สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย ที่ทำให้หวนระลึกถึงมังงะพลังแห่งคนหนุ่มสาว ที่มีชื่อว่า Sanctuary...

เมื่อ “สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” พัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยในเวลานี้ อาจกำลังทำให้ใครหลายๆ คน หวนรำลึกถึง มังงะเนื้อหาสุดเข้มข้นซึ่งมีวรรคทองที่ห่อหุ้มไปด้วยความทะนงและน่าจดจำที่ว่า “ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 40 และจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่อายุอยู่ในช่วง 30 ปี!” 

ที่มีชื่อว่า “Sanctuary” หรือในชื่อภาษาไทย “สุภาพบุรุษทรชน” (ล่าสุดในประเทศไทยถูกนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ฉบับรวมเล่ม 12 เล่มจบ) ผลงานสุดคลาสสิกของดรีมทีมแห่งโลกมังงะ คือ "อาจารย์โช ฟูมิมูระ" (Sho Fumimura) หรือที่แฟนๆ มังงะรู้จักดีในนาม "Buronson" และ "อาจารย์เรียวอิจิ อิเคงามิ" (Ryoichi Ikegami) ศิลปินผู้นิยมวาดคาแรกเตอร์ที่ต้องหล่อและสวยชนิดสมบูรณ์แบบ คือ มังงะดังที่เราได้ร่ายยาวมาตั้งแต่บรรทัดแรกนั้น 

...

แล้วเหตุใด “สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน” จึงมาบรรจบกับ มังงะเรื่องนี้ได้ วันนี้ “เรา” ไปหวนรำลึกถึงความฝันถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ของ 2 ชายหนุ่มที่ต้องการ “เปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่น” ไปตลอดกาล และยังเป็นอีกหนึ่งภาพจำแห่งยุค 90 กัน (อีกครั้ง) เพื่อดูสิว่า...มังงะอายุ 33 ปี เรื่องนี้ มีการบอกเล่าอะไรที่คล้ายคลึงกับ สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงบนประเทศ ประเทศหนึ่ง แถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ปี 2023 บ้าง?

Sanctuary ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ : 

มังงะที่ถูกตีพิมพ์ในช่วงระหว่างปี 1990-1995 ซึ่งฉายภาพการผนวกกันระหว่างด้านมืด (ยากูซ่า เงินทุน) และด้านสว่าง (การเมือง การขับเคลื่อน) ที่สังคมญี่ปุ่นพยายามปฏิเสธมาโดยตลอดว่า...มันไม่เคยมีอยู่จริง ผ่าน “อากิระ โฮโจ” (Akira Hojo) ผู้ทำหน้าที่เป็น “เงา” และ “จิอากิ อาซามิ” (Chiaki Asami) ผู้ทำหน้าที่เป็น “แสง” 

2 เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปจาก "เหตุการณ์ทุ่งสังหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" (Killing Fields) ในประเทศกัมพูชา ก่อนจะดิ้นรนอย่างสุดชีวิตแม้กระทั่งยอมกินเนื้อหนูและสูญเสียเพื่อนระหว่างทางเพื่อเดินเท้าไปให้ถึงชายแดนประเทศไทย 

จากนั้นเมื่อเดินทางกลับมายังมาตุภูมิ พวกเขาเลือกใช้การ “เป่ายิงฉุบ” ตัดสินการมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางการปฏิรูปทั้งด้านมืดและด้านสว่างพร้อมๆ กันตั้งแต่จบชั้นมัธยมปลาย เพื่อทำงานสอดประสานกันไปสู่การผลักดันให้คนหนุ่มสาวออกมาร่วมกัน “เปลี่ยนแปลงประเทศ” ทั้งจากระบบการเมืองอันแสนสกปรกซึ่งยึดติดเพียง “ผลประโยชน์แลกเปลี่ยนและราคาที่ต้องจ่าย” และกรอบความคิดอันคุ้นชินเรื่องความสุขสบายภายใต้อ้อมกอดอันแสนอบอุ่นของรัฐ (ช่วงปี 1990 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก) ไปสู่ “นิยามใหม่ของประเทศญี่ปุ่น” ที่เปิดรับทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทัศนคติจากชาวต่างชาติให้มากขึ้น 

...

เนื่องจากทั้งคู่มีความเชื่อมั่นว่า...วิธีการเปิดกว้างเช่นนี้ จะสามารถทำให้ประเทศญี่ปุ่นเกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน มากกว่าที่จะยึดนโยบายโดดเดี่ยวทางการเมืองและวัฒนธรรม รวมถึงสร้างเกราะป้องกันอันหนาแน่นให้กับทางภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศจนกระทั่งทำให้คนญี่ปุ่นอ่อนแอลง เพราะไร้ซึ่งการแข่งขันอย่างแท้จริง 

ความคล้ายคลึงระหว่างสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย กับ มังงะ Sanctuary ผ่านวรรคทองของ “คาแรกเตอร์เงาและแสง” อากิระ โฮโจ และจิอากิ อาซามิ

Sanctuary กับ แนวคิดการเลือกตั้ง : 

“คะแนนเสียงของพวกนายไม่ได้มีไว้ให้ผู้สมัคร แต่มีไว้แสดงความคิดของพวกนายเองและคนญี่ปุ่น” : อากิระ โฮโจ 

“ผมเข้าใจดีว่า ตอนนี้พวกคุณคาดหวังอะไรบางอย่างจากผม แต่การเลือกตั้งไม่ใช่การแสดง ผมไม่ได้คิดจะประจบขามุงอย่างพวกคุณ การเลือกตั้งคือการต่อสู้ และสิ่งที่ควบคุมการต่อสู้ครั้งนี้ก็คืออาวุธที่แต่ละคนมีอยู่ พวกคุณเองก็น่าจะรู้สึกตัวกันได้แล้ว 

...

การเลือกตั้งไม่ใช่การต่อสู้ของผู้แทนราษฎร มันเป็นการต่อสู้ของพวกคุณที่มีคะแนนเสียงเป็นอาวุธ อย่าลืมเสียล่ะ! ประเทศนี้จะอยู่หรือตายก็ขึ้นกับอาวุธของพวกคุณ!

ทิ้งการต่อสู้โดยไม่ใช้อาวุธก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา! อย่าปล่อยให้อาวุธผุพัง พวกคุณ...ลูกๆ ของพวกคุณ...และอนาคตของประเทศนี้...ทั้งหมดคือการต่อสู้ของพวกคุณ!!” : จิอากิ อาซามิ 

Sanctuary กับแนวคิดการปฏิรูปการผูกขาด : 

“นโยบาย คือ เปิดประเทศญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นเปิดประเทศก็จริง...แต่ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วที่ไหนปิดกั้นเหมือนญี่ปุ่นในตอนนี้ บริษัทญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นมั่งคั่งขึ้นมาด้วยการคุ้มครองจากการปิดกั้นที่ว่านั้น ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 

แต่ฉันจะทำลายมันซะ จะเปิดตลาดญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ก่อนอื่นต้องเริ่มจากการปลดปล่อยแรงงาน ต้อนรับแรงงานต่างด้าว เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประสงค์จะทำงานในญี่ปุ่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ถ้าทำแบบนั้นคนญี่ปุ่นก็จะเลิกพูดเสียที ว่ารังเกียจงานจำพวก 3K (Kitsui งานหนัก, Kitanai งานสกปรก, Kiken งานอันตราย) และจะเริ่มคิดหาทางอยู่รอดด้วยสมองของตัวเอง

บางทีน่าจะเกิดการแย่งงาน มีแค่วิธีเดียวที่คนญี่ปุ่นจะอยู่รอด นั่นคือกลับไปยังจุดเริ่มต้น ถ้าแรงงานต่างด้าวทำงาน 10 ส่วน เราก็ต้องทำงาน 20 ส่วน ถ้าแรงงานต่างด้าวทำงาน 20 ส่วน เราก็ทำงาน 40 ส่วน นั่นคือจุดเริ่มต้นของคนญี่ปุ่นใช่ไหมล่ะ!? .... ถ้าทำไม่ได้ ก็ปล่อยให้ญี่ปุ่นพรรค์นั้นมันพังไปเถอะ...! 

สิ่งที่ฉันคิดจะทำไม่ใช่ความรุ่งเรืองในตอนนี้ แต่เป็นอนาคตของญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่น มนุษย์ที่ได้รับการปกป้องมากไป...ประเทศจะไม่มีอนาคต!” : จิอากิ อาซามิ

...

Sanctuary กับแนวคิดการเลิกโดดเดี่ยวและการมีบทบาทกับสังคมโลก : 

“ฟังนะครับ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ท่ามกลางกระแสใหม่ สหรัฐฯ ก็ไม่มีข้อยกเว้น การรวมตัวกันของประชาคมยุโรปเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะถูกกีดกันจากตลาดยุโรป! แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะหันมามองญี่ปุ่นและเอเชีย! แม้แต่ยุโรปเองก็ไม่มีทางปล่อยตลาดสำคัญอย่างเอเชียไว้แน่ 

สหรัฐฯ ยุโรป แต่ละประเทศในเอเชีย จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อรักษาเสถียรภาพในอนาคต มันไม่ใช่ยุคที่ญี่ปุ่นจะมัวแต่อยู่อย่างสงบแล้ว ญี่ปุ่นเองก็ต้องปฏิรูป ความคลุมเครือของญี่ปุ่นใช้กับการทูตระดับโลกไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการก็คือมุมมองระดับโลก หรือการให้คำตอบ YES หรือ NO ได้!” : จิอากิ อาซามิ

Sanctuary กับแนวคิดการปฏิรูปการศึกษา : 

“การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น ตอนนี้การสู้รบและการจลาจลต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศพัฒนาแล้ว ผมคิดว่าต้นเหตุมาจากการศึกษา การศึกษาทางเดียวโดยผู้มีอำนาจและผู้ชี้นำ...การศึกษามุมมองเดียวทางศาสนา...ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการยืนกรานเรื่องสิทธิ แต่หน้าที่และความรับผิดชอบที่มาคู่กับสิทธิกลับถูกลืม...

ตอนนี้ถ้าได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม...รู้จักอิสระ...และสิทธิ...รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบที่ควบคู่กับสิทธิ ก็จะเริ่มคิดว่าตัวเองคืออะไร...สิ่งที่พวกตนต้องทำคืออะไรกันแน่...” 

“มนุษย์ไม่ใช่สัตว์...จะมีชีวิตอยู่ยังไง สามารถตัดสินใจเองได้ ไม่ต้องพึ่งสัญชาตญาณ ดังนั้น...ถ้าให้การศึกษาที่ผิดเพี้ยน แน่นอนว่าความคิดก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย” : อากิระ โฮโจ 

Sanctuary กับอุดมคติของนักการเมืองคนรุ่นใหม่ :   

“ลองก้าวออกมาสักก้าวดูไหมครับ? ถ้าไม่มีความฝันกับอุดมคติก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนหรอกครับ...” : จิอากิ อาซามิ

“ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 40 และจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่อายุอยู่ในช่วง 30 ปี!” : จิอากิ อาซามิ 

“ผมจะทำสิ่งที่คนธรรมดาต้องใช้เวลา 30 ปี...ให้ได้ภายในวันเดียว” : อากิระ โฮโจ 

Sanctuary กับ อำนาจการเมือง : 

“การเมืองคือการต่อสู้ครับ ถึงหนูจะคำรามยังไงแมวก็ได้ยินเป็นแค่เสียงร้อง ถึงแมวจะคำรามยังไง สิงโตก็ได้ยินเป็นแค่เสียงร้อง ก่อนอื่นแต่ละคนต้องเป็นสิงโตให้ได้!” : จิอากิ อาซามิ 

Sanctuary กับ เกมการต่อรองทางการเมือง :

“คนที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสักครั้งจะสูญเสียความตั้งใจของตัวเองไป ถึงต้องใช้เวลา 20 ปีก็จะอยู่ด้วยความคิดของตัวเอง และสร้างมันขึ้นมา...นั่นแหละ Sanctuary!” : อากิระ โฮโจ และจิอากิ อาซามิ 

ทั้งหมดที่เพิ่งผ่านสายตาไป “คุณ” คิดเห็นอย่างไร และประโยคไหนที่ “คุณ” คิดว่ามันกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยกันบ้าง?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง