มอง "เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ ใครฆาตกร?" ความเป็นอื่น หรือ อคติ แล้วย้อนมองการเมือง...

ช่วงระยะ 10 ปีหลังของวงการหนังนานาชาติ ทั้ง "ออสการ์" และ "ยุโรป" รวมมาถึง "เอเชีย" นั้น สารและเสียงอย่างหนึ่งที่ดังมาตลอดเป็นระยะๆ ก็คือ การเห็นอกเห็นใจ "คนนอก" ของสังคมกระแสหลัก

คำว่า "คนนอก" ในที่นี้ หมายถึงคนชายขอบ คนเล็กๆ ในสังคม คนที่ไม่มีพื้นที่ ไร้ตัวตนในกระแสหลัก คำว่า "minority" น่าจะตรงที่สุด และนอกจากตรงที่สุดแล้ว อะไรที่ไม่ใช่มนุษย์ เป็นพวก "เอเลี่ยน สัตว์ประหลาด" 

บางทีก็ถูกใช้ในแบบ "ครอบคลุมไปถึง" อีกด้วย - นี่เป็นเหตุผลว่า หนังที่ "เกี่ยวกับคนชายขอบ" หรือคนนอก มักขึ้นมาได้รางวัลอยู่หลายเรื่อง คล้ายๆ กับว่ามีการ "สดุดี" ผู้คนรอบนอก จากวงการหนังอย่างไม่เป็นทางการ (จะด้วยน้ำเสียงแบบไหน ก็อีกเรื่องหนึ่ง)

...

หนัง "เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ" ก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้ชื่นชม..ทว่าพูดถึง ปัญหาของ "ความเป็นอื่น"(otherness)

ความเป็นอื่น คือ สิ่งที่เหมือนจะเข้ากัน แต่ไม่สวมกัน เข้ากันไม่ลงตัว ฝ่ายหนึ่งไม่เข้ากับพวกหนึ่ง บางทีก็คนหนึ่งคน ไม่เข้าพวกกับอีกกลุ่มหนึ่ง...ในที่นี้คือหนัง เราจึงเห็นตัวละครที่เหมือนจะเข้ากัน แต่ไม่เข้ากันเลย...พ่อแม่ลูก ลูกเขย แฟน คนไทยอีสาน คนต่างชาติ นอกจากนั้นยังมีเด็กที่ไม่เข้ากับผู้ใหญ่ ตัวละครเหล่านี้ถูกสงสัยทั้งหมดว่า ใครคือฆาตกร ที่ฆาตกรรมเหยื่อคนหนึ่ง แล้วมีการตายเกิดขึ้น?

ผมว่า "วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง" ใช้สี คนละความหมายไปจากงานแจ้งเกิดอย่าง "ฟ้าทะลายโจร" กับ "หมานคร" ความหมายของสีใน "เมอร์เด้อเหรอฯ" มีสองนัย อย่างแรก แสดงถึง "อคติแรงๆ" ของตัวละครที่มีต่อกัน จะเห็นมุมมองเกลียดชังแรงๆ ถูกบอกเล่าผ่านสีตัดกันแรงๆ (โดยเขียวคือสีหลัก)

สีแต่ละสีคือ "ความคิด อคติ ของคนแต่ละคน และความเป็นอื่นของผู้คน" บางทีอาจมาจากอคติที่ตั้งไว้ในใจ (prejudice) 

เรามีธงในใจก่อนแล้วกับทุกเรื่อง ทุกคน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เหยื่อ ก็คือ คนนอก สิ่งนอก ของไม่เข้าพวกอยู่ดีนั่นเอง ฝรั่งในหนังเรื่องนี้ จึงเป็นที่เกลียดชังของคนไทยในพื้นที่หนึ่ง เป็นเหมือนเอเลี่ยน ไม่เข้าพวกกับ "พวกเขา" ในครอบครัวหนึ่ง...พอมีเรื่อง - คือมีคนตาย ฝรั่งก็ถูกฟันธงทันทีว่าเป็นคนฆ่า เพราะฝรั่งคือคนนอก คือความเป็นอื่น โดยอคติคน

หนังเรื่องนี้ไปเด่นเรื่องโปรดักชัน มากกว่าตัวการเล่า ผมว่าหนังไม่ได้ดูสนุก มีช่วงน่าเบื่อบ้าง เพราะถูกคุมด้วยสิ่งที่หนังจะพูด ถึงกระนั้น... มีสิ่งที่น่าสนใจ แล้วยังเป็นแกนร่วมมาในงานของ "วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง"

ผมรู้สึกว่า ผู้กำกับท่านนี้มีแนวคิดเรื่องยุคสมัยของความเป็นเมืองกับชนบทอยู่ค่อนข้างสูงและชัด ทั้งชนบทใน ฟ้าทะลายโจร หรือความเป็นเมืองที่แดกดันใน หมานคร แน่นอนว่า เมอร์เด้อเหรอฯ ก็ด้วย มีคนบอกว่า วิศิษฏ์ ไปลอก "เวส แอนเดอร์สัน" แต่ผมว่าไม่ใช่ และน่าจะสลับกันมากกว่า 555

คนที่คิดแบบนั้น...เพราะไปติดกับความคิดตัวเองที่ว่า ใครทำหนังที่มีสีแรงๆ เล่นกับสี ก็ยกให้เจ้าพ่อเวส เป็นเจ้าของ

...

"วิศิษฏ์" ทำ "ฟ้าทะลายโจร" มาก่อนตั้งเนิ่นนาน และยัง "เล่นกับสี" มาเรื่อยๆ ถ้าในบริบทนี้ คนพูดก็ไม่ต่างอะไรกับตำรวจ และ "วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง" ไม่ต่างอะไรกับ ฝรั่งต่างชาติในหนัง

อย่างที่บอกว่า "สี" ในเรื่องนี้ ถูกใช้ในความหมายที่ต่างออกไป จากงานก่อนๆ ของผู้กำกับ โทนและแนวของสีมีความเข้มนัวร์และแรง มันสะท้อนจิตใจที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังของคน

สารวัตรที่แสดงโดย "คุณหม่ำ จ๊กม๊ก" คืออคติแรงๆ ที่ทำให้ตัวละครเป็นอื่น แล้วพออะไรที่นึกว่าไม่ใช่ ไม่เกี่ยว ไม่สามารถเป็นฆาตกรได้หรอก

ก็เพราะอคติเราคิดเอาเองอีก ทุกอย่างมันแย่ เพราะความเกลียดชัง ทรยศหักหลังกัน โดยมี "อคติ เป็นอาวุธ"....ช่างเข้ากับการบ้านการเมืองของบางประเทศโดยแท้...

อ่านบทความ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :  

...