"คอบร้า" ตำนานที่ถูกปิดเล่ม หลังการจากลาของ "อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า” (Buichi Terasawa) ศิลปินผู้รันวงการมังงะด้วยดิจิทัล...
ศิลปินมังงะผู้มาก่อนกาล “อาจารย์ทาเคอิจิ เทราซาว่า” (Takeichi Terasawa) หรือชื่อที่ชาวโลกรู้จักในนาม “บูอิจิ เทราซาว่า” (Buichi Terasawa) ผู้สร้างตำนานมังงะไซไฟสุดล้ำลึกแห่งยุค 80 ที่ “ลูกผู้ชายทุกคนต้องรู้จัก” อย่าง “สลัดอวกาศคอบร้า” หรือ “คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า” (Cobra) อันแสนโด่งดัง ได้เดินทางมาถึง “หน้าสุดท้ายของฉากชีวิตในที่สุด”
หลังสื่อมวลชนในประเทศญี่ปุ่นรายงานอย่างเป็นทางการว่า “อาจารย์ผู้สร้างหนุ่มมากเสน่ห์ที่มีแขนซ้ายเป็นปืนไซโคกัน” (Psychogun) ซึ่งออกท่องผจญภัยไปทั่วกาแล็กซี ท่ามกลางสาวงามไม่เว้นแต่ละตอน ได้ถึงแก่กรรมจาก ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) หรือภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิตในที่สุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2023 สิริอายุ 68 ปี
...
โดย “มานาบุ ฟูรุเซะ” (Manabu Furuse) CEO ของ Terasawa Production (สตูดิโอที่อาจารย์บุอิจิ เทราซาว่า ก่อตั้งขึ้น) ได้โพสต์ข้อความที่ระบุถึงมรณกรรมของอีกหนึ่งตำนานแห่งโลกมังงะบนโซเชียลมีเดียโดยระบุถึงการจากไปของ “บูอิจิ เทราซาว่า” เอาไว้ว่า...
“แม้จะผ่านการผ่าตัดและทำเคมีบำบัดจากอาการเนื้องอกในสมองมาแล้วถึง 3 ครั้ง (การผ่าตัดครั้งที่ 2 ทำให้อาจารย์เป็นอัมพาตครึ่งซีกซ้าย ซึ่งเป็นข้างเดียวกับปืนไซโคกันในตำนาน)
แต่อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า ก็ยังสามารถรอดชีวิตมาได้ราวกับพลังชีวิตอันล้นเหลือของคอบร้า ตัวละครที่อาจารย์เป็นผู้สร้างขึ้น แต่แล้วอาจารย์ก็ต้องมาจากไปด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย พวกเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อความมีน้ำใจที่อาจารย์ได้มอบให้กับพวกเรามาตลอดทั้งชีวิต
และเราอยากขอแจ้งให้ทุกท่านได้รับทราบว่า ทางครอบครัวจะขอจัดพิธีศพให้กับอาจารย์อย่างเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ฉะนั้นจึงขอได้โปรดร่วมกันสวดภาวนาให้ดวงวิญญาณของอาจารย์ได้ไปสู่สุคติ”
บูอิจิ เทราซาว่า ศิลปินมังงะผู้อยู่เหนือจินตนาการ :
อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า เกิดวันที่ 30 มี.ค. 1955 เมืองอาซาฮิคะวะ จังหวัดฮอกไกโด โดยผู้สร้างตำนานสลัดอวกาศคอบร้า เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมมังงะในปี 1976 หลังเดินทางมาที่กรุงโตเกียว เพื่อเริ่มเรียนรู้และฝึกฝนการวาดมังงะกับ “อาจารย์เทะสึคะ โอซามุ” (Tezuku Osamu) บิดาของมังงะแห่งตำนานเจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy)
จากนั้นเมื่อเริ่มพัฒนาฝีมือจนได้รางวัล Tezuka Prize สาขาผลงานสร้างสรรค์ดีเด่นในปี 1977 โลกมังงะจึงเริ่มเปิดกว้างให้กับ “อาจารย์บุอิจิ เทราซาวา” จนกระทั่ง มังงะนามกระเดื่องโลกอย่าง “คอบบร้าเห่าไฟสายฟ้า” ได้รับการตีพิมพ์ลงบนนิตยสารการ์ตูนอันทรงอิทธิพลของประเทศญี่ปุ่นอย่าง “โชเน็นจัมป์” (ตั้งแต่ปี 1978-1984) จนกระทั่งมันได้กลายเป็น “ตำนานมังงะและอนิเมะไซไฟล้ำยุค” ที่ชาวโลก (โดยเฉพาะโลกตะวันตก) ต้องก้มหัวคารวะด้วยความเต็มใจ
...
