การตีความภาพยนตร์ บ้านเช่าบูชายัญ ทำไมต้องใช้นักแสดงชื่อ มิว นิษฐา?
อาจจะมีหลายคน ที่ "อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก" เล็งมารับบท "มาเรียน เครน" ในหนัง Psycho ปี 1960 แต่สุดท้ายก็เป็น "เจเน็ต ลีห์" ได้แสดงเป็นตัวละครนี้ไป เธอมีใบหน้าโดดเด่น มีดวงตาสับสนซ่อนคำถามอยู่ข้างใน หน้าตาของ เจเน็ต ลีห์ ไม่มีแรงขับ Passion แบบ "นิโคล คิดแมน" "จูเลียต บิโนช" หรือมีรูปหน้าที่เคลียร์แบบ "จูเลีย โรเบิร์ตส" ที่สำคัญมากคือ เธอไม่ใช่ผู้หญิงสูง หรือ มีหุ่นนางแบบ (ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญ)
ในทำนองเดียวกัน กับ "บ้านเช่าบูชายัญ" ที่ผมเอนจอยกับการดูหนัง GDH เรื่องนี้ การมารับบทของ หนิง สำหรับ "มิว นิษฐา" มีแนวทางที่ละม้ายกัน หลายอย่าง....
...
มาเรียน ใน Psycho เป็นผู้หญิงที่น่าเห็นใจ เธอไม่ค่อยได้รับเกียรติจากเพศชาย แม้แต่ความรัก ก็ยังเป็นกิ๊กกับ แซม จนขโมยเงิน 40,000 เหรียญ เพื่อหนีไปสร้าง "ชีวิตใหม่" กับแฟนหนุ่ม
"หนิง" ใน "บ้านเช่าฯ" ก็มีปัญหาเรื่องเงิน เหมือนกัน เธอกับสามียอมปล่อยบ้านที่อยู่มาให้คนอื่นเช่าในราคาเดือนละ 70,000 บาท แล้วย้ายกัน "พ่อแม่ลูก" ไปอยู่ในคอนโดที่แคบลง...ทั้ง มาเรียน และ หนิง อยู่ในหนัง Thriller เขย่าขวัญ ทั้งคู่ และเป็น "แกนกลาง" ของพล็อต เช่นกัน ที่ดันเหมือนกันอีกคือ ทั้งสาวมาเรียน และสาวหนิง ต้องเผชิญหน้าและต่อสู้กับ "ฆาตกร ผี มิจฉาชีพ"
วิธีการหนึ่ง ที่จะทำให้ คนดูอึดอัดไปตลอดเรื่องก็คือ ทำให้ นางเอกหรือพระเอก ที่ผู้ชม "เอาใจช่วย" อยู่นั้น อยู่ในสภาพ "ตกเป็นรอง" มากๆ มีสถานการณ์ ที่ทำให้เธอ ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน อย่างน่าเห็นใจ และวิธีที่แยบยล... อย่างหนึ่งคือ ใช้นักแสดงที่ตัวเล็ก ไม่สูง (เตี้ยได้ก็ดี) เพราะคนที่ตัวเล็ก จะยิ่งดู ตกเป็นรอง มากๆ ยิ่งถ้าพระเอก ตัวสูงเข้าไปอีก - นางเอกจะดูกด จนไม่มีโอกาสจะรอด
"เวียร์ ศุกลวัฒน์" ในบท กวิน จึงถูกใช้ความสูงของเขา เล่นงานทางจิตวิทยา กับ ระดับความสูงของคุณ มิว นิษฐา ไม่ต่างกันเลย - เจเน็ต ลีห์ ตัวเล็ก เมื่อประกบกับ "แอนโธนี เพอร์กินส์" ในบท "นอร์แมน เบทส์" ใน Psycho ทั้ง หนิง กับ มาเรียน จึงถูกกด ตกเป็นรอง ดูน่าเห็นใจ ยามตัวโดดเดี่ยวเผชิญหน้า กับ "ศัตรู"
บ้านเช่าฯ ใช้ความสูงเตี้ยของนักแสดง ที่ต่างกันมาก เหมือนที่ Psycho ใช้กับ เจเน็ต ลีห์ และ แอนโธนี เพื่อ "ผลประโยชน์เดียวกัน" แต่ถ้าจะมีอะไร ที่ มิว นิษฐา ไปได้ไกลกว่า เจเน็ต ก็คือ ชีวิตจริงๆ ของนักแสดง คุณมิว หายหน้าหายตาไปจากวงการพักใหญ่ มีครอบครัวที่น่ารัก มีสามีที่ดี และเธอมี "ภาพของคนมีครอบครัว" ต้องดูแล เพราะมีลูกแล้ว
ภาพจริงๆ ของ มิว ซ้อนทับแบบพอดี กับภาพของ หนิง ในหนัง ที่มีครอบครัวเช่นกัน มันทำให้คนดู ไม่ต้องเสียเวลาต่อติด อีกทั้งใบหน้าของ มิว ก็เป็นใบหน้าของ สาวชนชั้นกลางที่เป็นครอบครัวในเมือง ถ้าลองเป็น เบลล่า หรือ ธัญญา คนดูจะเชื่อยากขึ้น เหมือนที่ผ่านมา เวลาผมบอกใครว่า เป็นนายแบบมาก่อน ก็ไม่มีใครเชื่อเลย
...
ขณะที่ Psycho ต้องการพูดถึง "บ่วงกรรม" (Trap) ของตัวละคร "บ้านเช่าฯ" ต้องการแตะประเด็น เรื่อง "ครอบครัว" ผ่านการต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสนของ หนิง ฉากที่อึดอัดคับแคบ, ส่วนสูงของสามีคือ กวิน, การอยู่คอนโด ซึ่งไม่มีพื้นที่กว้างโล่ง, เสียงหลอนยามหลับและตื่น (Mysterious voice) จนมาถึง ผี หรือ ฆาตกร นี่คือ อุปสรรคของ หนิง
ท่ามกลางที่ทุกคนในหนัง "ทำเพื่อลูก" แม้เป็นเหตุผล น่าสนใจ แต่ความหมายของ หนิง ดูงดงามที่สุด home จึงชนะ house เสมอมา ด้วยแง่มุมนี้...
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
...