นับจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไปในทุกๆ วันอาทิตย์ แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน จะได้ดื่มด่ำกับบทความของชายที่ให้คำจำกัดความของตัวเองเอาไว้ว่า : นักวิจารณ์หนังที่บ้าบอล อ่านข่าวทีวี จัดวิทยุ แต่ชอบเขียนบทความ และยังรัก ที่จะเดินทางไกล ในความรู้ใหม่ ทุกวัน : "นันทขว้าง สิรสุนทร"
และนี่คือ...ตอนแรกที่ "ชายผู้นี้" มาพบกับแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ : จิตที่สงบนิ่งในมัลติเวิร์ส ทำให้ EEAAO ได้หนัง "ออสการ์"
1. ลูกสาวคนหนึ่ง ยืนดูโปสเตอร์หนัง everything everywhere all at once หน้าโรงภาพยนตร์กับพ่ออายุ 60 กว่า แล้วบอกว่าชอบ มันสวย เต็มไปอักษร รูป สี และตัวละคร แต่พ่อของเขาบอกว่า ไม่ค่อยเข้าใจ มันดูยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ และวุ่นวาย
...
พ่อลูกคู่นี้ เห็นอะไรต่างกันเพราะวัย เหมือนกับคู่ เอฟลิน (มิเชล โหย่ว) กับ จอย (สเตฟานี ซู) ใน EEAAO แม่ลูกที่ "ไม่ค่อยเหมือนกัน" ในหลายๆ อย่าง
เอฟลิน เป็นคนเชื้อสายจีน ที่มาตั้งรกรากในอเมริกา โดยเปิดร้านรับซักผ้าด้วยเครื่อง แล้วมีชีวิตที่ "ยุ่งเหยิง" จากสามี ลูกสาว แฟนลูก และคนนอก (เช่นเจ้าหน้าที่ตรวจภาษี) พล็อตเรื่องพาทุกคน ไปมีอีกตัวตนหนึ่งในอีกโลกหนึ่ง เป็นอัลฟาเวิร์ส พหุจักรวาล ที่มีอีกหน้าตาหนึ่ง รูปลักษณ์หนึ่ง
ท่ามกลางแนวทางตลกปะปนกับไซไฟท่วมฉากมากมาย ถ้าจะมีอะไร อธิบายสิ่งซึ่งสำคัญของหนังได้ ฉากนั้นคือ ตอนที่ เอฟลินกับลูก ไปอยู่ในโลกที่ไม่มีมนุษย์ มีแต่ความเงียบ - และเธอกับลูก อยู่ในสภาพ "ก้อนหิน" สองก้อน ตั้งเคียงกัน
2. ก้อนหินเหมือนดินทราย... เป็นตัวแทนของโลก บางทีบางครั้ง หินก็เหมือนวัตถุยึดเหนี่ยวจิตใจ ในรูปสร้อยหิน หรือหินแห่งความเชื่อ
หนังกำลังพาเราไป สัมผัสกับ "ความสงบทางจิตวิญญาณ" ท่ามกลาง "โลกอันยุ่งเหยิง" เอฟลิน คือตัวพวกเรา ที่เหน็ดเหนื่อยในการมีชีวิต ไหนจะเหนื่อยล้ากับผู้คนรอบตัว ทั้งในบ้านและนอกที่พักอาศัย ยังเหนื่อยเพลีย กับชีวิตออนไลน์ (ในที่นี่คือ มัลติเวิร์ส)
โลกอีกใบหรือพหุจักรวาลในหนัง ก็ไม่ต่างอะไรจาก TikTok Facebook YouTube ที่เราต่าง "ต้องสร้างหา" อีกตัวตนหนึ่ง ไว้เล่น เหมือนสามี ลูก และคนอื่น ของ เอฟลิน (ที่เป็นอีกตัวตนอื่น ในพหุจักรวาล)
เมื่อชีวิตถูกท่วมทับด้วยวัฒนธรรมแห่งความยุ่งเหยิงวุ่นวาย เอฟลิน จึงเหมือนซุปเปอร์มาร์เวล ที่ต้องจัดการ สะสาง และแก้ไขโลกใบนี้
3. แทนที่หนังจะพูดในสิ่งที่ใหญ่โต EEAAO แตะปรัชญาเรียบง่าย ชี้ชวนให้เรา มองเห็น มุมบวกในชีวิต ครอบครัวเอฟลินในอเมริกา เหมือนคนนอก (minority) มีความเป็นอื่น แปลกแยก (otherness) ในที่อยู่ใหม่ แต่แทนที่จะตีอกชกตัว ด่าทอชีวิต - พวกเธอสร้างความหมายให้ตัวเอง ด้วยการ มีเมตตา และช่วยเหลือผู้คน นี่คือ...ปรัชญาจิตวิญญาณง่ายๆ ที่หนังบอกเรา
...
หลายปีมานี้ (น่าจะสิบปีขึ้น) หนังที่ได้ออสการ์สาขา best picture มักมีบริบท เกี่ยวกับ คนนอก คนชายขอบ คนที่มาจากเผ่าพันธุ์อื่น กลุ่มคนนอกสังคมกระแสหลัก ไปจนถึง "เอเลียน" ขอเรียกแบบเหมาคลุมว่า minority
การที่ออสการ์เชิดชู กลุ่มคนนอกสังคมเหล่านี้ เป็นไปได้ว่า ในช่วงระยะ 5-10 ปีมานี้ มีการเปลี่ยนแปลง, เพิ่ม, แทนที่ กรรมการรุ่นเก่า (ที่เรียกว่า กลุ่ม white male หรือ ผู้ชายผิวขาวสูงวัย) ด้วย "คนรุ่นใหม่" ที่มีโลกทัศน์ในการดูหนัง เลือกหนังหลากหลายกว่า เอาตรงๆ ก็คือ "รสนิยม" ดีกว่า...
4. กรรมการออสการ์ไม่น้อย ที่เข้าไปเป็นคะแนนเสียงโหวตช่วงหลังๆ พวกเขาชื่นชอบและเอาใจช่วย สิ่งซึ่งเป็นจิตวิญญาณ มองคุณค่าของมนุษย์ แม้จะเป็นกลุ่ม minority ในสังคม ที่ตลกโดยบังเอิญก็คือ นอกจาก เอฟลิน จะเป็น คนนอกสังคม (จีนไปตั้งรกรากในอเมริกา) แล้ว คนแสดงคือ "มิเชล โหย่ว" ก็มีสภาพ และสถานะคนนอก เช่นกัน เพราะเธอพเนจรไปอยู่ ไปเรียน ไปสร้างตัว นอกบ้านเกิดอยู่บ่อยๆ
...
และที่ตลกร้ายไปกว่านี้ บทสามีของเอฟลิน ที่แสดงโดย "คี ฮุย ควน" ก็เป็นคนชายขอบ เป็นเรฟูจีลี้ภัย กินนอนบนเรือมายาวนาน everything everywhere จึงเหมือน "พื้นที่ของคนนอก" ที่มาอยู่รวมกันใน "พหุจักรวาล" หรือ เมตาเวิร์ส
5. บนเวทีวันงาน คู่หูผู้กำกับ The Daniels บอกไว้ว่า หนังเรื่องนี้ ทีมงานทุกคนต่างช่วยเหลือกัน พึ่งพากัน แม้เหนื่อยล้าจากโลกอันยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่ก็ผ่านมาได้ ด้วยจิตที่สงบนิ่ง แม้ต้องอยู่ไปในมรสุมของเมตาเวิร์ส
ออสการ์ 2023 ก็ราวกับจะ "ตอบสนอง" แนวคิด จิตที่สงบนิ่ง ให้ความเงียบงัน สอนใจคน - บนเวทีงานปีนี้ จึงจัดงาน อย่างเรียบๆ และเงียบๆ เช่นนี้แล้ว, เราอยากเป็นก้อนหินบนยอดเขา หรือเป็นสิ่งมีชีวิตในพหุจักรวาล (ที่ยุ่งเหยิง) คงจะต้องเลือก "ตัวตนนั้น"
และ - ถ้าคุณจะดู everything everywhere ไม่รู้เรื่อง เพราะมันนำเสนอ อย่างปั่นป่วน ซับซ้อน ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบ ก็อย่าไปโกรธ...เพราะมันยุ่งเหยิง ตั้งแต่ "โปสเตอร์หนัง" ที่แปะตามโรงหนังแล้ว.
...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง