ถือว่าสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ ของเวทีประกาศรางวัล Academy Awards ครั้งที่ 95 หรือ Oscars 2023 ที่จัดขึ้น ณ ดอลบี้ เธียเตอร์ นครลอสแอนเจลิส เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น หรือเช้าวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ตามเวลาบ้านเรา...
ประวัติศาสตร์บทใหม่ที่ว่า คือ “ชัยชนะ” ของชาวเอเชีย กับการกวาดรางวัลสำคัญ 7 รางวัลของหนังเรื่อง Everything Everywhere All at Once หรือ ชื่อไทย “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” โดยเฉพาะ สาขานักแสดงนำหญิง ที่มีชื่อ “มิเชล โหย่ว” นักแสดงหญิงเอเชียคนแรก ที่ได้รางวัลนี้มาครอบครอง
7 รางวัล จากหนังเรื่องนี้ได้แก่
รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) : Everything Everywhere All at Once
รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Best Director) : แดเนียล ควอน กับ แดเนียล ไชเนิร์ต
รางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) : มิเชล โหย่ว
รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor) : Ke Huy Quan
รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress) : เจมี ลี เคอร์ติส
รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay) : Everything Everywhere All at Once
รางวัลตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film Editing) : Everything Everywhere All at Once
อะไร ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงเข้าตากรรมการจนคว้ารางวัลมากมาย วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ชวน “คุณป๊อป” มโนธรรม เทียบเทียมรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์อิสระ รุ่นใหญ่ตัวจริง มาเล่าเบื้องหลังให้ฟังกัน...
...
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Everything Everywhere All at Once :
ป๊อป มโนธรรม กล่าวว่า เนื้อหามีส่วนผสมของ ความเก่ามาก (ลากเสียง) และความใหม่มาก (ลากเสียง)
เส้นเรื่องหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความใหม่ แต่วิธีการนำเสนอ ถือเป็นเรื่องที่น่าตะลึงพรึงเพริด ต้องยกเครดิตให้ทีมงาน และนักแสดงที่มีความทุ่มเท และอุตสาหะ ในการสร้างภาพ “พีเรียด” ของตัวละครหลัก ในหลายๆ ยุค ให้ซ้อนทับกันในหลายมิติ เวลา เรียกว่า คนเดียวสามารถเป็นอะไรก็ได้ ในยุคไหนก็ได้ เช่น ในยุค “จิ๋นซีฮ่องเต้” ในยุคสงคราม หรือแม้แต่ไปโผล่ใน แอนิเมชันก็มี
การเล่าเรื่อง ทำได้ทันสมัย และเป็นสิ่งที่อยู่ในวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะประเด็น “มัลติเวิร์ส” (พหุจักรวาล) เพราะนอกจากหนัง Everything Everywhere All at Once ก็มีหนังเรื่องอื่นๆ อาทิ แอนท์แมน หรือใน อนิเมะ ของญี่ปุ่น ก็มีพูดเรื่องนี้
ยุคสมัยนี้ แทบไม่มีใครพูดว่า “ยูนิเวิร์ส” แล้ว เพราะคำว่า UNI คือ หนึ่ง แต่ “มัลติ” คือมีความหลากหลาย ถือเป็นเรื่องการ “ตอบโจทย์” วิธีคิดและสิ่งที่อยากให้เป็น
“มัลติเวิร์ส” คล้ายกับการสื่อถึง...
“พื้นที่” ที่หลากหลาย
“เวลา” ที่ไหลหลากในเวลาเดียวกัน
“สรุป คือ โอกาสและความเป็นไปได้ ในการเลือกเส้นทางชีวิต”
ดังเช่น กรณี Y2K ซึ่งตอนนั้นเป็นการตื่น เรื่องการ “จบสิ้น” ในโลกเก่า...ดังนั้น หากเรา จินตนาการใหญ่โตไปเลยว่า หากเกิด “โลกระเบิด” ในยุค Y2K
แปลว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ใน “มัลติเวิร์ส” ใหม่ ที่เกิดจากการทับซ้อนกัน และเกิดการแปรผัน สลับที่กัน จนเรามีชีวิตรอด นั่นคือโลกหลังยุค 2000
เมื่อถามว่า “อะไร” คือ ตัวตัดสินว่า หนังเรื่องนี้ ควรได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักคิดนักวิจารณ์หนังชื่อดัง ตอบชัดๆ ว่า คือ การดูแล้วสนุก และเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยเห็นมาก่อน
และที่สำคัญคือเรื่องการเมือง มีกลุ่มอิทธิพลของ “ล็อบบี้ยิสต์” ที่มาจากค่ายหนัง การที่หนังเรื่อง ซือเจ๊ฯ ได้ออสการ์จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของค่าย A24 มากขึ้น
...
หนังแนวอาร์ต ได้รางวัลมากขึ้น แปลว่า ออสการ์ เปลี่ยนไปหรือไม่ ป๊อป มโนธรรม กล่าวว่า ทุกวันนี้เราไม่มีหนังแนวอาร์ตแล้ว เพราะทุกวันนี้ไม่มีคำว่า “อาร์ต” ไม่เหมือนในสมัยก่อน ที่เรียกหนัง Miramax ว่าหนังอาร์ต แต่ทุกวันนี้ A24 กำลังมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนมือ ที่จะมีอิทธิพล มีอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะกับหน้าเก่า columbia, paramount หรือ universal แต่ A24 พยายามไต่เต้าขึ้นมา เพื่อเป็นหนังกระแสหลักในวันข้างหน้า
มิเชล โหย่ว นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม :
เชื่อว่าคนที่มีคะแนนสูสีกับ “มิเชล โหย่ว” คือ “เคต แบลนเชตต์” แต่...สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “มิเชล โหย่ว” คว้ารางวัลเป็นเพราะ “เคต” มีโอกาสได้รางวัลจากเรื่องอื่นในภายหลังได้ แต่กับ “มิเชล โหย่ว” นั้น หากไม่ได้รางวัลจากหนังเรื่องนี้ ก็ไม่เห็นฝั่ง และโอกาสจะได้ออสการ์อีก
“ด้วยเหตุนี้ เชื่อว่าทำให้คณะกรรมการ ค่อยๆ เกลี่ยคะแนนมาให้กับ “มิเชล โหย่ว” ทำให้เธอคว้ารางวัลนี้ไป อีกทั้ง ที่ผ่านมา เธอก็เคยได้รางวัลจากอีกเวทีหนึ่งมาแล้ว (ลูกโลกทองคำ)”
...
ในขณะที่ Ke Huy Quan นักแสดงสมทบชายที่คว้ารางวัลเช่นกัน พูดบนเวที ได้อย่างน่าประทับใจมาก...โดยเล่าว่าตัวเองเริ่มต้นชีวิตจากเด็กค่ายอพยพ และพยายามต่อสู้บนเวทีที่มีเกียรติและยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกภาพยนตร์
แค่พูดถึงจุดนี้ “ต่อมน้ำตา” ท่วมฮอลล์เลย เรียกว่าเป็น “ชัยชนะของชาวเอเชีย”
“มิเชล โหย่ว” ในเส้นทางที่ไม่สดใสใน “ฮอลลีวูด” :
ที่ผ่านมา “มิเชล โหย่ว” คล้ายกับถูกดูแคลนจาก “ฮอลลีวูด” เคยพูดว่า “ตนเป็นนักแสดงชายขอบ...จึงไม่ได้รับการเหลียวแล” ป๊อป มโนธรรม ตอบทันทีด้วยว่า “ไม่จริงเลย (ลากเสียง) มิเชล เองก็ได้รับการยกย่องจากฮอลลีวูด เพียงแต่ ไม่ได้อยู่ถูกที่ ถูกเวลาเท่านั้น
...
ที่สำคัญคือ หากสังเกตหนังฮอลลีวูดจำนวนมาก ก็จะพบว่า ปกติแล้ว ฮอลลีวูด จะใช้นักแสดงเอเชียจำนวนน้อยมาก โดยทั่วไป เรามักเห็นนักแสดงเอเชีย รับบทที่ห่วยในหนังฮอลลีวูด และมักเล่นใหญ่เวลาแสดงในภาพยนตร์ ทั้งท่าทาง หน้าคา คำพูด พวกนี้เรียกว่าเป็น “การแกง” โดยฮอลลีวูด
แต่...ไม่เป็นไร เพราะคนเอเชีย ก็เอาคืนได้ หากไปดูหนัง “ฮ่องกง” หากมีนักแสดงเป็นฝรั่ง อยู่ในเรื่อง เราก็จะเห็นนักแสดงที่ห่วย การแสดงไม่เอาไหนเลย ในฝรั่งกลุ่มนี้ เรียกว่าเป็น “เอาคืน”
แต่...ศักยภาพคนหนังของคนเอเชีย ไปแทรกซึมในฮอลลีวูด มันเพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้น หากจะสังเกต ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ คือ แดเนียล ควอน กับ แดเนียล ไชเนิร์ต ซึ่งหนึ่งใน 2 แดเนียล คือ คนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
ดังนั้น สิ่งที่เราเคยเห็นมาแล้ว ในช่วงชีวิตของเรา แต่...สิ่งนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ฝรั่งเพิ่งจะเคยเห็น ดังนั้น ถือว่าเป็นของใหม่มาก เหมือนกับตอนนั้นที่เขาตื่นตะลึงกับ Crouching Tiger, Hidden Drago
ขณะที่หนังเรื่อง ซือเจ๊ฯ มีความเป็นฮีโร่, มัลติเวิร์ส และไม่ได้ผูกติดกับแฟรนไชส์ ใหญ่ๆ อะไร เรียกว่า เรื่องเดียวจบ และไม่คาดหวังว่าจะมีซือเจ๊ ภาค 2 ด้วย เพราะมันคือ หนังที่ดูซ้ำได้
การที่มิเชล โหย่ว ได้ “ออสการ์” ถือว่าไม่ถึงขั้นทำลาย “ขนบ” ของ “ออสการ์” แต่ถือว่าเป็นการเกิดเรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะการได้รางวัล 3 ใน 4 สาขา ที่เป็นคนเอเชีย มิเชล โหย่ว, Ke Huy Quan รวมถึงผู้กำกับที่มีเชื้อสายเอเชีย
“สาเหตุที่ มิเชล โหย่ว ไม่เคยได้รางวัล เพราะยังไม่ถึงเวลา..โอกาสเพิ่งจะมีกับเรื่องนี้ และเธอเพียงคนเดียว สามารถพาเพื่อนและทีมงานไปเกินฝั่งฝันได้”
มิเชล โหย่ว เดิมเป็นชาวมาเลเซีย และสามารถก้าวอุตสาหกรรม ของอาเซียน ก่อนจะก้าวไปถึงเอเชีย ด้วยการเล่นหนังฮ่องกง ก้าวข้ามไปเล่นที่ฝั่งตะวันตก...แต่อาจอยู่ผิดที่ ผิดทาง โดยเฉพาะหนังเรื่อง The Lady หรือ แม้แต่เรื่อง 007 ก็เป็นได้แค่ สาวบอนด์ ที่ดูเข้าใกล้ ก็จากเรื่อง Crouching Tiger ที่ได้โปรดักชันยอดเยี่ยม กระทั่งถึงคิว “ซือเจ๊ฯ” นี่แหละ ที่ไปด้วยกันทั้งองคาพยพ
หนังอาร์ต...ดูยาก? นักวิจารณ์หนังชื่อดัง แนะนำว่า เราอย่าไปสร้างทัศนคติ ว่า “หนังอาร์ต” ต้องดูยาก ต่อให้ อิงมาร์ แบร์กมาน ทำมาฉาย หากเราดูด้วยจิตใจที่ว่างๆ ก็จะสามารถให้คำตอบ ปราบนักวิชาการได้ เพราะคนบางคนมีการตั้งแง่ ด้วยการตั้งไว้ว่า หนังเรื่องนี้อาร์ต หนังกระแส อยากให้นักดูหนัง ก้าวข้ามพรมแดนตรงนี้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