Block of My Life เราไปถนนอะไร ก็จะได้ "เส้นทาง" นั้น มุมคิดจากภาพยนตร์ American beauty...
ผ่านปี 2023 มาไม่กี่เดือน สินค้าหลายๆ แบรนด์ก็ "เห่อ" ในการทำคอลเลกชัน ที่ไม่แสดง "ยี่ห้อ" ตัวเอง เพราะเทรนด์ Quiet luxury กำลังเชี่ยวกราก...เรียกว่า โลโก้ไม่มีได้ยิ่งดี แล้วจะดีกว่า ถ้าใช้ดีไซน์ให้คนรู้ว่า เขากำลังถือกระเป๋าแบรนด์อะไร
วันหนึ่ง มนุษย์ก็บ้าแบรนด์ที่ตะโกนเสียงดังๆ ทำอักษรใหญ่ๆ ตราสินค้าตัวกว้างหนา - พอมาถึงวันหนึ่ง ก็พลิกกลับไปอีกขอบด้าน คือ อยากจะหรูแบบ "เรียบเงียบ"...สรุปคือ สังคมยุคนี้ อยากมี "ภาพลักษณ์" แต่ไม่อยาก "ตะโกน" บอก พอพูดถึง "วัฒนธรรมภาพลักษณ์"
มีหนังเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ American beauty ของผู้กำกับ "แซม เมนเดส" (คนนี้ เติบโตมาทางสายละครเวที จึงให้ความสำคัญกับดีเทลต่างๆ) หนังเรื่องนี้ เล่าพล็อตเกี่ยวกับ "ครอบครัวหนึ่ง" ที่ล่มสลาย เพราะสิ่งเร้า จากการบ้า "ภาพลักษณ์"
...
เริ่มที่ "พ่อ" คือ เบิร์นแฮม - เขาสนใจผู้หญิงหน้าตาดี ไม่สนใจว่า จะวัยไหน ถ้าเพื่อนลูก แล้วคลิกกันก็ไม่เว้น วิธีหนึ่งที่เขาใช้เรียกความสนใจจากผู้หญิงคือ เล่นกล้าม เข้ายิม เพื่อให้ดูเฟิร์ม..."หุ่นดี ร่างตึง" สาวก็จะมาเอง เขาคิดแค่นี้
มาถึงตัวแม่ หรือ "ภรรยา" ของ เบิร์นแฮม คนนี้ชื่อ แคโรลีน ตื่นเช้ามาก็ต้องมาตัดกิ่งดอกกุหลาบแดง เอาไปปักแจกัน แล้วจะออกจากบ้านไม่ได้ถ้า "ลิปสติกไม่แดง" เธอเป็นเอามากกับ "ทุกอย่างต้องดูดี" ขนาดมีอารมณ์ทางเพศกับสามี กำลังจะไปสวรรค์ ยังต้องขอหยุด เพราะกลัวโซฟาสกปรก....
สำหรับ "ลูกสาว" อาจจะเบาหน่อย เธอชื่อ เจน แต่ก็ไม่ได้เจนจัดในทางชีวิต เพราะเธอชอบคบเพื่อนสาวที่สะสวย อย่าง "แองเจล่า" นัยว่า เดินกับ แองเจล่า แม้ไม่ถูกมองเท่าเพื่อน แต่ก็ได้รับ "แสง" อยู่บ้าง
พ่อ-แม่-ลูก ครอบครัวนี้ บ้านของพวกเขา ไม่มีแสงส่องเข้ามา ห้องรกและอับ ทางพื้นก็ตันและไม่สบายตา กรอบต่างๆ "รัดแน่น" ตั้งแต่ประตู หน้าต่าง สิ่งที่เป็น "สี่เหลี่ยม" กระจายตัวเต็มบ้าน เพื่อจะบอกว่า พ่อแม่ลูก ถูก "จองจำ" อยู่ในกรอบที่มองไม่เห็น....
กรอบที่มองไม่เห็นคือ การเป็นทาสเรื่อง ภาพลักษณ์ต้องดูดี, แม่บ้าความสวยประดิษฐ์ พ่อคลั่งหุ่นมีกล้ามเพื่อยั่วเพศหญิง ส่วนลูก ก็ต้องวนเวียนกับความงามกระพี้ (เจนขนาดเปิดคอมฯ ดูนมที่น่าทำ)
หนังปูเรื่องมาแบบนี้ หนังไม่มีทางจบแบบ ดีงาม - เพราะทุกตัวละคร มี Block ในชีวิต อยู่กับ "การคลั่งสร้างภาพลักษณ์" ฝรั่งจะมีประโยคหนึ่งที่พบในวรรณกรรมบ่อยๆ คือ Block of my life หรือ ทางหลักในชีวิต ที่เราเลือกเดิน...
...
คำว่า Block ก็คือ แนวทางการใช้ชีวิต "หลักๆ" ซึ่งก็พอจะสะท้อน หรือ "นำไปสู่" ชีวิตที่คาดเดาได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างเช่น ผมมีเพื่อน 3 คน ที่เวลาเลิกงาน มักมีกิจกรรมที่แตกต่างกันมาก
คนแรก ชอบไปบ่อนเล่นพนัน แทงสนุ๊กฯ เล่นพนันฟุตบอล อีกคนหนึ่ง ชอบไปเรียนทำอาหาร ทุ่มเงินทอง เข้าคอร์สแพงๆ คนสุดท้าย ไปร้านหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ แล้วมีโลกส่วนตัว
Block คนแรก น่าเป็นห่วงสุด เพราะแก่นหลักของเขาคือ "การพนัน" ซึ่งไม่มีความปลอดภัยสูงสุด คนที่สองน่าจะเพื่อนเยอะ เพราะการทำอาหาร ย่อมสร้างเพื่อนเข้ามา สำหรับคนสุดท้าย อาจไม่สุงสิงสังคมมากมาย แต่มีความรู้ และรู้จักใช้ความคิด มีสติกว่าคนแรกแน่นอน
บางที เราสามารถ เห็น เดา รู้ ชีวิตแต่ละคนได้จาก Block ของเขา ผมเคยเดาเล่นๆ ว่า เพื่อนที่อ่านหนังสือมานาน วิธีคิด วิธีพูด จะดูฉลาด และมีเชิงมากกว่า เพื่อนที่ไม่อ่านหนังสือเลย ใน American beauty มีตัวละครคนหนึ่ง ไม่สนใจภาพลักษณ์ เขาชื่อ "ริคกี้"
...
ริคกี้ พยายามชวน เจน "ออกจากภาพลักษณ์" ด้วยการสนทนาปัญญา ชี้ให้เห็นว่า ถ้าแนวทางชีวิตเรา ไม่สนใจภาพลักษณ์ มันจะดีขึ้นตั้งหลายอย่าง...ริคกี้ เวลาคุยกับ เจน จะนอนอยู่ใน Level เดียวกัน แต่ถ้า เจน คุยกับ แองเจล่า เจนจะมีระดับที่ต่ำกว่า... เพราะ "ถูกกดไว้" จากเพื่อนที่สวยกว่า
Block ในชีวิต ตัวละคร พาทุกคนไปสู่ จุดจบ และเรื่องไม่น่าอภิรมย์....แองเจล่า ที่เคยสวยมาทั้งเรื่อง สุดท้ายไม่มีใครมอง ขนาดเธอแก้ผ้า ผู้ชายยังไม่สนใจ...แคโรลีน รับความจริงไม่ได้ จึงยิงสามีตาย ส่วนสามี คือ เบิร์นแฮม ต้องจบชีวิตลง แต่ก่อนจะตาย เขาได้พบว่า ความงามที่แท้จริง ก็คือ ตอนที่ครอบครัว ยังไม่ร่ำรวย แต่มีความสุขกันเล็กๆ
เล็กๆ ที่ว่าก็คือ เริ่มต้นที่ชีวิต ซึ่งไม่บ้าแบรนด์เนมภาพลักษณ์ ชื่อหนัง American beauty คือ ความงามประดิษฐ์! ที่ผู้คน ตกเป็นเหยื่อ "การสร้างภาพลักษณ์"
...
เราจะเป็นอะไร ในท้ายที่สุด ขึ้นอยู่กับเรา "เลือกใช้ชีวิต" หลักๆ ไปทางไหน ถ้าเราไปวัด เราก็จะเป็นวัด...ถ้าเราไปร้านหมูกระทะ เราก็จะเป็นหมูกระทะ...และ - ถ้าเราไปร้านหนังสือ อย่างน้อย เราก็จะเป็น "หน้ากระดาษหนึ่ง" ของ "ถ้อยคำ"
อ่านบทความของ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :