Slam Dunk Movie ทำรายได้รวมแล้วมากกว่า 25,971,303 ดอลลาร์สหรัฐ หลังยืนโรงฉายรวม 7 สัปดาห์ในประเทศเกาหลีใต้ (ฉายรอบปฐมทัศน์ 3 ม.ค. 23) โดยสัปดาห์ล่าสุด (17-19 ก.พ.) ทำรายได้ลดลงเพียง 17.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และยังคงมีโรงภาพยนตร์ที่มีโปรแกรมฉายมากถึง 976 โรงทั่วประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย!
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ประเทศบ้านเกิดของวัฒนธรรม K-POP หวนกลับมา HYPE อีกหนึ่ง Soft Power จากญี่ปุ่นได้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ ณ ปัจจุบันคลื่นกระแส K-POP กำลังไหลบ่าเข้าเจาะทะลวงตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วง....
ความ HYPE ของชาวเกาหลีที่มีต่อ Slam Dunk :
The First Slam Dunk Movie ครองแชมป์ Box office ในประเทศเกาหลีใต้ถึง 13 วันติดต่อกัน และกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของปีนี้ (ปี 2023) ที่มียอดจำหน่ายตั๋วสะสมเกิน 1 ล้านใบในประเทศเกาหลีใต้ (ปัจจุบันทำยอดจำหน่ายตั๋วได้มากกว่า 2.49 ล้านใบแล้ว) และล่าสุดกลายเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น ที่ทำรายได้มากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้เป็นลำดับที่ 3 ต่อจาก ผลงานสุดฮิตของ “มาโคโตะ ชินไค” Your Name ซึ่งจำหน่ายตั๋วได้มากกว่า 3.79 ล้านใบ และ Howl’s Moving Castle จาก สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ที่จำหน่ายตั๋วได้มากกว่า 2.61 ล้านใบ
...
ด้าน มังงะ Slam Dunk ฉบับรวมเล่มที่เคยออกวางจำหน่ายตั้งแต่ยุค 90 ซึ่งได้ถูกนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในประเทศเกาหลีใต้ กลับมาติดอันดับหนังสือขายดีบนเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ชื่อดังอย่าง YES24 อีกครั้ง โดยสัปดาห์ล่าสุดมียอดจำหน่ายรวมกันถึง 1 ล้านฉบับ ขณะที่ยอดจำหน่ายแบบ Boxset เวอร์ชันล่าสุดขายได้รวมกันมากกว่า 600,000 ชุดแล้ว นับตั้งแต่ The First Slam Dunk ออกฉายบนดินแดนที่กำลังทำให้ทั้งโลกคลั่งไคล้กระแส K-POP
และแน่นอนสัดส่วนจำนวนผู้ชมตามรายงานของสื่อในประเทศเกาหลีใต้ระบุว่ามากกว่า 70% เป็นกลุ่มวัยกลางคนที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี ซึ่งเคยดื่มด่ำกับมิตรภาพเชิงขับเคี่ยวกันในทีแบบเพื่อนรักเพื่อนชังระหว่าง “ซากุรางิ ฮานามิจิ” และ “รุคาว่า คาเอดะ” และเคยตะโกนร้องท่อนฮุค เพลงแห่งตำนาน “แม้โลกจะแหลกสลาย Sekai ga Owaru Made wa” ของวง Wands ดังลั่นบ้าน จนโดนคุณแม่ดุกันมาแล้วทั้งสิ้น
โดยชาวเกาหลีใต้ที่เข้าไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ หากเป็นวัย 30-40 ปี ส่วนใหญ่มักให้เหตุผลเหมือนๆ กันว่า มังงะเรื่องนี้ทำให้พวกเขาหวนระลึกถึงวัยหวานของตัวเองได้อีกครั้งอีกทั้งตอนจบแบบปลายเปิดในตำนาน ยังกลายเป็นแรงขับชั้นดีที่เรียกร้องให้พวกเขาอยากเข้าไปรับชมว่า “อนิเมะที่พวกเขารอคอยมาร่วม 3 ทศวรรษเรื่องนี้” จะมีการบอกเล่าเรื่องราวไปในทิศทางใด?
หากแต่กลุ่มวัยกลางคนเพียงกลุ่มเดียวคงไม่อาจทำให้ Slam Dunk Movie ทำรายได้มากถึงขนาดนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซึ่งแทบไม่เคยรู้จัก “ราชารีบาวนด์” หรือ “ท่าไม้ตายกอริลลาดังก์ในตำนาน” กลายเป็นอีกกลุ่มที่เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้จำนวนมาก โดยให้เหตุผลว่า Slam Dunk สามารถทำให้พวกเขามีหัวข้อสนทนากับกลุ่มผู้ใหญ่ได้
...
นอกจากนี้ เสียงตอบรับในเชิงบวกตามคอนเมนต์ในโลกโซเชียลมีเดียของเกาหลีใต้ รวมถึงการที่มีกลุ่มไอดอลชื่อดังของวงการ K-POP ในเวลานี้ อย่าง “ฮันโซฮี” หรือ “ชาอึนอู” ได้แชร์ภาพของตัวเองในทำนองว่าได้ไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้ว ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งให้กระแส Slam Dunk Movie กลายเป็นที่สนใจของกลุ่มคนรุ่นเยาว์มากยิ่งขึ้นด้วย
เกาหลีใต้ กับการคว่ำบาตรวัฒนธรรม J-POP :
ในอดีตประเทศเกาหลีใต้ ดำเนินนโยบายคว่ำบาตรวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนเป็นผลให้ทั้ง มังงะ เพลง ภาพยนตร์ คอนเสิร์ตของศิลปิน J-POP หรือแม้กระทั่งการแสดงศิลปะประจำชาติของญี่ปุ่น แทบจะกลายเป็นของต้องห้ามบนแผ่นดินเกาหลี ตั้งแต่ปี 1947 เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านความทารุณโหดร้ายของชาวญี่ปุ่นในช่วงที่เข้าปกครองประเทศระหว่างปี 1910-1946
...
มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้เกิดคณะกรรมการเซนเซอร์ที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการจริยธรรมด้านศิลปะการแสดง” (Ethics Committee for Performing Arts) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กลั่นกรองทางวัฒนธรรมต่างชาติ ก่อนนำมาเผยแพร่ในประเทศ ได้ทำให้วัฒนธรรม J-POP เกือบทุกรูปแบบโดนแบนจากประเทศเกาหลีใต้
โดยมาตรการแบนที่ว่านี้ เคยถึงขั้นเป็นผลให้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นจะไม่สามารถเข้าฉายในเกาหลีใต้ได้ รวมถึงนักแสดงชาวญี่ปุ่นก็จะไม่สามารถรับเล่นภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ได้ ในขณะที่ มังงะหรืออนิเมะของญี่ปุ่นช่วงยุค 70-90 ที่ไม่ว่าจะโด่งดังมากแค่ไหน มันก็จะถูกก๊อบปี้ไปเกือบทั้งดุ้น ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะมองอย่างไร มังงะเรื่องนั้นหน้าตาจะเหมือนกับมังงะญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยก็ตาม หรืออย่างดีที่สุดคือการทำให้ตัวละคร กลายสภาพมาเป็นชาวเกาหลี ด้วยการใช้ชื่อที่เป็นภาษาเกาหลี เป็นต้น
ส่วนหากเป็นเพลง โดยเฉพาะในช่วงต้นยุค 90 ซึ่งถือเป็นยุคทองของวงการ J-POP ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั่วโลก และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในกลุ่มวัยรุ่นของประเทศเกาหลีใต้ ก็จะต้องมีการเปลี่ยนเนื้อร้องให้กลายเป็นเวอร์ชันภาษาเกาหลีก่อนจึงจะวางจำหน่าย และแน่นอนมีราคาแพงกว่าผลงานศิลปิน K-POP ในยุคนั้น
...
แต่แล้วในปี 1998 ทุกอย่างก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อประธานาธิบดีคิม แด จุง (Kim Dae Jung) ของเกาหลีใต้ได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 51 ปี หลังทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อหวังลบล้างรอยบาดแผลในอดีต อีกทั้งยังหวังผลให้การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ทั้งสองชาติเป็นเจ้าภาพร่วมในปี 2002 สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นด้วย
Slam Dunk เวอร์ชันเกาหลีใต้ :
เนื่องจากมังงะ Slam Dunk ถูกวางจำหน่ายในประเทศเกาหลีใต้ช่วงปี 1992 ซึ่งยังเป็นยุคที่เกาหลีใต้ยังคงพยายามกางกั้นวัฒนธรรมจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงชื่อของตัวละครให้เป็นภาษาเกาหลีใต้ไปด้วย โดย Slam Dunk เวอร์ชันเกาหลีใต้ นั้น ราชาแห่งการรีบาวนด์และผู้มีคำนิยามให้กับตัวเองอยู่เสมอๆ ว่า “อัจฉริยะ” อย่าง “ซากุรางิ ฮานามิจิ” จะมีชื่อว่า “คัง แพค โฮ” (Kang Baekho) ส่วนพ่อหนุ่มพูดน้อยที่วันๆนอกจากเล่นบาสแล้วก็เอาแต่นอน แต่ดันเล่นเก่งอย่างมหาวายร้าย อย่าง “รุคาว่า คาเอดะ” มีชื่อว่า “ซอ แท อึน” (Seo Tae-Eun)
ส่วนพอยต์การ์ดร่างเล็กที่แทบจะถอดคาแรกเตอร์ลีลาการเล่นอันสุดแพรวพราวราวกับร่ายเวทมนตร์ ของ มิสเตอร์ White Chocolate “เจสัน วิลเลี่ยม” ในโลกจริงมาเกือบทุกกระเบียดนิ้วอย่าง “มิยางิ เรียวตะ” มีชื่อภาษาเกาหลีว่า “ซน แท ซอบ” (Son Tae-Seop) ขณะที่มือปืน 3 แต้ม เจ้าของ MVP มัธยมต้น ที่ทำให้แฟนๆ มังงะเรื่องนี้น้ำตาคลอเบ้าได้จากประโยค “อาจารย์อันไซ ผมอยากเล่นบาสเกตบอลครับ” อย่าง “อาซาชิ มิสึอิ” มีชื่อเกาหลีว่า “ชอง แด มัน” (Jung Dae-man)
ด้านสองพี่น้องที่ทำให้พระเอกของเราทั้งแสนรักและเคารพ อย่าง “ทาคาโนริ อาคางิ” ผู้แทบจะถอดรูปร่างหน้าตาและความไร้วาสนาเรื่องแชมป์มาจาก “แพทริค อีวิง” ตำนานเซ็นเตอร์ของทีมนิวยอร์ก นิกส์ นั้นมีชื่อภาษาเกาหลีว่า “ชา ชี ซู” (Cha Chi-Soo) และแน่นอน สาวน้อยเจ้าของวลีประจำมังงะเรื่องนี้ “ซากุรางิ ชอบบาสเกตบอลไหม?” อย่าง “ฮารุโกะ อาคางิ” มีชื่อเป็นภาษาเกาหลีว่า “คเย ยอน” (Kye-Yeon)
แม้ว่าในช่วงต้นยุค 90 วัฒนธรรมต่างๆ จากญี่ปุ่น มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกต่อต้านจากชาวเกาหลีใต้อยู่บ้างจาก “มรดกบาปในอดีต” แต่สุดท้ายวัยรุ่นเกาหลีในยุคนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับวัยรุ่นในประเทศหนึ่งแถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแฟนๆ บาสเกตบอลทั่วโลกที่ไม่อาจต้านทาน Soft Power ที่สามารถตอบโจทย์ความรู้สึกนึกคิดของบรรดาวัยรุ่นในยุคนั้นได้...ไม่ว่าจะเป็นทั้ง มุกตลก ความเป็นลูกชาย มิตรภาพอันงดงาม และการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นนักสู้เพื่อไปให้ถึงความฝันผ่านกีฬาบาสเกตบอลและลายเส้นอันละเมียดละไม จนเป็นผลให้มังงะ Slam Dunk ในประเทศเกาหลีใต้มียอดขายรวมกันมากกว่า 15 ล้านเล่ม และ “กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำอันสุดงดงามในลิ้นชักความทรงจำส่วนตัว” ของชายและหญิงวัยกลางคน ณ ปี 2023 เช่นเดียวกับ “เหล่าชายวัยกลางคน” ณ ประเทศหนึ่งแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจนถึงปัจจุบัน “คุณว่าจริงไหม?”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง