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างภาพ 2 มิติ มาสู่เกมที่ใช้กราฟิก 3 มิติ ซึ่ง Symphony of the Night ก็ใช้การผสานเอาทั้งสองอย่างเข้าไว้ด้วยกัน เช่น ตัวละครเป็น 2 มิติ ฉากหลังและวัตถุภายในฉากเป็น 3 มิติ ซึ่งเพิ่มความแปลกให้กับงานภาพของเกมอย่างมาก แม้แต่ดีไซน์ศัตรูภายในเกมก็ยังมีจำนวนมากถึง 150 ชนิด เรียกได้ว่าทีมพัฒนาปล่อยของแบบไม่กั๊กไม่ยั้งใดๆ ทั้งสิ้น
และในระหว่างการสร้าง Symphony of the Night นี่เอง ที่ทีมงานได้ไปคว้าตัวเพชรเม็ดงาม artist ผู้มีฝีมือระดับเอกอุ ที่จะสร้างงานศิลป์อันลือลั่นทรงคุณค่า เป็นหน้าเป็นตาให้กับซีรีส์ Castlevania นับตั้งแต่นั้น คุณ Ayami Kojima อายามิ โคจิมา ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่ภาพปกเกมไปจนถึงคาแรกเตอร์ดีไซน์อันไร้ที่ติ จนส่งให้ทั้งงานของเธอ และตัวเกมกลายเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งอย่างไร้ข้อกังขา
Outro :
หลังจากการทุ่มเทพัฒนาตัวเกมเป็นเวลากว่า 2 ปี Symphony of the Night ก็ถูกวางจำหน่ายในปี 1997 บนเครื่อง PlayStation พร้อมกับกระแสตอบรับที่ดีมาก กับการสร้างสรรค์เกม 2 มิติ ในยุคที่เกม 3 มิติกำลังขยายอิทธิพลอย่างแพร่หลาย และเป็นการรวมตัวกันของยอดฝีมือจากแวดวงต่างๆ ทั้งเกมดีไซน์เนอร์ อาร์ทติส และนักดนตรี ให้มาร่วมกันสร้างผลงานที่เป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา ตัวเกมประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และเปลี่ยนแปลงซีรีส์นี้ไปตลอดกาล
ประการแรก Castlevania แทบทุกภาคต่อจากนี้ ได้แรงบันดาลใจไม่มากก็น้อย จาก Symphony of the Night ทั้งสิ้น และเป็นความสำเร็จที่โคนามิเองก็อยากจะเลียนแบบให้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีภาคไหนที่ทำได้ดีเทียบเท่าอีกเลย
ประการที่สอง นี่คือ Castlevania ภาคที่ให้กำเนิด sub-genre ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลกวิดีโอเกมอย่าง Metroidvania ที่กลายเป็นต้นแบบให้นักพัฒนาเกมรุ่นหลังจำนวนมาก ได้สร้างผลงานในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่ถูกบอกเล่าด้วยเรื่องราว งานภาพ หรือเกมเพลย์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของเกมต้นฉบับมาจนถึงปัจจุบัน
และประการสุดท้าย เช่น แม้ Castlevania: Symphony of the Night จะถือว่าเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในยุคสมัยของมัน แต่ยิ่งเมื่อวันเวลาผ่านไป วงการเกมก็ยังคงมองย้อนกลับหลังมาและเห็นมันเป็นหมุดหมายสำคัญว่า นี่คือหนึ่งในวิดีโอเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล เท่าที่เคยถูกสร้างมาบนโลกใบนี้
ปัจจุบันนี้กระแสของ Castlevania เองก็ยังคงร้อนแรงไม่เคยจางหายไป โดยเฉพาะเมื่อมีซีรีส์อันยอดเยี่ยมของ Netflix ในช่วง 4-5 ปีหลังที่ผ่านมา ช่วยกระตุ้นความสนใจให้กับเหล่าเกมเมอร์ทั้งหน้าเก่าและใหม่อย่างต่อเนื่อง จากจุดนี้เราคงได้แต่หวังว่าซีรีส์เกมนี้จะได้กลับมาโลดแล่นในวงการเกมอีกครั้ง หลังจากการหลับใหลอันยาวนาน ราวกับแดร็กคูล่า ตำนานต้นกำเนิดของตัวเกมนั่นเอง
อ่านบทความและรับชมคลิปรายการ "รู้รอบเกม" จาก "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" เพิ่มเติม :