One Piece เส้นทางและเบื้องหลังของ "แม็คเคนยู อาราตะ" กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นโซโรที่สมบูรณ์แบบ...
หลังความ “ล้มเหลวแทบไม่เป็นชิ้นดี” และไม่ควรถูกบรรจุอยู่ในความทรงจำใดๆ จากการก้าวเท้าไปรับบทนำในภาพยนตร์ Live-Action ที่ถูกสร้างมาจากมังงะระดับตำนานยุค 80 อย่าง “เซนต์เซย่า” จนราวกับว่า... “เส้นทางไปสู่ฮอลลีวูด” ได้ถูกปิดตายลงอย่างสนิท!
แต่แล้ว...จู่ๆ การรับบทรองในซีรีส์ฟอร์มยักษ์ซึ่งถูกสร้างจาก “มังงะขึ้นหิ้ง” ที่จนถึงวันนี้ (เริ่มตีพิมพ์ตอนแรกในโชเน็นจัมป์ ตั้งแต่ปี 1997) มีอายุยืนยาวมาถึง 26 ปีเข้าให้แล้ว แถมปัจจุบันยังคงมีข่าวเลาๆ จาก “อาจารย์โอดะ เออิจิโร่” (Oda Eiichiro) เพียงแค่ว่า....มังงะเรื่องนี้มันใกล้จะถึงตอนอวสานแล้ว (สักที) อย่าง “วันพีซ" (One Piece) กลับฉุดให้ นักแสดงหนุ่มวัย 26 ปี นาม “แม็คเคนยู อาราตะ” (Mackenyu Arata) มีประกายแสงเจิดจ้าและกลับมาอยู่ในจุดที่การมุ่งหน้าไปสู่การเป็นนักแสดงระดับแถวหน้าถูกเปิดกว้างขึ้นได้อีกครั้ง
...
วันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” จะลองพา “คุณ” ไปสนิทสนมกับ “แม็คเคนยู อาราตะ” หรือ “โรโรโนอา โซโร” ที่ “คุณ” กำลังคิดอยากจะเอาหน้าเข้าไป “ซบแนบอกแน่นๆ” ของชายหนุ่มผู้นี้ให้มากขึ้น รวมถึงอะไรคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสามารถในฉากแอ็กชัน จนได้คำชมเชยว่าเป็น “โซโรที่สมบูรณ์แบบ”
ทายาทนักแสดงแอ็กชันระดับตำนานของญี่ปุ่น :
“แม็คเคนยู อาราตะ” เกิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 1996 ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นทายาทของ “ชินอิจิ ชิบะ” (Shinichi Chiba) หรือที่ฮอลลีวูดรู้จักในชื่อ “ซอนนี ชิบะ” (Sonny Chiba) นักแสดงแอ็กชันที่ "ผู้กำกับเควนติน ทาแรนติโน่" (Quentin Tarantino) เป็นแฟนคลับตัวยง จนถึงกับเชื้อเชิญให้ไปร่วมแสดงในภาพยนตร์ที่ชาวโลกไม่มีทางลืมอย่าง “Pulp Fiction” (ปี 1994) และ “Kill Bill” (ปี 2003)
และด้วยเหตุที่เป็นทายาทของนักแสดงแอ็กชันระดับตำนานของญี่ปุ่น “แม็คเคนยู อาราตะ” จึงได้เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้จากผู้เป็นพ่อมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เคียวคุชิน คาราเต้” (Kyukushin Karate) หรือแม้กระทั่ง “มวยปล้ำ” มาตั้งแต่วัยเยาว์ และมีความมุ่งมั่นที่จะนำความสามารถในเรื่องศิลปะการต่อสู้มาใช้ประกอบในการแสดงมาโดยตลอด
แรงบันดาลใจที่มีชื่อว่า เฉินหลง :
หากไม่นับ “ซอนนี ชิบะ” ผู้เป็นบิดาแล้ว อีกหนึ่งคนที่ “แม็คเคนยู อาราตะ” ทั้งนิยมชมชอบและยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อเส้นทางอาชีพนักแสดงแอ็กชันอย่างมากมายก็คือ “แจ็กกี้ ชาน หรือ เฉินหลง” ที่ตัวเขาเฝ้าติดตามผลงานมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเฉพาะการแสดงฉากแอ็กชันที่ทั้งรวดเร็วและไหลลื่นในแบบฉบับเฉพาะตัวของ “เฉินหลง” นั้น ผู้รับบทเป็น “โซโร” ยอมรับจนถึงทุกวันนี้ มันยังคงฝังลึกตรึงแน่นอยู่ในจิตใจอย่างชนิดไม่มีวันลืม
...