นั่นเป็นเพราะ....“คอบร้า” ที่ว่าด้วยโจรสลัดอวกาศที่มีร่างกายแข็งแกร่งราวกับเป็นอมตะ แถมยังมีแขนซ้ายยังเป็นปืนเทพเจ้าไซโคกัน ที่สามารถสั่งการวิถีการยิงได้จากสมองโดยตรง จนทำให้สามารถยิงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำแม้ว่าจะหลับตาอยู่ก็ตาม
เต็มไปด้วย...กลิ่นอายของจินตนาการที่สุดเพริศแพร้วที่บ่งบอกถึง “ความเป็นอนาคต” ได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งการออกแบบเครื่องแต่งกายของตัวละคร โดยเฉพาะกับคาแรกเตอร์หญิงที่ออกไปในแนวเซ็กซี่สุดจัดจ้านจนแทบไม่อยากจะเชื่อว่ามันจะสามารถถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชายในยุคนั้นได้ ภายใต้ความเชื่อของอาจารย์ที่ว่า ณ โลกยุคนั้นมนุษย์ได้ยกเลิกเส้นแบ่งหญิงหรือชายลงได้สำเร็จแล้ว
เรื่อยไปจนกระทั่งถึง...การออกแบบ “อะไรต่อมิอะไรก็ตาม” ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอันไกลโพ้น Far Far Away ที่สุดล้ำยุค และเข้ากับแนว Space Opera ได้อย่างลงตัว
จนส่งให้ “คอบร้า” กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนแห่งยุค 80 และได้ถูกนำไปเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์อนิเมะออกฉายทางโทรทัศน์ในช่วงปี 1982 ก่อนที่มันจะกลายเป็นปรากฏการณ์สุดฮิต และถูกนำไปเผยแพร่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
...
บูอิจิ เทราซาว่า กับการรันวงการมังงะด้วยดิจิทัล :
อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า ยังถือเป็น “ศิลปินมังงะหัวก้าวหน้า” ที่สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำว่า “คอมพิวเตอร์” จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานมังงะในยุคต่อไป ทำให้ในช่วงต้นยุค 80 ผู้สร้างตำนานไซโคกัน จึงได้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเอง มาใช้สำหรับ “RUN” วงการมังงะของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
โดยเริ่มประเดิมจาก ปี 1985 มีการตีพิมพ์มังงะซีรีส์ “Black Knight BAT” พิมพ์ 8 สี ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกลงใน “โชเน็นจัมป์” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ล้ำยุคมากๆ ณ เวลานั้นออกมาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการ
ต่อมาในปี 1992 ซีรีส์มังงะ “TAKERU ราชินีนัยน์ตาแฝด” ได้กลายเป็นมังงะเรื่องแรกของโลกที่มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้ในการสร้างผลงานเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ซีรีส์มังงะ Gun Dragon Sigma ที่ตามหลังมาในปี 1999 ยังถูกสร้างให้ “เหนือระดับมากขึ้น” จากการใช้เทคนิคนำ “ภาพถ่ายเฉพาะตัวละครหลัก” มาผสมผสานกับ Background และ ตัวละครอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์กราฟิก 3 มิติ จนสามารถเรียกเสียง Wow ดังๆ จากแฟนมังงะทั่วโลก
...
ขณะเดียวกัน อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า ยังถือเป็นศิลปินในลำดับต้นๆ ของโลกที่ถูกนำผลงานซีรีส์มังงะบุกเข้าสู่โลกดิจิทัลด้วย โดยผลงาน “COBRA and The Legend of The Black Dragon King” และ “COBRA 2 A Man of Legend” ถูกนำไปทำเป็น “Digital Manga” ในรูปแบบ “ซีดีรอม” สำหรับนำไปดูบนคอนโซล PC Engine ในปี 1989 และ 1991 ด้วย!
ทำให้ปัจจุบัน...แม้ว่าการนำคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้ในวงการการ์ตูนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ผลงานของ อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า ก็ยังคงได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะอันล้ำค่า และมีศิลปินเพียงไม่กี่คนบนโลกใบนี้เท่านั้น ที่จะสามารถเข้าใกล้ทั้งแนวคิดและคุณภาพที่อาจารย์ได้สร้างมาตรฐานเอาไว้ได้
ทั้งนี้ สื่อมวลชนในประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า ผลงานรวมเล่มของ “บูอิจิ เทราซาว่า” ทุกเรื่องซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากกว่า 10 ประเทศ มียอดขายรวมกันมากกว่า 30 ล้านก็อปปี้!
