ทำความรู้จัก The Legend of Zelda เกมที่ถูกขนานนามว่า เกมที่ดีที่สุดในโลก...
ในโลกของวิดีโอเกมนั้น คุณภาพของตัวเกมถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกมแต่ละเกมประสบความสำเร็จ โดยคุณภาพที่ว่านั้น อาจจะเป็นเรื่องกราฟิก, เทคโนโลยี, เกมเพลย์ หรือว่าความคิดสร้างสรรค์ ที่เมื่อนำมาประกอบรวมกัน แล้วจะทำให้เกมนั้นได้รับการยอมรับว่ามันเป็นเกมที่โดนใจเหล่าเกมเมอร์เพียงพอที่สร้างภาคต่อออกมาเป็นจำนวนมาก และได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งหากเรากวาดตามองไปรอบภูมิทัศน์ของวงการเกม ก็มีเพียงไม่กี่ชื่อเท่านั้น
ที่จะยืนยงคงกระพัน รักษาคุณภาพได้อย่างไม่ย่อหย่อนตลอดอายุอานามของซีรีส์ หนึ่งในนั้นก็คือ The Legend of Zelda เกมอมตะที่ครองใจผู้คนมาตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี และอยู่เคียงคู่เป็นเสาหลักให้กับไลน์อัปเกมของนินเทนโดมาตั้งแต่เครื่อง Nintendo Entertainment System (หรือว่า Famicom ในเมืองไทย) จนถึงเครื่องเกมคอนโซลรุ่นล่าสุดของพวกเขาอย่าง Nintendo Switch ถึงขนาดที่มีคำกล่าวเอาไว้ว่า “เกมเซลด้าภาคที่แย่ ก็ยังนับว่าเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมหากเทียบตามมาตรฐานของเกมทั่วไป”
...
หากเรานับรวมเกมภาคหลักทั้งหมดของซีรีส์ ก็จะพบว่าเกมนี้ออกมาแล้วถึง 19 ภาค!!! (ไม่รวม spin-off หรือรีเมกต่างๆ) และในปัจจุบันก็ทำยอดขายไปแล้วรวมกันถึง 139.63 ล้านชุด ยิ่งในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ หรือว่าเพียงแค่วันสองวันก่อนที่รู้รอบเกมเทปนี้จะออกอากาศ เกม The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom ภาคต่อลำดับที่ 20 ของเกม RPG ระดับตำนาน ที่ทุกคนวางตัวกันเอาไว้ว่าจะเป็นเกมยอดเยี่ยมประจำปี 2023 ก็ได้ฤกษ์วางจำหน่ายแล้ว ในวันนี้ ผมจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ของซีรีส์นี้กันสักเล็กน้อย เชิญรับชมกันได้เลยครับ
จุดกำเนิดของ The Legend of Zelda นั้น เริ่มต้นมาจากแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ของบรมครูเกมดีไซเนอร์ระดับตำนานของนินเทนโด นั่นก็คือ "คุณชิเงรุ มิยาโมโต้" ผู้สร้างผลงานเกมอินดี้เล็กๆ ไว้ประดับวงการเกมอย่าง Mario และ Donkey Kong เขาเคยเล่าเอาไว้ว่าในตอนเด็ก เขาชื่นชอบการผจญภัยมาก และออกเดินป่าสำรวจจนได้พบกับอะไรตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ไปพบกับถ้ำแห่งหนึ่งเข้า ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปพร้อมกับตะเกียงเล็กๆ เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างเกม The Legend of Zelda ที่วางจำหน่ายในปี 1986 ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะจำลองความตื่นเต้นที่เขาได้รับจากการผจญภัยในครั้งนั้น อีกทั้งการวางโครงเรื่องของเกม ก็ยังมีการหยิบยืมจากวรรณกรรมคลาสสิกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น The Lord of the Rings หรือแม้แต่ดาบ Master Sword อาวุธของตัวเอกของเกมอย่าง Link ก็อ้างอิงมาจากดาบ Excalibur ของตำนานกษัตริย์อาเธอร์ หรือแม้แต่รูปลักษณ์ของ Link เอง ก็ยังมีต้นแบบมาจาก Peter Pan อีกด้วย
ฟังมาถึงตรงนี้อาจจะมีคนเอะใจนะครับว่า ตัวเกมชื่อ The Legend of Zelda แล้วทำไมตัวเอกของเกมนั้นชื่อว่า Link เรามาลองฟังเนื้อเรื่องคร่าวๆ ของเกมกันครับ โดยเหตุการณ์ในจักรวาลของเกมนี้ มักจะเกิดขึ้นในโลกมีชื่อว่า Hyrule ตามตำนานกล่าวไว้ว่า Hyrule นั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยสามเทพี Din เทพีแห่งพลัง, Farore เทพีแห่งปัญญา, และ Nayru เทพีแห่งความกล้าหาญ และทั้งสามก็ได้ทิ้งวัตถุวิเศษที่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมทองคำประกบกันซึ่งมีชื่อว่า Triforce เอาไว้ โดยสามเหลี่ยมแต่ละชิ้นก็จะเป็นตัวแทนของ พลัง, ปัญญา และความกล้าหาญตามลำดับ โดยผู้ที่สามารถครอบครองพลังของ Triforce ทั้งสามชิ้น ก็จะได้ทุกอย่างตามใจปรารถนา
นั่นจึงเป็นที่มาของตัวละครเอกทั้งสามตัวของซีรีส์ ที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความขัดแย้งของเกมในแทบทุกภาค คนแรกก็คือ Ganon หรือ Ganondorf ราชาปิศาจตัวร้ายประจำซีรีส์ สัญลักษณ์แห่งกำลังอำนาจ ที่มุ่งมั่นเสาะแสวงหาที่จะรวบรวมและครอบครองพลังของ Triforce เพื่อสร้างโลกที่เขาหวังเอาไว้
...
คนต่อมาคือเจ้าหญิง Zelda สัญลักษณ์แห่งปัญญา ผู้ยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย และสุดท้ายก็คือ Link เอลฟ์หนุ่ม ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ ที่จะต้องพิทักษ์ขัดขวาง ไม่ให้พลังอำนาจอเนกอนันต์ของ Triforce ตกไปอยู่ในกำมือของผู้ที่ไม่คู่ควรได้ เรื่องราวของ The Legend of Zelda แต่ละภาค อาจจะมีเหตุผลที่มารวมถึงรายละเอียดแตกต่างกัน ไปจนถึงลำดับเรื่องราวเหตุการณ์ก่อนหลังของแต่ละภาคก็ค่อนข้างยุ่งเหยิง แต่ส่วนใหญ่ปมประเด็น ก็จะไม่พ้นเรื่องราวของ Triforce และสามตัวละครหลักที่ได้กล่าวไปนี้ ซึ่งก็อาจจะนับว่าเป็นข้อดีก็ได้ เพราะหากคุณอยากเล่นเกมเซลด้าภาคไหน ก็เล่นได้เลยโดยไม่ต้องอ้างอิงกับเนื้อเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในภาคก่อนๆ
อย่างที่ผมได้กล่าวไปว่าเกม The Legend of Zelda นั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เกือบ 40 ปี และเกมภาคหลักถึง 19 ภาค แต่หากว่าเราจะตัดแบ่งกลุ่มเกมออกตามช่วงเวลาวิวัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน เราอาจลำดับกลุ่มของเกมได้ออกเป็น 5 ยุค
...
ช่วง 1986-1997 ยุคแรก จุดเริ่มต้นที่เป็นเกม 2 มิติ
ในยุคแรกของ Zelda นั้น วางจำหน่ายบนเครื่อง NES และ SNES ซึ่งก็นับว่าค่อนข้างจะเก่ามากแล้ว เพราะฉะนั้นกราฟิกในยุคนั้นเป็นแนวสองมิติที่แสนเรียบง่าย เทียบกับปัจจุบันก็ค่อนข้างดูหยาบมาก รายละเอียดของ สีสัน, ดนตรีประกอบ หรือการสร้างโลกให้น่าเชื่อ ก็ทำได้จำกัด แต่สิ่งที่เกมในยุคนี้ทำเอาไว้ก็คือการวางรากฐานโครงสร้างของเกมเอาไว้ให้เซลด้าในยุคต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการผจญภัยอย่างอิสระในโลกเปิดกว้าง และเต็มไปด้วยดันเจียนให้ผู้เล่นสำรวจได้ตามใจ โดยแทบไม่บอกหรือแนะนำรูปแบบวิธีหรือลำดับการเล่นโดยตรง ระบบการต่อสู้ที่ไม่ซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยไอเทมเสริมที่จะได้รับมา แต่ต้องหาทางใช้การต่อสู้หรือแก้ปริศนาเอาเอง เพื่อให้ดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปได้ ทั้งหมดนี้ล้วนกลายเป็นหัวใจสำคัญของซีรีส์ในยุคต่อมาทั้งสิ้น โดยเกมที่อยู่ในยุคนี้ก็จะประกอบไปด้วย The Legend of Zelda, Zelda II: Adventure of Link, The Legend of Zelda: A Link to the Past, และ The Legend of Zelda: Link’s Awakening
...
ช่วง 1998-2001 ยุคที่สอง เปลี่ยนถ่ายกลายเป็นเกม 3 มิติ
หลังจากวางจำหน่ายภาค Link’s Awakening ไปในปี 1993 ชื่อของ Zelda ก็หายไปจากวงการเกมถึง 5 ปี ก่อนจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่บนเครื่องเกมรุ่นล่าสุดของนินเทนโดในยุคนั้นอย่าง Nintendo 64 กับ ภาค Ocarina of Time ด้วยฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ที่ทรงพลังมากกว่าเดิม ทำให้ตัวเกมพัฒนางานภาพจนกลายเป็นเกมสามมิติโดยสมบูรณ์ นอกเหนือจากนั้นเกมเพลย์ของ Ocarina of Time ก็ยังยกระดับคุณภาพของตัวเกมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ระบบการต่อสู้และปริศนาที่ซับซ้อนมากขึ้น การสำรวจโลกก็สามารถทำได้บนหลังม้า ทำให้สามารถผจญภัยในดินแดนที่กว้างใหญ่กว่าเดิม และมีเนื้อเรื่องที่ยอดเยี่ยม และได้ถูกยกย่องว่านี่คือหนึ่งในเกม Zelda ภาคที่ดีที่สุดจวบจนปัจจุบัน และเป็นต้นแบบให้กับเกมสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งแนว RPG และเกมแนวอื่นๆ อีกหลายต่อหลายเกม ซึ่งเครดิตส่วนหนึ่งก็ต้องมอบให้กับ "คุณเอย์จิ อาโอนูมะ" ผู้ที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่งดีไซเนอร์ และพัฒนาไปเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลการพัฒนาซีรีส์นี้ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับเกมในยุคนี้ประกอบไปด้วย The Legend of Zelda: Ocarina of Time, The Legend of Zelda: Majora's Mask, และ The Legend of Zelda: Oracle of Seasons and Oracle of Ages
ช่วง 2002-2005 ยุคที่สาม ก้าวเท้าเข้าสู่แนวทางมัลติเพลเยอร์
หลังจากสร้างความประทับใจกับการผจญภัยในรูปแบบสามมิติ ในยุคต่อมารูปแบบการเล่นเกมหลายผู้เล่น หรือที่เราเรียกกันว่าแนว มัลติเพลเยอร์ ก็เริ่มได้รับความนิยมในท้องตลาดมากขึ้น แม้แต่ซีรีส์ Zelda เองก็ยังได้มีการทดลองตลาดด้วยการสร้างเกมที่ผู้เล่นหลายคนสามารถเล่นเกมพร้อมกันได้ โดยมีการจำหน่ายเกมในลักษณะนี้อยู่สองเกมด้วยกัน นั่นก็คือ ภาค Four Swords และ Four Swords Adventure โดยภาค Four Swords วางจำหน่ายบน Game Boy Advance ส่วน Four Swords Adventure นั้นวางจำหน่ายบนเครื่อง Gamecube และควบคุมได้ด้วย Game Boy Advance ทั้งสองเกมรองรับผู้เล่นสูงสุด 4 คน ซึ่งมีทั้งโหมดที่จะต้องออกผจญภัยร่วมกัน ไปจนถึงต่อสู้แข่งขันกันเอง สำหรับโหมดมัลติเพลเยอร์นั้นโลกของเกมจะไม่ได้เปิดกว้างให้ผู้เล่นสำรวจได้ แต่จะเป็นการเลือกฉากเล่นเป็นรอบๆ ให้สมกับรูปแบบการเล่นหลายคนมากกว่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตกใจไปครับ Zelda ไม่ได้หลงลืมตัวตนต้นกำเนิดของตัวเอง เพราะในยุคนี้ยังมีการวางจำหน่ายเกมอีกสองภาค ได้แก่ The Wind Waker และ The Minish Cap ซึ่งยังคงระบบการเล่นแบบ Zelda ต้นตำรับ เล่นคนเดียว เน้นเนื้อเรื่องและออกสำรวจโลกเหมือนเดิม
จุดเด่นของเกมสองภาคนี้คือการปรับเปลี่ยนกราฟิกให้เป็นรูปแบบการ์ตูนสามมิติที่ดูแตกต่างจากดีไซน์ของเกมภาคก่อนหน้าแทบทั้งหมด และนับว่าเป็นเกมที่ดีมากๆ ทั้งคู่อีกด้วย เกมในยุคนี้จะมีทั้งหมด 4 ภาคด้วยกัน ได้แก่ The Legend of Zelda: Four Swords, The Legend of Zelda: The Wind Waker, และ The Legend of Zelda: Four Swords Adventure, The Legend of Zelda: The Minish Cap
ช่วง 2006-2011 ยุคที่สี่ ใช้ระบบการควบคุมแบบพิเศษ
ในปี 2006 นินเทนโดวางจำหน่ายเครื่องเกมรุ่นใหม่ของพวกเขาอย่าง Nintendo Wii และแน่นอนว่าเกมเรือธงอย่างเซลด้า ย่อมต้องมาปรากฎตัวบนเครื่องของพวกเขาอย่างแน่นอน และภาคนั้นก็คือ Twilight Princess ซึ่งนับว่าเป็นภาคที่ดีที่สุดภาคหนึ่งเช่นกัน เพราะนำเอาระบบทุกอย่างที่ซีรีส์นี้เคยมี นำมาพัฒนาจนแทบจะสมบูรณ์แบบและยัดใส่เข้ามาในเกมภาคเดียว และหลังจากนั้นในปี 2011 นินเทนโดก็ยังได้ปล่อยเซลด้าภาคใหม่อีกเกมซึ่งก็คือ Skyward Sword ซึ่งนับว่าเป็นเกมที่มีเนื้อเรื่องตามไทม์ไลน์แรกสุดของจักรวาล Zelda เลย จุดเด่นของทั้งสองเกมก็คือการใช้คอนโทรลเลอร์รูปแบบพิเศษที่ติดมากับเครื่อง Wii ทำให้ผู้เล่นจะต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย และขยับข้อมือเพื่อจำลองการใช้งานดาบและโล่ระหว่างการต่อสู้ ในขณะที่เครื่องเกมคอนโซลที่ใช้งานภายในบ้านอย่าง Nintendo Wii กำลังครองตลาดอยู่นั้น ช่วงเวลาเดียวกัน เครื่องเล่นเกมพกพาของพวกเขาอย่าง Nintendo DS ก็จัดว่ากำลังร้อนแรงและทำยอดขายถล่มทลายจนนินเทนโดก็วางจำหน่ายเซลด้าบนเครื่องนี้ถึงสองภาคด้วยกัน ได้แก่ Phantom Hourglass และ Spirit Tracks ซึ่งทั้งสองเกมก็ใช้ลูกเล่นเฉพาะตัวของเครื่อง DS มาเป็นจุดขาย เช่น ระบบหน้าจอสัมผัส และหน้าจอที่สองซึ่งเพิ่มขึ้นมา หรือไมโครโฟน เกมในยุคนี้ประกอบไปด้วย The Legend of Zelda: Twilight Princess, The Legend of Zelda: Phantom Hourglass, The Legend of Zelda: Spirit Tracks, และ The Legend of Zelda: Skyward Sword
ช่วง 2013-ปัจจุบัน ยุคที่ห้า ขับเน้นระบบ open world
ในยุคต่อมาของนินเทนโดนั้นเครื่องเกมคอนโซลของพวกเขาอย่าง Wii U ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนทำให้ปู่นินพุ่งความสนใจไปสู่เครื่องเล่นพกพาที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าอย่าง Nintendo 3DS แทน ซึ่งทำให้พวกเขาวางจำหน่ายเกมเซลด้าภาคใหม่ถึงสองภาคด้วยกัน ได้แก่ A Link Between Worlds ซึ่งได้รับคำชื่นชมค่อนข้างมาก กับภาค Tri Force Heroes ที่เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายจวบจนปัจจุบันในการใส่ระบบมัลติเพลเยอร์เข้าไปในเกมเซลด้า อย่างไรก็ตาม การเดินทางของซีรีส์ก็มาถึงจุดสูงสุดอีกครั้งใน Breath of the Wild ซึ่งวางจำหน่ายบน Nintendo Switch ในปี 2017 ที่กวาดรางวัลเกมยอดเยี่ยมจากแทบจะทุกเวทีประกวดในปีนั้น ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้น กราฟิกที่สวยงาม เพลงประกอบที่ไพเราะ เกมเพลย์ที่อุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนทำให้มันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล เท่าที่เคยถูกสร้างมา
จะเห็นได้ว่าการเดินทางของซีรีส์ The Legend of Zelda นั้นเติบโตและวิวัฒนาการเคียงคู่มากับวงการเกม ทุกการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของเกมเมอร์ Zelda และ Link ยืนเคียงคู่อยู่กับพวกเราทุกคนเสมอ จาก 2D สู่ 3D จากมัลติเพลเยอร์ สู่ โมชันคอนโทรล นี่คือหนึ่งในแฟรนไชส์ที่ยกระดับมาตรฐานของวงการเกมให้สูงขึ้น สะท้อนปรัชญาในการสร้างผลงานของนินเทนโด ว่าเกมจะต้องสนุกและขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังเติมเต็มจินตนาการและความฝัน ให้จิตวิญญาณของเด็กตัวน้อยผู้รักการผจญภัย ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเบื้องลึกของหัวใจเราตลอดกาล
อ่านบทความและรับชมคลิปรายการ "รู้รอบเกม" จาก "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" เพิ่มเติม: