"monster" ผลงานชิ้นล่าสุดของ "เทพ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ" ที่ว่าด้วยเรื่องลบร้ายในชีวิตผู้คนและสังคมนี้ ใครคือต้นเหตุของทั้งหมด...
เศษกระดาษที่ตกเกลื่อนกลาดในฉากสำคัญของหนัง "monster" ซึ่งกำลังฉายสตรีมมิงค่ายหนึ่งอยู่ในตอนนี้ จะว่าไป-ไม่ใช่ครั้งแรกๆ ที่เราได้เห็นในงานของ "ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ" หัวใจที่ตกแตก กระจัดกระจาย เคยพานพบอยู่ผ่านๆ ใน "our little sister" แหลกละเอียดใน "nobody knows" กอบกู้เกือบไม่ได้ใน "like father like son" และทุกอย่างที่กล่าวมา มีอยู่รวมกันอีกครั้งใน monster ผลงานล่าสุด ของ "เทพ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ"
ถ้าจะมีอะไรที่ต่างไปอยู่บ้าง จากหนังเรื่องอื่นๆ ในระยะหลังๆ ผมว่า monster ดูจริงจัง ซีเรียส มีการตั้งคำถามมากมาย และมากกว่าหนังช่วงหลังของ โคเรเอดะ เอง....หนึ่งในคำถามสำคัญ นั้นคือ เรื่องลบร้ายในชีวิตผู้คนและสังคมนี้ ใครคือต้นเหตุของทั้งหมด
...
ครู แม่ โรงเรียน หรือเด็ก?
แม่คนหนึ่งพบว่าลูกตัวเองเปลี่ยนไปหลังจากมีช่วงเวลาแปลกประหลาดในโรงเรียน ตัวละครในหนังของ โคเรเอดะ มักมีความลับในหัวใจที่ไม่เคยบอก และมักจะกลายเป็น "จุดเริ่มต้น" ของเรื่องทั้งหมด
แม่คิดว่าเธอคือผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนไปของลูก เป็นครูหรือโรงเรียนที่เป็นตัวการ ตำแหน่งที่ แม่ มองไปยังโรงเรียน ครูและลูก เป็นตัวแทนสายตาคนดู แต่ไม่ใช่สำรวจ หากแต่เป็น "หาแพะ"
ผมชอบแนวทางหนึ่ง โคเรเอดะ ไม่ตามเทรนด์กระแสหนังยุคใหม่ (อย่าลืมว่า เขาคือสุดยอดมือเขียนบท) หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "comedy relief" และหนังยุคใหม่หลายเรื่อง มักใช้ผสมผสานในบท เพื่อให้คนดูชอบใจ แต่ โคเรเอดะ ไม่ใช่คนที่จะทำอะไรง่ายๆ แบบนั้น
คำว่า "comedy relief" คือ การใส่ช่วงเวลา ใส่โมเมนต์ ใส่ซีนฉากที่ตลก เข้าไปในหนัง เพื่อให้คนดู "ผ่อนคลาย" จากพล็อตหลัก ตลกบังคับที่ว่านี้ อาจไม่เกี่ยวอะไรกับหนัง เผลอๆ โดดออกมาจากเรื่อง แต่ว่ากันว่า มันทำให้เกิด "อารมณ์สมดุล" ในหนัง คือไม่เครียดเกินไป ถ้าหนังมันตึง...มันคือการตลาดในการเขียนบท ที่หนัง ละคร ยุคใหม่ๆ จำเป็นต้องมี เพื่อเอาใจตลาด
นอกจาก monster หรืองานของ โคเรเอดะ จะไม่ตามกระแสตลาดแล้ว วิธีการเล่าเรื่องของ monster ก็ยังช้ากว่าปกติ เพื่อให้ความช้านั้น มีนัยสำคัญ ชัดเจน
เมื่อสปีดในการเล่าเรื่องไม่มีอยู่แล้ว คนดูจะค่อยๆ พบคำตอบว่า พฤติกรรมของเด็กๆ ที่เกิดขึ้น มาจากใคร ที่ไม่เคยคิดถึง
ซึ่งถ้าจะว่าไป และไม่สปอยล์หนัง-โดยมากตัวร้าย ผู้ร้าย คนร้าย ในงานของ โคเรเอดะ มักเป็น "นามธรรม" หรือถ้าจะเป็น "รูปธรรม" -ก็พวกเราทุกคนนั่นแหละ ที่ช่วยกันทำ
...
มีภาพหนึ่งที่ผมชอบ ใบหน้าของเด็กๆ ที่ "เปื้อน" อะไรสักอย่าง มองๆ ไป ก็เหมือนความซุกซนสนุกสนาน แต่ดูดีๆ มันก็ไม่ต่างอะไรจากปิศาจน้อย ไม่ต่างอะไรจากเอเลียน ในทางการตีความ
ผมรู้สึกว่า มันคือสิ่งที่หนังต้องการจะบอกว่า การที่ตัวละครดูไม่ใช่ human แบบนี้ ก็เพราะสังคมทุกฝ่าย ล้วนช่วยกัน "แต้มทา" ลงไปบนตัวเด็กๆ
"ครอบครัว" ยังคงเป็นแกนหลักในหนังทุกเรื่องของ โคเรเอดะ เขาสนุกสนาน ซีเรียส ตั้งคำถาม และปล่อยวาง...ซึ่งทุกเรื่องที่พอออกจากโรง-สิ่งที่มักจะตามติดเรากลับบ้านด้วย ก็คือ...ความรู้สึกในหนัง
จะมีหนังสักกี่เรื่องกัน จะมีผู้กำกับสักกี่คนกัน ที่ทำอะไรได้แบบนี้ มา 20 ปี ....
อ่านบทความของ นันทขว้าง สิรสุนทร เพิ่มเติม :
...