บูอิจิ เทราซาว่า กับ ความทุกข์ทรมานจากอาการป่วย :
ท่ามกลางความรุ่งโรจน์จากผลงานที่ส่งให้ “อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า” กลายเป็นศิลปินมังงะแถวหน้าได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่แล้วจู่ๆ ในปี 1998 ผลการตรวจสุขภาพประจำปีทำให้พบว่ามี “เนื้องอกในสมอง” จนทำให้อาจารย์ต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรก ตามที่มีประกาศให้แฟนๆ ได้รับทราบอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของอาจารย์ ในปี 2003 นั้น “แสงอันเจิดจ้า” ของศิลปินมากจินตนาการผู้นี้ก็เริ่มแปรเปลี่ยนจนกระทั่งค่อยๆ ริบหรี่ลง
โดยในการผ่าตัดสมอง การฉายแสง และการรักษาด้วยเคมีบำบัดครั้งแรกนั้น อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ว่า...
“มันทำให้ผมสูญเสียกำลังกาย และทำให้เส้นผมที่อยู่บริเวณศีรษะด้านขวาร่วงเกือบทั้งหมด แต่ผมก็รอดชีวิตมาได้”
อย่างไรก็ดีในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อตรวจพบ “เนื้องอกในสมอง” อีกครั้ง อาจารย์จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองและเคมีบำบัดอีกเป็นครั้งที่ 2 หากแต่คราวนี้...ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดและการรักษาถึงกับทำให้ “อัจฉริยะที่โลกกำลังจับตา” ต้องพบกับ “ปัญหาทางร่างกาย” ที่มีผลกระทบต่อการสร้างผลงานศิลปะอย่างหนักหน่วงที่สุด...
“การผ่าตัดครั้งที่ 2 ทำให้ร่างกายซีกซ้ายของผมเป็นอัมพาตครึ่งตัว ผมต้องใช้ไม้เท้าสำหรับการช่วยเดิน เพราะขาซ้ายแทบจะไม่มีแรง ในขณะที่แรงยึดเกาะที่มือซ้ายก็อ่อนแอลงอย่างมาก จนทำให้ยากต่อทั้งการเขียนต้นฉบับหรือกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้เหมือนเดิม ในขณะที่มือขวาก็ไม่สามารถได้เหมือนปกติมากนัก ผมเริ่มตัวสั่นและหวาดกลัวเล็กน้อย เพราะมันทำให้ผมวาดภาพได้ยากขึ้น
คุณหมอที่รักษาผมหรือคนอื่นๆ บอกให้ผมลาออกจากงานที่คร่ำเครียด (การวาดมังงะ) เพื่อมาดูแลร่างกายของตัวเอง หากแต่ถ้าพวกเขาเอาความสามารถในการวาดภาพและสร้างสรรค์งานศิลปะของผมไป แล้วมันจะเหลืออะไร?
ถึงแม้ว่าปัญหามันอาจจะหนักหนา...แต่แรงบันดาลใจของผมไม่เคยลดลง เพราะผมยังมีเรื่องที่อยากจะพูดอีกมากมาย เพราะถึงแม้ว่าผมจะเขียน (มังงะ) ต่อไปอีกสัก 100 ปี จนมันอาจทำให้อายุของผมสั้นลง หากแต่ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ผมปรารถนา และผมยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ซึ่งจนกว่าจะถึงเวลานั้น ผมขอสาบานว่าจะยังคงรักษาความมุ่งมั่นนี้ไปตลอดทั้งชีวิต และก็เช่นเดียวกับคอบร้า.....เทราซาว่า ผู้นี้จะฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง!”
และอาจจะเป็นเพราะความมุ่งมั่นเช่นนี้ก็เป็นได้ ที่ทำให้แม้การผ่าตัดสมองและทำเคมีบำบัดในรอบที่ 3 จะทำให้อาการของอาจารย์ย่ำแย่ลง จนถึงกับต้องนั่งรถเข็น แต่ "อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า" ก็ยังสามารถผลักดันโปรเจกต์คอบร้าเวอร์ชันล่าสุด Cobra : Over the Rainbow ซึ่งถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Comic Walker และ Nico Nico ออกมาได้สำเร็จในปี 2019 และนั่นก็คือ...ผลงานลำดับท้ายๆ ที่ อาจารย์บูอิจิ เทราซาว่า ได้ฝากเอาไว้ให้กับโลกใบนี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง