"เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ" การฉายด้านมืดของอุตสาหกรรมไอดอลญี่ปุ่น ห้ามมีแฟน งานหนัก เงินน้อย และภัยคุกคามจากแฟนคลับ...

“เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ” (Oshi No Ko) คือ มังงะและอนิเมะลายเส้นสวยใสชวนขันที่ “ตัดกัน” อย่างสิ้นเชิงกับเส้นเรื่องที่พูดถึง “ด้านมืด” ของ “อุตสาหกรรมไอดอลญี่ปุ่น” อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ มังงะ หรืออนิเมะไอดอลก่อนหน้านี้ ที่มักยึดติดแต่ “ด้านสว่างไสว” จนกระทั่งกลายเป็น กระแสไปทั่วโลกในเวลานี้...

อะไร คือ “บาดแผล” ของ วงการที่ฉากหน้าเต็มไปด้วยความหลงใหลที่มอบให้กับเหล่า "ดรุณีสาวแรกรุ่น" ซึ่งถูกจับมานำเสนอใน มังงะและอนิเมะของ “อาจารย์อากะ อาคาซากะ” (Aka Akasaka) และ “อาจารย์เม็งโกะ โยโกยาริ” (Mengo Yokoyari) กันบ้าง? 

วันนี้ “เรา” มาลองพยายามค้นหา “เรื่องจริง” ที่เหล่าไอดอลสาวต้องเผชิญ ซึ่งถูกพูดถึงใน “เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ” กันดูว่ามีประเด็นการนำเสนออะไรที่ “น่าสนใจและน่าพูดถึงบ้าง?”

เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ กับ กระแสความร้อนแรง : 

คำถามที่ว่า...เพราะอะไร? “เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ” ซึ่งเป็นมังงะที่ถูกตีพิมพ์ตอนแรก ใน “Weekly Young Jump” ของสำนักพิมพ์ชูเอย์ฉะ เมื่อปี 2020 ก่อนที่จะถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะออนแอร์ตอนแรกไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2023 จึงสร้างแรงกระแทกให้ผู้คนกลับมาให้ความสนใจ อุตสาหกรรมไอดอลญี่ปุ่นได้อีกครั้ง เหตุผลสำคัญคงเป็น การบอกเล่าเรื่องราวด้านมืดของวงการไอดอลญี่ปุ่น ซึ่งฉีกแนวไปจาก มังงะไอดอลที่โด่งดังก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็น Love live หรือ The iDolm@ster ที่เต็มไปด้วยความน่ารักสดใส มิตรภาพและพลังของดนตรีเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ “การได้แสดงดนตรีที่สนามกีฬานิฮงบูโดกัง อันศักสิทธิ์”

...

แต่สำหรับ Oshi No Ko กลับมุ่งเน้นไปที่เนื้อหาอันเข้มข้นจาก “ความเป็นจริงอันโหดร้าย” ในอุตสาหกรรมไอดอล ไม่ว่าจะเป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบจากการต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย กฎระเบียบอันเข้มงวดโดยเฉพาะการห้ามมีคนรัก รวมถึงอายุขัยอันแสนสั้นของอาชีพนี้ที่มักจะสิ้นสุดลงเมื่อเข้าสู่อายุไม่ถึง 25 ปี เรื่อยไปจนกระทั่ง “ภัยคุกคามจากแฟนคลับ”   

Oshi No Ko แรงบันดาลใจและประเด็นการนำเสนอ : 

“อาจารย์อากะ อาคาซากะ” ผู้เขียนพล็อตเรื่องให้กับมังงะความมืดมนแห่งวงการไอดอล ให้สัมภาษณ์กับสื่อของประเทศญี่ปุ่นโดยระบุว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน “Oshi No Ko” เป็น “เรื่องจริง” ที่ดัดแปลงมาจากการออกไปสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลกับผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมไอดอลของญี่ปุ่นจริง ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการส่วนตัวของศิลปิน, ไอดอลใต้ดิน, บรรดาเจ้าหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ เช่น โปรดิวเซอร์ ผู้จัดการสถานี บรรณาธิการข่าวกอสซิป , มือเขียนสคริปต์ หรือแม้กระทั่งเหล่ายูทูบเบอร์ ซึ่งสิ่งที่ “ค้นพบ” จากการออกตระเวนหาข้อมูลดังกล่าว คือ กลุ่มคนในอุตสาหกรรมไอดอลญี่ปุ่นนั้น คำว่า “โอกาสที่ได้รับ” ไม่ว่าจะเป็นทั้งของศิลปินหรือพนักงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะตกอยู่ภายใต้ “อำนาจ” การควบคุมของบริษัทต้นสังกัดทั้งสิ้น 

ด้วยเหตุนี้ “อาจารย์อากะ อาคาซากะ” จึงปรารถนาที่ใช้มังงะเรื่องนี้สะท้อนให้คนทั่วๆ ไป ได้รับทราบว่าเหล่าผู้มากพรสวรรค์รุ่นเยาว์เหล่านี้ ทั้งถูกควบคุมและเอารัดเอาเปรียบมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญไปกว่านั้นคือต้องการที่จะ “ตั้งคำถาม” ถึงบรรดาผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ว่าควรมีการบริหารจัดการและการปฏิบัติต่อเด็กสาวเหล่านี้ได้ดีมากพอแล้วหรือยัง? 

ซึ่งการลุกขึ้นมาพยายามอ้างอิงถึง “เรื่องจริง” นี้เอง มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่...เรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏใน “Oshi No Ko” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องที่ทั้ง “หม่นหมองและดำมืด” ไปโดยธรรมชาติของตัวมันเอง

อย่างไรก็ดี “อาจารย์อากะ อาคาซากะ” ยืนยันว่า แม้เรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏใน“เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ” อาจจะมีเค้าโครงมาจากชีวิตจริง แต่มังงะเรื่องนี้ไม่ใช่ "สารคดี" หรือ มุ่งหวังที่จะให้ร้ายกับใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ 

ด้วยเหตุผลนี้เอง เมื่อ “อาจารย์เม็งโกะ โยโกยาริ” ผู้วาดมังงะเรื่องนี้ เกิดไปออกแบบตัวละครตัวหนึ่งที่มีลักษณะ “ใกล้เคียง” กับบุคคลคนๆ หนึ่งที่มีอยู่จริงในอุตสาหกรรมไอดอลมากเกินไป อาจารย์อาคะ จึงขอร้องให้ อาจารย์เม็งโกะ ช่วยออกแบบคาแรกเตอร์นี้ใหม่ทันที เพื่อเป็นการการันตีว่า “มังงะเรื่องนี้เป็นเพียง “นิยาย” (Fiction) ที่ถูกแต่งขึ้นเท่านั้น”

Oshi No Ko กับ หนุ่มคนใช่ สัมพันธ์ต้องห้ามสำหรับไอดอล : 

การมีแฟนหรือการออกเดต สำหรับไอดอลสาวญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องต้องห้ามที่ต้องอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่ต่างอะไรกับการทำลายความใฝ่ฝันของบรรดาผู้ให้การสนับสนุน ด้วยเหตุนี้เมื่อใดก็ตามที่ไอดอลสาว คนใดถูกจับได้ว่ามีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ บทสรุปของเรื่องนี้ โดยมากมักลงเอยที่..."การประกาศลาออกและกล่าวขอโทษต่อสาธารณชนแทบจะในทันที" ด้วยเหตุนี้...ต้นสังกัดจึงมักกำชับกับเหล่าผู้จัดการที่ดูแลศิลปินให้เข้มงวดกวดขันในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

...

อย่างไรก็ดี การทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศิลปิน ย่อมไม่สามารถ “ขึงตรึง” กับเหล่าวัยรุ่นอายุน้อยที่มักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และมักกลายเป็นจุดโฟกัสของ “ชายหนุ่ม” มากหน้าหลายตาได้แน่นอน 

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ “คุณ” คงอาจอยากรู้แล้วว่า เมื่อผู้จัดการศิลปินต้องเผชิญปัญหาน่าปวดหัวแบบนี้ “จะมีกลยุทธ์ในการจัดการปัญหานี้อย่างไร”  

ซึ่ง “คำตอบ” ของเรื่องนี้ได้รับการเฉลยจากรายงานของ สำนักข่าว The Japan times ที่ได้รับการบอกเล่าจากผู้จัดการวงไอดอลวงหนึ่งว่า....เคล็ดลับในการป้องกันไม่ให้ไอดอลมีแฟนก็คือ... 

ข้อแรก : แจ้งตารางเวลางานในแต่ละวันให้ล่าช้าให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เหล่าไอดอลสาว สามารถวางแผนนัดแนะกับหนุ่มที่กำลังดูใจได้ล่วงหน้า เพราะเมื่อไม่รู้ว่าต้องไปทำงานที่ไหนบ้าง และงานในแต่ละวันจะเสร็จสิ้นลงเมื่อไหร่ โอกาสที่จะไปออกเดตกับหนุ่มๆ ก็ย่อมน้อยลงไป 

ขณะเดียวกันด้วยวิธีการนี้ ก็ยังทำให้ผู้จัดการศิลปิน สามารถจับสังเกตความผิดปกติได้ด้วยว่าไอดอลคนใดกำลังมีแนวโน้มว่า...อาจกำลังมีความรัก เพราะคนคนนั้นมักจะพยายามจิกถามตารางงานในแต่ละวันบ่อยๆ เสียจนผิดสังเกต เพื่อพยายามหา “เวลา” ปลีกตัวไปหา “คนที่ใช่” นั่นเอง

ข้อสอง : จัดตารางงานในแต่ละวันให้แน่นมากๆ จนแทบไม่มีเวลาว่าง ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะทำให้ไม่มีเวลาไปหาหนุ่มๆ แล้ว (ส่วนหนึ่งเพราะต้องหาเวลาพักผ่อน) ยังทำให้ไอดอลมีความรับผิดชอบและง่วนอยู่แต่กับงานที่ต้องโฟกัสด้วย

...

อย่างไรก็ดีทั้งสองวิธีนี้แม้จะได้ผลดี แต่ก็ย่อมทำให้ “ไอดอล” เหนื่อยล้าและอาจมีผลต่อการแสดงโชว์และพบปะกับเหล่าแฟนคลับได้ ดังนั้นวิธีการแก้ไขก็คือ “การเพิ่มช่วงเวลาพักในช่วงกลางของตารางการทำงานในแต่ละวัน” เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น

ข้อสาม : ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เหล่าไอดอลนั้น คือ “เด็กสาว” การจะห้ามไม่ให้ปฏิสัมพันธ์กับชายหนุ่มคนใดเลย อาจส่งผลให้สูญเสียความสดใสร่าเริงและเสน่ห์เฉพาะตัวไป ด้วยเหตุนี้อีกหนึ่งเคล็ดสำคัญคือ การว่าจ้างช่างทำผมหรือช่างแต่งหน้าที่ “หน้าตาชวนฝัน” มาคอยให้บริการเหล่าไอดอลสาวเวลาไปออกอีเวนต์ต่างๆ เพื่อให้ “หัวใจน้อยๆ ของเหล่าหญิงสาว” บังเกิดโมเมนต์หัวใจสั่นไหวเคลิบเคลิ้มได้เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี 

เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ กับ การทำงานหนักเพื่อแลกกับเงินเพียงน้อยนิด : 

ปี 2022 ที่ผ่านมา สื่อของประเทศญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขรายได้ของเหล่า “จิกะไอดอล” (Chika idol) หรือ “ไอดอลใต้ดิน” ซึ่งถือเป็น กลุ่มไอดอลที่ได้รับ “ค่าตอบแทนต่ำที่สุด” ในอุตสาหกรรมนี้ โดยอ้างอิงจากบุคคลที่เป็นเจ้าของบริษัทบันเทิงเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวเอาไว้ว่า...

ศิลปินกลุ่มไอดอล 7 คนที่เขาดูแลในอดีต นั้น ภายใต้สัญญา 2 ปี จะมีการระบุเอาไว้ว่า ศิลปินจะได้รับส่วนแบ่งจากค่าจ้าง งานละ 50% และอีก 30% จากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าที่ระลึกต่างๆ และเมื่อครบสัญญาจะมีการต่ออายุคราวละ 1 ปี อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านไปได้ไม่ถึงปี กลับมีถึง 4 คนจากทั้งหมด 7 คน ขอลาออกจากวง เนื่องจากร่างกายไม่อาจทนต่อการทำงานหนักจากการต้องแสดงโชว์ถึง 20 วันใน 1 เดือน ได้อีกต่อไป อีกทั้งพวกเธอยังยอมรับด้วยว่า ได้รับ “ผลตอบแทน” ที่ไม่คุ้มค่า

...

ต้นทุนและรายได้ของ จิกะไอดอล :  

ผู้จัดการวงคนดังกล่าว เปิดเผยต่อไปว่า ต้นทุนขั้นต่ำสุดสำหรับ ไอดอลใต้ดินหนึ่งวง อยู่ที่ประมาณ 8 ล้านเยนต่อปี หรือ ประมาณ 1.99 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 ก.ค.66) ซึ่งจะถูกใช้ไปกับ เครื่องแต่งกาย สินค้าที่ระลึก ค่าเรียนร้องเพลงและฝึกฝนการเต้น รวมถึงค่าจ้างนักแต่งเพลง

ส่วนค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ที่วงไอดอลดังกล่าวได้รับ ซึ่งมาจากส่วนแบ่งรายได้จากการแสดงในแต่ละครั้งและการขายสินค้าที่ระลึก นั้น สำหรับส่วนแรก เมื่อต้องหักค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดโชว์แล้ว ศิลปินได้รับส่วนแบ่งที่เล็กน้อยมากๆ ขณะที่ส่วนที่สอง คือ ส่วนแบ่งจากยอดขายสินค้าที่ระลึกซึ่งโดยมากมักจะเป็น “เสื้อยืดวง” นั้น ก็กลับขายได้น้อยมากๆ อีกเช่นกัน

ฉะนั้น รายได้เพียงทางเดียวที่ได้มาเป็นกอบเป็นกำหน่อย คือ การเปิดให้แฟนคลับได้พูดคุยและถ่ายคู่กับศิลปิน ซึ่งสามารถทำรายได้ครั้งละ 1,000 เยน (249 บาท) ทำให้ สมาชิกวงดังกล่าว มีรายได้ต่อเดือนจากเฉพาะช่องทางนี้ประมาณ 60,000 - 70,000 เยน (14,973-17,468 บาท) ต่อคน อย่างไรก็ดีสำหรับวงที่ยังไม่โด่งดัง รายได้จากเฉพาะส่วนนี้จะอยู่ที่เพียงประมาณ 20,000 เยน (4,991บาท) ต่อคนเท่านั้น! 

ซึ่งตัวเลขเพียงเท่านี้ “ย่อมไม่เพียงพอ” สำหรับการใช้ชีวิตในกรุงโตเกียว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดเมืองหนึ่งของโลกอย่างแน่นอน!  

Oshi No Ko กับ ภัยคุกคามจากเหล่าแฟนคลับ :

การเปิดตัวด้วยซีนเศร้าสะเทือนใจและน่าตกตื่น ด้วยการให้แฟนคลับใช้มีดบุกแทงไอดอล ถูกตีความว่าน่าจะเป็น “ความจงใจ” ของ “อาจารย์อากะ อาคาซากะ” ที่ต้องการสะท้อนถึงด้านมืดของอุตสาหกรรมไอดอลให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด และแม้ว่า อาจารย์อากะ จะพยายามยืนยันผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้งว่า “ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องที่ถูกแต่งขึ้น” 

หากแต่ในความเป็นจริง เหตุการณ์ดังกล่าวถูกตีความว่าน่าจะอ้างอิงมาจากเหตุการณ์ที่ ไอดอลสาวนักร้องและนักแต่งเพลง “มายู โทมิตะ” (Mayu Tomita) ถูกคนร้ายซึ่งก่อนหน้านี้พยายามคุกคามเธอหลายต่อหลายครั้ง ใช้มีดบุกแทงตามร่างกายมากกว่า 20 แผล จนได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อปี 2017 จากเหตุผลเพียงแค่ว่า “รู้สึกไม่พอใจที่เหยื่อสาวส่งคืนของขวัญที่เขามอบให้” ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจาก “ความหมกมุ่น” อยู่กับไอดอลที่ตนเองชื่นชอบมากจนเกินไป จนกระทั่งทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นได้ทันที เมื่อรู้สึกว่า “คนที่ตัวเองชื่นชอบหักหลัง” 

และประเด็นนี้เอง ยังเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้ได้อย่างเด่นชัดด้วยว่า “อาชีพไอดอล” นั้น ต้องแบกรับความกดดันจากการทั้งต้องรักษากฎระเบียบอันแสนเข้มงวดต่างๆ “เพื่อรักษาภาพลักษณ์อันสมบูรณ์แบบ” รวมถึง “ความคาดหวัง” ของทั้งตนเองและต้นสังกัดในแง่ของการสร้างรายได้มากมายขนาดไหน? 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง