กลิ่นย่านเก่า เคล้าความหลัง เดินทอดน่องใน Bangkok Shophouses และการคะนึงถึงชายชื่อ หว่อง กา ไว...
แม้จะถูก "นักวิจารณ์" แซวว่า In the mood for love เป็น "หนังเพลง" (ใช้ดนตรีประกอบเยอะ) แต่ "หว่อง กา ไว" ก็ได้แต่ยิ้มๆ และไม่โต้ตอบมุมมองนี้ เพราะสิ่งที่เขาสนใจมากกว่าคือ "สถานที่เขียนบท" ก่อนจะไป "กองถ่าย" เช้าสายวันนั้น
ในหนังสือ The Cinema of Wong Kar-Wai เฮียหว่อง หรือ พี่หว่อง เผยการทำงานว่า เขาชอบไป "ร้านกาแฟ" เพื่อทบทวนบทที่กำลังจะถ่าย บางทีก็ไม่มีสคริปต์เป๊ะๆ และมีบ้างที่แม้มีบท - มันก็แก้ ระหว่างถ่ายทำ ว่าไปก็ไม่แปลก หว่อง กา-ไว มีลักษณะแนวทางการทำงานที่เรียกว่า Spontaineious คือ ถ่ายไป ด้นสดไป แก้ไป (ท่านมุ้ย ก็คือแนวทางนี้)
...
ในหนังหลายเรื่อง (หรืออาจจะทุกเรื่อง) ของ หว่อง สถานที่เขียนบท จึงมีความสำคัญ รวมทั้ง "สถานที่ในหนัง" เพราะเขาบอกว่า โลเคชันที่ทำงาน สร้างเสริมอารมณ์หนัง ออกมา... ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นได้ว่า
ฉากหลังในหนังเขา จึงมักมี Old town หรือ ย่านเก่าคลาสสิก ไม่ว่าจะถ่ายที่ไหน จะบางรัก ตลาดน้อย ถนนทรงวาด หรือ จุงกิงแมนชั่นที่ฮ่องกง....
จากหนังสือรวมฉาก ความลับ ความหลัง The Cinema of Wong Kar-Wai ที่คิโนฯ เอามาขาย 3 รอบแล้ว ตอนนี้ หรือช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ "กำลังฮิต" โดยฝรั่งต่างชาติ และทำท่าจะขายดีแห่งปี ในหมวดหนังสือสถานที่ นั่นคือ Bangkok Shophouses
ทำไมถึงขายดีมาก?
BK Shophouses คือหนังสือรวม "ถิ่นฐานย่านเก่า" (Old town) ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-เป็นตึกแถวคูหาเก่าคลาสสิก มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 (ราวๆ 120 ปี) อาจจะมีการทาสี รื้อส่วน แต่โครงหลักของตึก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ยังอยู่ครบ
เปิดไปหน้า 8 อาจได้กลิ่นสมุนไพรที่ท่าเตียน เปิดไปหน้า 47 อาจรื่นรมย์กับกลิ่นโกดังข้าวสาร พลิกไปหน้า 50 เหมือนเข้าไปในตลาดน้อย หรือ ถ้าเลยไปที่หน้า 90 อาจต้องใช้ "ทอดน่องทางอารมณ์" กับวังหลัง
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ หลายรอบ และซื้อมาถึง 3 เล่ม ไว้ในที่ทำงาน ที่บ้าน และที่คอนโด คือไปอยู่ที่ไหนๆ ก็มีอ่าน (โดยไม่ต้องคอยหยิบถือไปด้วย) BK Shophouses ใช้วิธีการวาดด้วยสีน้ำ แบบ โทนร้อนและเย็น ตามโลเคชัน และบุคลิกของตึกเก่า
แต่เครดิตที่ผู้วาดคือ "คุณศุภชัย วงศ์นพดลเดชา" ไม่ลืมจะให้ก็คือ สีน้ำยี่ห้อ Holbein ซึ่งมีบุคลิกสีที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ ให้ความนุ่มนวลแก่สายตา และความอบอุ่นของภาพ ซึ่ง "ความหลัง" มักมีสี อบอุ่น มากกว่าโทนอื่นๆ
...
เช้านี้ ถึงจะเฉไฉ มาเขียนเรื่องหนังสือ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางท่านอาจไม่ทราบว่า หลายหน้าของหนังสือเล่มนี้ "หว่อง กา-ไว" เคยเข้ามาถ่ายทำหนังในเวลาค่ำคืน เขาเล่าว่า ตึกเก่าในย่านเก่าของบ้านเรานั้น มีเสน่ห์และอารมณ์แบบ "ถวิลหาอดีต" (Nostalgia) แบบที่ "ย่านเก่า บ้านเก่า" ในหนังเขา มักจะสำคัญ ดุจ "ตัวละครตัวหนึ่ง" (เพราะถิ่นฐานย่านเก่า เป็นตัว "ให้ - อธิบาย - สร้าง" แนวทางหนัง)
หนังของหว่อง หลายเรื่องราว มักมีจุดร่วม 3-4 ประการอยู่เสมอ หนึ่ง, ภาพของหนังมักจงใจถ่ายให้บิดเบี้ยว แตกพร่า ไม่สมดุล (Distorted) เพื่อสะท้อน จิตใจที่แปลกแยก ไม่ปรกติ ไม่ราบรื่นของตัวละคร
สอง, บางตัวละคร มีสิ่งที่เรียกว่า Lost soul หรือ จิตวิญญาณสูญหาย ไม่มีพื้นเพ อดีตไม่ถูกอธิบาย ขาดที่มาที่ไป... (days of being wild, ashes of time, chungking express) และสาม, ตัวละครแทบทุกเรื่อง โดดเดี่ยว เหงา และไม่เข้ากันได้กับ "ความสัมพันธ์" ทุกระดับ
...
มีเพียงสิ่งเดียวในหนัง ที่มั่นคง ยืนยง และลงตัวในการบอกเล่าอารมณ์เรื่อง นั่นคือ ตึกเก่า ห้องเก่า สถานที่เก่า....ที่เคยอยู่ในหนังสือ Shophouse เล่มนี้
อาจไม่คลาสสิก แบบ "อดัมกับอีฟ" ไม่อบอุ่น อ่อนหวาน แบบ "วัยหนุ่มสาว" แต่ยังหลงใหล....ดุจ "นิยายรัก"
อ่านบทความของ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :