Final Fantasy XVI ความอัศจรรย์ครั้งสุดท้าย รอบที่ 16 เกมฟอร์มยักษ์ของปีที่ทำออกมาอย่างตั้งใจ คุณภาพสูง เล่นได้ทั้งแฟนหน้าเก่าและใหม่!

Introduction

ต้องบอกว่าปี 2023 เป็นหนึ่งในปีทองของเกมเมอร์จริงๆ นะครับ เพราะตั้งแต่เริ่มปีนี้กันมา ก็มีเกมเจ๋งๆ มากมายวางจำหน่ายให้เกมเมอร์ได้เล่นกัน แล้วส่งท้ายปลายเดือนนี้ด้วยอีกหนึ่งเกมฟอร์มยักษ์อีกหนึ่งแฟรนไชส์ "JRPG" ในตำนานที่ยืนหยัดในวงการมาแล้วถึง 36 ปี ครองใจผู้คน แต่ถูกก่นด่าทุกภาค และดูเหมือนจะไม่เคยทำให้แฟนพอใจเลยสักครั้งในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมานี้อย่าง "Final Fantasy" และการกลับมาครั้งใหม่ ซึ่งจะวางจำหน่าย 22 มิถุนายนนี้ น่าเสียดายครับที่รายการรู้รอบเกมในสัปดาห์นี้ ออกอากาศหลังจากเกมวางขายเพียงแค่ 2 วัน ผมคงยังไม่ได้เรียนรู้ระบบต่างๆ ของเกมมากพอที่จะเขียน "คำนิยม" ให้ทุกท่านได้รับชมหรือว่าอ่านกันทัน แต่ว่าผมก็ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของตัวเกมเท่าที่จะหาได้มาไว้ในรายการตอนนี้ เผื่อว่ามันจะทำให้ทุกคนคลายความสงสัย หรือว่ากระตุ้นความสนใจที่มีต่อตัวเกมกันได้บ้างนะครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการและความอัศจรรย์ครั้งสุดท้าย รอบที่ 16 

...

เรื่องราวระหว่างการสร้าง : 

"Final Fantasy XVI" ได้เริ่มต้นการวางแผนช่วงปี 2015 ครับ จากการที่ประธานบริษัท "Square Enix" ได้มอบหมายให้คุณ Naoki Yoshida (นาโอกิ โยชิดะ) หรือที่แฟนๆ รู้จักกันในชื่อ "Yoshi P" โปรดิวเซอร์มือทองของทางค่าย รับหน้าที่ในการดูแลโปรเจกต์นี้ 

Yoshi P เนี่ยเป็นลูกหม้อของ Square Enix มาตั้งแต่ปี 2004 และมีส่วนร่วมในการควบคุมการผลิตของเกมในค่ายมามากมาย แต่โปรเจกต์ที่น่าเรียกได้ว่าประทับใจฝ่ายบริหารมากที่สุด ก็คือการปลุกชีพให้ Final Fantasy XIV ซึ่งเป็นเกม "MMORPG" ออนไลน์ที่ตอนเปิดตัวครั้งแรกเมี่อปี 2010 ต้องเรียกว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า จนกระทั่งเขามาช่วยรื้อเกมทำกันใหม่ก่อนเปิดให้บริการกันอีกครั้งในปี 2013 และให้ประสบความสำเร็จกลายเป็นเกม MMORPG ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลกจนมาถึงปัจจุบัน

ตัวเกม Final Fantasy XVI เริ่มพัฒนาช่วงปี 2016 ระหว่างการพัฒนา ทีมงานก็นำเอาคำวิจารณ์และผลตอบรับที่ได้จาก Final Fantasy XV มาปรับปรุงแก้ไข โดยปัญหาที่ถูกตำหนิจากแฟนมากที่สุดคือ วิธีการเล่าเรื่อง และการออกแบบ open world ซึ่งมาในภาคนี้ ทีมงานก็เตรียมตัวมาแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น และต้องการให้เนื้อหาของเกมมีความหนัก มืดหม่น ไม่ได้พูดถึงแค่วัยเด็กหรือวัยรุ่น แต่เป็นเรื่องราวที่คนทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ 

ทีมงานได้ทำการวางโครงสร้างหลักของภาค 16 นี้ โดยนำเอาประสบการณ์จากการสร้าง Expansion หลายๆ ตัวของ Final Fantasy XIV มาประยุกต์ใช้ และได้แรงบันดาลใจมาจากซีรีส์แฟนตาซีระดับโลกอย่าง Game of Thrones ซีซั่นแรกๆ ทำให้เกมมีสไตล์เป็นยุโรปยุคกลางเหมือนเกม RPG ในสมัยก่อน

ด้านระบบการต่อสู้นั้น ทีมงานได้สอบถามแฟนๆ ของซีรีส์ว่าชื่นชอบรูปแบบการเล่นชนิดใด ระหว่าง ระบบการต่อสู้แบบ real time สมัยใหม่ หรือการต่อสู้แบบ turn base ดั้งเดิม ซึ่งหลังจากพิจารณาปัจจัยทางการตลาดและเทรนด์ของเกมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันแล้วนั้น พวกเขาก็ได้ตัดสินใจเลือกระบบการต่อสู้แบบ Action real time อย่างเดียวไปเลย และไม่ใส่ระบบอะไรที่ครึ่งๆ กลางๆ ที่หวังจะเอาใจคนทุกกลุ่มเข้ามาเพราะมีความสุ่มเสี่ยงว่าผลลัพธ์สุดท้าย เกมอาจไม่ได้ดีสักทางเลย 

ด้านการออกแบบระบบการต่อสู้นั้น Yoshi P ติดต่อไปหาคุณ Ryota Suzuki (เรียวตะ ซูซูกิ) อดีตสมาชิกทีมพัฒนาค่าย Capcom ที่มีประสบการณ์ในการสร้างระบบการต่อสู้จากซีรีส์ Devil May Cry มาช่วยออกแบบ โดยหลักการคือ ต้องการนำเอาระบบความสามารถพิเศษของ Final Fantasy V มาทำให้กลายเป็นระบบการต่อสู้แบบ Real time ส่งผลให้รูปแบบการเล่นที่เราได้เห็นจากตัวอย่างทั้งหลายก่อนหน้า เกมมีความเป็นแอ็กชันสูงมาก จนบางคนถึงกับล้อว่า นี่มัน Devil May Cry ชัดๆ

...

ความไม่พอใจของเหล่าแฟน :

แน่นอนครับว่า หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ Final Fantasy XVI มากขึ้นเรื่อยๆ คำวิจารณ์ของแฟนๆ ก็เริ่มก่อตัวมากขึ้นเป็นลำดับ ความไม่พอใจก็มีหลากหลายครับ ตั้งแต่กลุ่มที่ไม่ชอบ Setting ของเกมว่า โบราณ เชย ดูไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เล่นกับ ดาบ เวทมนตร์ ซึ่งมันธรรมดาเกินไป จนถึงกลุ่มที่ไม่พอใจระบบการต่อสู้ว่า ทำไมเกม RPG มันถึงได้กลายเป็นเกมแอ็กชันรวดเร็วแบบนี้ จะเล่นยังไงไหว หรือกลุ่มที่ทราบว่า Final Fantasy XVI จะไม่ใช่โลก Open world ที่เปิดกว้างให้ผู้เล่นสำรวจหรือเดินทางไปไหนได้ตามใจ เพราะว่ามันจะทำให้กรอบเวลาการพัฒนาเกมเนิ่นนานช้าไปว่ากำหนดการมาก ก็รู้สึกว่านี่เป็นการพัฒนาที่ถอยหลังลงคลองไปหมด

เอาจริงๆ แล้ว ส่วนตัวผมก็มีความคิดว่า สำหรับซีรีส์ที่ยืนหยัดมายาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ Final Fantasy มีจุดเด่นอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงครับ ทุกภาคมีเอกลักษณ์ มีกระบวนการขั้นตอน แนวคิดเบื้องหลังการสร้าง หรือแม้แต่คนรับผิดชอบโปรเจกต์ก็ต่างกัน สิ่งที่แต่ละท่านอยากจะนำเสนอย่อมต้องมีรายละเอียดที่ต่างไป นั่นจึงนำมาสู่รูปแบบของเกมที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย และเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของซีรีส์นี้ ถ้าจะมองด้วยความเป็นธรรม เราก็น่าจะต้องดูที่เป้าหมายที่ทีมงานต้องการจะทำ และดูว่าพวกเขาทำตามเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน และวิจารณ์ในประเด็นเหล่าน่าจะมีความยุติธรรมกับผู้สร้างผลงานมากกว่า

...

แน่นอนว่าเสียงของเราในฐานะแฟนก็ย่อมมีความสำคัญ เราอาจจะเรียกร้องอยากได้องค์ประกอบต่างๆ จากเกมที่เรารัก ซึ่งทีมงานอาจจะตอบสนองหรือไม่ก็ตามแต่ สุดท้ายอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นสิทธิของเราในการสนับสนุนผลงานของผู้สร้าง ที่ตรงกับความต้องการของเรามากกว่าเป็นธรรมดา ก็ปล่อยให้กลไกทางการตลาดทำหน้าที่ของมันไปก็น่าจะเพียงพอครับ

โลกของ Final Fantasy XVI :

เรามาดูรายละเอียดของตัวเกมกันบ้างดีกว่าครับ โลกของ Final Fantasy XVI นั้น มีชื่อว่า Valisthea (วาลิสเธีย) ภายใน Valisthea ประกอบไปด้วย 2 ทวีป ซึ่งภายในมีอาณาจักรตั้งอยู่ 6 อาณาจักร แต่ละอาณาจักรจะได้รับพลังจากคริสตัล ซึ่งเป็นบ่อเกิดของ Aether (อีเธอร์) หรือเวทมนตร์และอำนาจวิเศษที่ค้ำจุนอาณาจักรเหล่านั้น ซึ่งก็ประกอบไปด้วย 

แคว้น Rosaria (โรซาเรีย) อยู่ทางตะวันตกของทวีปสตอร์ม เป็นดินแดนที่เรื่องราวทั้งหมดของตัวเอกเริ่มต้นขึ้น

จักรวรรดิศักดิ์สิทธิ์ Sanbreque (ซานบรีค) มหาอำนาจทางตอนเหนือของทวีปสตอร์ม ที่จ้องจะแผ่ขยายดินแดนไปทั่วโลก

...

สาธารณรัฐ Dhalmekian (ดาลมีเคียน) ดินแดนทะเลทรายใหญ่ทางใต้ของทวีปสตอร์ม
ราชอาณาจักรไอรอน หมู่เกาะทางตะวันตก มีเรื่องบาดหมางกับทั้ง ดาลมีเคียน และโรซาเรีย

ราชอาณาจักร Waloed (วาลูท) อาณาจักรเดียวบนทวีปแอช ตั้งอยู่ห่างไกลแต่เป็นพันธมิตรกับ ดาลมีเคียน

เขตปกครอง Crystalline (คริสตัลไลน์) ดินแดนศูนย์กลางที่เชื่อมต่อทั้งสองทวีปเข้าด้วยกัน ไม่มีประเทศใดเป็นผู้ครอบครอง แต่ทุกอาณาจักรตกลงให้เป็นเขตปลอดสงคราม

"กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" ครีเอเตอร์สายเกมไทยรัฐออนไลน์

อาณาจักรทั้ง 6 มีเรื่องบาดหมางรบพุ่งกันไม่ว่างเว้น แต่ละอาณาจักรจะมี Dominants (โดมิแนนท์) หรือว่า ร่างสถิต ซึ่งจะเป็นมนุษย์ที่เป็นร่างทรงของเหล่า Eikons (ไอคอน) สิ่งมีชีวิตทรงพลังที่มีอำนาจดุจดั่งเทพเจ้า 8 ตน ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์และตัวแทนแห่งธาตุทั้ง 8 ได้แก่ ไฟ, น้ำ, สายฟ้า, น้ำแข็ง, ลม, ดิน, แสง, และความมืด โดยในรอบชั่วอายุขัยของร่างสถิตแต่ละคน จะไม่มี Eikon จากธาตุเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำสอง และหลายครั้งเหล่า ไอคอน ก็จะถูกใช้ในการสงครามเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรด้วย

คริสตัลและเวทมนตร์ในโลกนี้ ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันทุกอย่าง ไม่ว่าจะทั้งทำเกษตร ทำอาหาร มนุษย์จึงมีชีวิตอยู่ได้โดยการทำเหมืองนำเอาผลึกคริสตัลก้อนเล็กๆ มาใช้สร้างเวทมนตร์ และเมื่อใช้พลังจนหมด ผลึกเหล่านั้นก็จะแข็งเป็นหิน คริสตัลและเวทมนตร์ภายในเกมจึงเปรียบเทียบได้กับทรัพยากรธรรมชาติทางพลังงาน เช่น น้ำมัน ส่วนเหล่าไอคอนก็เปรียบได้กับ Super Weapon อย่างระเบิดปรมาณูในโลกของเรานี่แหละครับ

แต่ปรากฏว่ามีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้เวทมนตร์ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังจากคริสตัล ซึ่งลองคิดดูเล่นๆ มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหมครับ แต่เปล่าเลย มนุษย์กลุ่มนี้ถูกดูถูก ไล่ล่า และจับมาเป็นทาส ทำงานรับใช้เจ้านายของตัวเอง เหมือนเป็นแหล่งพลังงานที่ได้มาฟรี ซึ่งเมื่อมนุษย์กลุ่มนี้ใช้เวทมนตร์จนกระทั่งพลังชีวิตของตัวเองหมดสิ้นลง ร่างก็จะสูญสลายเป็นเถ้าธุลี

ในช่วงเวลาของ Final Fatasy XVI โลกของ Valisthea กำลังล่มสลายลงอย่างช้าๆ เนื่องจากการระบาดของภัยพิบัติลึกลับที่ผู้คนเรียกกันว่า Blight ที่คอยกัดกินสิ่งมีชีวิตทั้งพีชและสัตว์จนสูญสลายไปเสียหมด มันค่อยๆ แผ่ขยายอาณาเขตพื้นที่สีดำนี้ออกไปอย่างช้าๆ ก่อให้เกิดวิกฤติคับขัน ที่ทุกอาณาจักรกำลังเผชิญอุปสรรคใหญ่ในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติดังกล่าว รวมไปถึงความทะเยอทะยานและแผนการซ่อนเร้น ในการช่วงชิงอำนาจที่จะชักนำให้อาณาจักรทั้งหลายต้องมีเรื่องบาดหมางกันในที่สุด

สรุป : 

จะเห็นได้ว่าตัวเกมในภาคนี้มีการวางโครงเรื่องไว้น่าสนใจ สังเกตเห็นแรงบันดาลใจที่ได้จากซีรีส์ Game of Thrones อย่างชัดเจน และยังสามารถเชื่อมโยงเทียบเคียงกับโลกของเราอย่างที่ยกตัวอย่างไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านพลังงาน หรือภัยธรรมชาติอย่างภาวะโลกร้อน หรือว่าโควิด น่าสนมากครับว่า เนื้อเรื่องของเกมจะถูกเล่า และคลี่คลายออกมาในรูปแบบใด

สำหรับเรื่องความสนุก ในตอนที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ คะแนนรีวิวของเกมจากเว็บไซต์ Metacritic อยู่ที่ 88 คะแนน จาก 100 สำนักรีวิว เท่าที่ผมลองเล่นมาประมาณหนึ่งก็ต้องบอกว่า ใช้ได้อยู่นะครับ เอกลักษณ์อันโดดเด่นของ Final Fantasy อย่างฉาก set piece อลังการนี่ไม่ต้องพูดถึง งานภาพสวยหยดย้อย ดนตรีประกอบก็ยิ่งใหญ่ แค่สองจุดนี้ทำถึงคุ้มค่าเงินลงทุนแน่นอน 

ด้านเกมเพลย์ถึงแม้ระบบการต่อสู้จะมีพื้นฐานมาจากเกมแอ็กชัน แต่ก็ค่อนข้างปรับมาให้เข้าใจง่าย หากคุณไม่ถนัดรูปแบบการเล่นที่ซับซ้อน เกมก็มีระบบการช่วยเหลือผู้เล่นเช่นการสวมใส่ไอเทมอุปกรณ์พิเศษให้กับตัวละครเอก แล้วเกมจะง่ายขึ้น รวมไปถึงระบบ Quality of Life หลายอย่างก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีเลย เช่น การที่ผู้เล่นไม่ต้องกดเก็บของที่ตกอยู่ในฉาก แค่เดินทับเอาก็พอ, การรวบรวมข้อมูลเรื่องราวทั้งหมดของเกมให้ผู้เล่นติดตามความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรและตัวละครที่ยุ่งเหยิงได้ง่ายๆ 

และหากถ้าคุณผจญภัยในภาคนี้จนจบเนื้อเรื่องหลักแล้ว ก็จะสามารถเข้าเล่นโหมด New Game+ ที่มีชื่อว่า Final Fantasy Mode ซึ่งเกมจะเพิ่มความยาก, เปลี่ยนการจัดวางศัตรูในแผนที่ และมีศัตรูหน้าใหม่, ตัวเอกมีความสามารถใหม่, สร้าง Ultima Weapon ได้ และมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย เรียกว่าเต็มอิ่มแบบจุกๆ ไปเลย

เพราะฉะนั้นก็ต้องขอแนะนำว่า Final Fantasy XVI น่าจะเป็นอีกหนึ่งเกมฟอร์มยักษ์ของปีที่ทำออกมาอย่างตั้งใจ คุณภาพสูง เล่นได้ทั้งแฟนหน้าใหม่ และแฟนรุ่นเก๋าที่ติดตามซีรีส์นี้มาอย่างยาวนาน และน่าจับตามองครับว่า เกมจะมีกระแสติดลมบนไปขนาดไหนในปีที่เต็มไปด้วยเกมเยี่ยมๆ แบบนี้

อ่านบทความและรับชมคลิปรายการ "รู้รอบเกม" จาก "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" เพิ่มเติม: