รายการรู้รอบเกม EP.14 เพราะอะไรวรรณกรรม "สามก๊ก" จึงถูกนำมาสร้างเป็นเกมไม่รู้เบื่อ และล่าสุดกับ ปรากฏการณ์ Wo Long: Fallen Dynasty...

สวัสดีครับทุกท่าน พบกันอีกครั้งในรายการรู้รอบเกม ทางไทยรัฐออนไลน์ ผม "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" ครีเอเตอร์สายเกมไทยรัฐออนไลน์ ทำหน้าที่ดำเนินรายการอีกครั้ง กับ EP.14 Wo Long: Fallen Dynasty วรรณกรรมอมตะ เล่าใหม่ในวิดีโอเกม

สำหรับในตอนนี้เราจะมาพูดถึง เกม AAA ตัวล่าสุดที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้เอง ซึ่งก็คือ Wo Long: Fallen Dynasty และความน่าสนใจของเกมๆ นี้ ในหลายๆ ส่วนด้วยกัน

หลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นเกมเมอร์หรือไม่ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ถ้าเราจะติดตามข่าวสารวงการเกมกันบ้าง เราก็คงจะพอทราบว่า Game of the Year ประจำปี 2022 หรือว่าปีที่แล้วเนี่ย คือ Elden Ring ซึ่งหากว่ากันตามตรงแล้วนั้น ความสำเร็จของ Elden Ring ไม่ได้เกิดขึ้นมาในชั่วข้ามคืน แต่เป็นการสั่งสมประสบการณ์, สร้างฐานแฟนคลับ และขัดเกลาระบบการเล่นของเกมให้สมบูรณ์แบบ ทีมพัฒนาอย่าง From Software ใช้เวลาในกระบวนการหลอมรวมสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างกลมกล่อมเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผ่านผลงานก่อนหน้าของพวกเขามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Sekiro: Shadows Die Twice, Bloodborne, Dark Souls หรือถ้าจะย้อนกลับไปถึงสมัย King’s Field ก็ยังได้

...

ในช่วงเวลาที่เกมจาก From Software เริ่มจะได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่เกมเมอร์ตลอดช่วงสิบปีหลังที่ผ่านมานี้ เกมของพวกเขาก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับค่ายเกมหรือสตูดิโออื่นๆ จำนวนมาก ให้พยายามสร้างผลงานที่มีความคล้ายคลึงกับเกมต่างๆ ของ From Software หรือที่เราจะเรียกง่ายๆ ว่าเกมตระกูล Souls-like ทั้งหลาย ที่มีการปล่อยขายออกมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกมจากสตูดิโอใหญ่ อย่าง Code Vein, Lord of the Fallen, Star Wars Jedi Fallen Order หรือเกมจากสตูดิโออินดี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Sifu, Salt and Sanctuary, Dead Cell หรือ Blasphemous

โดยถึงแม้ว่าเกมเหล่านี้มีจุดร่วมบางจุดซึ่งคล้ายกันสำหรับเกมแนวตระกูล Soulslike เช่น ระดับความท้าทายที่จะต้องค่อนข้างสูง, ระบบทรัพยากรภายในเกม, จุดเซฟ หรือว่าบอสไฟต์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่ทุกเกมก็มีความพยายามที่จะฉีกและสร้างความแตกต่างโดยการเสริมเติมแต่ง องค์ประกอบบางอย่างให้เกมของพวกเขานั้นไม่เหมือนกับเกม Souls ต้นฉบับ

แต่ในบรรดาทีมพัฒนาเหล่านั้นที่พยายามจะสร้างเกมแนว soulslike ของตัวเองขึ้นมา มีอยู่หนึ่งทีม ที่ได้รับการยอมรับจากเกมเมอร์อย่างค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ ว่าพวกเขาสามารถสร้างผลงานที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็น Soulslike ที่ดีที่สุดในท้องตลาด ซึ่งแม้จะมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจมาจากเกมตระกูล Souls แต่ท้ายที่สุดงานของพวกเขาก็สามารถยืนอยู่ได้อย่างผ่าเผยและเป็นตัวของตัวเองมากพอ นั่นก็คือ Team Ninja

Team Ninja นั้นเป็นสตูดิโอพัฒนาเกมในสังกัดค่ายใหญ่อย่าง Koei Tecmo จากประเทศญี่ปุ่น โดยในบ้านเราจะจดจำผลงานของสตูดินี้ได้กับสองซีรีส์ที่ติดตราตรึงใจเกมเมอร์อย่าง Dead or Alive และ Ninja Gaiden ซึ่งก็ต้องบอกว่าถ้าคำจำกัดความคำว่า "เกมยาก" ในยุคปัจจุบันที่เกมเมอร์นึกถึงคือ Souls Series ย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้า เกมที่จัดว่าท้าทายฝีมือของคนเล่นเกมในระดับนึงเลย ก็คือ Ninja Gaiden 

ในช่วงปี 2004-2012 Team Ninja ได้สร้างซีรีส์ Ninja Gaiden ถึง 3 ภาคหลักซึ่งเป็นแอ็กชั่นที่รวดเร็วดุเดือด มีอารมณ์การเล่นแตกต่างจาก Souls Series ที่มีความช้าและเป็น RPG ค่อนข้างมาก ซึ่งมันก็เป็นเกมที่ประสบความสำเร็จในตลาดมากพอสมควร ด้าน From Software ช่วงปี 2011-2016 ก็ได้เริ่มการสร้างซีรีส์อย่าง Dark Souls ขึ้นมา 3 ภาคเช่นกัน ซึ่งผมเชื่อว่าระหว่างนั้น Team Ninja ก็ได้เฝ้าดูและเก็บเกี่ยวเอาสิ่งที่ดีงามจากซีรีส์ Souls มาผสานกับแนวเกมแอ็กชั่นที่ตัวเองถนัด จนกระทั่งพวกเขาได้ปล่อยผลงานชิ้นแรกที่ถูกนำไปเทียบเคียงกับเกมแนว Souls ออกมาอย่างเป็นทางการในปี 2017 นั่นก็คือ Nioh

...

มีคำกล่าวไว้ว่าเกมของ Team Ninja และ From Software นั้น เหมือนเหรียญคนละด้าน เกมของ From Soft จะใช้รูปแบบการต่อสู้ที่เรียบง่ายแต่นำมาทำให้ยาก หรือถ้าสังเกตง่ายๆ ก็คือ แอ็กชั่นของผู้เล่นในเกมของ From Soft จะมีจำกัด ไม่มีการควบคุมหรือต่อคอมโบที่วุ่นวายซับซ้อน หัวใจหลักของเกมเพลย์คือการจับจังหวะการต่อสู้ของศัตรูภายในเกมให้ถูกต้อง และโจมตีกลับไปเมื่อมีโอกาส ในทางกลับกันเกมของ Team Ninja จะนำเอาระบบการต่อสู้ที่ยุ่งยาก นำมาทำให้มันง่าย กล่าวคือเกมของ Team Ninja จะมีความซับซ้อนหลากหลายกว่า หรือว่ามีความเป็นแอ็กชั่นมากกว่านั่นเอง

Nioh เป็นความพยายามครั้งแรกของ Team Ninja ที่ถือว่าประสบความสำเร็จดีทีเดียวนะครับ ตัวเกมมีจุดน่าสนใจหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฉากหลังของเกมที่นำเอาเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาผสมผสานความแฟนตาซีเข้าไป นั่นก็คือในปี 1600 มีนักเดินเรือชาวอังกฤษชื่อ William Adams ที่เรือแตกมาเกยตื้นที่ประเทศญี่ปุ่น จนสุดท้ายได้รับตำแหน่งซามูไร ซึ่งทางทีมพัฒนาอย่าง Team Ninja ก็ได้ใช้เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเติมชีวะประวัติของบุคคลสำคัญคนนี้จนกระทั่งกลายมาเป็นเกมแอ็กชั่นสุดมันส์ที่ดุเดือดได้ หลังจากนั้นพวกเขาก็ยังได้ลับคมฝีมือในการสร้างเกมแนว Soulslike ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกสองเกมในเวลาต่อมา นั่นก็คือ Nioh 2 ในปี 2020 ที่ต่อยอดความสำเร็จจากภาคแรก และ Stranger of Paradise: Final Fantasy Origin ในปี 2022 เกมที่ใช้ IP จากซีรีส์เกม RPG ชื่อดังของค่าย Square Enix

และในปี 2023 นี้ พวกเขาก็กลับมาอีกครั้งกับผลงานชิ้นล่าสุดอย่าง Wo Long: Fallen Dynasty ซึ่งก็ได้นำเอาจุดเด่นของผลงานก่อนหน้าของทางทีมมาใส่เข้าไปในเกมภาคใหม่นี้ด้วย โดยเนื้อหาในครั้งนี้ของตัวเกม จะเปลี่ยนฉากหลังมาเป็นเหตุการณ์สำคัญช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน นั่นก็คือปลายราชวงศ์ฮั่น หรือว่าช่วง "กบฏโจรโผกพ้าเหลือง" นั่นเอง หรือถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงลงไปแบบเข้าใจง่ายๆ ที่สุด เนื้อเรื่องภายในเกมจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของวรรณกรรมอมตะอย่าง "สามก๊ก"

...

จริงๆ แล้ว การนำเอาสามก๊ก มาทำเป็นวิดีโอเกมนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางค่าย Koei Tecmo ต้นสังกัดของ Team Ninja นี่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาดเกมสามก๊กสมัยใหม่เลย เพราะว่าพวกเขาทำเกมแนวไฟต์ติ้งต่อสู้ และแนวแอ็กชั่นมุโซจากเนื้อเรื่องของสามก๊กมาตั้งแต่ปี 1997 ในซีรีส์ Dynasty Warrior ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีถึง 9 ภาคกันแล้ว และถ้านับเกมแนวการบริหารบ้านเมืองจัดการทรัพยากร เราก็สืบสาวไปได้เก่ากว่านั้น นั่นก็คือซีรีส์ Romance of the Three Kingdoms ซึ่งก็ย้อนกลับไปไกลถึงปี 1988 บนเครื่องแฟมิคอมกันเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีถึง 14 ภาคแล้ว

ถ้าไม่นับผลงานจากค่ายอย่าง Koei Tecmo ล่าสุดเกมจากนวนิยายสามก๊ก ก็ยังถูกทำออกมาในรูปแบบเกมแนววางแผนการรบฟอร์มยักษ์โดยฝีมือทีมพัฒนา Creative Assembly ของค่าย Sega ในชื่อ Total War: Three Kingdoms ซึ่งก็เพิ่งวางขายไปเมื่อปี 2019 นี่เอง

...

ด้วยความที่ Wo Long Fallen Dynasty นั้นเป็น "เกมแอ็กชั่น" แต่เนื้อเรื่องของสามก๊กนั้นเป็นนิยายที่มีความยาวสูงมาก ทำให้ตัวเกมไม่สามารถยัดเอาเรื่องราวทั้งหมดของมหากาพย์เรื่องนี้มายัดใส่ลงไปได้ เกมจึงเล่าเนื้อหาแค่เพียงบางส่วนของสามก๊กเท่านั้น แต่นั่นมันก็มากพอที่จะทำให้ผู้เล่นอย่างเราๆ ได้พบและร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือต่อสู้ฟาดฟันกับตัวละครระดับตำนานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กวนอู เตียวหุย ลิโป้ ตั้งโต๊ะ อ้วนเสี้ยว ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกนำมาปั้นแต่งตีความใหม่ ใส่ความแฟนตาซีให้มีความเร้าใจน่าติดตาม เมื่อประกอบกับรูปแบบการต่อสู้อันเป็นจุดแข็งของ Team Ninja แล้วนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็นับว่าถูกใจเกมเมอร์สายเกมบู๊กันพอสมควรเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าเปรียบเทียบกันกับผลงานล่าสุดของ From Software อย่าง Elden Ring จะพัฒนาล้ำหน้าไปอีกขั้นด้วยการเปิดโลกให้กว้างผ่านการผจญภัยแบบโอเพนเวิลด์ที่ให้อิสระกับผู้เล่นมากกว่า ส่วน Wo Long นั้นดูเหมือนจะไม่ได้พัฒนาในด้านเกมดีไซน์ไปอย่างก้าวกระโดดเท่าไรนักก็ตาม

จะเห็นได้ว่า "สามก๊ก" นั้นถูกนำมาประยุกต์เป็นเกมได้มากมายหลายรูปแบบครับ และมีตัวเลือกที่หลากหลายเหมาะกับผู้เล่นที่ชื่นชอบสไตล์การเล่นที่แตกต่างกัน ที่แม้ว่าพวกเขาอาจจะชื่อชอบวรรณกรรมชิ้นเดียวกัน แต่เมื่องานชิ้นนี้ถูกแปรรูปเป็นรูปแบบของวิดีโอเกม วิธีการนำเสนอก็มีความแหวกแนวได้มากกว่า ชอบแอ็กชั่นก็ไปแบบหนึ่ง ชอบวางแผนก็ไปอีกแบบหนึ่งได้ตามความพอใจ แน่นอนว่าเครดิตก็ต้องยกให้วัตถุดิบชั้นดีอย่างตัวนวนิยายซึ่งมีความคลาสิกเป็นอมตะเหนือกาลเวลา ที่ถูกนำมาเล่าซ้ำกี่ครั้งก็ยังเปิดมุมมองใหม่ๆ และสนุกสนานอยู่เช่นเคย แต่การนำเอางานประพันธ์ต่างๆ มาแปรรูปเป็นวิดีโอเกมนั้นก็มีความน่าสนใจในตัวของมันเองอยู่ไม่น้อย

"กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" ครีเอเตอร์สายเกมไทยรัฐออนไลน์

หากมองอย่างผิวเผิน มันอาจจะเป็นเพียงรูปแบบการเสพความบันเทิงช่องทางหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิดีโอเกมช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงวรรณกรรมชนิดนี้ได้ ลองคิดเปรียบเทียบว่าหากเป็นประเทศของเรา ที่วรรณกรรมพื้นบ้าน หรือนิทานท้องถิ่น ซึ่งใกล้จะสูญหายและไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะเท่าที่ควร หากถูกนำมาแต่งเติมให้ทันสมัย แปรรูปไปเป็นสื่ออย่างวิดีโอเกม มันก็อาจจะมีประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา ค้นคว้า หรือตีความ ไปจนถึงการอนุรักษ์ผลงานอันทรงคุณค่าเอาไว้ด้วยให้คนรุ่นหลังเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยก็เป็นไปได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง