พิธีกรรม ความเชื่อ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ และสะเดาะเคราะห์ กับหลักคิดในทางวิทยาศาสตร์...
*พิธีแต่งงาน...เพื่อชีวิตคู่ที่เป็นสุข!
*พิธีขึ้นบ้านใหม่...เพื่อการอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขในบ้านใหม่!
*พิธีสะเดาะเคราะห์...เพื่อให้พ้นจากเคราะห์!
“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปช่วยกันเจาะประเด็นเรื่องของ “พิธีกรรม” สำหรับกิจกรรมสำคัญของสังคมไทย อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเพียงเรื่องของความงมงาย หรือจริงๆ แล้ว ก็มี “สาระ” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย!
ย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว คือ ระหว่างวันที่ 6-8 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523....
ที่สถาบันการวิจัยและอบรมเกษตรกรรม (Agricultural Research Training Institute) ในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ผู้เขียนได้รับเชิญจากเลขาธิการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา หรือ โคสเตด (COSTED : Committee on Science Technology in Developing Countries) ให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา เรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไป
...
ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเช้าวันที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์นั้น ผู้เขียนก็ได้พบกับ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก หลังจากที่ได้พบกับ ไอแซก อาซิมอฟ ที่กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520
แต่สิ่งสำคัญสำหรับประเด็นเรื่องของเราวันนี้ คือ พิธีเปิดการประชุมสัมมนา
เป็นพิธีเปิดการประชุมสัมมนาที่ใช้เวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่การจุดไส้ตะเกียง 7 เส้น วางพาดอยู่รอบขอบนอกของจานบรรจุน้ำมัน มีแกนกลางสูงแบบเชิงเทียน ตามด้วยพิธีกรรมทางศาสนา ที่ผสมผสานทั้งส่วนเป็นศาสนาพุทธชัดเจนและศาสนาพราหมณ์
ประเทศศรีลังกาเวลานั้น เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาโลก
ผู้เขียนยอมรับว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ ที่มีพิธีเปิดแบบเป็นพิธีกรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และใช้เวลายาวนาน
ก่อนและหลังการเข้าร่วมประชุมสัมมนาที่ศรีลังกา ผู้เขียนก็ได้เห็นและร่วมในพิธีกรรมต่างๆ ของพุทธศาสนาและศาสนาคริสต์
ผู้เขียนมิได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่เปิดใจ...ด้วยความสนใจจริงๆ...สำหรับทุกศาสนา
ประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่จำได้อย่างดี คือ การมีโอกาสได้สนทนากับบาทหลวงในโบสถ์แห่งหนึ่งที่เมืองอุปป์ซาลา (Uppsala) ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 13 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2516
เรา (ผู้เขียนกับบาทหลวง) ได้คุยกันอย่างลงลึกในเรื่องของวิทยาศาสตร์กับศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์
ที่ผู้เขียนจำได้ว่า เป็นวันที่ 13 เดือน ธันวาคม ของปีนั้น ก็เพราะว่า วันที่ 13 ธันวาคม ในสวีเดนเป็น Saint Lucia’s Day หรือ วันนักบุญลูเซีย มีการฉลองกันทั่วประเทศ เพื่อต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส
แต่วันนักบุญลูเซียฉลองกันในวันที่ 13 เพราะนักบุญลูเซีย หรือ นักบุญลูซี (Lucy) เสียชีวิตในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 847 ขณะมีอายุเพียง 21 ปี จากการแอบนำอาหารไปให้ชาวคริสต์ที่หลบภัยอยู่ในถ้ำ และวันที่ 13 เดือนธันวาคม ก็เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปีของสวีเดน เป็นสัญญาณเริ่มต้นของคริสต์มาส
พิธีรำลึกถึงนักบุญลูเซียในโบสถ์ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมด้วย จัดเวลาค่ำ พิธีสำคัญคือ ขบวนผู้หญิง (ส่วนใหญ่เด็กวัยรุ่น) แต่งชุดขาว บนศีรษะสวมมงกุฎติดหลอดไฟเล็กๆสว่างหลายดวง เป็นสัญลักษณ์นักบุญลูเซียที่มีเทียนติดอยู่บนศีรษะ เมื่อเข้าไปในถ้ำที่มืด และเพื่อจะให้สองมือได้นำอาหารไปให้ชาวคริสต์ได้มากที่สุด
...
พิธีรำลึกถึงนักบุญลูเซียเป็นพิธีใหญ่ กินเวลายาวนาน แต่สำหรับผู้เขียน เข้าใจและชอบ
เพราะไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยตรง และเป้าหมายใหญ่ของพิธี มิได้ขอให้เกิด “ผล” ที่ผู้จัดต้องการ
แล้ว “พิธีแต่งงาน” ล่ะ?
พิธีแต่งงาน!
พิธีแต่งงานเป็นกิจกรรมสังคมที่สำคัญและสืบทอดกันมายาวนาน สำหรับประเพณีเกี่ยวกับการแต่งงานของไทยอย่างเต็มรูปแบบ ก็เริ่มมาตั้งแต่พิธีหมั้น ซึ่งมักจะมีขบวนแห่ขันหมากมีกลองยาวเถิดเทิงนำขบวน แต่ส่วนเป็นพิธีแต่งงานจริงๆ จะมีสองส่วนสำคัญ
ส่วนแรก คือ พิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี คู่บ่าว-สาวจะตักบาตรทำบุญร่วมกัน แล้วก็จะเป็นขั้นตอนการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูป มาประกอบพิธีเจริญน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับใช้ในพิธีรดน้ำสังข์
จากนั้น ก็จะเป็นพิธีรดน้ำสังข์ คือ พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร โดยแขกผู้ใหญ่เป็นประธาน คล้องพวงมาลัยและสวมมงคลแฝด เจิมหน้าผากบ่าว-สาว หลั่งน้ำสังข์ อวยพรคู่บ่าว-สาว ตามด้วยพ่อ-แม่ ญาติและแขกอื่นๆ รดน้ำและอวยพร
...
ส่วนที่สองหลัง เสร็จสิ้นพิธีหลั่งน้ำสังข์ก็จะเป็นงานเลี้ยง ซึ่งตามประเพณี ก็จะจัดที่บ้านเจ้าสาว แต่ถ้าบ้านเจ้าสาวไม่สะดวก ก็มักจะจัดที่โรงแรม เป็นงานสนุกสนาน รวมญาติเจ้าบ่าว-เจ้าสาว และมิตรสหายของคู่บ่าวสาว
แล้วพิธีแต่งงานงมงายหรือไม่?
อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าดูเฉพาะเป้าหมายสูงสุดของพิธีแต่งงาน คือ เพื่อชีวิตแต่งงานที่เป็นสุขแล้ว พิธีแต่งงานก็ไม่ใช่หลักประกันของชีวิตคู่ที่เป็นสุข ไม่ว่าจะจัดพิธีใหญ่โตหรูหราเพียงใด
อย่างแน่นอน พิธีแต่งงานก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ความหวังแก่คู่แต่งงาน จะได้มีชีวิตคู่ที่เป็นสุข แต่ปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตคู่มีความสุข อย่างแท้จริง มีมากมายและซับซ้อนยิ่งนัก ถ้าจะกล่าวถึงให้ละเอียด ผู้เขียนเชื่อว่า จะเป็นหนังสือหนาเป็นพันหน้า และก็ยังไม่สมบูรณ์อยู่ดี
แต่ถ้าจะให้ยกมากล่าวเพียงไม่กี่ข้อ ที่ผู้เขียนเห็นว่า มีความสำคัญอย่างเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับชีวิตคู่ที่เป็นสุข ผู้เขียนก็จะนึกถึง :-
*การมีความรู้สึกที่ดีต่อกันอย่างแท้จริง
*การต้องการให้อีกคนหนึ่งมีความสุข ซึ่งก็รวมไปถึงการไม่ต้องการให้อีกคนหนึ่งเป็นทุกข์
*การรับผิดชอบกันและกัน
*การให้เกียรติซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พิธีแต่งงานจะไม่เป็นหลักประกันชีวิตคู่ที่เป็นสุข แต่พิธีแต่งงานก็มีคุณค่าในเชิงความรู้สึกของคู่แต่งงาน และมีความสำคัญเชิงประเพณีของสังคม
ดังนั้น สำหรับผู้เขียน ถ้าพิธีแต่งงานมิได้เกิดขึ้นจากการเกินความพอดีของผู้จัด (เกินฐานะหรือด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับความสุขของคู่บ่าวสาวจริงๆ) พิธีแต่งงาน ถึงแม้จะไม่เป็นหลักประกันเพื่อชีวิตแต่งงานที่เป็นสุข แต่ก็ไม่งมงายหรือไร้สาระไปเสียทั้งหมด!
...
พิธีขึ้นบ้านใหม่!
ประชากรคนไทยส่วนใหญ่ มีทั้งคนไทยแท้ๆ และคนไทยเชื้อสายจีน พิธีขึ้นบ้านใหม่ในประเทศไทยจึงมีทั้งแบบไทยและแบบจีน รวมทั้งแบบผสมผสานทั้งของไทยและจีน
แต่หลักใหญ่ของพิธีขึ้นบ้านใหม่ทั้งแบบไทยและแบบจีน มีสาระหลักคล้ายกัน คือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยในบ้านใหม่ และเป็นการบอกกล่าวบูชาเจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ เพื่อดลบันดาลและคุ้มครองผู้เข้าอาศัย ให้คลาดแคล้วจากภยันตรายใดๆ
พิธีขึ้นบ้านใหม่ในปัจจุบัน มีทั้งพิธีแบบเต็มรูปแบบ และแบบสั้น แต่ขั้นตอนและพิธีการก็คล้ายกัน โดยมีส่วนสำคัญคือ กำหนดวันฤกษ์ที่ดีและขั้นตอนสำคัญของพิธี
วันฤกษ์ดีสำหรับพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือ วันไหนก็ได้ในสัปดาห์ ยกเว้นวันเสาร์ ซึ่งยึดตามหลักโหราศาสตร์ว่า วันเสาร์เป็นวันไม่เป็นมงคลสำหรับการประกอบพิธีมงคลใดๆ
ส่วนขั้นตอนพิธีที่สำคัญ คือ การเตรียมสิ่งของเพื่อประกอบพิธี ทั้งโต๊ะหมู่บูชา ธูปเทียน อาหารหวานคาวและผลไม้ เพื่อเลี้ยงพระและแขกผู้มาร่วมงาน
ที่น่าสนใจในส่วนเป็นของหวาน คือ ต้องเป็นขนมตระกูลทองและความเฟื่องฟู ดังเช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมถ้วยฟู
ส่วนผลไม้ก็จะเป็นผลไม้มงคล 9 อย่าง คือ ส้ม, สาลี่, แอปเปิลแดง, กล้วย, แก้วมังกร, องุ่น, ลูกพลับ, ทับทิม และลิ้นจี่
สำหรับส่วนเป็นพิธี ก็เริ่มจากการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย การอาราธนาศีล 5 พระสงฆ์สวดให้ศีลให้พร การถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์และพระสงฆ์อนุโมทนา
แล้วพิธีขึ้นบ้านใหม่งมงายหรือไม่?
อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เป้าหมายสูงสุดของการจัดพิธีขึ้นบ้านใหม่ เพื่อการอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขในบ้านใหม่ ก็เช่นเดียวกับพิธีแต่งงาน คือ พิธีขึ้นบ้านใหม่ ไม่เป็นหลักประกันการมีชีวิตอยู่ในบ้านใหม่อย่างร่มเย็นเป็นสุข...
เพราะชีวิตของคนใน (ทุก) บ้าน จะเป็นชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขได้ ผู้เขียนตกผลึกออกมาว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญที่สุดสองอย่าง
หนึ่ง คือ สภาพความคิดและการใช้ชีวิตของคนทุกคน ที่ต้องการ...ตั้งใจ...เข้าใจ...และพยายาม...ทำให้บ้านเป็น “บ้านที่ร่มเย็นเป็นสุข”
สองคือ ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการทำให้บ้านร่มเย็นเป็นสุข อย่างตรงๆก็คือ ต้องมีเงินมีรายได้และเงินเก็บเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีเงินมีทรัพย์สินในระดับเป็นเศรษฐี
แต่ถ้ามีเงินมีทรัพย์สินมากพอ และที่สำคัญต้องเป็นเงินเป็นทรัพย์สินที่ได้มาอย่างสุจริต มิใช่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง จากการโกง การทุจริต ผิดกฎหมาย หรือเงินบาป ก็ทำบุญช่วยคนที่ขัดสนหรือคนตกทุกข์ได้ยาก อย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ก็จะช่วยให้บ้านเป็น “สวรรค์” ได้
แล้วพิธีขึ้นบ้านใหม่ ไม่มีความหมาย...ไม่มีประโยชน์...ไม่ช่วย...ให้บ้านเป็นบ้านที่ร่มเย็นเป็นสุขเลยหรือ?
คำตอบคือ จริงๆ แล้วก็มีส่วน เพราะพิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือจะเรียกให้ชัดเจนก็คือ พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ก็จะมีส่วนที่เป็น “บุญ” ทำให้คนในบ้านมีจิตใจที่ผ่องใส มีกำลังใจมีความตั้งใจที่จะ “อยู่” โดยการ “ทำ” ให้บ้านเป็นบ้านที่ “น่าอยู่” ได้
แล้วก็...ที่สำคัญ...การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ต้องทำอย่างไม่เกินความพอดี ไม่เกินกำลัง เพราะจะทำให้บ้าน “ร้อน” ตั้งแต่วันทำพิธีขึ้นบ้านใหม่
พิธีขึ้นบ้านใหม่ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว จึงไม่ใช่หลักประกันความร่มเย็นเป็นสุข แต่ก็มีส่วนที่ไม่ทำให้กลายเป็นความสูญเปล่า พิธีขึ้นบ้านใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องงมงายหรือไร้สาระไปเสียทั้งหมด
พิธีสะเดาะเคราะห์!
พิธีสะเดาะเคราะห์ เป็นเรื่องที่มีแต่โบราณนานมา แต่ในปัจจุบัน มีหลายหลายพิธี ทั้งพิธีทางศาสนา ท้องถิ่น ลัทธิ ความเชื่อ
อย่างธรรมดามที่สุด ก็เป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ส่วนตัวอย่างง่ายๆ มีดอกไม้พวงมาลัย ธูปเทียน จุดบูชาพระรัตนตรัยในบ้าน หรือเป็นพิธีขึ้นมาหน่อย ก็จะมีรูปปั้นสัตว์ เช่น ไก่ ช้าง ม้า เพิ่มขึ้นมา และทำที่ศาลพระภูมิหรือศาลเจ้า ดังเช่น ศาลหลักเมือง
แล้วก็มีพิธีสะเดาะเคราะห์อย่างเป็นกิจจะลักษณะที่วัดหรือสำนักสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพิธีดังเช่น ทางศาสนาพุทธที่สืบทอดกันมา และก็มีพิธีที่เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์โดยตรง ดังเช่นพิธีสะเดาะเคราะห์ “สายมู” นอนโลงศพ
ที่มาของคนสายมูเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่จากภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่อง มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ (Penangkal Ilmu Tulch) ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้คาถาอาคมเพื่อบรรลุเป้าหมาย
จากชื่อเต็ม “มูเตลู” ก็กลายมาเป็น “มู” ของคนสายมูในประเทศไทย
พิธีสะเดาะเคราะห์ อย่างเป็นกิจจะลักษณะในปัจจุบัน มีหลากหลายทั้งส่วนกลางและภูมิภาคต่างๆ มีรายละเอียดเครื่องบูชา ผู้ประกอบพิธี และขั้นตอนแตกต่างกันไปบ้างของแต่ละภาค
แต่ขั้นตอนหลักที่สำคัญ คือ การเตรียมสิ่งของเครื่องบูชา พระสงฆ์ (21 รูป ถ้าเต็มตามประเพณีนิยม) หรือ “หมอขวัญ” กรณีไม่ใช่พิธีในวัด สวดมนต์หรืออ่านคาถาสะเดาะเคราะห์
การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ในวัด มักจะมีผู้เข้าพิธีเป็นจำนวนค่อนข้างมาก คือ เป็นกลุ่ม แต่ถ้าเป็นการสะเดาะเคราะห์ในวัดเพียงคนเดียว ก็ไม่ต้องมีพระสงฆ์ถึง 21 รูปก็ได้
นอกเหนือไปจากการสะเดาะเคราะห์อย่างมีพิธีกรรมแล้ว ก็ยังมีการสะเดาะเคราะห์แบบส่วนตัว ด้วยการทำในสิ่งที่เป็นมงคลเป็นกุศล เพื่อให้เกิดผลบุญ ทั้งมงคลแก่ชีวิต และสะเดาะเคราะห์มิให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับชีวิต ดังเช่น :-
*ถือศีล 5 หรือศีล 8
*การกิจเจ
*ทำบุญตักบาตรพระเป็นประจำหรือบ่อยขึ้น
*ทำบุญปล่อยสัตว์ ซื้อชีวิตสัตว์ใหญ่ เช่น โค กระบือ
*ทำทานแก่คนยากไร้
*ทำบุญโลงศพ
แล้วพิธีสะเดาะเคราะห์งมงายหรือไม่?
อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ลำพังพิธีสะเดาะเคราะห์ไม่สามารถจะช่วยชีวิตให้พ้นเคราะห์ คือ ไม่เกิดเคราะห์ร้ายขึ้นมาอีกได้ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเราแต่ละคน ล้วนมีเหตุมีที่มา ไม่ว่าจะเป็นเหตุร้ายจากอุบัติเหตุ จากโรคภัยไข้เจ็บ จากการทำงาน จากความล้มเหลวของธุรกิจ จากการถูกโกง
ดังนั้น หลังการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ไปแล้ว แต่ยังดำเนินชีวิตอยู่กับความเสี่ยงแบบเดิม ไม่ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่ดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจ ไม่แก้ไขความผิดพลาด ใช้ชีวิตอย่างประมาท การสะเดาะเคราะห์ก็ไม่สามารถช่วยป้องกันมิให้เกิด “เคราะห์ซ้ำ” ได้
และจริงๆ แล้ว ทุกครั้งที่มีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีตามประเพณีศาสนาพุทธ ท้ายสุดของพิธี พระสงฆ์จะให้สติแก่ผู้เข้าพิธีสะเดาะเคราะห์ว่า หลังจากการสะเดาะเคราะห์ ก็ขอให้ผู้สะเดาะเคราะห์ยึดมั่นในวิถีแห่งความถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม ใส่ใจทำบุญเป็นประจำ และดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญาและสติ สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ประมาท เปิดช่องให้ “เคราะห์” กลับมาหาอีก
สำหรับผู้เขียน ส่วนเตือนสติท้ายพิธีสะเดาะเคราะห์ มีความสำคัญและเป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่สุด
ทั้งนี้ ก็รวมถึงกิจกรรมการถือศีล กินเจ ทำบุญปล่อยสัตว์ ทำทานแก่คนยากไร้ และการทำบุญโลงศพ ซึ่งจะมีผลเป็นกำลังใจเสริมสร้างพลัง ปัญญาและสติ เป็น “ยันต์วิทยาศาสตร์” วิเศษ ช่วยป้องกัน “เคราะห์ร้าย” ได้อย่างดี
อย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว พิธีสะเดาะเคราะห์ถึงแม้จะไม่เป็นหลักประกันที่จะป้องกันมิให้เคราะห์ร้าย เหตุร้ายต่อชีวิต เกิดขึ้นได้อีก แต่ก็มีส่วนที่เสริมสร้างกำลังใจ ให้ปัญญาและสติป้องกันหรือลดความรุนแรงของ “เคราะห์ร้าย” ในอนาคตได้...
ดังนั้น พิธีสะเดาะเคราะห์ ก็จึงเช่นเดียวกับพิธีแต่งงานและพิธีขึ้นบ้านใหม่ คือ ไม่งมงายและไร้สาระไปเสียทั้งหมด!
ประเทศไทยวันนี้ เป็นประเทศมีความทันสมัยทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เป็นประเทศมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับเป็นพันๆ ปี ดังนั้น กิจกรรมทางสังคม พิธีกรรมทางสังคม จึงมีทั้งส่วนเป็นวิทยาศาสตร์ และส่วนเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมา ดังเช่น พิธีเปิดบริษัทใหม่ พิธีเปิดโครงการสาธารณูปโภคใหม่ โดยที่ส่วนการวางแผนและความคาดหวังของบริษัทหรือโครงการ ล้วนเป็นไปตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์...
แต่ในส่วนของกิจกรรมที่เป็นพิธีเปิด จะเป็นไปตามประเพณีเก่าแก่ ซึ่งถึงแม้จะไม่มี...หรือไม่คาดหวัง...จะเป็นปัจจัยผลักดันความสำเร็จของกิจกรรม แต่ก็มีส่วนเสริมสร้างกำลังใจ จิตใจ จิตวิญญาณ...
และสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เขียน ก็มองส่วนที่เป็นประเพณีปฏิบัติเหล่านี้ เป็นหลักฐานที่คนไทยจะต้องภาคภูมิใจ ในความเป็นประเทศมีรากเหง้ายาวนานที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไรกับเรื่องของพิธีกรรมกับวิทยาศาสตร์ของไทยเราครับ?
อ่านบทความ "เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์" เพิ่มเติม