เคียวคุชิน คาราเต้ ที่มาของความสามารถในฉากแอ็กชัน :
“แม็คเคนยู อาราตะ” เปิดเผยว่า ต้นทางของความสามารถต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในฉากแอ็กชันในภาพยนตร์ต่างๆ นั้น มาจากการร่ำเรียนศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อว่า “เคียวคุชิน คาราเต้” ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปฝึกฝนกับบรรดาอาจารย์เคียวคุชิน คาราเต้ ระดับแถวหน้า ที่ Japan Action Club หรือ JAC ซึ่ง “ซอนนี ชิบะ” ก่อตั้งขึ้นเพื่อฝึกฝนนักแสดงแอ็กชันและสตันต์แมน ตั้งแต่อายุได้เพียง 9 ขวบ ยิ่งไปกว่านั้นยังเอาจริงเอาจังเรื่องการฝึกฝนที่ JAC จนถึงขนาดที่ยอมรับว่า ในช่วงวัยเด็กเขาใช้เวลาอยู่กับบรรดาอาจารย์และสมาชิกของศูนย์ฝึกแห่งนี้ มากกว่าการใช้เวลาอยู่กับ “คุณพ่อของเขาเองเสียอีก!”
ส่วนหากถามว่า...เลเวลความแข็งแกร่งในด้านการต่อสู้ของ “แม็คเคนยู อาราตะ” อยู่ในระดับไหน คำตอบก็คือ ไม่ได้มากไม่ได้มายอะไรก็แค่...เคยคว้าแชมป์เคียวคุชิน คาราเต้ ในการแข่งขันที่ลอสแอนเจลิสมาแล้วแค่นั้นเอง!
...
ตัวตนที่แท้จริงของ แม็คเคนยู อาราตะ :
“ผมเองก็ไม่รู้จริงๆ เหมือนกันว่า ผมเป็นคนแบบไหน?” ผู้รับบท “โรโรโนอา โซโร” ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนของประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้
“ตัวตนของผมมักจะมีเวอร์ชันที่แตกต่างกันมากกว่า 10 เวอร์ชัน และเวอร์ชันเหล่านั้นมักเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบุคคลที่ผมอยู่ด้วยในเวลานั้น ในตอนแรกที่ผมเข้าสู่วงการบันเทิง บุคคลิกของตัวละครที่ผมรับบทบาทก็มักจะถูกแทรกเข้าในชีวิตจริงได้อยู่เสมอๆ
ด้วยเหตุนี้ผมจึงค่อนข้างซับซ้อนในสายตาคนที่รู้จัก หรือแม้กระทั่งเพื่อนๆ ทำให้ในทุกครั้งที่ได้พบกัน คนเหล่านั้นมักจะบอกว่ารู้สึกประหลาดใจและรู้สึกว่าผมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่เอาจริงๆ ผมไม่ชอบการถูกห้อมล้อมจากผู้คนมากนัก เพราะผมชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ และเรียบง่ายกับเพื่อนๆ สักสองหรือสามคนเท่านั้น เพราะมันทำให้ผมรู้สึกปลอดภัย
แต่สำหรับเวลาทำงาน (อยู่ในกองถ่าย) มันมีเรื่องของการต้องสวมบทบาทการแสดงเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมจึงไม่รู้สึกอะไร ที่ต้องมีคนมาอยู่รายล้อมมากมาย กลับกันมันยังทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้ใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้นเพราะมันเป็นความว่างเปล่าและเป็นไปตามบทบาทที่ได้รับ
...
ผมมักมีความซับซ้อนในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวของผม แต่ในเวลาที่ผมเล่นไปตามบทบาทที่ได้รับ ผมไม่จำเป็นต้องคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ และผมไม่ต้องกังวลกับช่องว่างระหว่างการที่ผมจะถูกมองว่าเป็นอย่างไรกับสิ่งที่ผมเป็น เนื่องจากผมต้องเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่ทรงผมไปจนถึงรูปร่างเพื่อให้เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับนั่นเอง”
Lifestyle ของ แม็คเคนยู อาราตะ :
ความฝันในวัยเด็ก : ตำรวจหรือทนาย
เกมที่ชอบ : Rainbow Six Siege
สีที่ชอบ : Tiffany Blue
ภาพยนตร์เรื่องโปรด : The Sessions, Miracle on the Hudson, American Sniper
นักแสดงคนโปรด : ฮารุมะ มิอุระ (เสียชีวิตปี 2020 สิริอายุ 30 ปี)
มอตโตประจำตัว : ความมุ่งมั่น
One Piece และ อาจารย์โอดะ
เกร็ด One Piece จาก “อาจารย์โอดะ เออิจิโร่” :
อาจารย์โอดะ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโชเน็นจัมป์ ถึงผลงานระดับมาสเตอร์พีซชิ้นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจในหลายมุมมอง ซึ่ง “เรา” ขอหยิบฉวยในบางแง่มุมมาให้ “คุณ” ได้รับรู้ร่วมกัน...
One Piece ที่ไม่มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง :
“ผมหาข้อมูลมากมายเพื่อนำมาเขียน One Piece ผมคิดเพียงว่า เนื้อเรื่อง + ภาพวาด = มังงะ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่เข้าใจในตอนนั้นว่า เพราะอะไร? บรรณาธิการของโชเน็นจัมป์ จึงมีความเห็นว่า One Piece ไม่มีจุดเด่นเป็นของตัวเอง แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมต้องพยายามดิ้นรนฟันฝ่าด้วยตัวเอง”
ความสำเร็จที่เกิดจากการถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า :
“การที่ One Piece เคยถูกปฏิเสธจากบรรณาธิการของโชเน็นจัมป์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ผมมีข้อมูลมากมายที่เก็บรวบรวมไว้ได้ ผมโยนไอเดียบางอย่างทิ้งด้วยตัวผมเองก่อนที่จะเอาไปเสนอให้กับบรรณาธิการด้วยซ้ำ และเมื่อผมมีวัตถุดิบมากมายที่ไม่เคยนำมันออกมาใช้ ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นช่วยผมได้มากเมื่อมังงะของผมได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อผมรู้ว่าทำไมมันจึงถูกปฏิเสธ ผมจึงใช้เทคนิคที่ผมมีในตอนนั้นนำมาแก้ไข จนตอนแรกเป็นตอนที่ดีมากๆ คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ถูกปฏิเสธมาก่อน คงต้องลำบากในการหาข้อมูลให้เพียงพอที่จะนำมาเขียนอย่างแน่นอน”
ตอนอวสานของ One Piece :
“เมื่อผมได้รับรู้ว่า One Piece เป็นมังงะยอดนิยมอันดับหนึ่ง มันทำให้ผมมีพลัง เหมือนมันเป็นเครื่องยนต์ที่ผลักดันให้ผมสร้างเรื่องที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก ผมไม่รู้สึกถึงความรับผิดชอบอะไร หากถึงวันที่ One Piece จะต้องจบลงแล้วละก็ ถึงแม้บรรณาธิการจะบอกให้ผมวาดต่อผมก็คงไม่ฟังอยู่ดี ผมมีอิสระที่จะเขียนเรื่องหนึ่งให้จบในแนวทางของผม”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม :