ยูอาอิน ไอดอลเกาหลี ที่กลายเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนปัญหายาเสพติดในประเทศเกาหลีใต้...

“ยูอาอิน” (Yoo Ah-in) หรือชื่อจริง “ออม ฮงชิก” (Uhm Hong-sik) วัย 37 ปี หนุ่มอนาคตไกลของวงการ K-POP หลังประสบความสำเร็จในฐานะนักแสดงจนมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศเกาหลีใต้และทวีปเอเชีย โดยหลังการเดบิวต์ในซีรีส์วัยรุ่น “Sharp” เมื่อปี 2004 เป็นต้นมา “ยูอาอิน” มีทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ที่สร้างชื่อมากมาย เช่น ซีรีส์ “Sungkyunkwan Scandal” หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “บัณฑิตหน้าใสหัวใจว้าวุ่น” ซึ่งได้ร่วมเล่นกับนักแสดงชั้นนำอย่าง “ซงจุงกิ” และ “พัคยูชอน” เมื่อปี 2010, ภาพยนตร์ Voice of Silence ปี 2020, ภาพยนตร์ Burning ปี 2018 และล่าสุด ซีรีส์ Hellbound ในปี 2021

ยูอาอิน (Yoo Ah-in) ซ้ายสุด ในซีรีย์บัณฑิตหน้าใสหัวใจว้าวุ่น (Sungkyunkwan Scandal)
ยูอาอิน (Yoo Ah-in) ซ้ายสุด ในซีรีย์บัณฑิตหน้าใสหัวใจว้าวุ่น (Sungkyunkwan Scandal)

...

อย่างไรก็ดีหลังความสำเร็จอันหอมหวาน มาถึงปี 2023 “ยูอาอิน” ได้พาตัวเองเข้าสู่ “สถานะยากลำบาก” สำหรับการจะได้ไปต่อในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ หลังล่าสุดการตรวจตัวอย่าง “ปัสสาวะและเส้นผม” เพื่อตรวจหาสารเสพติด (กัญชา) จากสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ (The National Forensic Service) ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น “บวก” ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติม ผลตรวจหาการใช้ “ยา Propofol” ซึ่งเป็นยาสลบชนิดไม่สูดดมและหากมีการนำไปใช้ยาในขนาดต่ำ (Subanesthetic Dose) จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ สนุกสนาน ก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ผลออกมาเป็น “บวก” เช่นกัน

โดยสาเหตุที่ทำให้ ยูอาอิน ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการสอบสวนดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากการที่กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้ (Ministry of Food and Drug Safety) หรือ MFDS ได้มีการร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบรายชื่อบุคคลต้องสงสัยว่ามีการลอบใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย หลังการตรวจสอบจากระบบฐานข้อมูลสำหรับยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเมื่อปีที่ผ่านมา (ปี2022) พบว่า “กลุ่มคนต้องสงสัยจำนวน 51 คน” ซึ่งมี ยูอาอิน รวมอยู่ด้วย ได้รับปริมาณ “ยา Propofol” สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรได้รับ (จากรายงานการสืบสวนพบว่ามีการใช้ยา Propofol รวมกันมากถึง 73 ครั้งในปี 2022 ที่ผ่านมา)

ทั้งนี้ จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจของเกาหลีใต้พบว่า ยูอาอิน ซึ่งได้แอบใช้ชื่อจริง “ออม ฮงชิก” ได้ออกตระเวนรับ ยา Propofol ตามสถานพยาบาลต่างๆ มากกว่า 10 แห่ง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น มีคลินิกศัลยกรรมในย่านกังนัม (Gangnam) และย่านซอโช (Seocho) รวมอยู่ด้วยตั้งแต่ปี 2021 เพื่อนำไปใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้

เหตุใดจึงมีการใช้ยา Propofol ผิดวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ :

ยา Propofol เป็นยาสลบชนิดไม่สูดดม ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ GABA receptor จึงถูกนำมาใช้ในทางวิสัญญีเพื่อการระงับความรู้สึก และในเวลาต่อมาได้ถูกพัฒนาสำหรับนำไปใช้ในรูปแบบ Oil-in-water emulsion ซึ่งสามารถละลายในไขมันได้ดี จึงออกฤทธิ์และหมดฤทธิ์เร็ว ทำให้ตื่นได้
ง่ายแบบสดชื่นโดยไม่มีอาการมึนงง (Hangover) โดยหากมีการใช้ยาในขนาดต่ำ จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ สนุกสนาน และฝันดี ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนจำนวนหนึ่งแอบลักลอบนำยาชนิดนี้ไปใช้ในทางที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

...

การใช้ยา Propofol ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต :

ยาชนิดนี้ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว กดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดความดันเลือดในสมอง ความดันกะโหลกศีรษะและความต้องการออกซิเจนของเซลล์สมอง ซึ่งแม้จะมีฤทธิ์ช่วยลดอาการคัน อาการคลื่นไส้อาเจียน แต่อาจพบอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือสะอึกได้ นอกจากนี้ ยายังมีฤทธิ์กดการหายใจจนหยุดหายใจได้ แม้จะมีการให้ในขนาดต่ำๆ ก็ตาม

ขณะเดียวกัน หากมีการใช้ยาในขนาดสูงๆ นอกจากจะทำให้เกิดการติดยาได้แล้ว หากมีการใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม Benzodiazepines, Barbiturates ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานของ Dopamine Mediator จนกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากการที่ฤทธิ์ยาไปกดการหายใจและกดการทำงานของหัวใจ

บทลงโทษในคดียาเสพติดของเกาหลีใต้ :

ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาเสพติดของเกาหลีใต้ (Narcotic Control Law) การใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสำหรับผู้ที่กระทำผิดเป็นครั้งแรก อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือ ปรับเงินสูงสุด 50 ล้านวอน (ประมาณ 1.3 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 มี.ค. 23) ส่วนการใช้ ยา Propofol แบบผิดกฎหมายนั้น มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และมีค่าปรับสูงสุด 100 ล้านวอน (ประมาณ 2.6 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 มี.ค. 23)

...

อนาคตในวงการบันเทิงที่เริ่มมืดมน ของ ยูอาอิน :

หลังตกเป็นข่าวอื้อฉาวที่พัวพันกับยาเสพติด Netflix ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า ยูอาอิน จะไม่ได้รับบทนำในซีรีส์ Hellbound ซีซั่น 2 อีกต่อไปแล้ว โดยผู้ที่จะเข้ามารับบทนำแทน คือ “คิม ซอง ชอล” (Kim Sung-cheol)

และไม่เพียงแต่วงการ K-POP บรรดาแบรนด์ชื่อดังที่เชื่อมโยงกับนักแสดงหนุ่ม ต่างพากันตัดสัมพันธ์ความเป็นพันธมิตรทางการค้าทันที รวมถึงระงับแผนการการโปรโมตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยูอาอินลงทั้งหมดเช่นกัน

โดย Musinsa แพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์ที่มียอดขายสูงที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ว่า กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณายกเลิกสัญญากับ “ยูอาอิน” ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี ได้มีการลบภาพที่ยูอาอินปรากฏตัวพร้อมกับผลิตภัณฑ์ในโลกโชเชียลมีเดีย รวมถึงป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ต่างๆ รวมถึงสั่งระงับแคมเปญโฆษณาทั้งหมดแล้ว เพื่อไม่ให้เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์

...

ในขณะที่แบรนด์ชื่อดังอื่นๆ เช่น “Ottogi” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “Nepa” แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าและเครื่องแต่งงานสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึง “ชุง กึน ดัง” (Chong Kun Dang) บริษัทยายักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่ง Croquis แบรนด์แฟชั่นชื่อดังของจีน ต่างล้วนแล้วแต่เดินตามรอย Musinsa ด้วยขจัดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ ยูอาอิน ออกไปจนเกลี้ยงแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนั้นอาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น สำหรับ “ผลลัพธ์เลวร้าย” ที่อาจกำลังตามมาในเร็วๆ นี้ เพราะแบรนด์ต่างๆ อาจฟ้องร้อง ยูอาอิน ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจมีมูลค่ามากกว่า 2-3 เท่า ของราคาที่แบรนด์จ่ายเป็นค่าพรีเซ็นเตอร์ให้กับ นักแสดงหนุ่มที่กำลังก้าวเท้าเข้าสู่จุดเสื่อมถอยจากปัญหายาเสพติดก็เป็นได้

ปัญหายาเสพติดในประเทศเกาหลีใต้ :

สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดของเกาหลีใต้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2015 โดยมีสถิติการถูกจับกุมสูงถึง 6,103 คดี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2011 ที่มีสถิติการจับกุมอยู่ที่ 3,901 คดี และในปี 2021 มีสถิติการจับกุมมากถึง 7,569 คดี

หากแต่ประเด็นที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ จำนวนวัยรุ่นของเกาหลีใต้ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถิติจากสำนักอัยการของเกาหลีใต้ ระบุว่า ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่อยู่ในช่วงวัย 20 ปี มีจำนวนมากที่สุดคือ 5,077 คน หรือคิดเป็น 31.4% ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดในคดียาเสพติด อันเป็นผลมาจากที่กลุ่มคนเหล่านี้ สามารถเข้าถึงยาเสพติดได้สะดวกสบายมากขึ้นผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่างๆ

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ การที่มีเหล่าคนดังในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งวงการธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมบันเทิง เข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในระยะหลังมานี้ กลับไปกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในกลุ่มวัยรุ่นของเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาประเภทกล่อมประสาทมาใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

โดยประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้ ในปี 2021 ที่ระบุว่า พบใบสั่งยาในกลุ่มคนวัย 20 ปี สำหรับ "ยาเฟนทานิล” (Fantanyl) ซึ่งเป็นยาระงับปวดที่มีความแรงมากกว่ามอร์ฟีนถึง 50-100 เท่า ซึ่งโดยมากมักถูกนำไปใช้รักษาอาการปวดชนิดรุนแรง เช่น อาการปวดจากโรคมะเร็ง และมีฤทธิ์ทำให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม เป็นสุข จนกระทั่งมักถูกนำไปใช้อย่างผิดประเภท รวมถึงนำไปผสมกับยาเสพติดบางชนิด มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าผิดปกติถึง 38.5% เมื่อเปรียบเทียบกับใบสั่งยาชนิดนี้เมื่อปี 2019!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง